เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด

สยามรัฐออนไลน์ 29 ตุลาคม 2561 08:00 น. การเมือง

เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด

ไม่เกินความคาดหมายที่สงครามน้ำลายจะอุบัติขึ้นทันที หลัง “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ไม่รับประกันว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งที่เป็นการตอบคำถามสื่ออย่างตรงไปตรงมาของ “บิ๊กแดง” บนพื้นฐานข้อเท็จจริง หรือ “FACT” ที่จะไม่มีปฏิวัติ หากปราศจากเงื่อนไขความวุ่นวายที่เกิดจากการเมือง

“การออกมาพูดครั้งนี้ ท่านพูดเพื่อชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรอย่างไร ผมอยากให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอดีต มากกว่าชี้นิ้วกล่าวหากันไปมา พูดหลายครั้งแล้วว่า การทำรัฐประหารที่ผ่านๆ มาคนทำรัฐประหารก็ถูกต่อว่า ขณะเดียวกันคนที่สร้างเงื่อนไขทำให้เกิดรัฐประหารก็ต้องทบทวนตัวเองด้วย"
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยถอดรหัสจุดยืน “บิ๊กแดง”
“ผมเชื่อว่า ที่พูดอย่างนี้ ก็เพราะไม่ต้องการให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก จึงได้ออกมาเตือนสติ โดยไม่ได้มีการทำรัฐประหารอะไรสักหน่อย แค่นี้ก็ออกมาตีโพยตีพายกันยกใหญ่ ลืมไปว่าที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่นี้ เกิดจากการเล่นการเมืองแบบไม่มีคุณภาพ พอถูกดำเนินคดีหรือเสียประโยชน์ก็ไปแบ่งแยกนำพาชาวบ้านออกมาตีกัน บ้านเมืองจลาจลสับสนวุ่นวาย จนบาดเจ็บล้มตาย แต่พวกนักการเมืองที่เป็นแกนนำไม่เห็นเป็นอะไรสักคน ที่ผ่านมาชาวบ้านจึงเป็นเหยื่อทางการเมืองมาโดยตลอด”
เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไว้อย่างน่าสนใจ ขณะที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พยายามชี้ว่าแทนที่เราจะคิดว่าจะเกิดการจลาจล แต่ถ้าหากเราร่วมมือการตัดสินใจให้ถูกต้อง ทุกคนมีจุดยืนที่เหมาะสมร่วมกัน เราก็คงไม่ต้องไปคิดว่าจะเกิดการจลาจลหรือไม่ในอนาคต และไม่ต้องไปคิดว่าทหารจะต้องมาทำอะไรหรือไม่ในวันนั้น แต่เหตุไฉน จึงมีปฏิกิริยากระตุกอย่างรุนแรง ราวกับถูกอสุนีบาตฟาดเปรี้ยงลงมากลางใจของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ที่ออกมาฟาดงวงฟาดงาใส่ “บิ๊กแดง” กันพัลวัน หากพิเคราะห์ อย่างสังเคราะห์ก็จะเห็นว่าเป็นเพียง “วาทกรรมทางการเมือง” ด้วยจังหวะเวลาที่ ผบ.ทบ.ตอบคำถามสื่อถึงจุดยืนกองทัพนั้น กำลังอยู่ในห้วงบรรยากาศที่ประเทศไทยเดินเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จึง “ฉวยโอกาส” ดิสเครดิตทหาร ดิสเครดิตกองทัพ และกระทบชิ่งไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่กำลังค่อยๆแง้มม่านเปิดตัวสู่การเมือง เปลี่ยนจาก “ลุงตู่” สู่ “ตู่ดิจิทัล” นั่นเอง อย่างไรก็ดี หากย้อนทวนเข็มนาฬิกากลับไปสู่เหตุการณ์การรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดของประเทศไทย จะสามารถหาคำตอบได้ว่ามีปมเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ไล่เรียงจากรัฐประหารปี 2549 นั้น เริ่มจากช่วงกลางปี 2548 มีกระแสความไม่พอใจการทำงานและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการทุจริตของรัฐบาล “ทักษิณ2” ตัวแปรสำคัญอยู่ที่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาเคลื่อนไหววิพากวิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนจนถูกถอดรายการ กระทั่งต้นปี 2549 มีการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ ถือเป็นจุดแตกหัก ทำให้ “สนธิ” จับมือกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จัดตั้งกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และขยายตัวเป็นการชุมนุมประท้วงขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร จน ทักษิณตัดสินใจประกาศยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549 และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549 สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลายแต่ปรากฎว่า 3 พรรคการเมืองได้แก่ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชน บอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง รวมทั้งเกิดปัญหาโหวตโนและข้อพิพาทต่างๆจนนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งการเลือกตั้งเป็นโฆฆะ และให้จัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ต.ค. 2549 แต่ระหว่างทาง “สนธิ” ได้ประกาศจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย. และทำให้อีกฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณออกประกาศระดมประชาชนเพื่อเข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน เมื่อมีแนวโน้มที่จะมีการสร้างสถานการณ์ “ม็อบชนม็อบ” จึงเป็นเงื่อนไขที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งการรัฐประหารในครั้งนั้นนอกจากจะไม่มีการสูญเสียแล้ว ยังมีเสียงตอบรับจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโพลล์ต่างๆ และภาพประชาชนมอบดอกกุหลาบให้ทหารที่ทำหน้าที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยอยู่บนรถถัง ลึกๆ ยังมีรายงานจากนายทหารคนสนิทของอดีตผบ.ทบ.ว่าเสียงโทรศัพท์ดังตลอดจนถึงเช้าวันที่ 20 ก.