รับ ค่าที่ปรึกษา จาก ต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7386
     
วันที่ : 12 กันยายน 2554
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการแก่ผู้รับบริการที่อยู่ต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับการวางแผนบริหารระบบคอมพิวเตอร์และตรวจสอบระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด โดยผ่าน Web Host Based Application ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศเท่านั้น โดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นรายปี ลูกค้าจะชำระค่าบริการด้วยวิธีการโอนเงินเข้ามาให้บริษัทฯ ที่ประเทศไทย และบริษัทฯ จะต้องจัดส่งพนักงานไปให้คำปรึกษา การวางระบบและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาระบบเพิ่มเติมที่สำนักงานลูกค้าในต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเดินทางไปประเทศของลูกค้า ส่วนบริษัทลูกค้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าอาหาร และค่าเบี้ยเลี้ยงในระหว่างการทำงานจนแล้วเสร็จ

บริษัทฯ ขอหารือว่า

1. การให้บริการดังกล่าวบริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่
   
2. บริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระเพียง 1 คัน ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อใช้ในการติดต่อธุรกิจและหาลูกค้าให้กับบริษัทฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์คันดังกล่าว ได้แก่ ดอกเบี้ย และค่าประกันภัย บริษัทฯ สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
   
3. บริษัทฯ ได้ซื้อโทรทัศน์และเครื่องเสียงเพื่อใช้ในการประชุมทางไกลต่างประเทศผ่านวีดิโอ (Long Distance Video Conference) บริษัทฯ สามารถบันทึกเป็นทรัพย์สินและหักค่าเสื่อมราคาได้หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีบริษัทฯ ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับการวางแผนบริหารระบบคอมพิวเตอร์และตรวจสอบระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด โดยผ่าน Web Host Based Application ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ และบริษัทฯ จะจัดส่งพนักงานไปให้คำปรึกษา การวางระบบและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาระบบเพิ่มเติมที่สำนักงานลูกค้าในต่างประเทศเป็นครั้งคราว การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
   
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร หากรถยนต์คันดังกล่าว บริษัทฯ ได้ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ และเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง บริษัทฯ ต้องนำราคารถยนต์ที่พึงต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยเพื่อการได้มาซึ่งรถยนต์นั้น เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท มาถือเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาทบริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 สำหรับรายจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์คันดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. บริษัทฯ ได้ซื้อโทรทัศน์และเครื่องเสียงเพื่อใช้ในการประชุมทางไกลต่างประเทศผ่านวีดิโอ (Long Distance Video Conference) ซึ่งเป็นการใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ต้องบันทึกโทรทัศน์และเครื่องเสียงดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
     
เลขตู้ :

74/37871

การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ มีภาระภาษีอะไรบ้าง?

รับ ค่าที่ปรึกษา จาก ต่างประเทศ

          กรณีนี้ขอกล่าวถึงการหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อน เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%  ซึ่งความเป็นจริงจะต้องพิจารณารายละเอียด ดังนี้

1. จ่ายค่าบริการเป็นเงินได้ประเภทใด

2. จ่ายไปประเทศใดมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่

วิธีดูการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าบริการ ให้ดูที่กฏหมาย  มาตรา 70 ซึ่งมีใจความว่า

1. เป็นบริษัทต่างประเทศ

2. ที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

3. แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย

4. เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6)

ให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายใน 7 วันของเดือนถัดไป (ภ.ง.ด.54)

วิธีการดูเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการจ่ายค่าบริการให้ดูที่กฏหมาย มาตรา 83/6 ซึ่ง มีใจความว่า

1. ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 )  ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 7 วันของเดือนถัดไป(ภ.พ.36)

ตัวอย่าง 1.การจ่ายค่าโฆษณา

บริษัทในประเทศไทยมีการจ่ายค่าโฆษณา Google ให้กับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา   เรามาพิจารณาว่า ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด  และค่าบริการดังกล่าว  เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่

คำตอบ

1. ค่าโฆษณา  จัดอยู่ในเงินได้ประเภท 40(8) ไม่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

2. การโฆษณา Google  แน่นอนต้องมีคนในประเทศไทยเห็น  ถือว่าเป็นบริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการในประเทศไทย  ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.36)  และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้

ตัวอย่าง 2 การจ่ายค่า Software

บริษัทในประเทศไทยซื้อโปรแกรม Software จากคู่ค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา  เรามาพิจารณาว่า โปรแกรม Software จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด  และค่าบริการดังกล่าว เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่

คำตอบคือ 

1. ค่าโปรแกรม Software จัดเป็นเงินได้ประเภท 40(3) ค่าสิทธิ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ในการหัก ณ ที่จ่าย 5%

(เพราะประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจดอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย  ระบุว่าถ้าจ่ายค่า Software ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 5%) และนําส่งกรมสรรพากรด้วยแบบ (ภ.ง.ด.54)

2. ค่าโปรแกม Software นั้นถูกนํามาใช้ในประเทศไทย ดังนั้นต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (ภ.พ.36) และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้เช่นกัน

IDG บริการรับทำบัญชีและภาษี ให้คำแนะนำพื้นฐานทางด้านการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและภาษี 


สอบถามเพิ่มเติม Click !