ปัญหา ใน เรื่องกาพย์พระ ไชย สุริยา

รหัสข้อมูล

TLD-001-134

ชื่อเรื่องหลัก

กาพย์พระไชยสุริยา

ยุคสมัย

ผู้แต่ง

คำประพันธ์

นิทาน 

ฉันทลักษณ์

กาพย์ยานี 

เนื้อเรื่องย่อ

พระไชยสุริยาเป็นพระราชาครองเมืองสาวะถี (สาวัตถี) มีมเหสีชื่อว่าสุมาลี  บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์  มีพ่อค้าต่างเมืองมาค้าขาย  ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข  ต่อมาพวกขุนนางผู้ใหญ่และข้าราชบริพารพากันประพฤติผิด ลุ่มหลงในกามคุณและอบายมุขต่าง ๆ ผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรจนเดือดร้อนกันไปทั่ว  การปกครองขาดความยุติธรรม  บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ขาดเสถียรภาพ ในที่สุดเกิดน้ำป่าไหลท่วมบ้านเมืองทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก  ผู้ที่รอดชีวิตก็หนีออกจากเมืองไปหมด  พระไชยสุริยาพามเหสีและบริวารพร้อมเสบียงลงเรือสำเภาหนีออกจากเมือง  เรือแตกเพราะถูกพายุ  บริวารทั้งหลายพลัดไปหมด  พระไชยสุริยาและนางสุมาลีขึ้นฝั่งได้พากันรอนแรมไปในป่า  ตกทุกข์ได้ยากอยู่หลายวัน  พระดาบสรูปหนึ่งเข้าฌานเห็นทั้งสองพระองค์เร่ร่อนอยู่ในป่าก็สงสาร  เพราะทราบว่าพระไชยสุริยาเป็นกษัตริย์ที่ดี  แต่ต้องเคราะห์ร้ายเช่นนี้เพราะหลงเชื่ออำมาตย์ที่ฉ้อฉล  พระดาบสจึงเทศนาโปรดทั้งสององค์ให้ศรัทธาถือเพศเป็นฤษีบำเพ็ญธรรมอย่างเคร่งครัดจนได้ไปเสวยสุขในสวรรค์

วัตถุประสงค์

ผู้เรียบเรียง

เอกสารอ้างอิง

รวมนิทาน บทเห่กล่อม และสุภาษิตของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529. (จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อร่วมโครงการฉลอง 200 ปี กวีเอกสุนทรภู่  พ.ศ.2529)

ภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, สมาคม. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา. กรุงเทพฯ : สมาคมภาษาและหนังสือ, 2529.

คำสำคัญ

การวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา

ตามแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

การวิจารณ์วรรณคดีแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  

   การวิจารณ์วรรณคดีแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นการวิจารณ์องค์ประกอบภายนอก (Extrinsic)  ของวรรณคดี ซึ่งจะพิจารณาคุณค่าของวรรณคดีในฐานะที่เป็นภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรม โดยจะแบ่งเป็น          การวิจารณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม และการวิจารณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ดังนี้

การวิจารณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม

               การวิจารณ์แนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เป็นรูปธรรม เป็นการพิจารณาจากสิ่งที่มีรูปร่างมีตัวตน สามารถสัมผัสจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเป็นสิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ซึ่งในวรรณคดีเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยาก็ได้สะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมไว้ในเรื่องหลายประการ ดังนี้

             1.  วิถีชีวิต ในกาพย์พระไชยสุริยาได้สะท้อนภาพชีวิตของประชาชนชาวพาราสาวัตถีที่แม้จะเป็นนิทาน แต่ก็  น่าจะเป็นภาพสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะการสร้างงานเขียนของกวีจะใช้วิธีบันทึกสภาพความจริงผสมผสานกับจินตนาการ หรือที่เรียกว่าการประสมประสานของประสบการณ์ชีวิตกับจินตนาการ เพื่อสร้างเรื่องให้มีความน่าอ่านมากขึ้น ( รตชา, 2547, หน้า 15) ซึ่งวิถีชีวิตของพาราสาวัตถีได้สะท้อนภาพของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังนี้

                    1.การประกอบอาชีพ  จากเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้แสดงให้เห็นว่ามีการประกอบอาชีพต่างๆ ดังนี้

                               1.1.1  การค้าขาย  ในกาพย์พระไชยสุริยามีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการค้าขาย จะเห็นได้จากคำประพันธ์ต่อไปนี้

                    ข้าเฝ้าเหล่าเสนา            มีกิริยาอัชฌาศัย 

                                           พ่อค้ามาแต่ไกล                    ได้อาศัยในพารา 
                                                                                    

                                                                                                                                             (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 81)

                               จากคำประพันธ์ก็จะเห็นได้ว่ามี “พ่อค้ามาแต่ไกล” ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมีการประกอบอาชีพค้าขายแล้ว ก็ยังแสดงให้เห็นอีกว่าพ่อค้าที่มาจากแดนไกลนั้นคือพ่อค้าจากต่างเมือง และจะต้องเป็นการค้ากับชนชาติจีนอย่างแน่นอน เพราะได้มีการกล่าวถึง “เรือสำเภา” ซึ่งเรือสำเภานั้นเป็นเรือของคนจีน ในตอนที่พระไชยสุริยาหนีน้ำท่วมเมืองก็ได้ใช้เรือสำเภาเป็นพาหนะ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                         พระไชยสุริยาภูมี               พาพระมเหสี

