กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลาออก ยื่นภาษี

ถ้าออกจากงานจะมีรายได้อะไรบ้าง และเราจะยื่นภาษีอย่างไร?

1.การลาออกโดยสมัครใจ

ประเภทเงินที่ได้รับ อายุงานไม่ถึง 5 ปี อายุงานเกิน 5 ปี
เงินเดือนที่ได้รับระหว่างปี ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้ 40 (1) ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้ 40 (1)
เงินชดเชยที่ได้รับตามอายุงาน คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) คำนวณแยกต่างหากในใบแนบเหตุออกจากงาน
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อายุไม่ถึง 55 ปี) คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) คำนวณแยกต่างหากในใบแนบเหตุออกจากงาน
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป) คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณหากมีอายุในกองทุนเกินกว่า 5 ปี

2. ถูกบังคับให้ออก หรือให้ออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจ

ประเภทเงินที่ได้รับ อายุงานไม่ถึง 5 ปี อายุงานเกิน 5 ปี
เงินเดือนที่ได้รับระหว่างปี ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้ 40 (1) ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้ 40 (1)
เงินชดเชยที่ได้รับตามอายุงาน ตามกฎหมายแรงงาน คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) คำนวณแยกต่างหากในใบแนบเหตุออกจากงาน
เงินชดเชยที่ได้รับตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน ได้รับยกเว้นรายได้ 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นรายได้ 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อายุไม่ถึง 55 ปี) คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) คำนวณแยกต่างหากในใบแนบเหตุออกจากงาน
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป) คำนวณรวมในแบบแสดงรายการเสียภาษี ถือเป็นเงินได้รวมกับเงินเดือน 40 (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณหากมีอายุในกองทุนเกินกว่า 5 ปี

3.กรณีถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ไม่ได้ลาออกจากงาน)

ให้นำเงินได้เฉพาะส่วนผลประโยชน์ของตนเอง ส่วนของนายจ้าง และผลประโยชน์ของนายจ้าง ยื่นรวมกับเงินเดือนที่ได้รับ ยื่นในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ตามมาตรา 40(1) เงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน และไม่มีสิทธิคำนวณเงินได้แยกต่างหากในใบแนบเงินได้เหตุออกจากงานฯ

เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ กรณีออกจากงาน

  • หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย 50 ทวิ
  • เอกสารรับรองอายุการทำงาน
  • เอกสารรับรองเงินเดือนย้อนหลัง 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน

ที่มา: www.rd.go.th

กองทุนสำรองสำรองเลี้ยงชีพ เป็นหนึ่งสวัสดิการของพนักงานกินเงินเดือนทั่วๆไป เพื่อเป็นเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่เราอาจจะย้ายที่ทำงานใหม่หรือลาออกไปทำงานอิสระ เมื่อเราลาออกจากงานก็จะทำให้เราจำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปด้วย และหากการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปีหรือตอนที่ยังทำงานไม่ครบ 5 ปีนั้น จะต้องเอาเงินที่ได้ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

การออกจากงานมีหลายแบบ เช่น ออกจากที่เก่าแล้วย้ายไปทำที่ใหม่ หรือออกเนื่องจากการเกษียณอายุ วันที่เราลาออกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออายุ ณ วันที่ออกจากงานทั้งอายุงานและอายุตัวเราซึ่งแต่ละกรณี เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีเงื่อนไขการเสียภาษีต่างๆ กัน

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน ว่ากองทุนนี้มีการแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน คือ

1. เงินสะสมส่วนของตนเอง (ได้รับการยกเว้นภาษี)

2. เงินสมทบส่วนของนายจ้าง

3. เงินผลประโยชน์จากการลงทุนในส่วนของเงินสมทบของตนเอง

4. เงินผลประโยชน์จากการลงทุนในส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง

เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงขีพและต้องคำนึงเรื่องการนำมารวมคำนวณภาษีสิ้นปีเฉพาะเงิน 3 ส่วนหลัง คือ เงินสมทบส่วนของนายจ้าง, เงินผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของเงินสมทบของตนเอง และเงินผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง (สำหรับเงินสะสมในส่วนของตัวเอง จะได้รับการยกเว้นภาษี)

เมื่อออกจากงาน เราจะต้องดูอายุงาน และอายุตัวเราว่าเท่าไหร่บ้าง

กรณีที่ 1 ทำงาน 5 ปีขึ้นไปและอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ทั้งจำนวน (ต้องครบเงื่อนไขทั้ง 2 อย่างนะคะ คือทั้งอายุงานและอายุตัวเอง)