ย. จากประชาชนที่โทรศัพท์มาให้กำลังใจ ส่วนใหญ่รู้สึกโล่งใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะอึดอัดกับสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา มาถึงรัฐประหารปี 2557 เมื่อเพื่อไทยได้รับชัยชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2556 ก็ใช้เสียงข้างมาก ผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษฉบับสุดซอย หรือกฎหมายลักหลับ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเกมยั่วให้เกิดความขัดแย้งและเกิดรัฐประหาร ผลก็คือพรรคประชาธิปัตย์ โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ไปจัดตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จัดชุมนุม “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” เพื่อกดดันให้ “ยิ่งลักษณ์” ลาออก แต่ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ยอมลาออก พร้อมประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค.2556 แทน กปปส.จึงยกเป็นเหตุชุมนุมยืดเยื้อข้ามปี เพื่อกดดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลาออกจากรัฐบาลรักษาการ เปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กระทั่งศาลรัฐธรรมวินิจฉัยให้ “ยิ่งลักษณ์” พ้นจากตำแหน่งจากปมโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.แต่ก็มีนายกฯรักษาการแทน ขณะที่กลุ่ม กปปส.ก็ถูกอาวุธสงครามลอบทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมจนีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นจึงออกแถลงการณ์เตือนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงว่า หากยังไม่หยุดใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้นวุฒิสภาเสนอให้มีนายกฯ คนกลาง ทำให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่พอใจและขู่จะชุมนุม ขณะเดียวกันกลุ่ม กปปส.ก็นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23-25 พ.ค. หากไม่ชนะ จะสลายการชุมนุมและมอบตัวในวันที่ 27 พ.ค. กลางดึกคืนวันที่ 19 พ.ค.จึงมีการประกาศกฎอัยการศึก วันที่ 21 พ.ค.มีการเชิญตัวแทน 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองมาประชุมเพื่อหาทางออกประเทศที่สโมสรทหารบก ประกอบด้วย1. ผู้แทนรัฐบาล 2. ผู้แทนวุฒิสภา 3. ผู้แทนพรรคเพื่อไทย 4. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ 5. ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 6. ผู้แทน กปปส. และ 7. ผู้แทน นปช.เข้าร่วมประชุมที่สโมรสรกองทัพบก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงนัดมาประชุมรอบสองในวันที่22 พ.ค. แต่หลังประชุมแล้วก็ยังหาจุดร่วมที่ตรงกันไม่ได้อีก ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำเหล่าทัพ จึงประกาศการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้หากถามว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สถานการณ์หลังการเลือกตั้งมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น ยิ่งเมื่อดูบริบท และปัจจัยต่างๆที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในขณะนี้ ที่แม้จะอยู่ในบรรยากาศคลายล็อกทางการเมือง ก็พอมองเห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่ขยับกันอย่างนัยสำคัญ การเมืองไทยอาจตกอยู่ในสภาพ “พายเรือวนอยู่ในอ่าง” !! และอาจต้องกลับไปใช้บริการกองทัพอีกครั้ง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ.และ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งว่า
“จะต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งสร้างความรักความสามัคคีปรองดองให้จงใด้ จึงขอฝากความหวังที่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงคนหนุ่มเท่านั้น แต่เป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ เปิดโลกทัศน์รับนวัตกรรมใหม่ๆ มีแนวคิดประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับความขัดแย้งเดิมๆ สำหรับคนหนุ่มในทัศนะ คือคนที่ไม่ติดกับความคิดเดิมๆ กล้าคิด กล้าทำกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจและที่สำคัญต้องกล้ารับผิดชอบ สำหรับการมองทหารเป็นศัตรู ผมคิดว่าน่าจะไม่สมเหตุสมผล หนทางอันชานฉลาดคือ ต้องเอาทหารเป็นเครื่องมือ ด้วยประเทศมหาอำนาจที่มีความยิ่งใหญ่ มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย จีน แม้กระทั่งญีปุ่นก็มีแนวความคิดในการขยายกองทัพ ให้มีความเข้มแข็งเพราะกองทัพเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องและพัฒนาประเทศ ดังนั้น การเมืองต้องใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการปกครอง ไม่ใช่เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว จ้องจะมารื้อ ยุบกองทัพ หรือปรับโครงสร้างให้กองทัพมีความอ่อนแอ เพราะกลัวถูกปฏิวัติ หากแต่ต่างฝ่าย ต้องรู้หน้าที่และแบ่งหน้าที่กัน ไม่เอากองทัพมาเป็นแบ็กอัพ หรือใช้สนับสนุนอำนาจทางการเมือง ซึ่งก็เป็นการใช้กองทัพในทางที่ผิด แต่หากการเมืองรู้จักหน้าที่ ประชาชนก็จะสนับสนุน แล้วจะกลัวอะไรกับการปฏิวัติหรือกองทัพ”
ดังนั้น แม้รัฐประหาร จะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เป็นเงื่อนไข ที่สำคัญ ประชาชน ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ไม่ให้ใครหรือฝ่ายไหนมาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย หรือแต่งตัวยั่ว ปูพรมให้ทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” !!