ความสำคัญของการจัดการ เรียน รู้ สังคมศึกษา

บทนำ

สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยเรื่อง ราวเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต รวมถึงศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม วิชาสังคมศึกษาจึงช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอย่างไร และเข้าใจถึงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตามกาลเวลา ตามเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจในตนเองและเข้าใจผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง มีคุณธรรม มีความอดทน อดกลั้น สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติและสังคมโลก อันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนวิชาสังคมศึกษา

ความสำคัญของการจัดการ เรียน รู้ สังคมศึกษา

สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมสำคัญอย่างไร?

ความสำเร็จของการเรียนสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คือ การที่ผู้เรียนเข้าใจ และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประจำวันได้ ให้เป็นชีวิตที่ดีงามและช่วยสร้างสรรค์สังคม ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนสังคมจึงเชื่อมโยงให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง อยู่อย่างมีความสุข โดยเรียนผ่านสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในห้องหรือในโรงเรียน หรือวิเคราะห์จากตัวอย่างสถานการณ์ที่เป็นจริงในสังคม เพื่อให้เด็กฝึกคิดวิเคราะห์ รู้ทันการเปลี่ยนแปลง รู้จักตัวเอง สามารถจัดการชีวิตของตัวเอง และมีวิถีชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การเรียนการสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่พัฒนาทั้ง 3 ด้านของชีวิตของเรา นั่นคือ

  1. ด้านพฤติกรรม (ศีล) คือ
    • พฤติกรรมในความสัมพันธ์กับโลกแห่งวัตถุ ได้แก่ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต มีประสิทธิ ภาพในการใช้งาน ให้ดูเป็น ฟังเป็น และการบริโภคปัจจัย 4 รวมถึงการใช้ประโยชน์จากวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโน โลยีด้วยปัญญา มุ่งคุณค่าที่แท้จริง และส่งเสริมการพัฒนาชีวิต เรียกว่า กินเป็น บริโภคเป็น ใช้เป็น
    • พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับโลกแห่งชีวิต ได้แก่ การอยู่ร่วมสังคม โดยไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน มีความ สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดำรงตนอยู่ในขอบเขตแห่งศีล 5 รักษากติกาสังคม กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระเบียบแบบแผน จรรยาบรรณต่างๆ มีการให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือ ให้ความสุขกับเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
    • พฤติกรรมในด้านอาชีพ คือ ทำมาหาเลี้ยงชีพที่เป็นสัมมาชีพ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นอาชีพที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตน ไม่ทำให้เสื่อมจากคุณความดี
  2. ด้านจิตใจ (สมาธิ) แยกได้ดังนี้
    • คุณภาพจิต ได้แก่ คุณธรรมความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวที หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ซึ่งจะหล่อเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม
    • สมรรถภาพจิต ได้แก่ ความสามารถ เข้มแข็ง มั่นคง มีฉันทะ (ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ) มีความเพียร (วิริยะ) ขยัน (อุตสาหะ) อดทน (ขันติ) มีสติ ควบคุมได้ สงบ มีสมาธิ ไม่ประมาท ทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงามและพร้อมที่จะใช้ปัญญา
    • สุขภาพจิต ได้แก่ สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง เป็นจิตที่สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงาม มีความมั่นคง
  3. ด้านปัญญา (ปัญญา) มีการพัฒนาหลายด้าน หลายระดับ เช่น
    • ความรู้ความเข้าใจในการฟัง เล่าเรียน และรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ
    • รับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
    • คิดพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ปัญญา
    • รู้จักมอง รู้จักคิด ที่จะให้เข้าถึงความจริง และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ ที่เรียกว่า มองเป็น คิดเป็น
    • รู้จักคิดจัดการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย
    • แสวงหา คัดเลือก นำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์
    • รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย รู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ ปัญหาชีวิต ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนได้ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างแท้ จริง

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเนื้อหาสาระของสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมไว้อย่างไร?

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมว่าด้วยการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความสัมพันธ์กันและมีความแตก ต่างอย่างหลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตนเองเข้ากับบริบทสภาพแวดล้อม เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ มีความรู้ ทักษะ คุณธรรม และค่านิยมที่เหมาะสม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ในหัวข้อต่างๆ ไว้ ดังนี้

  • ศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ การนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นผู้ กระทำความดี มีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม
  • หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิต ระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลักษณะและความสำคัญ การเป็นพลเมืองดี ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ปลูกฝังค่านิยมด้านประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมไทยและสังคมโลก
  • เศรษฐศาสตร์ การผลิต การแจกจ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการ การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ การดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ประวัติศาสตร์ เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆในอดีต ความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
  • ภูมิศาสตร์ ลักษณะของโลกทางกายภาพ ลักษณะทางกายภาพ แหล่งทรัพยากร และภูมิอากาศของประเทศไทย และภูมิภาคต่างๆของโลก การใช้แผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆในระบบธรรมชาติ ความสัม พันธ์ของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การนำเสนอข้อมูลภูมิสารสนเทศ การอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม? 

ในวัยประถมต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3) เด็กๆจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ดังนี้

  • ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง ตลอดจนสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยและเชื่องโยงประสบ การณ์ไปสู่โลกกว้าง
  • ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะกระบวนการ มีข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ มีความเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกัน และการทำงานกับผู้อื่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมของห้องเรียน และได้ฝึกหัดในการตัดสินใจ
  • ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนในลักษณะบูรณาการ ได้เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับปัจจุบันและอดีต มีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้ข้อคิดเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว เข้าใจถึงการเป็นผู้ผลิต ผู้ บริโภค รู้จักการออมขั้นต้นและวิธีการเศรษฐกิจพอเพียง
  • ได้รับการพัฒนาแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญา เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจในขั้นที่สูงต่อไป

ครูสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมให้ลูกอย่างไร?

มีเด็กหลายคนที่ไม่ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ต้องเรียน เพราะหลักสูตรกำหนดให้เรียน และต้องใช้ผลการเรียนเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ครูจึงต้องจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กประสบผลสำเร็จในการเรียน เรียนอย่างมีความสุข สนุกกับการเรียน และสามารถเชื่อมโยงให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ถูกต้องได้ ขอแนะนำตัวอย่างกิจ กรรมการเรียนการสอน ดังนี้

  • สอนด้วยการกระทำ เรียนรู้วิชาการพร้อมกับการให้เด็กได้ปฏิบัติดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ได้แก่
    • กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เรียนรู้การให้ เรียนรู้การทำหน้าที่ เช่น การทำหน่วยบริการต่างๆ
    • กิจกรรมเจริญสติ เรียนรู้จักตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น ด้วยกิจกรรมเจริญสติต่างๆ
    • กิจวัตรประจำวัน เรียนรู้หน้าที่รับผิดชอบในกิจวัตร เช่น การจัด-เก็บของเข้าที่ การดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ การช่วยเหลือผู้ใหญ่หรือคุณครู การเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ฯลฯ
  • สอนด้วยสื่อ สอนจากของจริง สอนด้วยตัวอย่างที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่
    • สื่อภาพ เสียง วีดีโอ ซีดี เทป มัลติมีเดีย : นิทาน-เพลงคุณธรรม, พุทธประวัติ ข่าว ฯลฯ
    • เกมการศึกษา ครูเลือกเกมที่สนุก มีข้อคิดเตือนใจเด็กๆ ได้ประโยชน์จากการเล่นเกม
  • สอนด้วยวิธีคิดแบบอริยสัจ (ตามหลักพุทธธรรม เรียกว่า วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ) โดยครูนำปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กวัยนี้มาให้เด็กได้คิดแก้ปัญหา ด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม ดังนี้
    • ให้เด็กแต่ละกลุ่มเริ่มต้นจากการกำหนดรู้และทำความเข้าใจกับปัญหาว่าปัญหานั้นคืออะไร (ทุกข์)
    • สืบค้นหาสาเหตุของปัญหา อะไรคืออุปสรรค ตัวติดขัด (สมุทัย)
    • สภาพที่หมดปัญหาจะเป็นอย่างไร กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจนว่าคืออะไร (นิโรธ)
    • หาหนทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้หมดปัญหาหรือวิธีแก้ไขปัญหา วิธีการและรายละเอียดสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการ (มรรค)
    • ให้เด็กๆบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ นำเสนอให้เพื่อนฟัง และให้เพื่อนแต่ละกลุ่มให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากนั้นครูและเด็กหาข้อสรุปร่วมกันและหาแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมให้ลูกได้อย่างไร?

