ผลกระทบของเทคโนโลยี ด้านบวก ด้านลบ เครื่องถ่ายเอกสาร

อันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสาร

ในปัจจุบันเครื่องถ่ายเอกสารเป็นที่รู้จัก และมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ในสำนักงานทั่วไป นอกจากเครื่องถ่ายเอกสารแล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ระบบแสงเลเซอร์ เครื่องโทรสาร เครื่องพิมพ์เขียว เครื่องปรุ กระดาษไข และเครื่องโรเนียว ที่หลายๆ คนกังวล กันว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้งานเป็น เวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำหน้าที่ ถ่ายเอกสารเป็นงานประจำตลอดทั้งวัน หรือแม้ กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หากแต่มี อุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในห้องทำงานเดียวกันก็มักได้ กลิ่นสารเคมีหรือแสงวาบเข้าตาอยู่เสมอ ซึ่งสร้าง ความรำคาญ และเกิดเป็นผลเสียต่อสุขภาพใน ท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยเลย ก็ย่อมทำได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่ถ้าการจัดวางอุปกรณ์เหล่านี้ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือในที่ที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ หรือไม่มีการบำรุง รักษาอุปกรณ์ที่ดีพอ หรือผู้ใช้ใช้งานอุปกรณ์เป็น ประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ความรู้สึกไม่ สบายหรือผลเสียต่อสุขภาพก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อันตรายหลักจากเครื่องถ่ายเอกสาร

๑. ก๊าซโอโซนจะถูกปล่อยออกมาในกระบวนการถ่ายเอกสาร โดยทั่วไป โอโซนเป็นก๊าซทำความระคายเคือง แต่การสัมผัสก๊าซนี้เป็นเวลานาน อาจทำอันตรายต่อระบบหายใจ และระบบประสาทได้

๒. ฝุ่นผงหมึก ซึ่งประกอบด้วยสารเคมี ที่เป็นอันตราย รวมไปถึงสารที่อาจก่อมะเร็ง และสารที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้

๓. แสงเหนือม่วง มักทำอันตรายต่อตา การสัมผัสแสงจ้า ที่เครื่องถ่ายเอกสารเป็นเวลานาน จะเป็นสาเหตุของอาการปวดตา และปวดศีรษะ

การทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร

หลักการใช้กระแสไฟฟ้าสถิต เป็นหลักการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสารทุกเครื่อง โดยต้นฉบับที่จะใช้ถ่ายเอกสารนั้น เมื่อได้รับแสงจากหลอดไฟพลังงานสูง ภาพต้นฉบับก็จะถูกสะท้อน แสงไปยังลูกกลิ้งที่มีประจุไฟฟ้าอยู่ และเนื่องจาก พื้นผิวของลูกกลิ้งเป็นตัวนำแสงซึ่งมีความไวต่อ แสงสว่าง บริเวณที่สัมผัสแสงสว่างก็จะสูญเสีย ประจุไฟฟ้าสถิตไป ผลของการสูญเสียประจุไฟฟ้าสถิต เนื่องจากการสะท้อนแสงจากต้นฉบับ ทำให้คงเหลือประจุไฟฟ้าสถิตที่ลูกกลิ้งตามรูปแบบที่เป็นส่วนมืด หรือสีเข้มของต้นฉบับ และประจุไฟฟ้าที่เหลืออยู่บนลูกกลิ้งนี้เอง ที่จะดูดผงหมึกเข้าไปติด และพิมพ์ลงบนกระดาษ กระดาษที่พิมพ์แล้วนี้ จะได้รับความร้อนจากหลอดไฟให้ความร้อน ในขั้นตอนสุดท้ายของการถ่ายเอกสาร ซึ่งจะหลอมละลายพลาสติกเรซิน ที่ผสมอยู่ในผงหมึก ช่วยให้ภาพติดอยู่ได้คงทนบนกระดาษ

เครื่องถ่ายเอกสารมีอยู่ ๒ ประเภท คือ เครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และระบบเปียก แต่ที่ใช้กันโดยทั่วไปมักเป็นระบบแห้ง

๑. เครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง

ใช้ผงหมึก (ผงคาร์บอน และเรซิน) ผสมกับสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวนำผงหมึก ให้ไปติดลูกกลิ้ง ได้แก่ ผงเหล็กกล้า ผงแก้ว และเม็ดทรายหรือซิลิกา เมื่อผงหมึกถูกดูดไปเกาะติดที่ลูกกลิ้งแล้ว สารตัวนำผงหมึกเหล่านี้ ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

๒. เครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก

ใช้สารละลายไฮโดรคาร์บอน โดยปกติใช้สารไอโซดีเคน (isodecane) เป็นตัวนำหมึกไปติดที่ลูกกลิ้ง ในกระบวนการถ่ายเอกสารระบบเปียกนี้ กระดาษจะถูกทำให้ชื้น ด้วยสารไอโซดีเคน ก่อนที่จะนำหมึกไปติดที่ลูกกลิ้ง จากนั้นความร้อน หรืออากาศ ก็จะถูกใช้เป็นตัวช่วยให้กระดาษแห้ง หลังจากถ่ายทอดภาพจากต้นฉบับได้แล้ว

สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารระบบสีนั้น ใช้หลักการกระแสไฟฟ้าสถิตเช่นเดียวกัน แต่มีระบบผงหมึก ๓ ระบบด้วยกัน คือ ใช้แม่สี เขียว แดง น้ำเงิน เพื่อให้เกิดเป็นสีต่างๆ โดยให้กระดาษผ่านผงหมึกทีละระบบสี

เครื่องพิมพ์ระบบแสงเลเซอร์ (laser printer)

