การตั้งถิ่นฐานใน ดิน แดน ไทย ม. 1

          คำว่า อุษาคเนย์ แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุษา เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า รุ่งเช้า หรือแสงเงินแสงทอง (ฝรั่งคงคิดว่าทวีปนี้อยู่ทางตะวันออกจึงเรียกเช่นนั้น นาน ๆ ปีเข้า จึงเพี้ยนเป็น เอเชีย) อาคเนย์ ก็เป็นภาษาเดียวกัน แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่อไปนี้จะนำบทเขียนของอาจารย์ศรีศักร  วัลลิโภดม เรื่อง การตั้งถิ่นฐานของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถึง ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ท่านเขียนลงหนังสือเล่มใดไม่ทราบ แต่ผู้จัดทำได้เอกสารพิมพ์มาจำนวน 34 หน้า คัดลอกมาลงให้ท่านผู้สนใจพิจารณาพร้อมรูปภาพ

           ดินแดนประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่ เกาะน้อย คาบสมุทร หรือแหลม กับผืนแผ่นดินใหญ่ นับเป็นอาณาบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะของป่า สินแร่ โลหะธาตุนานาชนิดรวมไปถึงพื้นที่ราบลุ่ม และลาดลุ่มที่เหมาะกับการสร้างบ้านแปลงเมือง มีดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมตามฤดูกาล โดยเฉพาะลมมรสุมทั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นอกจากพัดประจำตามฤดูกาล นำฝนมาตกอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังเป็นลมสินค้าที่มีประโยชน์กับการเดินเรือทางทะเลจากดินแดนโพ้นทะเล พาผู้คนเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐาน

          ความแตกต่างของภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียด้วยกันก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้คนอยู่น้อย เพื่อแลเห็นพัฒนาการทางสังคมคือ การมีผู้คนอยู่รวมเป็นกลุ่มเหล่าอย่างเป็นรูปธรรมก็ราว 10,000 ปีลงมา ทางธรณีวิทยานับเป็นยุคโฮโลซีน ที่สัมพันธ์กับช่วงปลายยุคน้ำแข็งจากขั้วโลกละลาย

ชุมชนเร่ร่อน

          หลักฐานทางโบราณคดีสะท้อนให้เห็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของมนุษย์ ตามป่าเขาถ้ำใกล้ธารน้ำในที่สูง กับแหล่งป่าเขา และถ้ำชายทะเลโคลนตม ที่มีชีวิตกึ่งร่อนเร่ (semi nomadic) ตามฤดูกาล เพราะต้องพึ่งพิงอาหารตามธรรมชาติ นับเป็นสมัยที่ยังไม่มีการผลิตอาหารเลี้ยงตัวเอง (food gathering economy)

กลุ่มคนที่อยู่ตามป่าเขาในที่สูง และตามชายทะเลเหล่านี้ นับเนื่องในสมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงต้น หรือ ยุคหินกะเทาะ” (Pebble tool culture) เป็นเครื่องมือแบบหยาบๆ ใช้สับตัดด้านเดียว โดยชอบใช้หินธรรมชาติที่พบตามธารน้ำและลำน้ำที่มีการสึกกร่อนเป็นรูปร่างแล้ว

ชุมชนถาวร

          สังคมของคนในวัฒนธรรมหินกะเทาะที่นักโบราณคดีให้ชื่อเฉพาะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า โฮบินเนียนนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีพัฒนาการทางการเรียนรู้อย่างมีสติปัญญาในความเป็นมนุษย์ (Homo sapiens sapiens) มีการขยับขยายที่ทำกินและถิ่นที่อยู่อาศัย มาสู่การเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่ม จนทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งทั้งที่อยู่อาศัย และเขตบริเวณที่ร่อนเร่ตามฤดูกาล

         พัฒนาการเหล่านี้เห็นได้จากภาชนะดินเผา และรูปแบบลวดลายเชือกทาบที่ผลิตใช้ในครัวเรือนและในประเพณีพิธีกรรม รวมทั้งเครื่องมือหินที่ทำจากหินกะเทาะมาสู่หินขัดที่มีความหลากหลายในรูป แบบของการใช้สอยเพิ่มขึ้น

          พัฒนาการทางสังคม-เศรษฐกิจดังกล่าวนี้คือ กระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์แต่สมัยเศรษฐกิจแบบอาศัยธรรมชาติ (food gathering economy) มาสู่สมัยของเศรษฐกิจแบบผลิตอาหารเองได้ (food producing economy) นับเป็นวิวัฒนาการเมื่อราว 8,000 ปีลงมา ที่นักโบราณคดีจัดเป็น ยุคหินขัด” (Polished stone tool culture) หรือเรียก ยุคหินใหม่ก็ได้

          คำว่า หินใหม่หมายถึงยุคของวิวัฒนาการอย่างกว้างๆ เป็นยุคที่มนุษย์ในแทบทุกถิ่นฐานต้องวิวัฒนาการผ่านช่วงเวลานี้ แต่ละกลุ่มแต่ละท้องถิ่นวิวัฒนาการต่างเวลากัน เช่น ยุคหินใหม่ในประเทศไทยที่เรียกว่า หินขัดเกิดขึ้นทีหลังยุคหินใหม่ในเอเชียกลาง หรือแม้แต่ทางอินเดียและญี่ปุ่น

         วิวัฒนาการจากยุคหินกะเทาะเข้าสู่ยุคหินขัดนั้น เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนจากชุมชนเร่ร่อนหมุนเวียน มาเป็นชุมชนถาวร (sedentary settlement) เริ่มทำการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ที่มักจะหาอาหารอยู่ใกล้ลำธาร

          ความเป็นชุมชนอยู่ติดที่นั้นเห็นได้จากมีพื้นที่ป่าช้า (burial ground) เพื่อฝังศพร่วมกันของคนในชุมชน มีประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อดังเห็นได้จากบรรดาเครื่องเซ่นศพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ของคนตาย หรือสมบัติทรัพย์สิ่งของ โดยเฉพาะบรรดาวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพนั้นมักแสดงให้เห็นจากวัตถุเป็นรูปธรรม และสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในระบบความเชื่อ เช่น ใช้ดินเทศ อันเป็นแร่ดินธรรมชาติสีแดงโรยศพ หรือนำมาใส่รวมไว้ในภาชนะเซ่นศพ

นอกจากแหล่งฝังศพแล้ว ยังมีแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในระบบความเชื่อที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น ในสังคมยุคหินขัด คือกำหนดบรรดาโขดหิน เพิงผาหน้าถ้ำ หรือเพิงผาใกล้กับลำน้ำให้เป็นแหล่งทำพิธีกรรมตามฤดูกาล เขียนสีเป็นรูปรอยลงบนแผ่นผา เป็นลายเรขาคณิตสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเขียนภาพมือแดงประทับบนแผ่นผาเพื่อสัมผัสพลังเหนือธรรมชาติ

         สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งอันแสดงให้เห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยหินขัด หรือหินใหม่ ก็คือมีการติดต่อกันของชุมชนระหว่างท้องถิ่นที่อยู่ในภูมิวัฒนธรรม (cultural landscape) เดียวกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับ ที่มีทั้งที่เป็นแบบเหมือนกัน และที่ต่างกันเพราะรับมาจากถิ่นอื่น เป็นต้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชุมชนเหล่านี้อยู่ไม่ได้โดยลำพัง แต่ต้องติดต่อกับชุมชนอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิต จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ ก็นำมาซึ่งความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การแต่งงานข้ามชุมชน และการผูกมิตร ซึ่งในปัจจุบันเรียกผูกเกลอในภาคใต้ และผูกเสี่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          เครื่องมือหินกะเทาะแบบต่าง ๆ เป็นเครื่องมือแบบหยาบๆ ใช้สับตัดด้านเดียว มักใช้หินธรรมชาติที่พบตามธารน้าและลาน้าที่มีการสึกกร่อนเป็นรูปร่างแล้วมากะเทาะ พบที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

          ยุคของหินขัด หรือหินใหม่ น่าจะดำรงมาแต่ราว 8,000 ปีจนถึงราว 4,000 ปีมาแล้ว ก็มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคม เข้าสู่ ยุคโลหะที่ประกอบด้วย สมัยสำริดและ สมัยเหล็กอันเป็นสมัยเวลาที่เริ่มมีการเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนโพ้นทะเลที่ห่างไกลทั้ง ทางตะวันออก และตะวันตก ซึ่งมีพัฒนาการทางอารยธรรมแล้ว ทั้งในตะวันออกกลาง อียิปต์ เปอร์เซีย กรีก โรมัน อินเดีย และจีน

สังคมภายนอกดังกล่าวนี้ ล้วนมีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นรัฐ และเป็นอาณาจักรที่มีลายลักษณ์อักษร (literate society) มีระบบความเป็นเมืองเป็นนครอย่างมีแผนผังที่เป็นมาตรฐาน (urban centre) ชัดเจน บ้านเมืองที่มีอารยธรรมทั้งทางตะวันตก และตะวันออกนี้ นอกจากติดต่อกันทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแล้ว ยังต้องการสินค้าอันได้จากทรัพยากรของดินแดนอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพืชพันธุ์ สัตว์ป่า และโลหะธาตุ จึงมีพวกพ่อค้าและนักผจญภัยเดินทางเข้ามาติดต่อแสวงหาสิ่งของที่เป็นสินค้า

          ความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด แต่ก็มีคนอยู่น้อย ทำให้ผู้คนจากภายนอกที่เข้ามาติดต่อเหล่านั้นไม่ได้มาเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าเพียงอย่างเดียว หากเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย ทำให้มีพัฒนาการจากการเป็นชุมชนพลัดถิ่น (diaspora) มาสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกันกลายเป็นเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่น (ethnic groups) จนเกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านอิสระ (autonomous villages) ขึ้น

กลุ่มคนหลายชาติพันธุ์จากภายนอกที่กระจายตัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เคลื่อนมาจากบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน โดยผ่านมาทางลุ่มน้ำแดง ลุ่มน้ำดำ และชายทะเลในเขตประเทศเวียดนาม เข้ามาตั้งถิ่นฐานทั้งในลุ่มแม่น้ำโขง กับบริเวณชายทะเลตั้งแต่อ่าวไทยไปจนถึงคาบสมุทรและหมู่เกาะในทะเลจีน

          คนจากภายนอกที่กระจายตัวมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนเหล่านี้ คงไม่ใช่มาเพียงการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ของป่าเพื่อนำไปเป็นสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว หากให้ความสัมพันธ์กับทรัพยากรที่เป็นโลหะธาตุ เช่น ทองแดง เหล็ก เกลือ เป็นต้น จึงเข้ามาพร้อมด้วยความรู้ทางการขุดแร่และถลุงแร่ที่นำมาทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้เป็นสำคัญ

โดยสรุปคือ คนจากภายนอกไม่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นชุมชนทางอุตสาหกรรมไปด้วยในเวลาเดียวกัน

         ความเจริญทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการถลุงโลหะนั้น ได้มาจากบ้านเมืองในทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นรัฐตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว บ้านเมืองทางใต้ของจีนเหล่านี้มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการโลหกรรมที่สัมพันธ์กับพวกฮั่น ในลุ่มน้ำฮวงโห ทางตอนเหนือของจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชาง ราชวงศ์โจวลงมาที่มีอารยธรรมร่วมสมัยกับบ้านเมืองทางตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด

          ในดินแดนประเทศไทย กลุ่มหมู่บ้านอิสระที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ราว 3,000 ปีลงมานั้นนับเนื่องเป็นยุคสำริด พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในแอ่งสกลนคร และลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักในภาคกลาง ผู้คนในยุคนี้มีประเพณีฝังศพครั้งแรกคือ ฝัง ทั้งเรือนร่างในหลุมศพโดยมีภาชนะดินเผาใส่อาหารเครื่องประดับ และเครื่องใช้เป็นสิ่งของเซ่นศพ

           ชุมชนหลายแห่งเป็นแหล่งถลุงโลหะในตัวเอง โดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้นั้นมีทั้งเครื่องมือแบบเดิมที่ทำด้วยหินขัด และโลหะสำริดที่เป็นโลหะผสมกันของทองแดง ดีบุก และตะกั่ว (?) เครื่องมือสำริดที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจากบ้านเมืองทางใต้ของจีน ก็คืออาวุธ มีขวานสำริด และหอก เป็นต้น

          สังคมวัฒนธรรมของผู้คนในยุคนี้ติดต่อกับชุมชนชายทะเล ดังเห็นได้จากพัฒนาการของรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาบางชนิดที่ใช้เซ่นศพ คือเริ่มมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากรูปแบบของภาชนะใช้สอยที่แม้จะมีลายแบบเชือกทาบเป็นพื้นฐานก็ตาม แต่เริ่มมีลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์มากขึ้น รวมทั้งนิยมใช้วัสดุทางธรรมชาติที่หายาก เช่น หอยทะเลลึกและกระดูกปลา ฯลฯ มาเป็นเครื่องประดับและเงินตราในการแลกเปลี่ยน เช่น หลุมศพของคนในแถวลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก นิยมใช้หอยเบี้ย หอยทะเล ปูรองรับศพคนตาย เป็นต้น