                                              มาที่ในลำสำเภา

                                                        ข้าวปลาหาไปไม่เบา         นารีที่เยาว์

                                             ก็เอาไปในเภตรา

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 83)

                           1.1.2  การเกษตรกรรม  ในกาพย์พระไชยสุริยามีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการทำไร่ไถนา ปลูกข้าว และเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่พอเพียงตามอัตภาพ ดังจะเห็นได้จากคำประพันธ์ต่อไปนี้

                      ไพร่ฟ้าประชาชี           ชาวบุรีก็ปรีดา

             ทำไร่ข้าวไถนา                     ได้ข้าวปลาแลสาลี 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 81)

                                    คำประพันธ์บทนี้สะท้อนให้เห็นสังคมที่เป็นสุข ดังจะเห็นได้จากคำที่กวีใช้ ทั้ง “ปรีดา”  “ข้าวปลา” และ “แลสาลี” 

                        1.การเคารพผู้อาวุโส ในกาพย์พระไชยสุริยาจะสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของการเคารพผู้อาวุโสอย่างยิ่ง ซึ่งผู้น้อยต้องเคารพนบนอบเชื่อฟังผู้ใหญ่ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                    ไม่จำคำผู้ใหญ่                ศีรษะไม้ใจโยโส

                                           ที่ดีมีอะโข                                 ข้าขอโมทนาไป

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                                    ในคำประพันธ์บทนี้สุนทรภู่กล่าวตำหนิผู้ที่ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่    แต่สำหรับคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่สุนทรภู่    ก็จะยกย่องชมเชย

               2.  การปกครองบ้านเมือง ในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงการปกครองบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งแบ่งรูปแบบการปกครองได้ ดังต่อไปนี้

                            2.อาณาจักร จะเป็นรูปแบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ                   มีผู้พิพากษา (เจ้าสุภา) ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความ ของประชาชน ในการปกครองบ้านเมืองถ้าผู้ปกครองขาดธรรมะ      บ้านเมืองจะไม่สงบ ในเรื่องนี้สุนทรภู่ก็ได้กล่าวไว้ว่า

                                                    ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี           กลอกกลับอัปรีย์

                                        บุรีจึงล่มจมไป

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 89)

                                     ส่วนการตัดสินคดีความก็เช่นกัน ถ้าเจ้าสุภารับสินบนบ้านเมืองก็จะเดือดร้อน  ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                        คดีที่มีคู่                         คือไก่หมูเจ้าสุภา

                                        ใครเอาข้าวปลามา                        ให้สุภาก็ว่าดี

 (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                  2.พุทธจักร จะเป็นรูปแบบการปกครองโดยมีศาสนาพุทธเข้ามาเกี่ยวข้อง นำโดยพระสงฆ์ผู้นำทางศาสนาที่ทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เป็นคนดี ได้ละอายชั่ว กลัวบาปกันมากขึ้น เหมือนกับเป็นการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี เพื่อให้สังคมได้มีแต่ความสงบสุข ดังจะเห็นได้จากในตอนที่พระฤๅษีที่เปรียบเสมือนกับพระผู้ซึ่งตั้งอยู่ในศีลธรรมมาโปรดเทศนาสั่งสอนพระไชยสุริยาให้เป็นกษัตริย์ที่ดีมีเมตตา หากกษัตริย์ตั้งอยู่ในธรรม เชื่อฟังธรรมคำสั่งสอน มีเมตตาต่อประชาชน ก็จะส่งผลให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสืบไป ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                            ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์                  เอ็นดูภูบาล

                                 ผู้ผ่านพาราสาวะถี

                                            ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี                       กลอกกลับอัปรีย์

                                 บุรีจึงล่มจมไป

                                             ประโยชน์จะโปรดภูวไนย              นิ่งนั่งตั้งใจ

                                 เลื่อมใสสำเร็จเมตตา

                                             เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา           บอกข้อมรณา

                                 คงมาวันหนึ่งถึงตน

                                             เบียดเบียนเสียดส่อฉ้อฉล              บาปกรรมนำตน

                                 ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์

                                             เมตตากรุณาสามัญ                        จะได้ไปสวรรค์

                                 เป็นสุขทุกวันหรรษา

             (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 89-90)

                             แต่ถ้าพระสงฆ์ละจากธรรมะบ้านเมืองก็จะเดือดร้อนเช่นกัน ดังคำประพันธ์ดังต่อไปนี้

                                                   ภิกษุสมณะ                    เหล่าก็ละพระสธรรม

                                        คาถาว่าลำนำ                            ไปเร่ร่ำทำเฉโก

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

              3.  สภาพสังคม

                    3.สังคมเมือง สังคมประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ ได้แก่ ขุนนางข้าราชการ พระสงฆ์ และประชาชน การที่พาราสาวัตถี หรือประชาชนสาวัตถีเดือดร้อน ซึ่งต้นเหตุเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมของชนชั้นสูง สุนทรภู่ก็ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เลวร้ายที่มีอยู่ในสังคมถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ให้เห็นภาพในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นความประพฤติที่เป็นปัญหาที่นำหายนะมาสู่สังคมและประเทศในท้ายที่สุด โดยภาพสังคมที่วุ่นวายที่กวีได้กล่าวถึงไว้มีแทบทุกระดับ ดังนี้

                             สังคมของขุนนางในวังที่ละทิ้งหน้าที่ที่พึงกระทำต่อบ้านเมืองของตน กลับใช้เวลาหาความสุขอยู่กับหญิงสาวที่นอกเหนือจากผู้เป็นภรรยา เสพสุขทางกามารมณ์สนองตัณหาทั้งค่ำเช้าอย่างไม่มีความละอายใจ           ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                             อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า            ก็หาเยาวนารี 

                  ที่หน้าตาดีดี                           ทำมโหรีที่เคหา 

                            ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ             เข้าแต่หอล่อกามา 

                   หาได้ให้ภริยา                       โลโภพาให้บ้าใจ 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 81)

                             สังคมของผู้ที่มีอวิชชาหรือผู้ที่โง่เขลาหันหน้าเข้าหาพึ่งพาไสยศาสตร์ ละทิ้งหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  รวมทั้งถือตนว่ามีข้าทาสบริวาร พอข้าทาสคนใดทำไม่ถูกใจก็จะจับไปจองจำ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                               ไม่จำคำพระเจ้า           เหไปเข้าภาษาไสย 


                      ถือดีมีข้าไท                          ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                           สังคมของผู้พิพากษาผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของการตัดสินคดีที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม หากแต่มีความโลภเป็นที่ตั้ง ใครที่มีสินบนมาให้ก็สามารถชนะคดีได้ด้วยฝีมือของผู้ตัดสินคดีให้คดีที่แพ้พลิกกลับเป็นชนะได้ ผู้ที่ทำความผิดแล้วติดสินบนไว้จึงไม่ได้รับโทษ กลายมาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องรับโทษแทน ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                             คดีที่มีคู่                     คือไก่หมูเจ้าสุภา 


               ใครเอาข้าวปลามา                  ให้สุภาก็ว่าดี 

                           ที่แพ้แก้ชนะ               ไม่ถือพระประเวณี 


               ขี้ฉ้อก็ได้ดี                              ไล่ด่าตีมีอาญา 

                  (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                        สังคมของคนที่เชื่อถืออยู่ในหลักธรรมแล้วกลับถูกมองว่าเป็นคนโง่ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ ตลอดจนเหล่าขุนนางอาวุโสก็ถูกหาว่าเป็นคนบ้าไม่มีดี ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                        ที่ซื่อถือพระเจ้า               ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา 


                   ผู้เฒ่าเหล่าเมธา                    ว่าใบ้บ้าสาระยำ 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                              สังคมของพระผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลธรรม กลายเป็นผู้ที่ละทิ้งธรรมไม่สวดมนต์ภาวนาอย่างผู้ทรงศีลที่เคยปฏิบัติมา ประพฤติตนผิดวิสัยพระโกหกหลอกลวงผู้อื่น ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                          ภิกษุสมณะ                เล่าก็ละพระสธรรม 


                  คาถาว่าลำนำ                    ไปเร่ร่ำทำเฉโก 

                                                                                                        (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                              สังคมที่ดื้อรั้น มีความยโสโอหังหรือทระนงตนเกินไป ไม่ประพฤติตามคำสอนของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า และสิ่งที่ดีมีมากแต่กลับไม่นับถือปฏิบัติ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                        ไม่จำคำผู้ใหญ่             ศีรษะไม้ใจโยโส 


                ที่ดีมีอะโข                            ข้าขอโมทนาไป 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                            สังคมที่เห็นแก่ตัว ไม่มีใครปรานีต่อกัน ถือเอาแต่ใจของตนเองเป็นใหญ่ ต่างรุมแย่งกันแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                        พาราสาวะถี                   ใครไม่มีปรานีใคร 


                ดุดื้อถือแต่ใจ                         ที่ใครได้ใส่เอาพอ 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                           สังคมของคนพาลที่ใช้กำลังเป็นใหญ่ ถือตนว่ามีพละกำลังมากก็ใช้กำลังแย่งของมาจากผู้อื่นทั้งที่ไม่ใช่ของ ๆ ตน โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                         ผู้ที่มีฝีมือ                       ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ 


                ไล่คว้าผ้าที่คอ                        อะไรล่อก็เอาไป 

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                       สังคมของเหล่าขุนนางที่ไม่ยึดถือปฏิบัติตามคำสาบานที่ให้ไว้ในพิธีถือน้ำสาบานตนที่เกี่ยวกับความประพฤติที่อยู่ในระบอบอันดี ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                         ข้าเฝ้าเหล่าเสนา            มิได้ว่าหมู่ข้าไท 


                ถือน้ำร่ำเข้าไป                        แต่น้ำใจไม่นำพา 
                                                                                                        (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                       สังคมที่ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนที่มีอำนาจมากก็จะทำร้ายคนที่ด้อยกว่าตนอย่างไม่ปรานี ทำให้ประชาชนมีแต่ความเศร้าหมอง ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                      หาได้ใครหาเอา               ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา 


                ผู้ที่มีอาญา                             ไล่ตีด่าไม่ปราณี 

                  (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                       และสภาพสังคมที่โกลาหลหนีตายกันอลหม่าน และก็กลายเป็นเมืองร้างในที่สุดเนื่องจากภายหลังเกิดเหตุน้ำท่วมเมืองแล้ว ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                            ผีป่ามากระทำ                   มรณกรรมชาวบุรี

                                  น้ำป่าเข้าธานี                              ก็ไม่มีที่อาศัย

                                           ข้าเฝ้าเหล่าเสนา               หนีไปหาพาราไกล

                                  ชีบาล่าลี้ไป                                 ไม่มีใครในธานี

                  (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                        3.สภาพสังคมชนบท กวีได้นำเสนอภาพสังคมชนบทที่มีภาพเหตุการณ์ตรงข้ามกับสังคมเมืองโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสภาพของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีแต่ความร่มรื่น ความสุขสงบ ความอุดมสมบูรณ์ของมวลไม้นานาพันธุ์ รวมทั้งป่าสัตว์ป่านานาชนิดที่อาศัยอยู่ตามป่าก็แสดงกิริยาอาการไปตามวิสัยของมัน แต่ก็ไม่มีภาพ      ความโกลาหลให้เห็นอย่างเช่นในสังคมเมือง ภาพที่กวีถ่ายทอดออกมาแสดงให้เห็นว่ากวีเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก เพราะมีการพรรณนาวิสัยของสัตว์ไว้ให้เห็นภาพชัดเจน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                            ตอนที่พระไชยสุริยาเรือแตกและสามารถขึ้นฝั่งได้ พระไชยสุริยาและพระมเหสีได้พักอาศัยใต้ต้นไทร ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                              วันนั้นจันทร      มีดารากร      เป็นบริวาร

                เห็นสิ้นดินฟ้า       ในป่าท่าธาร      มาลีคลี่บาน      ใบก้านอรชร

                              เย็นฉ่ำน้ำฟ้า      ชื่นชะผกา       วายุพาขจร

                                     สารพันจันทน์อิน      รื่นกลิ่นเกสร      แตนต่อคลอร่อน     ว้าว่อนเวียนระวัน

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 86)

                                หลังจากที่พระองค์และมเหสีได้สวดมนต์ก่อนจะบรรทมนั้น สุนทรภู่ก็ได้พรรณนาให้เห็นภาพธรรมชาติในยามค่ำคืน ที่มีดวงดาวเต็มท้องฟ้า มีลำธารไหลเย็น มีลมพัดกลิ่นเกสรของดอกไม้ และการเคลื่อนไหวของแมลงที่บินตอมเกสรไปมา ซึ่งการบรรยายภาพตอนกลางคืนที่มี แตนและต่อบินอยู่ อาจจะไม่สมจริง แต่สุนทรภู่  ก็ต้องการให้ผู้อ่านเห็นภาพบรรยากาศที่รื่นรมย์

                        สำหรับในเวลาเช้า สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ที่ประกอบไปด้วย ต้นไม้หลากชนิด ได้แก่ เช่น ต้นไกร กร่าง ซึ่งมีลำต้นสูงเรียว ต้นยาง ต้นยูง ต้นตลิงปลิง ต้นประยงค์ ต้นคันทรง ฝิ่น ฝาง ซึ่งส่งกลิ่นไปทั่ว ต้นมะม่วง ต้นพลวง ต้นพลอง ต้นช้องนาง ซึ่งใบหล่นเกลื่อนเต็มทาง และสัตว์ป่า ได้แก่ กวางที่ย่างเดินอย่างช้าๆ  หงส์ที่อยู่กันเป็นฝูงส่งเสียงร้องน่าฟัง ไก่ขันอย่างกับเสียงซอที่บรรเลงเพลงมาจากในวัง ยูงทองร้องเสียงดังเหมือน ฆ้อง กลอง ระฆัง แตร แล้วก็สังข์ ที่ประสานเสียงกันกังวาน นกกะลิง นกกะลาง นกนางนวลนอนเรียงกัน พญาลอหรือไก่ฟ้าก็คลอเคลียอยู่ใกล้ๆ พร้อมนกนางแอ่น นกเอี้ยง นกอีโก้ง และนกโทงเทง มีนกค้อนทองที่มีเสียงร้องป๋องเป๋ง มีอีเก้ง มีฝูงละมั่งมากินดินแล้วก็นอนผึ่งแดด และมีโขลงช้างกำลังส่งเสียงดังไปทั่วขณะที่ลงเล่นน้ำอยู่     ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                         ไกรกร่างยางยูงสูงระหง                  ตะลิงปลิงปริงประยงค์


               คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง 


                         มะม่วงพวงพลองช้องนาง              หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง


               กินพลางเดินพลางหว่างเนิน 


                         เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน       เหมือนอย่างนางเชิญ


               พระแสงสำอางข้างเคียง 


                         เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง                     เริงร้องก้องเสียง


               สำเนียงน่าฟังวังเวง 


                         กลางไพรไก่ขันบรรเลง                  ฟังเสียงเพียงเพลง


               ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง 


                         ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง               เพียงฆ้องกลองระฆัง


               แตรสังข์กังสดาลขานเสียง 


                         กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง       พญาลอคลอเคียง


               แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง 


                         ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง             เพลินฟังวังเวง


               อีเก้งเริงร้องลองเชิง 


                         ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง                  ค่างแข็งแรงเริง


               ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง 


                         ป่าสูงยูงยางช้างโขลง                   อึงคะนึงผึงโผง


               โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 87)

             4.  ระบบการศึกษากาพย์พระไชยสุริยาได้สะท้อนให้เห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น มีระบบ    การศึกษา ดังต่อไปนี้

                    4.การเน้นในเรื่องของการอ่าน ดังจะเห็นได้จากแบบเรียนเพื่อใช้สอนอ่านคำเทียบในมาตราตัวสะกดแม่ต่างๆ ของสุนทรภู่ ซึ่งมีการผูกเรื่องเป็นนิทานให้เด็กได้ฝึกอ่านเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถจดจำคำในมาตรา       ตัวสะกดแม่ต่างๆ ตั้งแต่แม่ ก กา ไปจนถึงแม่ เกยได้ และเมื่อเด็กอ่านได้การเขียนได้ก็จะตามมาเอง ดังคำประพันธ์     ต่อไปนี้

                                               ก ข ก กา ว่าเวียน                      หนูน้อยค่อยเพียร

                                    อ่านเขียนผสมกมเกย                                 

                  (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 91)

                 4.ครูเป็นศูนย์กลาง จากเรื่องพระไชยสุริยาแสดงให้เห็นว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น มีการศึกษาแบบครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งครูไม่เพียงแต่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ครูยังมีบทลงโทษนักเรียนด้วยการใช้ไม้เรียวตีนักเรียน เพื่อควบคุมพฤติกรรมนักเรียนให้เชื่อฟังและตั้งใจเรียนตามที่ครูได้สอนด้วย ดังจะเห็นได้จากคำประพันธ์  ต่อไปนี้

                                              ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย                 ไม้เรียวเจียวเหวย

                                    กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว

                                              หันหวดปวดแสบแปลบเสียว        หยิกซ้ำช้ำเขียว

                                    อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 91)

การวิจารณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม

               การวิจารณ์ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นการวิจารณ์โดยพิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดที่แสดงผ่านความเชื่อ และค่านิยมของผู้แต่ง จากเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้สะท้อนสิ่งที่เป็นนามธรรมในเรื่องต่างๆ ไว้ ดังนี้

             1.  ความเชื่อ ในกาพย์พระไชยสุริยาสะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องต่างๆ ของคนในสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังนี้

               1.ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและการหลุดพ้นจากบ่วงกรรม เป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ผู้ใดทำกรรมใดไว้ก็จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น หากทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ซึ่งในกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้แสดงให้เห็น ความเชื่อเรื่องกรรมที่ยังมีอยู่ในสังคมไว้ ดังต่อไปนี้

                        ตอนที่พระไชยสุริยาเกิดความว้าเหว่ใจขณะที่ล่องเรือกลางท้องทะเลไปตามเวรตามกรรม ก็เพราะมาจากผลกรรมของพระองค์ที่ไปหลงเล่ห์กลขุนนางชั่ว ทำให้พระองค์ต้องพบกับความทุกข์อย่างหนัก เพราะพายุใหญ่ก็ได้มาซัดเรือให้แตกอีก ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                      จำไปในเวรา                             พายุใหญ่มา

                             เภตราก็เซเหไป              

                              (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 85)

                        ตอนที่พระไชยสุริยาและพระมเหสีร่ำไห้กับเวรกรรมที่ได้รับจากการหลงเชื่อคำของเหล่าขุนนางชั่ว  จึงทำให้ชีวิตต้องลำบาก ต้องจำใจเดินไปตามทางป่าหลังจากที่ขึ้นฝั่งตอนเรือแตก

                                                             ราชานารีร่ำไร                        มีกรรมจำใจ

                               จำไปพอปะพสุธา

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 86)

                        ตอนที่พระฤๅษีผู้มีญาณหยั่งรู้ทุกสรรพสิ่งบนโลก มองเห็นผู้คนบนโลกมีความโลภมาก หรือริษยาต่อกัน จึงทำให้แผ่นดินไหว บ้านเมืองเกิดล่มจมขึ้นมา นั่นก็มาจากผลกรรมที่คนในสังคมก่อไว้ ดังนี้

                                                     โลภมากบาปบ่คิด                     โจทย์จับผิดริษยา

                                            อุระพสุธา                                           ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

                                                      บรรดาสามัญสัตว์                     เกิดวิบัติปัตติปาปัง

                                            ไตรยุคทุกขตรัง                                  สังวัจฉระอวสาน

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 89)

                          ตอนที่กวีได้กล่าวปิดท้ายเรื่องในตอนจบก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่อง บาปบุญไว้ เพื่อให้เด็กที่กำลังร่ำเรียนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน หากไม่ตั้งใจเรียน ก็จะโดนครูลงโทษ เช่นเดียวกับน้ำป่าที่มาลงโทษชาวเมือง ซึ่งเป็นผลกรรมของการไม่ประพฤติอยู่ในศีลธรรม เป็นอุทาหรณ์ให้กับเด็ก และขอแบ่งบุญจากผู้ที่เห็นประโยชน์ในสิ่งกวีได้สอนสั่งในครั้งนี้ด้วย ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                          ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย                 ไม้เรียวเจียวเหวย

                                  กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว

                                          หันหวดปวดแสบแปลบเสียว      หยิกซ้ำช้ำเขียว

                                  อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ

                                          บอกไว้ให้ทราบบาปกรรม        เรียงเรียบเทียบทำ

                                  แนะนำให้เจ้าเอาบุญ

                                          เดชะพระมหาการุญ                    ใครเห็นเป็นคุณ

                                  แบ่งบุญให้เราเจ้าเอย ฯ

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 91)

                             ตอนที่ฤๅษีเทศนาสั่งสอนพระไชยสุริยาว่าการเบียดเบียนกันมีแต่จะนำทุกข์มาให้ และยังเป็นบาปติดตัวอีกด้วย เพื่อให้คนได้หันมาทำความดีก่อนที่ความตายจะมาถึงตน และเพื่อให้ได้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม            ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                          ประโยชน์จะโปรดภูวไนย                 นิ่งนั่งตั้งใจ

                                  เลื่อมใสสำเร็จเมตตา

                                          เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา             บอกข้อมรณา

                                  คงมาวันหนึ่งถึงตน

                                          เบียดเบียนเสียดส่อฉ้อฉล               บาปกรรมนำตน

                                  ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์

                                          เมตตากรุณาสามัญ                         จะได้ไปสวรรค์

                                  เป็นสุขทุกวันหรรษา

             (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 90)

                  และตอนที่พระไชยสุริยาได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อเห็นภัยในขันธสันดานหรือกิเลสทั้งห้าของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัส เมื่อสามารถตัดกิเลสทั้งปวงได้ ก็จะหลุดพ้นจากบ่วงกรรมได้ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                            ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไท                ฟังธรรมน้ำใจ

                                  เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ

                                             เห็นภัยในขันธสันดาน                  ตัวห่วงบ่วงมาร

                                  สำราญสำเร็จเมตตา

                                             สององค์ทรงหนังพยัคฆา            จัดจีบกลีบชฎา

                                  รักษาศีลถือฤๅษี

                                            เช้าค่ำทำกิจพิธี                            กองกูณฑ์อัคคี

                                  เป็นที่บูชาถาวร

                                            ปถพีเป็นที่บรรจถรณ์                    เอนองค์ลงนอน

                                  เหนือขอนเขนยเกยเศียร

                                           ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน            เหนื่อยยากพากเพียร

                                  เรียนธรรมบำเพ็ญเคร่งครัน

                                           สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์                เสวยสุขทุกวัน

                                  นานนับกัปกัลป์พุทธันดร

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 90-91)

                  1.2  ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ในกาพย์พระไชยสุริยาได้สะท้อนให้เห็นว่าคนในสมัยอดีตได้มีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ด้วย ในตอนที่บ้านเมืองเกิดทุกข์เข็ญไม่มีใครประพฤติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่กลับไปเข้าหาไสยศาสตร์แทน ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                       ไม่จำคำพระเจ้า                           เหไปเข้าภาษาไสย

              ถือดีมีข้าไท                                          ฉ้อแต่ไพร่ใส่สื่อคา

             (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                          1.ความเชื่อเรื่องผี ซึ่งผีเป็นสิ่งลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีก็ก่อให้เกิดความกลัวอยู่ภายใต้จิตใจของแต่ละคนมาทุกยุคสมัย ด้วยเชื่อว่าผีนั้นมีอำนาจที่สามารถดลบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ ซึ่งในกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้กล่าวถึงอำนาจของผีที่มากระทำให้เกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

                            ตอนที่ผู้คนในสังคมพาราสาวัตถีประพฤติตนผิดศีลธรรม ทำให้น้ำป่าเข้าท่วมเมือง จนผู้คนบ้างก็ล้มตาย บ้างก็ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากอำนาจของผีป่าที่มากระทำเพื่อลงโทษชาวเมืองสาวัตถี ดังคำประพันธ์  ต่อไปนี้

                                               ผีป่ามากระทำ                     มรณกรรมชาวบุรี

                                    น้ำป่าเข้าธานี                                 ก็ไม่มีที่อาศัย

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                        และตอนที่เรือของพระไชยสุริยาล่มก็ได้มีการกล่าวถึงผีที่ได้มาสร้างเคราะห์กรรมซ้ำเติม               พระไชยสุริยา เป็นเหตุให้เรือล่มไว้ ดังนี้

                                                ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา               เจ้ากรรมซ้ำเอา

                                      สำเภาระยำคว่ำไป

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 82)

                      1.4  ความเชื่อเรื่องสวรรค์ เป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง ไตรภูมิพระร่วงที่ปรากฏเรื่องของสวรรค์ในชั้นต่างๆ ถือเป็นความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้าที่พยายามสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องให้ดึงดูดใจคนอ่าน เช่น มีความสุขสบายต่าง ๆ หากใครทำความดีไว้มากก็จะได้ขึ้นไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ ซึ่งในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้มีการเน้นย้ำคำสอนของพระฤๅษีที่สอนสั่งพระไชยสุริยาให้ทำความดีเพื่อจะได้ไปสวรรค์ และพระไชยสุริยากับพระมเหสีก็ได้ขึ้นสวรรค์จริงๆ เมื่อได้พากเพียรบำเพ็ญธรรมสำเร็จแล้ว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                        ตอนที่พระฤๅษีสั่งสอนพระไชยสุริยา ให้มีเมตตากรุณา และหมั่นสวดมนต์ภาวนาเพื่อจะได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                              เมตตากรุณาสามัญ                   จะได้ไปสวรรค์

                                    เป็นสุขทุกวันหรรษา

                                              สมบัติสัตว์มนุษย์ครุฑา             กลอกกลับอัปรา

                                    เทวาสมบัติชัชวาล

                                              สุขเกษมเปรมปรีดิ์วิมาน            อิ่มหนำสำราญ

                                    ศฤงคารห้อมล้อมพร้อมเพรียง

                                             กระจับปี่สีซอท่อเสียง                ขับรำจำเรียง

                                   สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง

                                             เดชะพระกุศลหนหลัง                สิ่งใดใจหวัง

                                    ได้ดังมุ่งมาดปรารถนา

                                              จริงนะประสกสีกา                     สวดมนต์ภาวนา

                                    เบื้องหน้าจะได้ไปสวรรค์          

                                                            (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 90)

                        และตอนที่พระไชยสุริยากับพระมเหสีตั้งใจบำเพ็ญธรรมจนกระทั่งสำเร็จผล ได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ในที่สุด ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                              ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน       เหนื่อยยากพากเพียร

                                    เรียนธรรมบำเพ็ญเคร่งครัน

                                              สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์            เสวยสุขทุกวัน

                                    นานนับกัปกัลป์พุทธันดร

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 91)

                  1.ความเชื่อเรื่องกาลกิณี กาลกิณีเป็นลักษณะที่ถือว่าเป็นอัปมงคล ที่ผู้คนจะนำไปใช้เรียกสิ่งที่  ก่อให้เกิดเรื่องร้าย นับได้ว่าเป็นสิ่งที่นำพามาซึ่งความชั่วร้าย ซึ่งในกาพย์พระไชยสุริยาก็แสดงให้เห็นว่ายังมี  ความเชื่อเช่นนี้อยู่ในสมัยอดีต โดยได้มีการกล่าวถึงกาลกิณีที่เป็นสาเหตุทำให้บ้านเมืองได้พบกับความหายนะครั้งใหญ่ไว้ในเนื้อหาด้วยกันอยู่ 4 ประการ หรือที่เรียกว่า กาลกิณี 4 ประการ คือ การเห็นผิดเป็นชอบ การไม่รู้จักบุญคุณคน การเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน และความโลภ อิจฉาริษยากัน ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                         วันนั้นครั้นดินไหว                   เกิดเหตุใหญ่ในปถพี 

                                        เล็งดูรู้คดี                                          กาลกิณีสี่ประการ

                                                  ประกอบชอบเป็นผิด               กลับจริตผิดโบราณ

                                       สามัญอันธพาล                                  ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์

                                                  ลูกศิษย์คิดล้างครู                   ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน

                                       ส่อเสียดเบียดเบียนกัน                       ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

                                                  โลภลาภบาปบคิด                   โจทก์จับผิดริษยา

                                       อุระพสุธา                                           ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

                                                   บรรดาสามัญสัตว์                   เกิดวิบัติปัตติปาปัง

                                       ไตรยุคทุกขตรัง                                 สังวัจฉระอวสาน

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 89)

                  1.ความเชื่อตามไตรภูมิพระร่วงเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมหาสมุทร เป็นความเชื่อที่ว่า ต้นทางของน้ำในมหาสมุทร คือ สระอโนดาตในชมพูทวีป สระนั้นมีปากทางน้ำเข้าอยู่ 4 ด้าน เป็นรูปหน้าสิงห์ หน้าช้าง หน้าม้า และหน้าวัวตามลำดับ น้ำในสระจะไหลออกจากสระ “ข้างปากวัว” ทางทิศตะวันออก เวียนรอบสระอโนดาตแล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนจะตกลงสู่มหาสมุทร ซึ่งในกาพย์พระไชยสุริยาก็ได้มีการกล่าวถึงไว้ในตอนที่พระไชยสุริยาถามเหล่าเสนาอำมาตย์ขณะที่อยู่บนเรือว่า มหาสมุทรมีความกว้างเท่าใดเหล่าเสนาอำมาตย์ก็บอกว่ามหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่มาก ต้นกำเนิดของน้ำนั้นไหลออกมาจากปากวัว หรือ ไหลมาแต่ในคอโค ซึ่งก็มาจากความเชื่อที่มีอยู่ในไตรภูมิพระร่วงที่สุนทรภู่ได้ยกประเด็นมาแสดงไว้ในเรื่องสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากเนื้อหาของไตรภูมิพระร่วงด้วย ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้  

                                                  ราชาว่าแก่เสนี                      ใครรู้คดี

                                         วารีนี้เท่าใดนา

                                                  ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชา                ว่าพระมหา

                                         วารีนี้ไซร้ใหญ่โต

                                                  ไหลมาแต่ในคอโค             แผ่ไปใหญ่โต

                                         มโหฬาร์ล้ำน้ำไหล

                                                  บาลีมิได้แก้ไข                      ข้าพเจ้าเข้าใจ

                                         ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา

(วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 84)

                  1.การทำความดี ด้วยการลดละเลิกกิเลสทั้งปวง แล้วความดีที่มีก็จะรักษาผู้ประพฤติธรรม แต่ถ้าสังคมมากด้วยกิเลสทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ สังคมที่เคยสงบสุขจะกลายเป็นสังคมที่ต้องพบกับความวิบัติในที่สุด   ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                          อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า                ก็หาเยาวนารี

                                               ที่หน้าตาดีดี                                ทำมโหรีที่เคหา

                                                         ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ                  เข้าแต่หอล่อกามา

                                              หาได้ให้ภริยา                              โลโภพาให้บ้าใจ

                   (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 81)

                         จากคำประพันธ์ตอนนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมนั้นเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งในที่สุดแล้ว        สิ่งเหล่านี้ก็จะนำพาความวิบัติมาสู่สังคม ดังจะเห็นได้จากในตอนที่พระไชยสุริยากับเหล่าขุนนางแม้ว่าจะหนีน้ำที่ท่วมเมืองมาขึ้นเรือได้แล้ว แต่ด้วยความชั่วที่เคยมี ทำให้ต้องได้รับความทุกข์จากเรือแตก จมน้ำตายไปอีก เพราะธรรมะย่อมไม่รักษาผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                          ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา              เจ้ากรรมซ้ำเอา

                                              สำเภาระยำคว่ำไป

                      (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 86)

             2.  ค่านิยม เป็นสิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือปฏิบัติ อาจจะใช้เป็นเครื่องช่วยตัดสินใจหรือกำหนดการกระทำของตน จากเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาสะท้อนให้เห็นค่านิยมของสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังนี้

                     2.เรื่องการปฏิบัติตนของผู้หญิง ในกาพย์พระไชยสุริยา ก็ได้แสดงให้เห็นถึงค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านทางตัวละครหญิง คือ พระมเหสีสุมาลี ว่าจะต้องมีคุณลักษณะแบบแม่ศรีเรือน คอยปรนนิบัติดูแล        พระสวามีหรือพระไชยสุริยาให้มีความสุขกายสบายใจ แม้ว่าพระมเหสีจะอยู่ในป่าได้พบกับความลำบากอยู่แล้ว  ก็ตาม ก็ต้องเคารพนบไหว้พระสวามีรู้หน้าที่ของภรรยาที่ดี เชื่อฟังพระสวามี พระสวามีบอกให้นอนก็ต้องนอน       และต้องสวดมนต์ก่อนนอนตามที่พระสวามีบอกโดยไม่มีคำโต้แย้ง ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                            ขึ้นใหม่ในกน     กา   ว่าปน   ระคนกันไป   เอ็นดูภูธร

                                    มานอนในไพร    มณฑลต้นไทร    แทนไพชยนต์สถาน

                                             ส่วนสุมาลี    วันทาสามี    เทวีอยู่งาน   เฝ้าอยู่ดูแล

                                    เหมือนแต่ก่อนกาล   ให้พระภูบาล    สำราญวิญญา

                                            พระชวนนวลนอน    เข็ญใจไม้ขอน    เหมือนหมอนแม่นา    

                                    ภูธรสอนมนต์    ให้บ่นภาวนา    เย็นค่ำร่ำว่า    กันป่าภัยพาล

 (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 86)

                  2.ความกตัญญู จะเห็นได้ว่าในสังคมให้การยอมรับนับถือเรื่องของความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเป็นสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความกตัญญูเป็นสมบัติของคนดี หากเป็นคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคนก็จะเป็นคนที่ไม่ดีในสังคม ถือเป็นหนึ่งในกาลกิณีที่มีส่วนทำให้สังคมวิบัติได้ ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                                 ลูกศิษย์คิดล้างครู                     ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน

                                 ส่อเสียดเบียดเบียนกัน                              ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

                               (วรรณคดีวิจักษ์ ม.1, 2554, หน้า 89)

             จากการวิจารณ์กาพย์พระไชยสุริยา ตามแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น ทำให้ได้เห็นถึงองค์ประกอบภายนอกต่าง ๆ จากวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต การเมืองการปกครอง สภาพสังคม และระบบการศึกษา ในช่วงสมัยรัชกาลที่3ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังได้เห็นถึงความชื่อในเรื่องต่างๆ ตลอดจนค่านิยมของคนสมัยนั้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่เป็นนามธรรมได้อย่างชัดเจน