ใช้สัญญาณไฟฟ้าระบบดิจิทัล และแปลสัญญาณเหล่านี้ ผ่านทางลำแสงเลเซอร์ไปยังพื้นผิวลูกกลิ้ง ที่ไวต่อแสงสว่าง และกระบวนการพิมพ์เอกสาร ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกับระบบการถ่ายเอกสารทั่วไป

เครื่องโทรสาร (facsimile)

ทำงานโดยได้รับสัญญานำเข้า ซึ่งเป็นระบบดิจิทัล และสัญญาณเหล่านี้ ถูกแปลงไปยังกระดาษพิมพ์ ขณะที่กระดาษเคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวที่ร้อน กระดาษที่ใช้สำหรับเครื่องโทรสาร มักถูกเคลือบไว้ด้วยสารเคมี หรือในบางกรณี อาจใช้แถบริบบอนที่ไวต่อความร้อน พิมพ์ลงบนกระดาษธรรมดาก็ได้

เครื่องพิมพ์เขียว (plan printing machine)

ใช้กระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการไดอะโซ (diazo process) ซึ่งหมายถึง การใช้สารไดอะโซ  สีน้ำตาลแดงในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ กระดาษที่ใช้ก็เป็นกระดาษที่มีความไวต่อสารเคมี เมื่อสัมผัสกับภาพ และตามด้วยไอระเหยของแอมโมเนีย น้ำยาเคมี หรือความร้อน ก็จะได้ภาพตามที่ต้องการ

สำหรับ เครื่องปรุกระดาษไข และเครื่องโรเนียว นั้น ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาแทน เช่น เครื่องอัดสำเนาระบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการใช้เครื่องปรุกระดาษไข ก็คือ การใช้กระดาษปรุไข ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการปรุไขแล้ว สัมผัสกับความร้อน เกิดเป็นไอระเหย ที่มีกลิ่นจากสารเคมี ที่เคลือบอยู่ที่กระดาษปรุไข หรือการโรเนียวที่ให้กลิ่นจากการระเหยของหมึกเหลวนั่นเอง

สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โอโซน (Ozone, O3)

โอโซนเกิดขึ้นได้จากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีความดันไฟฟ้าแรงสูง เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ เครื่องเชื่อมโลหะไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับในเครื่องถ่ายเอกสารนั้นโอโซน ส่วนใหญ่เกิดจากการอัดและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ ลูกกลิ้งและกระดาษ โอโซนบางส่วนเกิดจากการ ปล่อยแสงเหนือม่วง (แสงอัลตราไวโอเลต : UV) จากหลอดไฟพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งแสงเหนือม่วงนี้ จะทำให้ออกซิเจนในอากาศ รวมตัวกันเป็นโอโซนง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามใน สภาวะปกติหรือในสำนักงานทั่วไป โอโซนจะ สลายตัวเป็นออกซิเจนได้ภายใน ๒-๓ นาที อัตราการสลายตัวของโอโซนขึ้นอยู่กับระยะเวลา อุณหภูมิ (โอโซนสลายตัวได้เร็วยิ่งขึ้นในที่ที่มีอุณหภูมิสูง) การระบายอากาศ และพื้นผิววัตถุที่โอโซนสัมผัส ถ้าเป็นถ่านปลุกฤทธิ์ (activated car- bon) ก็จะทำให้โอโซนสลายตัวได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ ดังนั้นเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จึงมีแผ่นกรอง ที่ทำด้วยถ่านปลุกฤทธิ์ติดอยู่ด้วย เพื่อสลายโอโซน ก่อนปล่อยออกภายนอกเครื่อง

ค่ามาตรฐานการสัมผัสโอโซนสำหรับ ๘ ชั่วโมงการทำงานของประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คือ ๐.๑ ส่วนในล้านส่วน (parts per million, ppm) ส่วนมติที่ประชุมของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ภาครัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (American Conference of Governmental Industrial Hygienists, ACGIH) ได้กำหนดค่าที่ยอมให้มีได้ในบรรยากาศการทำงาน (Threshold Limit Value, TLV) ของโอโซนเป็น ๐.๑ ส่วนในล้านส่วน เช่นเดียวกัน แต่เป็นค่าที่ไม่ยอม ให้มีเกินค่านี้ในบรรยากาศการทำงาน ไม่ว่า ในเวลาใดก็ตามค่า ceiling ระดับความเข้มข้นของ โอโซนที่ ๑๐ ส่วนในล้านส่วน เป็นระดับที่ทำ อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพทันที (Immediately Dangerous to Life and Health, IDLH)

ผลต่อสุขภาพระยะสั้น

โอโซนที่ระดับความเข้มข้นต่ำ (๐.๐๑-๐.๐๒ ส่วน ในล้านส่วน) ก็สามารถตรวจสอบกลิ่นได้แล้ว โอโซนในระดับความเข้มข้น ๐.๒๕ ส่วนในล้านส่วนขึ้นไป มีผลทำให้เกิดความระคายเคืองต่อตา จมูก และคอ ทำให้หายใจสั้น วิงเวียน และปวดศีรษะได้ นอกจากนี้ยังพบว่า เป็นสาเหตุของความล้า และการสูญเสียประสาทรับรู้กลิ่นด้วย คนที่มีโรค ทางระบบหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด ไม่ ควรสัมผัสโอโซนเลย

ผลต่อสุขภาพระยะยาว

การสูดหายใจเอาโอโซนเข้าไปเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำอันตรายต่อปอดได้ พบได้บ่อยในคนงานเชื่อมโลหะไฟฟ้า ไม่ค่อยพบในผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายเอกสาร