ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ ความสําคัญ

พลุตะไล ไฟพะเนียงที่ส่องสว่างแต่งแต้มสีสันค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 12 เหนือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และบริเวณพื้นที่โดยรอบของวัดมหาธาตุ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้น ไม่ใช่แค่สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่มาร่วมงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ งานใหญ่ประจำปีของจังหวัดสุโขทัย หากแต่ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษอีกทางหนึ่งด้วย

“สุโขทัย อดีตมหานครอันรุ่งเรืองที่มีความสำคัญในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายมากมายของความหลากหลายทางศิลปะทั้งงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม พุทธศิลป์ สถาปัตยกรรมอันงดงามที่ยังทรงคุณค่าเป็นทั้งมรดกโลกและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองไทย อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดของการจัดงานประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ซึ่งได้ริเริ่มมานับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟนี้ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 36 ปี ถึงแม้ว่าจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทางจังหวัดสุโขทัยก็สร้างสรรค์ความแตกต่างและแปลกใหม่ให้แก่เหล่านักท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปีนี้ทางจังหวัดได้เชิญชวนชาวสุโขทัยตกแต่งบ้านเรือน ประดับโคมชักโคมแขวนตลอดเส้นทางเข้าจังหวัดสุโขทัยจนถึงอุทยานประวัติศาสตร์สถานที่จัดงานลอยกระทง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ” นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ระบุ

โคมชักโคมแขวนที่ว่านั้นเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของคนสุโขทัยที่เป็นหนึ่งเดียว ตามความเชื่อในพุทธศาสนา โคมชักโคมแขวนคือสิ่งบูชารอยพระพุทธบาท ขณะที่อีกความเชื่อหนึ่งบอกว่า ทำขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงต้องใช้ฝีมือและความวิจิตรบรรจงในการประดิษฐ์ เพราะกว่าจะเรียงร้อยเมล็ดพืชเม็ดเล็ก ๆ ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดมะกล่ำตาหนู, ข้าวฟ่างสีส้ม ขาว ดำ เหลือง, ข้าวเปลือกนก, งาขาว ดำ แดง เทา, ถั่วเขียว, เข็มหมุด, เมล็ดผักกาด, เมล็ดข้าวเหนียว, ดอกบานไม่รู้โรย, เมล็ดผักชีราเปลือกไข่, เปลือกไหม, ใบลานดอกตะแบก, ดอกบานไม่รู้โรย, ทราย ฯลฯ แบบค่อย ๆ เรียงทีละเม็ดกว่าจะเสร็จสมบูรณ์เป็นโคมขนาดใหญ่อย่างที่เห็นจึงต้องใช้เวลากว่า 2-3 เดือน

เมล็ดธัญพืชที่ถูกติดลงในกระดาษแข็งที่เป็นตัวแบบทีละเมล็ด ๆ โดยจะต้องหันหัวและท้ายเป็นแนวเดียวกันตามลวดลายโบราณแบบเดียวกับลายสังคโลก ก่อนจะนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นโคมที่มีรูปแบบจำเพาะอย่างทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตามแบบเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ จึงไม่ใช่งานง่ายที่ใครจะอยากสืบทอดสืบสานในยุคที่อะไรก็ดูจะรวดเร็วทันใจไปหมด แต่ชุมชนหลวงพ่อปี้ แห่ง อ.บ้านด่านลานหอย ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษนี้ไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีตำแหน่งแชมป์มากมายเป็นเครื่องการันตี

ที่เรียกว่า โคมชักโคมแขวน นั้น คำว่า โคม หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ที่ให้แสงสว่างแทนตะเกียงในงานบุญโดยใช้เทียนหรือตะคันวางไว้ข้างใน ครอบไม่ให้ไฟดับและใช้ผูกอยู่กับยอดเสาหรือที่สูง สามารถเคลื่อนไหวตามแรงลมได้ เวลาเติมเชื้อเพลิงจะชักหรือดึงลงมาจึงเป็นที่มาของชื่อโคมชักโคมแขวน

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญและโดดเด่นของงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ประจำปี 2556 คือการจุดพลุย้อนรอยตามประวัติศาสตร์ในศิลาจารึก ตามธรรมเนียมโบราณจุดพลุ 4 ประตูมุมเมืองด้วยพลุโบราณของชาวสุโขทัยที่สืบทอดมาแต่่อดีตนับว่าหาดูได้ยากในปัจจุบันทั้ง พลุน้ำตก พลุช้างร้อง พลุลูกหนู