         หอยทะเลลึกพบในที่ดอน สะท้อนให้เห็นสังคมของคนที่อยู่ในดินแดนภายในติดต่อกับบรรดาชุมชนชายทะเล ที่มีความสามารถเดินเรือออกทะเลลึกแล้วแต่โดยรวมของวัฒนธรรมในยุคนี้ แม้ว่าจะมีโลหะใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่พบการใช้เหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ จึงนับเนื่องเป็นยุคก่อนเหล็ก หรือยุคสำริด

          นับแต่ยุคสำริดเป็นต้นมาจะเริ่มเห็นพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมที่มีความเติบโตเร็วกว่าลักษณะค่อยๆ วิวัฒนาการอย่างที่พบในสังคมยุคก่อนๆ ทั้งนี้เพราะมีผู้คนกระจายจากทางตอนใต้ของประเทศจีนเพิ่มเข้ามาทั้งทางบก และทางทะเล โดยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่รอบๆ ทะเลสาบคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน คือวัฒนธรรมเตียน (หรือเทียน) ที่พัฒนาขึ้นราว 5,000-3,000 ปีมาแล้ว

         การกระจายตัวของอารยธรรมยูนนาน ซึ่งหมายถึงอาณาจักรของกลุ่มคนที่ไม่ใช่พวกฮั่นในลุ่มนํ้าฮวงโห ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นรัฐใหญ่น้อย จากบริเวณภายในมณฑลยูนนานลงสู่พื้นที่ชายทะเลจีนในเขตมณฑลกวางสี กวางตุ้ง ไปจนถึงอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนาม

วัฒนธรรมในยุคสำริด-เหล็ก เช่น มโหระทึก (หรือกลองกบ) เครื่องประดับอาวุธ และสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ หรือความอุดมสมบูรณ์ ได้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำซองมาที่อยู่ใต้เมืองฮานอยของเวียดนาม พบแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมดองซอน อันเป็นชุมชนที่อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นแหล่งรวมสินค้าและแหล่งผลิตสินค้าที่มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรทางตอนใต้ของประเทศจีน

          มโหระทึก หรือกลองกบ เครื่องประดับสำริด เครื่องมือ และอาวุธในลักษณะที่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (Trade items) แพร่หลายไปตามเส้นทางการค้า ทั้งทางบกทางทะเลเข้าสู่ดินแดนประเทศไทย เขมร ลาว มาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงเป็นเหตุให้พบสินค้าที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ตามหลุมฝังศพ และแหล่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมของผู้คนในสังคมท้องถิ่นที่มีพัฒนาการจากชุมชน หมู่บ้าน (autonomous villages) มาสู่กระบวนการสร้างบ้านแปลงเมือง และรัฐในสมัย 2,500 ปีที่แล้ว ที่นับเนื่องเป็นยุคเหล็ก

         กล่าวโดยสรุป ยุคเหล็กเป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรมจากการเป็นสังคมระดับบ้านอันหลากหลายไปด้วยชนหลายชาติพันธุ์ที่อยู่กันเป็นเหล่าเป็นกลุ่มอิสระตามท้องถิ่นต่างๆ มาเป็นการรวมกลุ่มใหญ่ที่มีการผสมผสานกันเป็นเมืองและรัฐแรกเริ่ม (early state) ขึ้นมา เพราะความสำคัญของวัตถุทางวัฒนธรรม เช่น มโหระทึก เครื่องประดับ อาวุธที่มีลวดลายสัญลักษณ์นั้น อยู่ที่มีความหมายในทางบูรณาการทางวัฒนธรรมให้เกิดการรวมตัวของคนที่หลากหลายชาติพันธุ์ให้มาสัมพันธ์เป็นพวกเดียวกัน และเกิดการจัดระเบียบทางสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีขนบธรรมเนียมและประเพณี

          เฉพาะมโหระทึก หรือกลองกบ คือสัญลักษณ์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือผู้ปกครองบ้านเมือง สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความเชื่อทั้งในด้านศาสนาและไสยศาสตร์ จากความเชื่อพื้นฐานเดิมในเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากธรรมชาติ เช่น น้ำ ดิน ลม ฝน ต้นไม้ และสัตว์ (animism) มาเป็นอำนาจเหนือจักรวาลที่มีดวงอาทิตย์และฟ้าเป็นใหญ่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลธรรมดาให้เป็นคนพิเศษ เช่น หัวหน้าเผ่า เจ้านาย เจ้าเมือง และกษัตริย์เมื่อบุคคลเหล่านี้ตายไปแล้วก็เกิดเป็นผีชั้นสูง เช่น ผีฟ้า ผีแถน ที่ในคติฮินดู-พุทธ คือเทวดาอารักษ์ หรือเทพเจ้า (Supernaturalism) เป็นต้น

          สัญลักษณ์เหนือธรรมชาติเหล่านี้รวมศูนย์อยู่ที่หน้ามโหระทึก ที่ตรงกลางมีรูปคล้ายดวงอาทิตย์เรืองแสงออกหลายแฉก เช่น ตั้งแต่เก้าหรือสิบแฉกขึ้นไป ล้อมรอบวงกลมหลายชั้น แต่จะเป็นลวดลายรูปสัตว์ เช่น นกกระเรียน ปลา ลวดลายเรขาคณิต หรือลายวงกลมที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ แต่ที่สำคัญก็คือรูปกบตรงขอบกลองทั้งสี่ทิศ

          มโหระทึกรุ่นแรกๆ มักเริ่มแต่กบตัวเดียวก่อนแล้วมาเป็นกบซ้อนกันสองหรือสามตัวในรุ่นหลัง แม้ว่าในบางแห่งกลองรุ่นแรกๆ ไม่มีรูปกบตรงขอบกลอง ก็นับว่ามีจำนวนน้อย กบคือสัญลักษณ์ของนํ้าฝนที่เกิดจากลมมรสุม จึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการขอฝน

         ศูนย์กลางของมโหระทึกคือ มณฑลยูนนาน และกวางสี ในประเทศจีน มโหระทึกที่พบบริเวณดังกล่าวมีหน้าที่ความสำคัญหลากหลายกว่าบรรดามโหระทึก ที่พบในเวียดนาม ไทย ลาว และมลายู เพราะทั้งใช้ในพิธีกรรมใหญ่ๆ ที่มีการใช้กลองพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เช่น เห็นในภาพเขียนสีบนผาลาย เขาฮวาซัน ในมณฑลกวางสี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของบรรพชนของชนชาติจ้วงในปัจจุบัน และประเพณีการตีกลองกบเป็นหมู่ในฤดูขอฝนก็ยังมีมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนบรรดามโหระทึกที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบแห่งละไม่กี่ใบ คือไม่พบเป็นจำนวนมากอย่างในยูนนานและกวางสี จึงคงเป็นเพียงสิ่งของประจำตำแหน่ง หรือประจำสถานภาพของบุคคลสำคัญ เช่น หัวหน้าเผ่า หัวหน้าชุมชนเท่านั้น ซึ่งนอกจากใช้ในประเพณีขอฝนแล้ว ยังรวมไปถึงฝังรวมอยู่ในหลุมของบุคคลสำคัญดังกล่าวเมื่อตายไปแล้ว ไม่ได้ใช้ในพิธีกรรมครั้งละหลายๆ ใบเหมือนที่เป็นอยู่ในยูนนานและกวางสี

         ข้อมูลจากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้คนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีความล้าหลังทางวัฒนธรรมในด้านเทคโนโลยี เพราะมีโลหะใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้านเกษตรกรรม และการทำมาหากินในด้านอื่นๆ ด้วย

          เทคโนโลยีด้าน โลหกรรมทำให้มีความสามารถด้านการผลิตอาหาร และควบคุมอุปสรรคหลายๆ อย่างในการดำรงชีวิตอยู่กันอย่างเป็นกลุ่มเหล่า จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่น้อยที่เรียกว่า กลุ่มหมู่บ้านอิสระ” (autonomous villages) มีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ-สังคมอย่างดีระหว่างแต่ละท้องถิ่น จนเป็นพื้นฐานรองรับการเคลื่อนย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่องของผู้คนในสมัยหลังลงมา โดยเฉพาะจากแหล่งอารยธรรมทางอาณาจักรเตียนในยูนนาน อันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมมโหระทึก ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมฮั่นตอนเหนือ

         การกระจายตัวของกลุ่มชนทางตอนใต้ของจีนในช่วงเวลาราว 3,000 ปีมาแล้วนั้น เกิดขึ้นจากทั้งการแสวงหาทรัพยากรเพื่อการแลกเปลี่ยนค้าขายกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในลักษณะสร้างบ้านแปลงเมือง ทรัพยากรสำคัญของยุคนี้ไม่น่าจะมีเฉพาะทรัพยากรที่เป็นของป่าเท่านั้น หากเป็นเรื่องของบรรดาแร่ธาตุ เช่น เกลือ และโลหะธาตุนานาชนิด ที่สัมพันธ์กับการขุดแร่ ถลุงแร่ และผลิตโลหะวัตถุ จึงทำให้พัฒนาการของชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นชุมชนทางเกษตรกรรมเท่านั้น หากสัมพันธ์กับการอุตสาหกรรมด้วย เพราะพบว่าชุมชนเหล่านี้เป็นจำนวนมากมีแหล่งถลุงเหล็ก และทองแดงรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในดินแดนประเทศไทย

         ภูมิภาคที่มีการกระจายตัวของคนเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากที่สุดก็คือ ลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักภาคกลาง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอาณาบริเวณที่มีทั้งเหล็ก ทองแดง และเกลือ เพราะเป็นพื้นที่กึ่งแห้งแล้งที่มีความเค็มสูง และขาดน้ำในฤดูแล้งจนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้คนเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีระบบการจัดการกักเก็บน้ำที่ต้องการความร่วมมือของผู้คนทั้งในชุมชน และชุมชนอื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกัน จึงจะมีชีวิตรอดได้ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้มีพัฒนาการจากสังคมบ้านอิสระ มาเป็น สังคมเมืองทำให้หลายเมืองในหลายท้องถิ่นรวมกันเป็น รัฐแรกเริ่มขึ้น (early state หรือ chiefdom)

          ความเป็นศูนย์กลางของเมืองที่เป็นรัฐดังกล่าว อยู่ที่การเป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญต่อสถานที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เป็นหัวหน้า และจัดให้มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในด้านพิธีกรรมทางศาสนา-ไสยศาสตร์ กับพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อการแลกเปลี่ยนสิ่งของและการค้าขายร่องรอยของอารยธรรมจากยูนนานที่เห็นจากศิลปวัตถุ เช่น มโหระทึก เครื่องประดับ เครื่องมือ และอาวุธ ตลอดจนลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาในทางพิธีกรรม ล้วนแต่แสดงถึงระบบสัญลักษณ์ทางจักรวาลวิทยา ความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นเรื่องของฟ้าฝนและดิน แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยในช่วง 2,500 ปีมาแล้ว เข้าสู่ยุคอารยะที่มีบ้านเมือง และรัฐ มีบุคคลสำคัญในระดับหัวหน้าได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีสิทธิพิเศษในเรื่องความเป็นบุคคลเหนือคนธรรมดาแล้ว ดังเห็นได้จากมีวัตถุทางสัญลักษณ์ดังกล่าว แสดงถึงการมีทั้งอำนาจในการจัดการและอำนาจบารมีเหนือคนธรรมดา นับเป็นการยกระดับความสำคัญทางสังคม-วัฒนธรรมให้เหนือขึ้นกว่าแต่เดิม

          ลักษณะดังกล่าวเป็นพื้นฐานรองรับการรับอารยธรรมจากทางตะวันตก เช่น ทางอินเดีย และทางตะวันออก เช่น จากจีน หรือฮั่นในสมัยต่อมา เพราะในช่วงเวลาแต่ 2,500 ปีมาแล้ว เริ่มเป็นเวลาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายระยะไกลจากทางตะวันตก คืออินเดียและตะวันออกกลาง อันเป็นแหล่งและเครือข่ายของอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่มีพัฒนาการราว 5,000 ปีมาแล้ว

            ความเป็นอารยธรรมเห็นได้จากการเป็นสังคมที่มีลายลักษณ์อักษร (literate society) มีความเจริญในระบบความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม การเมืองการปกครองที่มีอำนาจรวมอยู่ที่กษัตริย์ที่รับพลังมาจากอำนาจเหนือ ธรรมชาติในพระศาสนา (divine kingship) การมีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ และผังเมือง ผังนครที่มีมาตรฐานและความมั่นคง (urban) เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองและการป้องกันการรุกรานจากภายนอก เป็นต้น

          อารยธรรมตะวันตกนี้ไม่เคยย่างกรายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย จึงทำให้ภูมิภาคนี้เป็นดินแดนที่ล้าหลังลี้ลับอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา เพราะคนทางตะวันตกนั้นเชื่อว่าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนสุดขอบทะเล การติดต่อแลกเปลี่ยนความเจริญกับบ้านเมืองที่มีอารยธรรมแล้ว เช่น จีนในสมัยแรกเริ่มนั้น ติดต่อกันทางบก ข้ามเขาข้ามทะเลทรายมายังตะวันออกไกล หรือไม่ก็กับอินเดียที่นับเป็นบริเวณเอเชียใต้เท่านั้น