สำหรับพ่อแม่เอง ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขในการเรียนได้ ดังนี้

  • ทำความเข้าใจกับสาระวิชา ก่อนอื่น พ่อแม่ลูกต้องเข้าใจลักษณะของวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมว่า เป็นเรื่องใกล้ตัว สำคัญ และจำเป็น ความรู้ในวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เพราะอิงอยู่กับเหตุการณ์ ทฤษฎี มูลเหตุความขัดแย้ง รวมทั้งสภาพปัญหาในอดีตและปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากเราติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ดูข่าวบ่อยๆ รู้และทันกับสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน ก็จะช่วยเรื่องการเรียนรู้ได้มากทีเดียว
  • ฝึกให้ลูกเป็นคนหูตากว้างไกล ด้วยการชมภาพยนตร์แนวความรู้ต่างๆ ชมรายการโทรทัศน์ ชมข่าว หาโอกาสสนทนากับพ่อแม่ ผู้ปกครองในประเด็นต่างๆ เพิ่มความสนใจ ด้วยการหาหนังสืออ่านเสริมความรู้ทุกประเภท ทั้งหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่มีข่าวสารบรรจุไว้
  • ชวนลูกคิดวิเคราะห์ข่าวและเหตุการณ์บ้านเมือง พ่อแม่ชวนลูกดูข่าวแล้วเอามานั่งวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนทัศนคติวิชาสังคมให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นสำ หรับการดำเนินชีวิต การเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว จะทำให้เรียนสนุกขึ้น
  • อ่านเนื้อหากับลูกและทดลองทำข้อสอบด้วยกัน ข้อสอบสังคมมักจะอาศัยความจำ มีการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ พ่อแม่ช่วยลูกได้ด้วยการช่วยหาหนังสือให้ลูกอ่านเสริม หรือหาสื่ออื่นๆเสริมความรู้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหนังสือและสื่อมากมายในรูป แบบต่างๆที่อ่านและเข้าใจง่าย พร้อมทั้งชักชวนลูกทดลองทำข้อสอบ ซึ่งมีมากมายในสื่อและเว็บไซต์ต่างๆ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

วิธีที่จะช่วยให้การเรียนการสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประสบผลสำเร็จ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  • เริ่มจากการดูแลชั้นเรียน ให้มีบรรยากาศของความสงบ เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูอาจแบ่งกลุ่มให้แต่ละกลุ่มดูแลกันเอง เรียนเป็นฐานกิจกรรม โดยมีคำสั่งในแต่ละฐาน เสริมแรงด้วยรางวัล หรือใช้ตัดสิทธิ์ในประโยชน์บางประการที่เด็กพึงจะได้รับ เช่น งดกิจกรรมบางอย่างที่เพื่อนได้ทำ
  • ลีลาการสอนของครู ถ้าครูสังคมชอบสอนแบบบรรยาย แต่มีลีลาการสอนที่สนุก สามารถดึงความสนใจให้เด็กตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังได้ตลอด ก็จะทำให้เนื้อหาของวิชาสังคมกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าติดตามขึ้นมาทันที และจะทำให้เด็กเข้าใจกว่าการอ่านด้วยตัวเองอีกด้วย
  • จัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น แบ่งกลุ่มทำงาน อภิปรายเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของเด็ก แสดงบทบาทสมมุติ จัดนิทรรศการ ช่วยผลิตสื่อ เตรียมสื่อการสอน ฯลฯ
  • สร้างความสนใจในเรื่องที่จะเรียน ด้วยสื่อ เกม กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กๆกระตือรือร้น สนใจที่จะเรียน เช่น ดูภาพยนตร์ วิเคราะห์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ พาไปทัศนศึกษา เป็นต้น
  • ควรสอนนอกห้องเรียนบ้าง เช่น สำรวจข้อมูลต่างๆ ให้นักเรียนสัมภาษณ์คนในโรงเรียนหรือในชุมชน ให้นักเรียนปฏิบัติจริง ด้วยการใช้บริการสหกรณ์ร้านค้า เลือกตั้งประธานนักเรียน ฯลฯ