กรณีที่ 2 อายุงานถึง 5 ปี (แต่อายุตัวเรายังไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์) มีสิทธิเสียภาษีในรูปแบบใบแนบฯ ซึ่งการเสียภาษีแบบนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายกรณีพิเศษทำให้มักมีภาระภาษีต่ำกว่าภาษีรูปแบบปกติ คือ หักค่าใช้จ่าย 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน + เงินได้ – 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน หารด้วย 2 แล้วค่อยนำตัวเลขหลังหักภาษีมาคำนวณตามอัตราก้าวหน้า

กรณีที่ 3 อายุงานไม่ถึง 5 ปี(ไม่ว่าอายุตัวเราจะเท่าไหร่ก็ตาม) ก็ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ คือต้องนำเงินทั้งหมดไปเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 โดยเงินนี้ถือเป็นเงินได้ 40(1) และยื่นเสียภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

ในกรณีที่ 3 นี้ หากยังไม่ต้องการนำเงินกองทุนนี้มาใช้จ่าย หรืออยากให้เงินก้อนนี้เปลี่ยนเป็นเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง เราจะยังไม่รับเงินมาและสามารถรับสิทธิ์การยกเว้นภาษีได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

3.1 พักไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนมีอายุงานถึง 5 ปีและมีอายุตัวเอง 55 ปีบริบูรณ์ค่อยนำออกมาใช้ ก็จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี

3.2 หากเราย้ายที่ทำงาน เราสามารถโอนเงินนี้ไปที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างคนใหม่ และนับอายุการทำงานต่อจากที่ทำงานเดิมต่อไปได้

3.3 โอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปเป็นกองทุน RMF ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วใช้เงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ RMF ในการยกเว้นภาษีต่อไป

ตัวอย่าง

หากเราทำงานมาแล้ว 10 ปี และลาออกเมื่อมีอายุ 50 ปี พร้อมกับนำเงินออกจากกองทุนเพื่อใช้จ่าย โดยได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเงินสะสมของตัวเอง 300,000 และได้รับเงินสมทบของนายจ้าง, เงินผลประโยชน์ทั้งส่วนของตัวเองและเงินผลประโยชน์ส่วนของเงินสมทบจากนายจ้าง รวมเป็นเงิน 500,000 บาท เราจะคำนวณเสียภาษีอย่างไร

วิธีคำนวณภาษี

เงินที่ได้ทั้งหมดเป็นฐานในการคำนวณภาษีนับจาก 3 ส่วนคือ เงินสมทบของนายจ้าง, เงินผลประโยชน์ทั้งส่วนของตัวเองและเงินผลประโยชน์ส่วนของเงินสมทบจากนายจ้าง รวมเป็นเงิน 500,000 บาท

หักค่าใช้จ่ายกรณีพิเศษ

- ค่าใช้จ่ายส่วนแรก 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน = 7,000 x 10 = 70,000
- ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 คือ เงินได้ทั้งหมด ลบด้วย 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน แล้วหาร 2
= (500,000 – 70,000) หาร 2 = 430,000 /2 = 215,000

นำค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน 70,000 + 215,000 = 285,000

นำเงินได้มาหักค่าใช้จ่ายที่คำนวณได้ = 500,000 – 285,000 = 215,000

215,000 คือยอดเงินได้หลังหักภาษีกรณีพิเศษตามใบแนบ ที่จะต้องนำไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้าของการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เช่น ปี 2561 (ยื่น ปี 2562) เงินได้ 300,000 แรก เสียภาษีอัตรา 5%

ยอดเงินภาษีคือ 215,000 x 5% = 10,750 บาท

ตอบ เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 500,000 บาท เสียภาษี 10,750 บาท เมื่อเข้าใจวิธีเสียภาษีแบบนี้แล้ว ถ้ากำลังคิดจะลาออกจากงานหรือต้องการเอาเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้ ก็ลองคิดดี ๆ นะคะ ว่าจะเลือกได้เงินใช้เร็วแต่ต้องเสียภาษีหรือจะคงเงินไว้ที่กองทุนหรือจะย้ายไปกองทุนใหม่และเก็บเงินนี้ไว้ใช้ยามแก่พร้อมกับได้รับการยกเว้นภาษีด้วย อันไหนจะคุ้มกว่ากัน

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลาออก ยื่นภาษี

เขียนโดย ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

หากใครมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามหรือปรึกษาเพิ่มเติม

ติดต่อ และ ติดตามอัพเดตเรื่องน่ารู้ทางการเงินกับพี่แผน ได้ทาง

วางแผน.com (wangpaan.com)
Line: @Wangpaan
Facebook: Wangpaan
Twitter: @Wangpaan
Youtube: Wangpaan

อย่าลืมกด Like, Follow และ Subscript จะได้ไม่พลาดข่าวสารสำคัญจากพี่แผนนะครับ