สุวรรณภูมิ

         จนกระทั่งราว 2,500 ปีมาแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้นาม สุวรรณภูมิแปลว่า ดินแดนทอง หรือดินแดนแห่งความมั่งคั่งที่พ่อค้าทั้งทางกรีก โรมัน เปอร์เซีย อินเดียและอาหรับเดินทางเข้ามา เพื่อค้าขายนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งของป่า สมุนไพร แร่ธาตุกลับไป

         แผ่นดินที่เรียกว่า สุวรรณภูมิเป็นคาบสมุทรอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับทะเลจีนใต้ ในระยะเริ่มแรกคือเมื่อ 2,500-2,200 ปีมาแล้ว บรรดาพ่อค้าที่มาจากแดนโพ้นทะเลเพียงแต่มายังแหล่งที่เป็นท่าเรือจอด (entrepot) และแหล่งสินค้า (emporium) ปล่อยให้การแสวงหาสินค้าและนำสินค้ามาแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องของคนท้องถิ่นในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่เป็นชาวน้ำและชาวเกาะที่อยู่ชายทะเล (coastal area) กับกลุ่มคนที่อยู่บนบกในพื้นที่ภายใน (hinterland)

ชาวน้ำ ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนในตระกูลภาษาออสโตรนิเซียน ที่ปัจจุบันคือพวกที่พูดภาษามาเลย์

ชาวบก คือกลุ่มคนในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ที่ปัจจุบันคือพวกที่พูดภาษามอญ-เขมร

บทบาทของคนพื้นเมืองเหล่านี้ก็คือการค้าขายตามบริเวณชายฝั่งทะเล และการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตกมาฝั่งตะวัน ออกในทางทะเลจีนใต้

          กลุ่มชาวน้ำในตระกูลภาษามาเลย์กลุ่มหนึ่งคือพวกจาม ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงขึ้นไปตามชายฝั่งทะเลของเวียดนามใต้ และเวียดนามตอนกลางบริเวณเมืองเว้ คนกลุ่มนี้ในยุคโลหะเป็นทั้งคนเคลื่อนย้าย และเดินทางทะเลไปถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ แล้วลงใต้ไปทางมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งค้าขายทางบกจากชายฝั่งทะเลเวียดนาม ข้ามเขามายังลุ่มน้ำโขงทางตะวันตกมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

          คนมาเลย์กลุ่มนี้นักโบราณคดีเวียดนามเรียกว่าพวก ซาหวิ่นเป็นพวกนิยมฝังศพครั้งที่สอง คือเอากระดูกคนตายใส่หม้อ (jar burial) ฝังในที่ฝังศพของชุมชน รวมทั้งบรรดาสมบัติส่วนตัวของผู้ตาย ที่ทำให้แลเห็นรูปแบบของหม้อกระดูกขนาดใหญ่ทั้งลวดลายและรูปร่าง ศิลปวัตถุที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ก็คือตุ้มหู และจี้ที่เป็นรูปสัตว์สองหัวมีเขา และตุ้มหูรูปกลองเหลี่ยมมีติ่งแหลมออกมาสี่ด้าน ซึ่งนักโบราณคดีเรียกว่า ลิง-ลิง-โอ ตุ้มหูแบบนี้พบมากตามหลุมศพในเวียดนาม และพบประปรายในที่อื่นทั่วบริเวณใกล้ทะเลจีนใต้แถบในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

          ประเพณีฝังศพในหม้อขนาดใหญ่พบมากตามแหล่งชุมชนโบราณในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ โดยเฉพาะในแอ่งโคราชของลุ่มน้ำมูล-ชีในสมัยเหล็ก ชุมชนเหล่านี้มีการถลุงเหล็ก และทำเกลือเป็นอุตสาหกรรม มักเป็นชุมชนที่เริ่มมีการขุดสระน้ำล้อมรอบ (Tank moat) เพื่อเก็บนํ้าไว้ใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

การจัดการน้ำให้แก่ชุมชนอย่างมีระบบและรูปแบบที่กระจายอยู่ในลุ่มน้ำมูล-ชี สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการอย่างมีระเบียบของสังคมที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง และรัฐขนาดเล็กของสังคมมนุษย์ในยุคเหล็กอย่างชัดเจน

           นอกจากรูปแบบและระบบของการจัดการน้ำแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงความเจริญทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นกว่ายุคก่อนสมัยเหล็ก นั่นคือการใช้เหล็กที่นอกจากมีการถลุงแล้วยังเป็นการสร้างเครื่องมือเครื่อง ใช้ และอาวุธอย่างกว้างขวาง มีความหลากหลายของรูปแบบและหน้าที่เฉพาะ (Specialized) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนทางสังคมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

          นอกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนภายในภูมิภาค เช่น การเคลื่อนย้ายของคนชายทะเลเข้ามาตั้งหลักแหล่งจนเกิดบ้านเมืองขึ้นแล้ว ในยุคเหล็กนี้ก็ยังเห็นความสัมพันธ์กับผู้คนโพ้นทะเลจากฟากฝั่งทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียอันอยู่ทางด้านตะวันตก ซึ่งเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี โดยเฉพาะในบริเวณทุ่งสำริดของที่ราบลุ่มนํ้ามูล-ชีตอนบน อันมีเมืองพิมายเป็นศูนย์กลาง

          อาณาบริเวณนี้นับเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของแอ่งโคราช มีลำน้ำ ลำห้วยหลายสายไหลหล่อเลี้ยงแล้วมารวมกันเป็นลำน้ำใหญ่ที่เมืองพิมาย เกิดการสร้างชุมชนที่มีสระน้ำล้อมรอบ เป็นชุมชนที่นอกจากทำนาปลูกข้าวเป็นอาหารหลักแล้ว ยังเป็นทั้งสังคมอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก และทำเกลือ

          การขุดค้นทางโบราณคดีตามชุมชนสำคัญๆ ในบริเวณทุ่งสำริด ช่วยให้ทราบถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองและรัฐได้อย่างชัดเจน โดยอาจแบ่งช่วงเวลาได้เป็นสองยุคจากรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในพิธีกรรมฝังศพในชุมชน คือ ยุควัฒนธรรมบ้านปราสาท กับยุควัฒนธรรมพิมายดำ

           วัฒนธรรมบ้านปราสาท นับเป็นยุคแรกที่สืบเนื่องมาจากยุคก่อนเหล็ก พบในการขุดค้นชั้นดินทางวัฒนธรรมที่อยู่ต่ำสุด มีความสัมพันธ์กับการใช้เครื่องปั้นดินเผาที่มีคอแคบปากกว้างเป็นปากแตร ชุบน้ำโคลนสีแดงหรือเขียนสี ใช้เซ่นศพ มักเป็นการฝัง ศพครั้งที่หนึ่ง มีเครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำทั้งสำริด และเหล็กฝังรวมด้วย แต่ที่โดดเด่นคือ บรรดาเครื่องประดับที่มีทั้งทำด้วยแก้ว และหินสีมีค่า เช่น พวกอาเกต คาร์นีเลียน หินหยก และอื่นๆ รวมทั้งสิ่งที่ทำด้วยทะเลลึก อันเป็นของที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนมาจากภายนอกทั้งทางบก และทางทะเล

