แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีอยู่ในประเทศไทยมีที่ใดบ้าง

นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทย พบว่ามีน้ำบาดาลร้อนหรือ แหล่งน้ำพุร้อนกระจายอยู่ จำนวน 112 แห่ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ จัดเป็นพลังงานความร้อนใต้พิภพที่กำลังได้รับความสนใจและมีความสำคัญไม่น้อย กว่าพลังงานอื่นๆ น้ำพุร้อนในประเทศไทยจะแบ่งตามอุณหภูมิของน้ำที่ผิวดินออกเป็น 3 กลุ่ม ถ้าอันไหนมีอุณหภูมิสูง มากกว่า 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะเรียกว่า น้ำพุร้อนที่มีศักยภาพสูง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะพบ ในภาคเหนือ ถ้าอุณหภูมิประมาณ 60-80 องศาเซลเซียส กลุ่มนี้จะเรียกว่าศักยภาพปานกลาง แล้วถ้าต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีศักยภาพต่ำ

"น้ำพุ ร้อน หรือก็คือ น้ำบาดาล ที่มีอุณหภูมิสูงกำลังจะกลายเป็นต้นทุนพลังงานสำคัญของประเทศไทยในไม่ช้านี้ เมื่อหลายสิบปีก่อน เคยมีการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพมาแล้ว แต่การศึกษาและพัฒนาการผลิตต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกระบวนการนำพลังงานมาต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้านั้นมีความสลับซับซ้อน และมีเทคนิคทางวิชาการเกี่ยวข้องหลากหลายสาขา แต่ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน ต่าง ๆ มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง การติดต่อสื่อสารและขนส่งสะดวกสบายมากขึ้น จึงเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท้องถิ่น การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร"นายปราณีต กล่าว

นาย ปราณีต กล่าวว่า ทบ.ได้ดำเนินโครงการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำพุร้อน เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพและอุตสาหกรรมท้องถิ่น ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำพุร้อนที่เหมาะสมต่อการผลิตพลังงานความร้อนใต้ พิภพ แนวทางการพัฒนาเทคนิคการเจาะและการสำรวจน้ำบาดาลในระดับลึกที่มีอุณหภูมิสูง รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพสู่อุตสาหกรรมท้องถิ่น ได้คัดเลือกแหล่งน้ำพุร้อนที่มีแนวโน้ม และศักยภาพความน่าจะเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เหมาะสมแล้ว 16 พื้นที่ จากแหล่งน้ำพุร้อน 112 แห่ง เพื่อสำรวจเบื้องต้น และได้คัดเลือกให้เหลือ 5 พื้นที่ เพื่อสำรวจธรณีวิทยาและศึกษารายละเอียดเชิงลึกในพื้นที่ ได้แก่ น้ำพุร้อนเหมืองแร่-เมืองแปงอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน น้ำพุร้อนฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ น้ำพุร้อนห้วยทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย น้ำพุร้อนแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย และ น้ำพุร้อนคลองปลายพู่ อ.กะปง จ.พังงา จากนั้นจะคัดเลือกพื้นที่ที่ดีที่สุด 1 แห่ง เพื่อ เจาะบ่อสำรวจ ในระดับความลึก ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร เป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทยต่อไป

"เราคาดหวังว่าเราจะพบแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่สามารถให้อุณหภูมิระดับสูงพอจะพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ในอุณหภูมิที่เราต้องการเช่นการใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับผลิตไฟฟ้าซึ่งตัวอย่างการนำน้ำพุร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีการดำเนินการในปัจจุบันคือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีกำลังการผลิต 300 กิโลวัตต์ แต่หากอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ผิวดินไม่สูงพอ ก็สามารถจะพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานสำหรับห้องอบแห้งผลผลิตทางการเกษตร สปา ห้องอาบน้ำแร่ ซึ่งในแง่ของชาวบ้านในท้องถิ่น เขาจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปได้ในอนาคต"อธิบดีทบ.กล่าว

นาง อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวถึงการดำเนินโครงการนี้ว่า การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ สามารถนำไปทำประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือ แก้ปัญหาภัยแล้งการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทางอ้อมคือการนำน้ำบาดาลมาแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในบางพื้นที่ด้วยรูปแบบ พลังงานทดแทน เพราะพลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ การนำน้ำบาดาลที่อยู่ภายใต้อุณหภูมิสูงมากๆ ขึ้นมาพัฒนาเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือใช้เป็นพลังงานทดแทนเสริมกับแหล่งพลังงานที่มีอยู่

"การศึกษาครั้งนี้จะคัดเลือกแหล่งน้ำพุร้อนจากจำนวน 112 แหล่ง ให้เหลือ 16 แหล่ง โดยใช้เกณฑ์ที่ต้องเป็นแหล่งที่มีอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ผิวดินสูงกว่า 90 องศาเซลเซียส ลำดับถัดมามาคือสภาพสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพราะถึงอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ผิวดินจะสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่หากชุมชนในพื้นที่นั้นยังไม่พร้อมยอมรับโครงการ หรือเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เราก็จะคัดพื้นที่แหล่งนั้นออกไป ดังนั้น ก่อนการศึกษาภาคสนามในพื้นที่จริงทั้ง 16 แหล่ง จะมีการศึกษาสภาพสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อ ไปในอนาคต จากนั้นจะคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมให้เหลือ 5 แหล่ง เพื่อดำเนินการสำรวจอย่างละเอียด และคัดเลือกพื้นที่เหมาะสมที่สุด 1 แห่ง ดำเนินการเจาะสำรวจระดับความลึกกว่า 1,000 เมตร เพื่อเป็นต้นแบบศึกษาการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ"

นางอรัญญา กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ในทางวิชาการ โครงการนี้จะเป็นโอกาสสำหรับนักธรณีวิทยา วิศวกร และบุคลากรของกรมฯ ในการได้เรียนรู้เทคนิคการสำรวจและการเจาะบ่อน้ำบาดาลในระดับลึก ที่มีอุณหภูมิสูงด้วยวิธีการทางธรณีฟิสิกส์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น วิธีสำรวจด้วยเครื่องมือวัดคลื่นกระแสแม่เหล็กโลกหรือแมกนีโต เทลลูริก (Magneto - Telluric or MT) เพื่อศึกษาแหล่งของความร้อนใต้พิภพ และการสำรวจวัดความต้านทานไฟฟ้า (Resistivity) เพื่อศึกษาคุณสมบัติของชั้นน้ำบาดาล เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่บุคลากรด้านอุทกธรณีวิทยา วิศวกรรมน้ำบาดาล และช่างเจาะให้มีประสบการณ์ในการเจาะบ่อระดับลึก ขณะเดียวกัน ประโยชน์ในทางสังคมและเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ พลังงานทดแทนเพื่อใช้เป็นพลังงานเสริมแทนที่การใช้พลังงานจาก ถ่านหินและน้ำมัน ที่สำคัญพลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานสะอาดไม่สร้างมลพิษ และใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยมาก ทำให้ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน