วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล

1. บทนำ

เวลาพูดถึงเรื่องการเงิน คนส่วนใหญ่มักนึกว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข เช่น ค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งหลายคนก็คิดว่าเป็นเรื่องของคนที่เรียนมาด้านการเงิน หรือเศรษฐศาสตร์ ที่จริงแล้วการเงินเป็นทักษะของชีวิตอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมโลก คำว่า “ ทักษะ” หมายถึงความชำนาญ ซึ่งเกิดจากการนำไปปฏิบัติบ่อยๆ ซึ่งถ้าคนที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การใช้ทักษะนี้ก็เปรียบเสมือน “ การมีวินัย” ก็ว่าได้ บางคนอาจมองว่าการใช้เงินนั้นแสนง่าย แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าตลอดช่วงชีวิตของคนนั้น เราควรเรียนรู้วิธีของการหาเงิน การใช้เงิน การทำให้เงินงอกเงย และการทำให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และเป็นไปตามอัตภาพของแต่ละบุคคล สถานการณ์เช่นนี้จะช่วยทำให้แต่ละบุคคลเกิดความมั่นคงทางการเงิน ลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ในเชิงสังคม ปัญหาอาชญากรรมซึ่งสาเหตุหลักของการกระทำผิดส่วนใหญ่มีแรงจูงใจมาจากปัญหาทางการเงินก็จะลดลง ในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประชาชนในระดับจุลภาค ก็จะมีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคมีความแข็งแกร่งในระดับรากฐานไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้พื้นฐานด้านการเงิน (financial literacy) ในเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่จะช่วยให้ประชาชนในระดับบุคคล (individual level) มีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชากรของประเทศรู้จักพึ่งตนเองได้ ส่งผลให้ประเทศไทยของเรามีความมั่นคงในที่สุด

2. รู้จัก “การวางแผนการเงินส่วนบุคคล”

2.1 ความหมาย “การวางแผนการเงินส่วนบุคคล”

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล (personal financial planning) หมายถึง การทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินชีวิต (life goals) ของบุคคลโดยผ่านการบริหารและการวางแผนทางการเงิน ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่การวางแผนข้อมูลทางการเงินของบุคคล กำหนดวัตถุประสงค์ ตรวจสอบฐานะการเงินในปัจจุบัน กำหนดกลยุทย์และแผนทางการเงินเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวในอนาคต อาจสรุปได้ว่า การวางแผนการเงินส่วนบุคคลช่วยเชื่อมช่องว่างทางด้านการเงินระหว่าง “เราอยู่ ณ ที่ใดในปัจจุบัน” กับ “เราต้องการไปที่ใดในอนาคต” ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละบุคคล

จากความหมายข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการดำรงชีวิตให้มีความสุขในระยะยาวนั้น คนเราควรมีแผนทางการเงินที่ดี ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เพราะต้องยอมรับว่า มิติของการมองชีวิต มีมิติทางด้านการเงินอยู่ด้วย เช่น ถ้าเป้าหมายของชีวิตคือต้องการเกษียณ และมีเงินใช้ดำรงชีพหลังเกษียณอย่างที่ไม่ทำให้มาตรฐานของตนเองลดลงไปมากนัก ในมิติทางการเงินก็ต้องตอบว่าตามมาตรฐานนั้นคือ ต้องใช้เงินเดือนเดือนละเท่าใด เป็นต้น หรือถ้าเป้าหมายของชีวิตในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องการไปท่องเที่ยวยุโรปกับครอบครัว ในมิติทางการเงินก็ต้องตอบว่าเราจะต้องเก็บเงินให้ได้เท่าใดจึงจะมีพอที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ เวลาพูดถึงมิติทางการเงิน อยากให้เข้าใจก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นคน “หน้าเงิน” หรือ “money concern” แต่ให้มองว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายหลายๆ ประการในชีวิตส่วนใหญ่ต้องมีการเตรียมเงินทองไว้ให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ชีวิตมีความลำบากซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในชีวิตอย่างหนึ่ง การสามารถบรรลุทั้งเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองของชีวิตด้วยแผนทางการเงินแบบนี้ จะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปแบบมีทิศทาง เกิดความมั่นคงในชีวิตทั้งในด้านการเงินและครอบครัวในที่สุด

2.2 อิสรภาพทางการเงิน : เป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ใครๆ ก็ต้องการ