          วัฒนธรรมบ้านปราสาทนับเป็นวัฒนธรรมของสังคมร่วมสมัยในยุคเหล็กตอนต้นกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนในทุ่งกุลาร้องไห้ที่อยู่ในที่ราบลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง ความแตกต่างเห็นได้จากประเพณีฝังศพที่ทางทุ่งกุลาเน้นการฝังศพครั้งที่สอง คือการเอากระดูกคนตายใส่หม้อขนาดใหญ่ฝังไว้ในแหล่งฝังศพของชุมชนทั้งวัฒนธรรมบ้านปราสาทของทุ่งสำริด และวัฒนธรรมทุ่งกุลาดังกล่าว ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมบ้านเชียงในลุ่มนํ้าสงครามของแอ่งสกลนครทางเหนือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่นิยมเขียนสีเป็นลวดลายสัญลักษณ์บนภาชนะเซ่นศพที่รูปแบบหลากหลาย แต่ก็มีประเพณีฝังศพครั้งแรกแบบเดียวกันกับวัฒนธรรมบ้านปราสาท

          ความต่างกันระหว่างวัฒนธรรมบ้านเชียงของแอ่งสกลนครทางเหนือ กับวัฒนธรรมบ้านปราสาทของแอ่งโคราช คือ วัฒนธรรมบ้านเชียงเป็นวัฒนธรรมของดินแดนภายใน (hinterland) ซึ่งรองรับอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านมาทางชายทะเลจากจีนใต้ และเวียดนามเหนือ เห็นได้จากการเข้ามาของมโหระทึก เครื่องประดับสำริด เครื่องมือ และอาวุธต่างๆ รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ที่พบตาม เพิงผา หน้าถํ้าบนเทือกเขาภูพาน

ในขณะที่วัฒนธรรมบ้านปราสาทของแอ่งโคราช รองรับการเข้ามาของอารยธรรมทางตะวันตกจากอินเดียผ่านลุ่มนํ้าเจ้าพระยามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นร่องรอยได้ในตอนปลายยุคเหล็ก คือยุควัฒนธรรมพิมายดำ อันเป็นวัฒนธรรมที่พบในชั้นดินที่อยู่อาศัย และการฝังศพชั้นบนขึ้นมาจากวัฒนธรรมภาชนะเขียนสีบ้านปราสาท นั่นคือมีการนำภาชนะเซ่นศพด้วยดินสีดำ และมีการขัดสีให้มัน พร้อมทั้งขุดเส้นลายบางๆ บนพื้นภาชนะ อีกทั้งมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากรูปแบบของภาชนะในวัฒนธรรมบ้านปราสาท

          ศาสตราจารย์วิลเลียม อี โซล ไฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ผู้ริเริ่มการขุดค้นทางโบราณคดีชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาแบบพิมายดำนี้ เป็นอิทธิพลของอินเดีย ทางฟากมหาสมุทรอินเดีย

ที่เรียกว่า พิมายดำเพราะขุดทางโบราณคดีที่ตัวปราสาทหินพิมาย พบชั้นดินที่เกี่ยวกับการอยู่อาศัยชั้นล่างสุดสัมพันธ์กับเครื่องปั้นดินเผาสีดำขัดมัน จึงมีความเห็นว่าผู้คนในบริเวณทุ่งสำริดนี้ มีการเกี่ยวข้องกับทางอินเดียตั้งแต่ยุคเหล็ก คือราว 2,500 ปีมาแล้ว

           ภายหลังการขุดค้นทางโบราณคดีในทุ่งสำริดตามชุมชนรอบ ๆ พิมาย ได้พบว่ามีชั้นดินทางวัฒนธรรมที่ตํ่ากว่าขั้นวัฒนธรรมพิมายดำ คือวัฒนธรรมบ้านปราสาท ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคเหล็กตอนต้นของท้องถิ่น ก็เลยทำให้วัฒนธรรมพิมายดำกลายเป็นวัฒนธรรมในยุคเหล็กตอนปลาย ที่สัมพันธ์กับการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นเมื่อราว 2,000 ปีที่แล้วเป็นต้นมา อันเป็นเวลาที่ดินแดนในลุ่มนํ้าเจ้าพระยา และบริเวณชายฝั่งทะเลรับอารยธรรมฮินดู-พุทธจากทางอินเดียเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์

          เมื่อนำหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับแหล่งชุมชนโบราณที่มีการศึกษามา ราว 40 ปีที่ผ่านมาทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และบริเวณชายฝั่งทะเลลงไปตามคาบสมุทรมลายู ก็อาจกล่าวได้ว่าในยุคเหล็กตอนปลายราว 2,500 ปีมาแล้ว นับเนื่องเป็นสมัยต้นพุทธกาล

          บ้านเมืองในประเทศไทย และที่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาเข้าสู่การเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นรัฐที่มีเจ้าเมือง เจ้านายปกครอง มีชนชั้นปกครองแล้ว และมีอารยธรรมที่ได้มาจากทางยูนนานเป็นพื้นฐานความเจริญทางด้านศาสนาและการปกครอง รวมทั้งมีการติดต่อด้วยการค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเลกับภายนอกเรียบร้อยแล้ว

          ดินแดนประเทศไทยอยู่บนคาบสมุทร และแผ่นดินใหญ่ที่คนอินเดียสมัยพุทธกาลเรียกว่า สุวรรณภูมิ(ถ้าอ่านชาดกในพุทธศาสนา จะพบว่า พระโพธิสัตว์ล่องเรือมาค้าขายยังสุวรรณภูมิหลายเรื่อง เช่น มหาชนกชาด เป็นต้น) และคนทางตะวันออกกลาง รวมถึงกรีกและโรมันเรียกว่า แหลมทองมีความสัมพันธ์ทางการค้า และแลกเปลี่ยนสินค้ากับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ตั้งแต่ราว 2,500-2,200 ปีมาแล้ว โดยปล่อยให้คนพื้นเมืองสานต่อการค้าขายข้ามคาบสมุทรกันเอง

