อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย

อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย

การคิดดอกเบี้ยในการผิดนัด  ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564

สิ่งที่แก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมมีดังนี้
มาตรา ๒๒๔ หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗ บวกด้วย อัตราเพิ่มร้อยละสอง
ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่น อันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดการพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้

การคิดดอกเบี้ยในการผิดนัด ซึ่งจากเดิมจะอยู่ในอัตราที่เท่ากับอัตราเดิมในมาตรา 7 (เดิม) คือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี
แต่พระราชกำหนดได้กำหนดให้แก้ไขเป็นร้อยละตามมาตรา 7 (ใหม่) บวกด้วยร้อยละ 2 ซึ่งในตอนนี้ก็คือร้อยละ 5 ต่อปี
ครับ (มาจากร้อยละ 3+2)

ซึ่งประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาก็คือการปรับเปลี่ยนแบบนี้อาจจะเป็นผลดีกับลูกหนี้กรณีที่มีการเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหาย
กรณีละเมิด (ดอกเบี้ยผิดนัด) เพราะก่อนหน้านี้อาจจะมีหลายคดีใช้วิธียืดเวลาคดีออกไปเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยมากขึ้นก็เป็น
ได้ครับ

และจากการระบุว่าไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยกับการพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่น ยังเป็นแนวทางตามกฎหมายเดิมที่เคย
มีครับ ซึ่งตรงนี้เป็รเรื่องของการพิสูจน์ค่าเสียหายยังถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า เจ้าหนี้เองจะพิสูจน์อย่างไรที่ไม่เกินกว่าเหตุ
และแค่การเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดก็น่าจะเพียงพอแล้วหรือไม่

มาตรา ๒๒๔/๑ ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ย
ในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น
ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

สำหรับมาตรานี้เป็นตัวเพิ่มเข้ามาจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้องการจะช่วยเหลือลูกหนี้ ในกรณีที่ผิดนัดกรณี
ชำระเป็นงวดไม่ให้เจอภาระหนักเกินไป ถ้าผิดงวดไหนก็ให้เรียกแค่ส่วนของเงินต้นก้อนนั้น ซึ่งค่อนข้างยุติธรรมกับลูกหนี้
มากขึ้นเช่นกัน


  บางส่วนจากบทความ “กฎหมายใหม่ อัตราดอกเบี้ยใหม่  มีอะไรที่ต้องรู้บ้าง”
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account ปีที่ 18 ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน 2564

Tax  Talk : Tax knowledge : TaxBugnoms
วารสาร : CPD&ACCOUNT มิถุนายน 2564

อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย

มีคำถามสอบถามมายังศูนย์นิติศาสตร์ฯ ว่า ในกรณีของการคิดดอกเบี้ยหนี้เงินและ/หรือการชำระหนี้ผิดนัด การคิดอัตราดอกเบี้ยต้องคิดตามคำพิพากษาที่ศาลได้กำหนดมาหรือไม่ ในกรณีที่สู้คดีกันในชั้นศาลและศาลได้พิพากษามา หรือต้องยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นหลัก ศูนย์นิติศาสตร์ฯ จึงได้จัดทำคำอธิบายในประเด็นดังกล่าว รายละเอียดดังนี้

ประเด็นที่ 1 กฎหมายใหม่ที่แก้ไขเรื่อง “อัตราดอกเบี้ยกับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด” ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[1] 

ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดผลบังคับใช้ของกฎหมายใหม่ไว้ในมาตรา 6 เรื่องดอกเบี้ย และมาตรา 7 เรื่องดอกเบี้ยผิดนัด กล่าวคือ

มาตรา 6 บทบัญญัติตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

หากหนี้ถึงกำหนดชำระในกรณีดอกเบี้ยหรือกรณีดอกเบี้ยผิดนัด ก่อนวันที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 11 เมษายน 2564)[2] การคิดดอกเบี้ยก็เป็นไปตามกฎหมายเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ กรณีไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ ให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 7 (เดิม) ส่วนกรณีดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 (เดิม)

