ประโยชน์ของการทำบุญมีอะไรบ้าง

การใส่บาตรในตอนเช้า อาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คน ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว สำหรับคนที่ไม่เคยใส่บาตรเลย หรือใส่น้อยมาก ลองมาดูผลของการใส่บาตรบ้าง ว่าเราจะได้อะไร จากการที่เราใส่บาตร ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เรา ควรจะต้องรู้ และเอามาปฏิบัติในชีวิต จะทำให้เรา เป็นคนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเราก็จะมีความสำเร็จในชีวิต มากกว่าเดิม

-การที่เราใส่บาตรทุกวัน จะได้รับอานิสงค์ ต่อไปนี้ ที่พระพุทธเจ้า ได้ตรัสเอาไว้ นั่นก็คือ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย, ผู้ที่มีปัญญาจะชื่นชอบคบหาด้วย, มีชื่อเสียงดีงาม, เป็นผู้ที่ไม่ห่างไกลธรรม, และเป็นผู้ที่ตายแล้วได้สู่สุขติโลกสวรรค์

-คนที่ใส่บาตรทุกวัน จะเป็นคนที่มีความสุขอยู่กับ การทำความดี และมักจะทำความดีอยู่เสมอ หรือเรียกว่า เป็นผู้ที่ไม่ขาดความดีนั่นเอง สิ่งที่คนลักษณะนี้ทำ จะทำแต่เรื่องที่ดีๆ ตั้งแต่ตื่นนอนมา นั่นก็คือการตักบาตรในตอนเช้า กับพระภิกษุสงฆ์

-ลดความตระหนี่ ในจิตใจ การที่เรา ได้เสียสละสิ่งของ ที่เป็นของตอนเอง ให้กับคนอื่นนั้น มันเป็นการลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัวภายในใจ ของเราให้ลดน้อยลง และพอเราทำทุกวัน ความตระหนี่ และความเห็นแก่ตัว ก็จะออกไปจากจิตใจของเรา

-เป็นการต่อบุญ ให้กับตัวเอง การที่เราใส่บาตรทุกวัน ก็คือการทำบุญ การสั่งบุญ ให้กับชีวิตของเรา คนที่มีบุญมาก คือคนที่โชคดีมาก ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง

-เป็นการอุทิศ ส่วนบุญส่วนกุศล การใส่บาตร เป็นวิธีการหนึ่ง ที่เราสามารถทำบุญแผ่ส่วนบุญกุศล ไปให้กับคนที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวรต่าง ๆ ได้

-รักษาวัฒนธรรม ประเพณี การใส่บาตร ถือว่าเป็นการรักษาประเพณี อันดีงามของคนไทย ที่มีมากันตั้งแต่โบร่ำโบราณ ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน และถือเป็นสิ่งหนึ่ง ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ในสายตาของชาวโลก ที่ได้พบเห็น

-เป็นการสืบทอด พระพุทธศาสนา การใส่บาตร ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราชาวพุทธ เพราะถ้าเราไม่ใส่บาตร พระก็ไม่มีอะไรฉัน ศาสนาพุทธก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะขาดองค์ประกอบหลัก การใส่บาตร ก็คือการสืบทอดพระพุทธศาสนา ที่มีมายาวนานกว่า 2000 ปี ให้คงอยู่ต่อไป เมื่อไหร่ที่คนไม่ใส่บาตร เมื่อนั้น ก็คือวันที่ศาสนาพุทธ ได้หายจากโลกนี้ไปแล้ว

-เป็นการสร้างความปรองดอง การใส่บาตร ก็คือการสร้างความสามัคคีด้วย อย่างเช่นการไปทำบุญ ที่วัดหลายๆคน ถือว่าเป็นการสร้างความสามัคคี ในหมู่คณะ ให้มีความปรองดองกัน และจะอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุข

ในฐานะ ที่เราเป็นชาวพุทธ ควรที่จะใส่บาตรทุกวัน หรือใส่ให้มากที่สุด เท่าที่มีโอกาสทำได้ จะเป็นการสร้างความดี ทำให้จิตใจของเราสูงขึ้น เป็นการสั่งสมบุญ ให้ชีวิตเรา มีแต่ความราบรื่น และเหนือสิ่งอื่นใด คือเป็นการดำรงซึ่งศาสนาพุทธ ให้อยู่คู่กับคนไทย ไปอีกนานแสนนาน

ผู้ถาม   อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องทำบุญ ทำกุศล ไม่ทราบว่า จริงๆแล้วจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ช่วยให้ความกระจ่างด้วย

ส.   จริงๆแล้ว อันนี้เป็นปัญหาที่ดีมาก เพราะคนไทยเราคุ้นเคยกับการทำบุญมานานมาก ตั้งแต่เกิดมาก็ทำบุญกันหลายทาง ทั้งใส่บาตร และอื่นๆ แต่ปัญญา ความเข้าใจถูกต้องสำคัญมากที่สุด คือรู้ว่า บุญคือจิตใจที่ดีงามที่เป็นกุศล ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ ถ้ามีของอยู่หลายอย่างบนโต๊ะ ของนั้นก็ยังคงเป็นของนั้น จะเป็นบุญไปได้อย่างไร ใช่ไหมคะ จะเป็นกล้วย เป็นส้ม เป็นอาหาร ก็ยังคงเป็นกล้วย ส้ม อาหาร จะเป็นบุญไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น บุญไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่มีอกุศลใดๆ เพราะฉะนั้น บุญในพระพุทธศาสนามี ๑๐ ประการ ไม่ใช่มีประการเดียว คือ ทานการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ฟังดูบางคนก็อาจจะไม่อยากรู้ภาษาบาลีเลย แต่เราใช้คำทุกคำ บุญ เราก็ใช้ กิริยา เราก็ใช้ วัตถุ เราก็ใช้ แต่ว่าให้ใช้ให้ถูก วัตถุ ก็คือที่ตั้ง กิริยา คือการกระทำ บุญ คือ ดีงาม หรือการขัดเกลา เพราะฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ ก็คือวัตถุหรือที่ตั้งของการกระทำซึ่งเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นการขัดเกลาอกุศล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีถึง ๑๐ อย่าง เริ่มต้นด้วยทาน คือการวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ที่ประเทศไทยเรามีความสุขสบายมากกว่าประเทศอื่น ก็เป็นเพราะเหตุว่าเราปลูกฝังพระพุทธศาสนาด้วยการกระทำ เป็นประเพณี แม้ว่าเรายังไม่เข้าใจละเอียดมาก แต่เราก็ทำติดต่อกันด้วยจิตที่เป็นกุศล

เพราะฉะนั้น สำหรับบุญ ได้แก่จิตขณะใดก็ตามซึ่งเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีล การวิรัติทุจริตบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง

จริงๆ แล้วก็มีหนังสือที่พูดถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่สำหรับวันนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องทาน ให้ทราบว่าการทำบุญด้วยวัตถุ คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ถ้าเห็นวัตถุที่เรามี พอจะเป็นประโยชน์กับใคร ให้ไปเลย ถ้าเราไม่ใช่วัตถุนั้น ไม่ต้องไปคิดว่า เขาจะว่าเราไหม บางคนก็คิดมาก เคยมีคนคิดมาก จะให้ของใครก็กลัวว่า คนรับเขาจะว่า เหมือนดูถูกเขา ก็แล้วแต่ความวิจิตรของจิตซึ่งคิดได้ต่างๆกัน แต่ถ้าวัตถุนั้นเป็นประโยชน์แล้วเขาต้องการ เราให้ได้ เราก็ให้ ขณะนั้นจิตที่ให้ก็เป็นกุศล แต่ต้องไม่หวังผล ไม่เหมือนกับซื้อขาย เพราะบางคนให้ เพื่อเขาจะได้ให้เราตอบ ให้เพราะเขาจะได้รักเรา คือ จะเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นจิตดีหรือเปล่า ต้องการอะไรหรือเปล่า เพราะว่าบุญนั้นคือจิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ที่ปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่บุญแน่นอน บางคนก็ให้เพราะกลัว กลัวเขาก็เลยต้องให้ไป อย่างนั้นก็ไม่ใช่บุญอีก

เพราะฉะนั้น หลักก็คือสภาพของจิตที่ปราศจากความติดข้องในวัตถุนั้นแล้วก็เป็นจิตที่ดีงาม ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นไปในทาน ถ้าโกรธ ให้ไหมคะ ทีแรกก็ตั้งใจจะให้ แต่คนนี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็เก็บไว้ก่อน แสดงว่าบุญก็ไม่ได้เกิดง่าย บางทีกำลังจะเกิด ก็จะไม่เกิดขึ้นมาก็ได้ เพราะว่าจิตเกิดสลับกันเร็วมาก

ด้วยเหตุนี้ถ้ากุศลจิตจะเกิดขณะใด กลัวว่าต่อไปเดี๋ยวกุศลจิตนั้นจะหมดเสีย ก็ต้องรีบกระทำกุศล ถ้ามีโอกาสจะกระทำได้ เพราะว่าจิตของคนเราเปลี่ยนแปลงกลับกรอก ไม่ตั้งอยู่คงที่

สำหรับเรื่องการให้ ก็คงไม่มีข้อสงสัยว่า ให้โดยไม่หวังผล ถ้าให้แล้วหวังจะเกิดในสวรรค์ บ่อยๆ บางคนก็ให้ หวังจะถูกลอตเตอรี คือมีแต่ความหวัง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของโลภะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการให้จริงๆ

เพราะฉะนั้น เราต้องตรงต่อตัวเอง แล้วก็ตรงต่อธรรมะ ถ้าให้ก็คือให้ ให้แล้วไม่ต้องไปหวังอะไรเป็นการตอบแทนทั้งหมด แล้วเราก็สบายใจด้วย ถ้าเราให้ด้วยความหวัง แล้วไม่ได้อย่างที่หวัง เราไม่สบายใจแล้วใช่ไหมคะ ให้เพื่อให้เขากลัวเกรงเรา ให้เขารักเรา ให้เขาปฏิบัติเรา แต่ถ้าเขาไม่ปฏิบัติเรา ไม่กลัวเกรงเรา เราก็โกรธขึ้นมาอีก

เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่บุญ ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ใช่บุญ ถ้าเป็นจิตที่ผ่องใส ผลของกุศลก็มีมาก มีคนที่ฟังธรรมะแล้วก็ปนกัน คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุและผลว่า ขณะใดที่จิตใจผ่องใส แม้แต่การให้ ให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้แบบรังเกียจ หรือให้แบบเป็นผู้ให้ เพราะว่าบางคนเวลาให้มีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะต้องถือว่า เราเป็นผู้ให้เขา เหมือนมีบุญคุณต่อกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่การให้ที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ถ้าจิตผ่องใสปราศจากอกุศล มีผลมาก มีผลมากตั้งแต่เริ่มให้ เพราะเป็นจิตที่ผ่องใส และเมื่อจิตที่ผ่องใสเป็นเหตุ ผลที่จะได้รับก็ต้องเป็นผลดีกว่า แต่ไม่ใช่ให้ไปติดที่ผล เพราะว่าบางคนพอทราบว่า จะมีผลมากอย่างนั้นๆ ก็พยายามให้เป็นอย่างนั้นๆ แต่ก็ทำไม่ได้