           การเดินทางผ่านทะเลเข้ามายังฝั่งอันดามัน ส่วนใหญ่มาจากทางปากแม่นํ้าคงคา และอ่าวเบงกอล โดยใช้เรือเล็กแล่นตามชายฝั่งมายังอ่าวสาละวิน และชายทะเลไปจนถึงบริเวณคอคอดกระในช่วงเวลา 2,500 ปีที่แล้ว สุวรรณภูมิยังอยู่ในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายคือยุคเหล็ก ทางอินเดียและบรรดาบ้านเมืองทางตะวันตก เช่น ทางตะวันออกกลางนั้นเข้าสู่ยุคของอารยธรรมที่มีลายลักษณ์อักษร (literate society) เป็นสมัยประวัติศาสตร์แล้ว อันเป็นยุคของการมีลัทธิศาสนา ปรัชญา และการปกครองในระดับสากล

          เฉพาะอินเดียในช่วงเวลานี้ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในรัชกาลของพระเจ้าอโศก มีการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้การค้าขายทางทะเลและทางบกไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้า หากเป็นการเผยแผ่ศาสนาและอารยธรรมไปในเวลาเดียวกัน โดยมีสมณชีพราหมณ์ นักปราชญ์ราชครู เดินทางร่วมไปด้วย

          การเข้าไปค้าขายต่างแดน จำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานและชุมชนรองรับ ทำให้บรรดาท่าเรือและคลังสินค้ามีลักษณะเป็นชุมชนพลัดถิ่นไปในตัวเอง จึงต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความมั่นคงทางจิตใจแก่คนในชุมชน มีการสร้างศาสนสถานและพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันและเพื่อการติดต่อสังสรรค์กับคนพื้นเมืองในท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

          เรื่องราวจากเอกสารโบราณของอินเดียและลังกา หลัง พ.ศ. 1000 เช่น ตำนานมหาวงษ์กล่าวถึงการที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูต คือ พระโสณะและอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ คือหลักฐานทางเอกสารที่แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน และห่างไกลกับของพระเจ้าอโศกมาก แต่ก็มีความเชื่อที่ว่าก็มีหลักฐานการบอกเล่าสืบมาของผู้คนในท้องถิ่นทางเมืองมอญ ตั้งแต่เมืองสะเทิม ผ่านอ่าวเมาะตะมะลงมาถึงทวายและตะนาวศรี โดยเฉพาะคนมอญนั้นเชื่อมั่นว่าเมืองสะเทิมคือแหล่งแรกเริ่มของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ จึงเกิดเป็นตำนานสืบมาต่อจนทุกวันนี้

          หลักฐานทางโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินเรือค้าขายจากปากแม่น้ำคงคา อันเป็นอาณาเขตของแคว้นมคธของพระเจ้าอโศก แล่นเลียบชายทะเลของอ่าวเบงกอลมายังเมืองมอญที่สะเทิม ลงไปยังทวายและตะนาวศรี อันน่าจะมีแหล่งท่าเรือจอดเป็นระยะไป แหล่งสำคัญที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในระยะหลังๆ นี้ก็คือ เมืองทวาย ที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากทวายมายังทุ่งเจดีย์ในเขต อ. สวนผึ้ง จ. ราชบุรี อันเป็นลุ่มนํ้าภาชีที่ไหลไปลงลำน้ำแดงน้อยในเขต ต. จระเข้เผือกใกล้กับบ้านเก่า และปราสาทเมืองสิงห์ จ. กาญจนบุรีบริเวณทุ่งเจดีย์พบร่องรอยของหินสามกองที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นพระเจดีย์ เช่น พระเจดีย์สามองค์ที่เมืองกาญจนบุรี

หินสามกองหรือเจดีย์สามองค์เช่นนี้ คือเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของการเป็นช่องทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีจากฟากตะวันออกไปยังฟากตะวันตกทางฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณทุ่งเจดีย์นี้เคยเป็นเหมืองแร่เก่า พบเศษเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหินขัด และเครื่องมือสำริด ที่นับย้อนขึ้นไปถึงยุคโลหะได้

            จากทุ่งเจดีย์อาจเดินทางไปตามลำนํ้าภาชีไปยังแหล่งชุมชนโบราณที่บ้านเก่า และปราสาทเมืองสิงห์ได้ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งจากทุ่งเจดีย์ก็เดินทางตามที่ลาดผ่านเขาขวากอันเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งลงสู่ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่รอบๆ บึงใหญ่ จอมบึง ซึ่งปัจจุบันนี้เหือดแห้งไปหมดแล้ว

          บึงจอมบึง เป็นทะเลสาบตามฤดูกาลที่เหมาะกับการตั้งชุมชนบ้าน และเมือง เช่นเดียวกับหนองหาน จ. สกลนคร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พบโบราณวัตถุในสมัยเหล็กตอนปลาย เช่นชิ้นส่วนของภาชนะสำริดมีลายขุดสลักเป็นรูปกลีบบัว รูปช้างม้า และสตรีที่มีทรงผม และการแต่งกายแบบเดียวกันกับภาพสลักบนภาชนะสำริดที่แหล่งโบราณคดีดอนตาเพชร (อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี)ที่สำคัญบนชิ้นส่วนภาชนะสำริดที่จอมบึงนี้มีภาพร่างของสตรีที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ทว่าเผยให้เห็นสรีระของสตรีสะโพกใหญ่ เอวคอด และหน้าอกใหญ่ ตามอย่างรูปสตรีในอุดมคติของชมพูทวีป ที่พบในศิลปกรรมแบบสาญจี สมัยพระเจ้าอโศก

         ภาชนะสำริดที่มีภาพสลักดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับคนอินเดียอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเดินทางจากทะเลสาบจอมบึงไปทางตะวันออกก็จะเข้าสู่เมืองคูบัวของลุ่มนํ้าแม่กลอง อันเป็นเมืองท่าสมัยทวารวดีทางหนึ่ง หรือไม่ก็เดินทางขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านบริเวณต่างๆ ของ จ. กาญจนบุรี คือ อ. ท่ามะกา, อ. ท่าม่วง ไปยัง อ. พนมทวน ผ่านบ้านดอนตาเพชร เข้าสู่บริเวณต้นน้ำจระเข้สามพันไปยังเมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี เมืองท่าของลุ่มนํ้าท่าจีนที่มีอายุราว พ.ศ. 500 ลงมา

การตั้งถิ่นฐานใน ดิน แดน ไทย ม. 1
หินสามกองที่ปรับเปลี่ยนเป็นเจดีย์สามองค์ที่เมืองกาญจนบุรี เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ช่องทางการข้ามเทือกเขาตะนาวศรีจากฟากตะวันออกไปยังฟากตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน
 ด่านเจดีย์สามองค์ ต. หนองลู  อ. พนมทวน  จ. กาญจนบุรี