แม้ว่าเป้าหมายในชีวิตของคนเราจะมีอยู่หลายเป้าหมาย แต่เป้าหมายหลักที่แทบทุกคนใฝ่ฝันที่จะบรรลุคือ “การมีอิสรภาพทางการเงิน (financial freedom )” ลองนึกถึงการที่เราไม่ต้องทำงาน แต่ยังมีเงินใช้โดยที่ไม่เดือดร้อน หรือเรายังรักที่จะทำงาน แม้จะยังได้เงินเดือน แต่เราได้พ้นจากสภาพที่ต้องอาศัยเงินเดือน เป็นหลักในการดำรงชีวิต เราอาจนิยามความมีอิสรภาพทางการเงินได้ว่า

“อิสรภาพทางการเงิน หมายถึง การที่คนเรามีหลักประกันทางการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาใครมากจนเกินไปและไม่ต้องหวาดผวากับปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ว่าจะมีไม่พอกับการจับจ่ายใช้สอยเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในอนาคต”

ถ้าประชาชนของเราสามารถก้าวข้ามพ้นสภาพความยากจนและคนจำนวนมากสามารถบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้ คนไทยจำนวนมากก็จะมีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในสังคมไทยไปได้อีกมาก การให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและส่งเสริมให้ประชาชนนำความรู้นี้ไปปฏิบัติอย่างมีวินัย จึงเป็นวาระสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความมั่นคงของประเทศไทยในระยะยาว

2.3 หลักพื้นฐานสำคัญของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลในอีกความหมายหนึ่งมักจะถูกเรียกว่า “การบริหารความมั่งคั่ง (wealth management)” แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า เวลาพูดถึงความมั่งคั่ง จะถูกมองเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าคนจนคนรวยก็ควรได้รับความรู้เรื่องนี้ เพียงแต่คนจนต้องผ่านขั้นตอนบางอย่างโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง ส่วนคนที่มีฐานะอยู่แล้วก็ต้องเรียนรู้หลักของการปกป้องความมั่งคั่ง ต่อยอดความมั่งคั่ง และการกระจายความมั่งคั่งไปยังลูกหลานหรือสังคมต่อไป

2.3.1 ความมั่งคั่ง : เราสร้างขึ้นมาอย่างไร

วิชาการด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล ระบุไว้ว่า ความมั่งคั่ง หมายถึง ขนาดของสินทรัพย์สุทธิของบุคคลซึ่งมาจาก สินทรัพย์รวมของบุคคลหักออกด้วยหนี้สินของบุคคล และ “การบริหารความมั่งคั่งของบุคคล” หมายถึง กระบวนการจัดการให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของสินทรัพย์สุทธิ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินสำหรับตนเอง หรือลูกค้าในระยะเวลาต่างๆ คนที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ คือ คนที่เห็นเคล็ดลับว่า

  • รู้หา (How to earn) รู้วิธีใช้ความสามารถของตน (human assets) ในการหารายได้ การได้เงินเดือนจากการทำงานของเราเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ยิ่งการงานประสบความสำเร็จก็จะมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถที่จะออมมีมากขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานอย่างดีของการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้น ช่องทางของการรู้หาไม่ได้มีเฉพาะการเป็นลูกจ้าง แต่การเลือกนำเงินทุนและแรงงานของเราไปลงทุนเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ก็ทำให้มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ซึ่งเป็นรากฐานของการออมเพื่อความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี
  • รู้เก็บ (How to save) การแบ่งรายได้มาเพื่อออมทันทีเป็นการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อให้ฐานของเงินออมขยายตัวเพิ่ม รองรับการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และเงินออมควรแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์ของการออม ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
  • รู้ใช้ (How to spend) การใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นหลักคิดสำคัญ เพื่อให้รายได้ที่คงเหลือเป็นเงินออมมีเพียงพอที่จะใช้ขยายฐาน สร้างความมั่งคั่งในวันข้างหน้า
  • รู้ขยายดอกผล (How to invest) แนวคิดออมดีกว่าไม่ออม และออมก่อนรวยกว่า ยังไม่พอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ เราจะต้องเรียนรู้ว่าเงินออมของเรามีทางเลือกอะไรบ้างที่จะนำไปขยายผลให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ไม่ใช่ฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว

2.3.2 ก่อนจะรวยต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน

ก่อนที่เราจะมีอิสรภาพทางการเงิน ควรตรวจสอบตนเองก่อนว่าอยู่รอดได้หรือไม่ ซึ่งสามารถดูง่ายๆ ได้จาก อัตราส่วนความอยู่รอด (survival ratio)

วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล

รายจ่าย

ลองคำนวณรายได้และรายจ่ายของเราอย่างคร่าวๆ เป็นรายปีก็ได้ โดยที่รายได้นั้นคำนวณมาจาก รายได้จาก
การทำงาน และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น เงินปันผลจากหุ้น และค่าเช่าบ้านหรือคอนโดให้เช่า เป็นต้น

ตัวอย่าง มาลินี เป็นพนักงานประจำของบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้จากการทำงานหลังหักภาษีต่อปี เท่ากับ 500,000 บาท มีรายได้จากทรัพย์สิน ได้แก่ เงินปันผลจากหุ้นสามัญของบริษัทที่มีความมั่งคั่งและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปีละประมาณ 10,000 บาท (จากเงินลงทุนประมาณ 200,000 บาท) และมีรายได้ค่าเช่าคอนโดอีกปีละประมาณ 100,000 บาท (จากเงินลงทุนประมาณ 1,500,000 บาท) มาลินีมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและอื่นๆ เท่ากับ 360,000 บาทต่อปี

จากตัวอย่างนี้

วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล


ถ้าอัตราส่วนความอยู่รอดนี้มากกว่า 1 ก็แสดงว่า รายได้มากกว่ารายจ่าย หมายถึง เราสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ ถ้าอัตราส่วนต่ำกว่า 1 ก็แสดงว่า แย่แน่ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้ารายได้เราน้อยกว่ารายจ่าย ดังนั้น ยิ่งอัตราส่วนนี้มากกว่า 1 ไปมากเท่าใด เราก็จะปลอดภัยในการอยู่รอดเท่านั้น ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่าความเป็นไทขั้นต้น คือการอยู่รอดได้ด้วยตนเองก่อน

2.3.3 รอดแล้วเมื่อไหร่จะรวย

คนชั้นกลางส่วนใหญ่ ถูกพบว่ามีระดับอัตราส่วนความอยู่รอด เกินกว่า 1 ไปไม่มาก แม้ว่าจะอยู่รอด แต่ก็รวยได้ยาก เพราะเมื่อมีเงินออมซึ่งเหลือจากรายได้หักค่าใช้จ่ายก็รีบร้อนนำไปใช้จ่าย หรือ ใช้เป็นเงินดาวน์ในการก่อหนี้เพื่อบริโภคทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินต้นและดอกเบี้ยตามมาอีก ระดับอัตราส่วนความอยู่รอดจึงไม่ไปไหนไกลเกินกว่า 1

แล้วอย่างนี้มีวิธีไหนที่จะรู้ว่ารวยและมีอิสรภาพทางการเงิน

คำตอบคือ เราสามารถดูได้จาก อัตราส่วนความมั่งคั่ง ( wealth ratio)

วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล

สูตรจะคล้ายๆ กับอัตราส่วนความอยู่รอด เพียงแต่ตัดรายได้จากการทำงานออกไปก่อนและเมื่อไรก็ตามที่อัตราส่วนความมั่งคั่งมากกว่า 1 แสดงว่าแม้ว่าเราจะไม่ทำงาน เราก็มีรายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ สถานการณ์เช่นนี้ นี่เองที่เรียกว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ที่ทุกคนใฝ่หา

รายได้จากทรัพย์สินในที่นี้หมายถึงรายได้ที่มาจากทรัพย์สินต่างๆ ที่เราสะสมไว้ เช่น เงินฝาก หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวนี้บ่งบอกว่า คนที่จะเป็นเศรษฐีได้ต้องมีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ดังนั้น ทรัพย์สินลงทุนต่างๆ จึงเป็นฐานของความมั่งคั่งที่นำไปใช้ต่อยอดความมั่งคั่งให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งอัตราส่วนนี้มากกว่า 1 ไปเท่าใด ระดับความมีอิสรภาพทางการเงินก็สูงมากขึ้นเท่านั้น