แต่หากหนี้ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ กรณีดอกเบี้ยที่ไม่ตกลงกันไว้ ให้คิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตรานี้ได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วนกรณีดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี (ปัจจุบัน (ปี 2565) เท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี)

ในเรื่องการคิดดอกเบี้ยนี้ มีคำอธิบายที่แตกต่างกันอย่างน้อย 2 แนวทาง

1. สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม อธิบายในทำนองว่า งวดไหนที่ถึงกำหนดชำระหรือผิดนัดก่อนวันที่ 11 เมษายน 2564 ก็ใช้อัตรา 7.5 ต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในงวดเดียวกันนั้นตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ก็ใช้อัตราร้อยละ 3 หรือร้อยละ 5 ต่อปีแล้วแต่กรณี[3]

อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย

2. รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อธิบายว่า งวดไหนที่ผิดนัดก่อนวันที่ 11 เมษายน 2564 ก็ใช้อัตรา 7.5 ต่อปีตลอดสำหรับงวดนั้น ๆ (ในงวดที่ผิดนัดก่อนวันที่ 11 เมษายน 2564 ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยแบบ 2 อัตราเหมือนความเห็นแรก)[4]

ประเด็นที่ 2 อัตราดอกเบี้ยปกติทั่วไปที่ไม่ใช่การผิดนัด

มาตรา 7 (เดิม) ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา 7 (ใหม่) ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี

อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์

มาตรานี้ ทั้งกฎหมายก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมและที่แก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า เป็นกรณีที่คู่กรณีได้ตกลงกันในเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่ว่าไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ เช่น ทำสัญญากู้เงินโดยกำหนดว่าผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ดังนั้น จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติมาตรานี้ หรือในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เสียดอกเบี้ยไว้ แต่ว่าบทบัญญัติมาตรานั้นไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ เช่น การเลิกสัญญาตามมาตรา 391 ที่ให้คิดดอกเบี้ยด้วย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้[5] ดังนั้น จึงใช้อัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติมาตรานี้[6]

ฉะนั้น หากเป็นกรณีที่คู่กรณีได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในนิติกรรมแล้วและอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นไปตามที่ตกลงกัน ไม่จำต้องใช้มาตรา 7 นี้[7]

คำพิพากษาฎีกา 773/2518 หนังสือกู้ยืมตกลงว่า “ผู้กู้ยอมให้คิดดอกเบี้ยต่อเดือน” ย่อมหมายความว่าผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันกู้ (ไม่ใช่วันผิดนัด)

โดยตามกฎหมายใหม่จะพิพากษาว่า “ให้จำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสามต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7” ทั้งนี้เพราะระหว่างการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือระหว่างดำเนินการบังคับคดีอาจมีการออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้[8]

ประเด็นที่ 3 อัตราดอกเบี้ยผิดนัด

มาตรา 224 (เดิม) หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 224 (ใหม่) หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรานี้เป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดหนี้เงิน (หนี้ที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นการส่งมอบเงินตรา ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสัญญากู้ยืมเงิน แต่รวมถึงสัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างแรงงาน หนี้ละเมิด[9] อัตราดอกเบี้ยผิดนัดในปัจจุบัน (ปี 2565)จึงเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี  โดยมาตรานี้สามารถใช้บังคับได้ แม้คู่กรณีจะไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ในสัญญาก็ตาม

คำพิพากษาฎีกา 326/2534 สัญญาจำนองระบุไม่คิดดอกเบี้ยแก่กัน แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดและโจทก์มีหนังสือทวงถามและให้ไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม)

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่คู่กรณีตกลงอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็สามารถทำได้ตามที่กฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามไว้ หรือกรณีที่กฎหมายเฉพาะได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว เช่น มีกฎหมายกำหนดเฉพาะ ก็ใช้กฎหมายเฉพาะนั้น เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 9 พ.ร.บ.สถาบันการเงิน มาตรา 4

ในกรณีที่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ ก็เป็นไปตามที่ตกลงกัน (ในอัตราที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย) เช่น คู่สัญญาทำสัญญากู้ยืมเงินโดยตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ก็บังคับตามเจตนาคู่สัญญา ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัด อัตราดอกเบี้ยจะลดลงเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี (มาตรา 224 เดิม)[10]

ในกรณีหนี้เงินที่อัตราดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะเพราะเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หากลูกหนี้ผิดนัด ย่อมต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกา 7378/2542 โจทก์คิดดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ มีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้ แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 (เดิม)

ประเด็นที่ 4 คำพิพากษาไม่เกินคำขอ

โดยหลักของการพิจารณาคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลต้องตัดสินตามคำฟ้องทุกข้อหาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ระบุมา จึงห้ามศาลพิพากษาเกินที่ปรากฏ โดยคำขอท้ายฟ้องที่ขอมาต้องสอดคล้องกับสภาพข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งคดีที่สืบเนื่องมาจากกฎหมายสารบัญญัติ ถ้าหากโจทก์ไม่ได้ขอในเรื่องใด ศาลจะพิพากษาให้ไม่ได้เพราะเกินคำขอและไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง[11] ตัวอย่างเช่น

กรณีโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่า ขอให้ขับไล่อย่างเดียว ศาลจะพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ได้[12]

กรณีโจทก์ขอให้จำเลยชำระหนี้เงินจำนวนหนึ่ง ศาลจะพิพากษาให้เกินกว่าที่ขอมาไม่ได้ แม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิก็ตาม เพราะว่าโจทก์อาจจะพอใจแค่ในจำนวนที่ขอมาเท่านั้น[13]

อย่างไรก็ดี กฎหมายก็กำหนดข้อยกเว้นหลักพิพากษาไม่เกินคำขอไว้ในตามมาตรา 142 (1) – (6)[14]

ในมาตรา 142 นี้ มีกรณีที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยคือ มาตรา 142 (3) กับ (6) กำหนดให้ศาลมีดุลพินิจในเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งศาลจะใช้หรือไม่ใช้ดุลพินิจนี้ก็ได้[15] กล่าวคือ

4.1 มาตรา 142 (3) โจทก์ฟ้องขอชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ศาลจะให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ได้รับชำระเสร็จก็ได้

กรณีอนุมาตรานี้ ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาอาจจะเป็นดอกเบี้ยตามที่ได้ตกลงกันโดยนิติกรรม หรือดอกเบี้ยตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็ได้ โดยการใช้ดุลพินิจนี้ ศาลจะยังคงถืออัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมา ที่เป็นตามสัญญาหรือกฎหมายให้โจทก์มีสิทธิเรียกได้[16]

สิ่งสำคัญคือ โจทก์จะต้องมีคำขอดอกเบี้ยนับจนถึงวันฟ้องเท่านั้น หากโจทก์ขอดอกเบี้ยมา แต่ว่าขอหรือคำนวณมาไม่ถึงวันฟ้อง ศาลจะใช้ดุลพินิจตามอนุมาตรานี้ไม่ได้[17]

คำพิพากษาฎีกา 3356-3358/2529 โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยในค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจะพิพากษาให้ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้อง คือให้นับแต่วันละเมิดไม่ได้

คำพิพากษาฎีกา 4844/2545 จำเลยฟ้องแย้งโจทก์โดยขอดอกเบี้ยก่อนฟ้องแย้งในต้นเงิน 2 จำนวน นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2541 และวันที่ 18 เมษายน 2541 เมื่อคิดถึงวันฟ้องแย้งเป็นระยะเวลา 8 เดือน 19 วัน กับ 7 เดือน 16 วัน แต่จำเลยขอคิดเพียง 8 เดือนและ 7 เดือน ที่ศาลล่างพิพากษาให้ดอกเบี้ยโดยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2541 และวันที่ 18 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการเกินคำขอในส่วนที่เป็นระยะเวลาคิดดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องแย้งไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาฎีกา 7556/2547 หากโจทก์ขอให้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจะพิพากษาให้ชำระนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ย่อมไม่ชอบ

4.2 มาตรา 142 (6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยซึ่งมิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

เป็นกรณีที่พฤติการณ์เกิดขึ้นภายหลังเกี่ยวกับความสุจริตในการสู้คดี สิ่งสำคัญคือโจทก์จะต้องฟ้องขอให้ชำระเงินโดยขอให้ชำระดอกเบี้ยด้วย แต่ไม่ได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ เช่น โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินตามมาตรา 224 ศาลเห็นสมควรจะให้เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่น เช่น วันที่ศาลมีคำพิพากษา เป็นต้น[18]

ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นดังกล่าวนี้ให้นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นอันเป็นส่วนของดอกเบี้ยในอนาคตเท่านั้น ก่อนหน้านั้นให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามที่ขอมาในฟ้องซึ่งอาจจะขอมาต่ำกว่าที่ตนมีสิทธิได้รับก็ได้[19]

แต่ถ้าโจทก์ไม่ได้มีคำขอดอกเบี้ยมาเลย ศาลจะให้ตามมาตรานี้ไม่ได้[20]

คำพิพากษาฎีกา 8093/2544 โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยมาด้วย 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่เมื่อจำเลยมีการเลื่อนคดีหลายครั้งโดยอ้างว่าจะไปเจรจาตกลงกับโจทก์ แต่จำเลยก็ไม่ได้ทำ ศาลเห็นว่ามีเหตุไม่สมควรและไม่สุจริตในการสู้คดี จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องได้

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติอนุมาตรานี้ศาลจะต้องคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีประกอบด้วย ดังนั้น ในหลายกรณี ศาลจึงไม่ได้พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่โจทก์ขอมา

คำพิพากษาฎีกา 5590/2548 การที่ผู้ตายมีส่วนประมาทในการทำละเมิด ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยต่อสู้คดีเป็นธรรมดา และจำเลยก็ต่อสู้ไปตามสิทธิของตน ไม่ปรากฏว่าดำเนินคดีไม่อย่างไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตามที่โจทก์มีสิทธิได้ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาฎีกา 2963/2545 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยถึงความไม่สุจริตในการต่อสู้คดีแต่อย่างไร และไม่ปรากฏว่าจำเลยสู้ความโดยไม่สุจริต การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรับผิดในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่โจทก์ขอมาในคำฟ้อง ย่อมไม่ชอบ

ข้อสรุป

ในเรื่องระยะเวลาของการบังคับใช้กฎหมายใหม่เป็นไปตามที่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 กำหนด คือ พิจารณาเรื่องกำหนดนัดหรือผิดนัดก่อนวันที่ 11 เมษายน 2564 จะใช้อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเดิม (ในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้หรือกรณีที่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ) กับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จะใช้อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่

กรณีอัตราดอกเบี้ยในเรื่องหนี้เงิน จะพิจารณาว่ามีการตกลงกันไว้ตามนิติกรรมหรือมีกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เฉพาะหรือไม่ หากไม่มี จึงบังคับใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (แก้ไขใหม่)

กรณีอัตราดอกเบี้ยผิดนัด จะพิจารณาว่า เป็นกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่มี จึงบังคับใช้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 (แก้ไขใหม่)

เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติแล้ว ก็ต้องพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติประกอบ กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ศาลจะพิพากษาเกินกว่าที่โจทก์ขอมาไม่ได้

เป็นเพียงข้อยกเว้นที่ให้ดุลพินิจศาล (อาจจะใช้หรือไม่ก็ได้) ซึ่งศาลค่อนข้างจะใช้ดุลพินิจอย่างเคร่งครัด โดยโจทก์จะต้องขอมาในคำฟ้องให้เข้าเงื่อนไขของกรณีตามมาตรา 142 (3) หรือขอมาในคำฟ้องและจำเลยมีพฤติการณ์ในการดำเนินคดีที่ไม่สมควรและไม่สุจริตตามมาตรา 142 (6)

กล่าวโดยสรุป โดยหลักแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยตามกฎหมาย (ดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมาย) และคำฟ้องของโจทก์ โดยโจทก์อาจจะขอดอกเบี้ยมาในอัตราที่ต่ำกว่าที่ตนมีสิทธิได้รับตามกฎหมายก็ได้ ศาลก็จะพิพากษาตามที่โจทก์ขอมา แต่จะไม่สามารถพิพากษาเกินคำขอ (แม้โจทก์จะมีสิทธิได้รับมากกว่าที่โจทก์ขอมาก็ตาม) ซึ่งเป็นไปตามหลักของ ป.วิ.พ. มาตรา 142

เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 142 (3) กับ (6) ที่เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจ (จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้) ในเรื่องระยะเวลาของการคิดดอกเบี้ยที่จะขยายระยะเวลาไปมากกว่าที่โจทก์ขอมาตามเงื่อนไขของมาตรา 142 (3) หรืออีกฝ่ายมีเหตุไม่สมควรและไม่สุจริตในการต่อสู้คดี ศาลก็อาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้เกินกว่าที่โจทก์ขอมาตามมาตรา 142 (6) แต่เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี (ข้อยกเว้นทั้งสองประการนี้ ศาลค่อนข้างเคร่งครัดในการใช้ดุลพินิจ)

อ้างอิง

[1] พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 เข้าถึงได้จาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/026/T_0001.PDF  ; https://www.krisdika.go.th/law?lawId=4

[2] มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 เมษายน 2564)

[3] สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, เอกสารเลขที่ ศย 016/ว411 “ข้อพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564” 6. เข้าถึงได้จาก

https://jla.coj.go.th/th/file/get/file/20210420c484c0be869a238eb2141099ad6360b2171411.pdf

[4] มุนินทร์ พงศาปาน, “เสวนาสนทนาปัญหากฎหมายกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เรื่อง อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไข” นาทีที่ 48.53-49.55. เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/letec.lawtu/videos/สนทนาปัญหากฎหมายกับ-รศดรมุนินทร์-พงศาปาน/326102368848694/?_rdc=1&_rdr ; นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ), “สรุปสาระสำคัญสนทนาปัญหากฎหมายกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เรื่อง อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไข”, ช่วงคำถาม-คำตอบ (คำถามที่ 1). เข้าถึงได้จาก https://www.law.tu.ac.th/legal-talk-summary-new-law-interest-rate/

[5] มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

[6] ภัทรศักดิ์ วรรณแสง, หลักกฎหมายหนี้ (พิมพ์ครั้งที่ 12, วิญญูชน 2564) 84-85.

[7] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายกฎหมายลักษณะหนี้, (นิติบรรณการ 2556) 206.

[8] ภัทรศักดิ์ วรรณแสง 84-85.

[9] โสภณ รัตนากร 202; มุนินทร์ พงศาปาน, “สรุปเสวนาสนทนาปัญหากฎหมายกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เรื่อง อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไข” เข้าถึงได้จาก

https://www.law.tu.ac.th/legal-talk-summary-new-law-interest-rate/

[10] ภัทรศักดิ์ วรรณแสง 96.

[11] ไพโรจน์ วายุภาพ, กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1 บททั่วไป, (พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงสยาม 2563) 522.

[12] ไพโรจน์ วายุภาพ 522.

[13] ไพโรจน์ วายุภาพ 523.

[14] มาตรา 142 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่

(1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้

(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้

(3) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้

(4) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายอันต่อเนื่องคำนวณถึงวันฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้ชำระค่าเช่าและค่าเสียหายเช่นว่านี้จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้

(5) ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้

(6) ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยซึ่งมิได้มีข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นก็ได้

ใครกําหนดอัตราดอกเบี้ย

ฉบับย่อ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่ส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ก็ปรับขึ้นตาม เมื่อปรับลด ก็จะปรับลดตามเช่นกัน

กฎหมายกําหนดอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 กรณี ในอัตราเท่าใด

ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (คืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ ...

ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือนผิดกฎหมายไหม

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ชอบด้วย กฎหมายที่กำหนดว่าเป็นความผิดและมีโทษอาญา ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

คิดดอกเบี้ยได้กี่ปี

หากมีการฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นอัตราร้อยละเท่าไหร่ต่อปี เจ้าหนี้ไม่อาจคิดดอกเบี้ยเกิน 5 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเข้ามาตามฟ้องเป็นทุนทรัพย์เกิน 5 ปี ส่วนที่เกินมานั้นย่อมเป็นโมฆะ