เส้นทางสายไหมทางทะเล

         การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชรที่ทำกันหลายครั้งนั้น ได้อายุเวลาที่กำหนดได้จากกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ราว พ.ศ. 500 ลงมา นับเนื่องเป็นสมัยสุวรรณภูมิในยุคเดียวกันกับสมัยพระเจ้าอโศก

          แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นแหล่งฝังศพของชุมชนที่พบโบราณวัตถุที่มาจากบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันออกชายฝั่งทะเลจีน และจากฝั่งอันดามันทางตะวันตก โดยมีทั้งวัตถุสำริดที่เป็นภาชนะ มีลวดลายหญิงในเครื่องแต่งกายและทรงผมที่แตกต่างไปจากคนพื้นเมือง พบฝาจุกของภาชนะสำริดที่เป็นทรงสามเหลี่ยมแหลม คล้ายกับพระสถูป คล้าย ๆ กับของที่พบในอินเดีย

          ในขณะเดียวกันกับเครื่องสำริด และเหล็กชนิดต่างๆ วัตถุสำริด รูปซุ้มไก่และรูปนกยูงมีลายก้านขดแบบวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามเหนือ แต่ที่สำคัญก็คือพบเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้วและหินสี โดยเฉพาะลูกปัดมีลายที่เรียกว่า เอชบีด (ached bead) และแก้วอันที่มาจากทั้งทางตะวันตก และจากทางตะวันออก

          สัญลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือลูกปัด รูปสิงห์ทำด้วยหินคาร์นีเลียน ในวัฒนธรรมฮินดู-พุทธจากอินเดีย กับตุ้มหูหินคาร์นีเลียนรูปสัตว์มีเขาสองหัว อันเป็นวัฒนธรรมซาหวิ่นจากทางฝั่งทะเลในประเทศเวียดนาม ดอนตาเพชรจึงเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุอยู่ในสมัยสุวรรณภูมิยุคของพระเจ้าอโศกโดยแท้ เพราะเป็นแหล่งชุมชนที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทรจากทุ่งเจดีย์ อ. สวนผึ้ง จ. ราชบุรี ไปยังเมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ที่อยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ที่มีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ รับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป และเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองฟูนันที่ปากแม่นํ้าโขงในประเทศเวียดนาม

ศาสตราจารย์ ฌอง บวสเซอลิเย่ร์ นักโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาวฝรั่งเศส ผู้ขุดค้นที่เมืองอู่ทอง เห็นว่าเมืองอู่ทองเป็นเมืองสำคัญที่มีพัฒนาการมาก่อนเมืองออกแก้ว เมืองท่าของฟูนันในลุ่มน้ำโขง เมืองนครปฐม และเมืองคูบัว ในลุ่มนํ้าท่าจีน-แม่กลอง

          แต่หลักฐานทางโบราณคดีรอบๆ เมืองอู่ทองที่รวบรวมจากการขุดทำลายหลุมศพของคนโบราณเพื่อเอาลูกปัดและ เครื่องประดับพบโบราณวัตถุโดยเฉพาะลูกปัดเอชบีดรูปสัตว์ รูปสิงห์ และตุ้มหู ลิง-ลิง-โอ เช่นเดียวกับพบที่ดอนตาเพชร ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นชุมชนร่วมสมัยในยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว พ.ศ. 500-800 เป็นยุคของการเติบโตเส้นทางการค้าทางทะเลจากโรมัน-จีน อันเป็นเส้นทางสายไหมจากทะเลแดง ผ่านอ่าวเปอร์เซียมายังอินเดีย แล้วจากอินเดียผ่านลังกามายังฝั่งสุวรรณภูมิ

          เส้นทางค้าสายไหมทางทะเลนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของโรมัน และบ้านเมืองในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยติดต่อกับจีนทางตะวันออกไกลทางบก ประสบความขัดข้องจากการยึดครอง และรังแกเส้นทางจากพวกอนารยชน นับเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นการเดินทางเรือ ด้วยเรือขนาดใหญ่ บรรจุคน และสินค้า ผ่ากลางทะเลหลวงแทนการเดินเรือเล็กเลียบตามชายฝั่ง อีกทั้งเป็นการค้าขายระยะไกลที่มีพ่อค้านานาชาติ

          ราว 2,000 ปีมาแล้วนี้ เมืองท่าทางทะเลเกิดขึ้นหลายแห่งในอินเดียใต้ แถวปากแม่นํ้าโคธาวารี และกฤษณา จนถึงเกาะลังกา เมืองสำคัญที่พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าเครื่องประดับ และของขลังที่ติดต่อกับเมืองท่าทางฝั่งสุวรรณภูมิก็คือ เมืองอริกเมณฑุ (หรือเมืองพอนดิเชอร์รี)

          แหล่งเมืองท่าทางฝั่งสุวรรณภูมิในยุคนี้มีการขยายตัวจากบริเวณคอคอดกระ ลงมายังระนอง และกระบี่ เช่น เขาทอง บ้านกล้วย และคลองท่อม จากบรรดาแหล่งจอดเรือเหล่านี้ ก็มีเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรมายังเมืองท่าทางฝั่งทะเลจีนที่สำคัญ ได้แก่ เขาสามแก้วในเขต จ. ชุมพร ท่าชนะในเขต จ. สุราษฎร์ธานี

         โดยสรุป เส้นทางสายไหมทางทะเลที่เกิดขึ้นนี้ได้เปลี่ยนทั้งตำแหน่งของเมืองท่าสำคัญ และเส้นทางข้ามมหาสมุทรอินเดีย จากบริเวณปากแม่นํ้าคงคาในบริเวณอ่าวเบงกอลของอินเดียเหนือ ลงมายังอินเดียใต้ตั้งแต่ปากแม่นํ้าโคธาวารี และกฤษณา ผ่านลังกาลงมายังฟากสุวรรณภูมิตั้งแต่ใต้คอคอดกระลงมา เป็นเส้นทางที่อารยธรรมอินเดียจากทางใต้ ทั้งทางฮินดู-พุทธ ผ่านเข้าสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านศาสนา การปกครอง ศิลปวิทยาการ อักษรศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปวัฒนธรรม

           โดยเฉพาะในด้านอักษรศาสตร์นั้น จะเห็นได้ว่าอักษรปัลลวะของอินเดียใต้ ได้เข้ามาเป็นต้นกำเนิดของบรรดาอักษรโบราณในภาษาบาลี สันสกฤต มอญ และเขมรตามบ้านเมือง และรัฐในสมัยต่อมา เช่น ฟูนัน พันพัน หลั่งยะสิว โถโลโปตี (ทวารวดี) และชิลิโฟลี (ศรีวิชัย) โดยมีเอกสารโบราณนับแต่ กรีก-โรมัน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และจีน กล่าวถึงตั้งแต่ช่วงราว 2,000 ปีมาแล้ว