ขบวนอัญเชิญพระประทีปและกระทงพระราชทาน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดโดยได้รับพระราชทานกระทงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้น 11 กระทง โดยจะอัญเชิญลอยเป็นปฐมฤกษ์ในตระพังตระกวน

และที่พลาดไม่ได้เลยคือ การแสดงแสง-เสียง ณ บริเวณวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยใช้ บทการแสดงของกรมศิลปากร ซึ่งตรวจทานแก้ไขโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ความรุ่งเรืองอาณาจักรสุโขทัย” เป็นเรื่องราวพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รบชนะศึกขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด และสร้างความรุ่งเรืองจนเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย และการประกวดนางนพมาศ ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง เพื่อรำลึกถึงนางนพมาศ นางสนมเอกในสมัยสุโขทัย ที่ได้ทำคุณงามความดีจนเป็นที่โปรดปราน จนได้รับตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”

ขณะที่ ททท.สุโขทัย จัด “ตลาดปสาน ตลาดแลกเบี้ย ททท.” มีการจำลองวิถีชีวิตตลาดของชาวสุโขทัยโบราณ โดยนำเบี้ยมาใช้แทนเงินสด นักท่องเที่ยวต้องแลกเบี้ยก่อนการซื้ออาหาร คาว หวานโบราณกว่า 20 ชนิด จากชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ชุมชนกงไกรลาศ และชุมชนบ้านนาต้นจั่น

เรียกน้ำย่อยกันด้วยเมนูข้าวเปิ๊บ ข้าวพัน แกงขี้เหล็ก ขนมกง ชะมดงาดำ ปลาเห็ด ข้าวแกงโบราณ น้ำตาลโตนด ฯลฯ พร้อมยก “ตลาดริมยม 2437” ของชาวกงไกรลาศ แหล่งท่องเที่ยวดาวรุ่งน้องใหม่ของจังหวัดสุโขทัย มาร่วมสร้างสีสัน และพิเศษในปีนี้โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย และชุมชนบ้านนาต้นจั่น แหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Tourism Awards) ปี 2556 มาจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ นำเสนอจุดเด่นของแหล่งและผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ เปิดตลาด ณ บริเวณสระยายเพิ้ง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งแต่ 16.00-23.00 น.

สำหรับประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย 2556 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2556 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท. สำนักงานสุโขทัย โทร. 0-5561-6228, 0-5561-6229 ติดต่อซื้อบัตรการแสดงแสง–เสียงได้ที่สำนักงานจังหวัดสุโขทัย โทร.0-5561-0530 หรือ www.sukhothai.go.th.

       นอกจากนั้นเป็นประเพณีลอยกระทงแล้ว ท่านที่มาจะพบกับบรรยากาศย้อนยุคเมื่อ 700 ปีก่อนและเห็นวิถีของความเป็นไทย ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆด้วยกัน ได้แก่ พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข,การแสดงแสงและเสียง ณ วัดมหาธาตุ,การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน , หมู่บ้านวิถีไทย กิจกรรมลานเทศน์ ลานธรรม ณ บริเวณดงตาล,กิจกรรมประกวดกระทงใหญ่ กระทงเล็ก และจัดแห่ขบวนนางนพมาศ,การประกวดนางนพมาศ

ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟมีความเกี่ยวข้องกับอะไร

การเผาเทียน เล่นไฟ คงเป็นพิธีกรรมเฉลิมฉลองไหว้พระในศาสนสถานสำคัญในเมืองสุโขทัย “เผาเทียน” หมายถึง การจุดเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วน “เล่นไฟ” หมายถึง การจุดดอกไม้ไฟ การเผาเทียนเพื่อบูชา

ประเพณีเผาเทียนเล่นไฟปัจจุบันเรียกว่าประเพณีอะไร

จังหวัดสุโขทัย ถือเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง เนื่องจากมีการจัดงานประเพณีสืบทอดติดต่อกันมาหลายสิบปี จนกลายเป็นประเพณีระดับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อ “งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย”

การเผาเทียนเล่นไฟเป็นประเพณีของภาคใด

ภาค ภาคเหนือ จังหวัด สุโขทัย ช่วงเวลา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี

หลักฐานเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟปรากฎในหลักฐานอะไร

นอกจากการลอยกระทงแล้ว ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ยังได้กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า "… เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก…"