การไม่นำรายได้จากการทำงานมาคิด ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐีที่มีอิสรภาพทางการเงินเป็นคนขี้เกียจ ที่จริงเมื่อเรามีอิสรภาพทางการเงิน เราจะยังทำงานอยู่ต่อไปก็ได้ ดีเสียอีก เพราะจะยิ่งทำให้อัตราส่วนความมั่งคั่งเพิ่มสูงมากขึ้น แต่การทำงานของคนที่มีอิสรภาพทางการเงินจะลดความกดดันลงไปมากเพราะไม่ได้คิดว่าทำงานเพื่อความอยู่รอดในทางตรงข้ามจะสามารถสร้างสรรค์การทำงานให้เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มที่

จากอัตราส่วนความมั่งคั่ง จะเห็นได้ว่าเป็นการยากมากที่มนุษย์เงินเดือนจะมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะหลายๆ คนยังพึ่งพิงรายได้จากการทำงานที่เป็นเงินเดือนอย่างมาก และเมื่อไม่นำรายได้ส่วนนี้มาคิดหลายๆ คนจะมีอัตราส่วนความมั่งคั่งที่ต่ำกว่า 1 การเรียนรู้เรื่องการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ ถือว่าเป็นเคล็ดลับสำหรับผู้ต้องการอิสรภาพทางการเงิน

2.3.4 ความมั่งคั่งเขาวัดกันอย่างไร

จากหัวข้อที่แล้ว ถ้าเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน การมีทรัพย์สินมากๆ ก็สามารถเป็นฐานของการสร้างความมั่งคั่งได้ คนที่มีทรัพย์สินมากก็มีโอกาสมีอิสรภาพทางการเงินได้มาก อย่างไรก็ดีต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีภาระหนี้สินด้วยก็จะดี เพราะบางครั้งการได้มาของทรัพย์สินเราบางครั้งก็มีหนี้สินตามมาด้วย เช่น เราซื้อบ้านราคา 4 ล้านบาท โดยใช้เงินตนเองบางส่วน 5 แสนบาท และต้องกู้ธนาคารอีก 3.5 ล้านบาท แสดงว่าทรัพย์สิน 4 ล้านนี้มีภาระหนี้ 3.5 ล้านบาทตามมาด้วย ดังนั้น การจะวัดความมั่งคั่งของบุคคลจึงดูจากมูลค่าทรัพย์สินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งแสดงได้ดังนี้

ความมั่งคั่ง = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

                    = มูลค่าทรัพย์สินรวมของบุคคล – หนี้สินรวมของบุคคล

ยิ่งบุคคลมีทรัพย์สินสุทธิมีมูลค่ามากเท่าใด ก็มีโอกาสจะสร้างความมั่งคั่งได้มากเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า

  • ทรัพย์สินที่มีอยู่มีโอกาสสร้างรายได้ ได้มากน้อยเพียงใด
  • ทรัพย์สินที่เป็นตัวเรา (มนุษย์) สามารถทำงานหารายได้ได้มากน้อยเพียงใด

ปริมาณและคุณภาพของทรัพย์สินของบุคคลจะเป็นเครื่องบ่งบอกโอกาสของการสร้างความมั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงิน

2.3.5 แบบจำลองการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

เมื่อเรารู้ว่าการวัดความมั่งคั่งดูได้จาก ขนาดและมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิ ยิ่งในแต่ละปีเราสามารถเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิได้มากขึ้น ความมั่งคั่งของเราก็จะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการบรรลุอิสรภาพทางการเงินโดยตรง แต่การมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากๆ จะส่งผลดีไปยังโอกาสการสร้างรายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้นได้มากขึ้นจนเมื่อถึงระดับ
ที่เกินกว่าค่าใช้จ่ายของบุคคลไปมากๆ เราจึงจะเรียกว่าอิสรภาพทางการเงิน

ผู้เขียนอยากจะสรุปวงจรหรือแบบจำลองการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนไว้ดังนี้


วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล

แม้ว่าความมั่งคั่งจะถูกมองไปที่การมีทรัพย์สินสุทธิคงเหลือในมูลค่ามาก (6) แต่ก็ต้องเข้าใจต้นตอด้วยว่าการเริ่มต้นจะเกิดจากการใช้ร่างกายของเราทำงาน ซึ่งต้องหาวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการหารายได้ (1) (แต่ก็ต้องให้เกิดความสมดุลกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย) และต้องควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี (2) และต้องสร้างวินัยในการออม (3) ถัดจากนั้นก็ต้องรู้จักการนำเงินออมไปลงทุนในทรัพย์สิน โดยพื้นฐานก็คือ เงินฝาก แต่ถัดจากนั้นก็ต้องเรียนรู้ทรัพย์สินลงทุนประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสที่ทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น (4), (5) ซึ่งจะโยงไปยังการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินสุทธิ (6) ในที่สุด

เศรษฐีส่วนใหญ่จะผ่านพ้นขั้นที่ (1) (2) (3) มาแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นที่ (4) (5) และ (6) ที่จริงถ้าวัดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิใน (6) บุคคลที่เป็นเศรษฐีจะมีมูลค่าของรายการนี้สูงกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ดี เศรษฐีจำนวนมากยังคุ้นเคยกับวิธีสะสมทรัพย์สินลงทุนในรูปแบบเดิม เช่น เงินฝากธนาคาร ซึ่งผลตอบแทนน้อยเมื่อแลกกับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนในทางเลือกอื่น ซึ่งอันนี้ก็ไม่ว่ากัน เพราะเป็นสไตล์ความชอบ แต่ถ้าให้ผู้เขียนวิเคราะห์ก็ต้องบอกว่า วิธีนี้เหมาะสมกับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แต่ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้มาก คุณก็ต้องเรียนรู้การลงทุนในรูปแบบอื่นด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หลักทรัพย์ เป็นต้น และควรกระจายการลงทุนหลายๆ ประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสหาผลตอบแทนให้สูงขึ้น (แต่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ผลตอบแทนด้วย) ทำให้อัตราเร่งหรือระยะเวลาที่จะบรรลุอิสรภาพทางการเงินมีโอกาสจะเป็นจริงได้เร็วขึ้น

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การรู้จักเก็บออม (เช่น การฝากธนาคาร) เป็นสิ่งที่ดี ตรงกับแนวคิดที่เรียกว่า “การสร้างความมั่งคั่ง (wealth creation)” แต่การลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ เป็นเทคนิคของ “การต่อยอดและการสะสมความมั่งคั่ง (wealth accumulation)” ซึ่งต้องต่อด้วยคำว่า “ที่มีความเสี่ยง” เพื่อเตือนใจเราตลอดเวลาในการวางแผนทางการเงิน

3. ทำอย่างไรคนไทยจึงจะมีความมั่งคั่ง

ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าสำคัญมากที่สุดของประเทศไทย แม้ว่าประเทศของเราจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามาได้ถึงขนาดนี้ แต่ความเหลื่อมล้ำจากปัญหาการกระจายรายได้ก็ยังคงมีอยู่มาก ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้นั้นต้องแลกกับการใช้ทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ แรงงาน ที่ดิน ทุน เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังตกแก่คนกลุ่มน้อย ปัญหาดังกล่าวถ้าปล่อยให้เรื้อรังนานไป ทำให้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลเสียหายในทางสังคม และทำให้เกิดความไม่มั่นคงในระดับชาติได้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราไม่ควรมองว่าเป็นหน้าที่เฉพาะของรัฐบาล หรือ หน่วยราชการเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรและทุกคนในประเทศต้องร่วมมือกัน

ในระดับของรัฐบาลใช้มิติการมองแบบมหภาค ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยผ่านการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ แต่ในระดับจุลภาคหรือระดับบุคคลแล้ว ถ้าประชาชนไทยสามารถยกระดับตนเองให้ชีวิตมีความมั่งคั่งได้ในระยะยาว ก็จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ในระยะยาว ซึ่งวิธีสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนเราได้เห็นแบบจำลองไปแล้วในหัวข้อที่ 2 ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นคนไทยส่วนใหญ่พัฒนาตนเองตามแบบจำลองดังกล่าว แม้ว่าในระดับแบบจุลภาคนี้คนไทยควรจะทำด้วยตนเอง แต่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาช่วยกันกำหนดนโยบายและนำไปปฏิบัติในระดับจุลภาคด้วย ในหัวข้อนี้ จะได้นำเสนอแบบจำลองการกำหนดนโยบายในระดับจุลภาคเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีความมั่งคั่งแบบพอเพียงในระยะยาว

แบบจำลองการกำหนดนโยบายระดับจุลภาคเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของคนไทย

วัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล

จากรูปแบบจำลองการกำหนดนโยบายระดับจุลภาคเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของคนไทย ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางในด้านนโยบายได้ 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. สร้างความรู้ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแก่คนไทย

นโยบายประการแรกในระดับจุลภาคก็คือ การสร้างองค์ความรู้ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและส่งเสริมให้มีการกระจายความรู้ดังกล่าวไปอย่างกว้างขวางให้แก่ประชาชน ในปัจจุบันนี้หน่วยงานเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเงิน การออม และการลงทุนให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน นิสิต นักศึกษา ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้หลากหลายรูปแบบทั้ง การอบรม สัมมนา การเรียนรู้ผ่านหนังสือ รวมทั้งเว็บไซต์ www.set.or.th/education แต่ความพยายามดังกล่าวทำได้อย่างจำกัด ขอเสนอแนะว่าหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ควรนำโครงการดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและกระจายความรู้ไปยังทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน โดยหลักการสำคัญก็คือ ต้องทำให้คนไทยเห็นว่าความรู้ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นความรู้ที่สำคัญที่ช่วยให้การดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวมีคุณภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

2. สร้างทักษะทางการเงินส่วนบุคคลแก่คนไทย

การให้ความรู้ไปเฉยๆ จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดถ้าไม่นำ ไปปฏิบัติ “ทักษะ” หมายถึง การปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ ถ้าคนไทยรู้และเข้าใจแล้วก็จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ที่จริงนโยบายในข้อนี้จะสัมพันธ์กับข้อ 1 อย่างแยกไม่ออก เพราะการให้ความรู้ต้องนำเสนอรูปแบบที่นำไปปฏิบัติได้ เช่น การสอนเทคนิค “รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายดอกผล” ด้วยการมีเครื่องมือต่างๆ เช่น สมุดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย โปรแกรมหรือแบบฟอร์มการทำงบการเงินส่วนบุคคล งบประมาณการเงินล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ท่านสามารถ Download ได้ที่เว็บไซต์ www.set.or.th/education

3. สร้างจริยธรรมการเงินส่วนบุคคลแก่คนไทย

เพราะความมั่งคั่งทางการเงินมาพร้อมกับตัวเลขทางบัญชีการเงินที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็น ความโลภจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่ไม่สิ้นสุด สิ่งที่ต้องมีไว้เพื่อควบคุมความต้องการของตนเองก็คือ จริยธรรม เขียนให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ คือ เงินที่หามาได้ หรือเงินที่ทำให้งอกเงยก็จะต้องมาอย่างซื่อสัตย์สุจริต เกิดจากการปฏิบัติตนที่สมฐานะ มีความเป็นไปได้ตามขีดความสามารถของแต่ละคน ซึ่งความสามารถนี้เราหาวิธีเพิ่มขีดให้สูงขึ้นได้ มีสติที่จะรู้ว่าความเสี่ยงที่รับอยู่มีความเกินพอดีหรือไม่ ซึ่งต้องรู้หลักในการบริหารความเสี่ยง และประการสุดท้ายก็คือต้องรู้จักพอตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ปล่อยให้เกิดเป้าหมายทางการเงินมากมายเกินจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการไปเสียทุกเรื่อง

4. สร้างทัศนคติที่ดีในเรื่องการเงินส่วนบุคคลแก่คนไทย

ทุกวันนี้สังคมไทยถูกเรียกว่าเป็นสังคมบริโภคมากกว่าที่จะเรียกว่าสังคมการออม แม้แต่ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในบางครั้งรัฐบาลทำการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระตุ้นผ่านการบริโภค เช่น การแจกเงินให้ประชาชนบริโภคในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้วิธีการเช่นนี้ เราก็ต้องยอมรับกันก่อนว่า สังคมเรามีค่านิยมการบริโภคกันเสียจริงๆ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ประชาชนของเราใช้จ่ายกันอย่างไม่ระมัดระวัง คนไทยได้ชื่อว่าเป็นนักช้อปตัวฉกาจ การใช้จ่ายที่อยู่บนฐานของการมีเงินออมและกำลังซื้อที่สูง จึงจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผล

สังคมที่เน้นการบริโภค หมายถึง สังคมที่ใช้ทรัพยากรที่เน้นการบริโภคตั้งแต่วันนี้ เป็นสังคมที่ขาดการอดทน ไม่มีการใช้ทรัพยากรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทรัพยากรของเราที่มีอยู่อย่างจำกัดก็จะร่อยหรอและเสื่อมโทรมไปในที่สุด กิจกรรมไม่ว่าเป็นการให้ความรู้ ทักษะ จริยธรรมจะต้องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เน้นการบริโภคเช่นทุกวันนี้ไปเป็นทัศนคติที่เน้นการออม การรู้จักคุณค่าของเงิน ด้วยการปลูกฝังผ่านกิจกรรมต่างๆ ไปยังทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกกลายเป็นนิสัยของคนไทยไปแล้ว แต่ถ้าเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยน่าพึงปรารถนาเราก็ควรจะปรับเปลี่ยนมิใช่หรือ

4. บทสรุป : เมื่อประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติก็จะมั่นคง

เมื่อประชาชนในระดับจุลภาคมีความมั่งคั่ง เรื่องนี้จะส่งผลดีต่อความมั่งคั่งและมั่นคงของประเทศในระดับมหภาคอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นภาพรวมไว้ดังนี้

ในเชิงเศรษฐกิจถ้าประชาชนมีความมั่งคั่ง จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่งคั่งตามไปด้วยไม่ว่าจะมองในมุมของรายได้ประชาชาติ (Gross National Products: GNP) หรือการกระจายรายได้ (Income distribution) ซึ่งเป็นปัญหามากในขณะนี้

ในเชิงสังคม การที่ประชาชนมีการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและปฏิบัติได้ผลจนชีวิตมีความมั่งคั่ง สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ โดย “เงิน” ในที่นี้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ (แต่จะต้องกำกับด้วยขีดความสามารถของแต่ละบุคคลและระดับความพอเพียง) สภาพสังคมที่ประชาชนมีความมั่งคั่งดังกล่าวจะตามมาด้วย ความสุข ความสงบ ความเจริญ ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ความอดทน ความดีงามไม่ทำร้ายกัน ลองกลับไปดูปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาสังคมทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีแรงจูงใจจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน การแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ที่ตอนนี้เริ่มมีคนไปขยายผลกลายเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นนั้น การแก้ไขโดยใช้นโยบายแบบมหภาคอย่างเดียวคงไม่เกิดผลแล้ว ควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายด้านจุลภาคเกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลควบคู่ไปด้วย จึงจะเรียกได้ว่าตีโจทย์เรื่องความยากจนได้ถูกจุด

ตีพิมพ์ลงวารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2553

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ

ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วัตถุประสงค์ทางการเงินคืออะไร

วัตถุประสงค์ของการวางแผนการเงิน เพื่อกำหนดทิศทาง และวิธีการในการตัดสินใจทางการเงิน เพื่อทำความเข้าใจว่าเมื่อตัดสินใจเรื่องการเงินด้านใด ก็จะส่งผลกระทบถึงการเงินด้านอื่นๆด้วย เพื่อให้บุคคลสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีความสงบทางใจ

การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมีอะไรบ้าง

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลคือ การบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มา และวางแผนใช้เงินนั้นให้ตรงตาม จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ได้วางอย่างมีประสิทธิภาพชัดเจน การวางแผนทางการเงินประกอบด้วย การวางแผนกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) หรือการวางแผนการออม การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนประกันภัย การวางแผน ...

เป้าหมายของการออมส่วนบุคคล คืออะไร

การออมเป็นการสะสมเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น เมื่อท่านหรือครอบครัว เกิดปัญหาทางการเงิน เช่น ท่านถูกไล่ออก จากงานทำให้ขาดรายได้ หรือประสบกับภาวะเงินเฟ้อทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย หรือท่านอยู่ในช่วงหลังการเกษียณอายุหากท่านมีเงินออมไว้มากพอ ท่านก็จะไม่ประสบกับปัญหาทางการเงินมากนัก จำนวนเงินออมที่เหมาะสมขึ้นกับแต่ละบุคคล และ ...

เงินส่วนบุคคลคืออะไร

รายจ่ายส่วนบุคคล (Personal Expenses) หมายถึง รายจ่ายของบุคคลส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีพรวมทั้งเงินผ่อนบ้านและเงินกู้ ในทางปฏิบัติตามบัญชีจำนวนเงินที่ผ่อนชำระนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ยและจำนวนที่ผ่อนชำระคืนเงินต้นซึ่งจะถือเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น จำนวนเงินส่วนที่ผ่อนชำระจะถือ ...