การคมนาคมในอดีตและปัจจุบัน

การคมนาคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการขนส่งทางเรือได้รับความนิยมยาวนานกว่าร้อยปี กระทั่งสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถนนหนทางเริ่มพัฒนามากขึ้น การขนส่งทางบกที่สะดวกและราคาย่อมเยาเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อโลกเริ่มรู้จักกับรถยนต์ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีรถบรรทุกตามเข้ามาในไทย

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย (Edward Van Roy) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาวจีนในไทยวิเคราะห์ไว้ว่า คนไทยทั่วไปในอดีตมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ การเดินทางจึงต้องอาศัยเรือ ส่วนชาวจีนในสำเพ็ง (ย่านการค้ายุคแรกในสมัยแรกเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์) ตั้งร้านค้าและพักอาศัยบนบกเป็นส่วนมาก เส้นทางที่ใช้ในการสัญจรซึ่งปรากฏขึ้นทั่วไปในสำเพ็งกลับเป็นถนนเส้นเล็กๆ หรือทางเดินขนาดเล็ก

สำหรับบางคนอาจมองว่า ตรอกซอกซอย เป็นทางเดินทั่วไป แต่ในอดีต เส้นทางสัญจรกลุ่มนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ลัดเลาะถึงกัน ตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับการค้า เส้นทางเหล่านี้เสมือนเป็นกระจกสะท้อนแง่มุมหลากหลายมิติทั้งเชิงเศรษฐกิจการค้า สังคม และวัฒนธรรม

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19) จึงเกิดเส้นทางสัญจรตัดผ่านสำเพ็ง และพอจะนิยามว่าเป็น “ถนน” ได้ ซึ่งเอ็ดเวิร์ด แวน รอย มองว่า ถนนเส้นนี้คือถนนสำเพ็งนั่นเอง (ปัจจุบันถูกเรียกว่าซอยวานิช 1)

ถนนและรถลาก-รถราง

หลังเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ผลประการหนึ่งที่ตามมานอกจากเปิดเสรีทางการค้า คือชาวตะวันตกเข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนหลายสาย ถนนเจริญกรุงเริ่มสร้างช่วง พ.ศ. 2405-2407 ในยุคทศวรรษ 2400 ถือเป็นถนนที่กว้างขวางใหญ่โตทีเดียว และยังมองกันว่าเป็นถนนที่ยาวที่สุดของไทยในสมัยนั้น

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย อธิบายไว้ว่า ชาวตะวันตกที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ในช่วง พ.ศ. 2393-2412 นำรถลากด้วยม้าเข้ามาใช้ รถที่ใช้ม้าลากก็มีหลายชนิด

รถลากด้วยม้าได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูงและคนในราชสำนัก เมื่อมีรถลากมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการปรับปรุงถนน ถนนกว้างขึ้น ถนนในเมืองเชื่อมต่อกันมากขึ้น

ปี พ.ศ. 2430 บริษัทรถราง บางกอก จำกัด ก่อร่างขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งได้รับสัมปทาน ลักษณะบริการคือให้ม้าลากรถรางวิ่งไปตามรางเหล็ก เริ่มดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2432

เส้นทางที่รถรางนี้ให้บริการในยุคแรกเริ่มอยู่ระหว่างกำแพงพระนครถึงยานนาวา ระยะทางราว 6 กิโลเมตร ปีต่อมาจึงขยายเส้นทางวิ่งอีก 3 กิโลเมตร ต่อไปถึงบางคอแหลม การคมนาคมตั้งแต่สำเพ็งไปตามถนนเจริญกรุงจึงถือได้ว่ามีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยแล้ว

ปี พ.ศ. 2437 ไทยจึงเริ่มมีรถรางไฟฟ้าวิ่ง โดยเริ่มวิ่งตามถนนเจริญกรุงตามแนวเดิมที่รถรางลากด้วยม้าเคยวิ่ง ในแง่การใช้งาน รถรางถือว่าเหมาะสมกับการจราจรที่หนาแน่นในบริเวณเหล่านั้น สถิติผู้ใช้งานรถรางในช่วงทศวรรษ 2440 มีจำนวนมาก บริษัทที่ให้บริการจึงต้องเพิ่มอีกสายในถนนราชวงศ์

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รถรางตามถนนเจริญกรุงเป็นปัจจัยหนุนต่อการขนส่งเนื้อสัตว์แช่แข็งจากโรงฆ่าสัตว์จากบางคอแหลมมาที่ตลาดสำเพ็ง

ขณะที่เอกสาร “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ยังระบุเพิ่มเติมว่า เดิมทีแล้วมีรถรางแล่นถึงท่าราชวงศ์ด้วย

ทั้งนี้ กิจการรถรางช่วงแรกไม่ได้ราบรื่น กิจการเปลี่ยนมือหลายครั้ง จนผู้คนในพระนครเพิ่มจำนวนมากขึ้น กิจการรถรางถึงเริ่มกระเตื้องขึ้นมา แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ผู้คนมีทางเลือกในการคมนาคมมากขึ้น รถรางจึงซบเซาลง และยกเลิกกิจการไปเมื่อ พ.ศ. 2511

การสร้างถนนเจริญกรุงไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องรูปแบบการคมนาคมเท่านั้น แต่ส่งผลมาถึงวิถีในบริเวณข้างเคียงอย่างสำเพ็งด้วย แน่นอนว่าการก่อสร้างต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจการเดินทางนำชาวจีนเข้ามาในกรุงเทพฯ จึงคึกคัก ตามมาด้วยจำนวนประชากรในสำเพ็งที่เพิ่มมากขึ้น

การสร้างถนนยังทำให้เกิดเส้นทางสัญจรในละแวก ทางเดินจากสวนผักด้านหลังชุมชนสำเพ็งมาบรรจบกับถนนเจริญกรุงทำให้เกิดเส้นทางขนส่งอย่างเต็มตัว ภายหลังสร้างถนนเจริญกรุง ตรอกและซอยต่างๆ ก็เริ่มมีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้น

หลังจากการสร้างถนนเจริญกรุงอีกกว่า 20 ปี ย่านสำเพ็งจึงจะเกิดการพัฒนาโครงสร้าง โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการสำรวจพื้นที่สำหรับตัดถนนใหญ่คือถนนยุวราช (ปัจจุบันคือถนนเยาวราช) เมื่อ พ.ศ. 2434 ถนนสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ถนนเยาวราชส่งผลต่อมาคือที่ดินบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับการพัฒนาด้วย

หลังจากมีถนนเยาวราชได้ไม่นาน การสร้างถนนในแถบสำเพ็งอย่างถนนราชวงศ์ ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ และถนนวรจักร ค่อยๆ ทยอยตามมา ถนนเหล่านี้กลายเป็นแหล่งค้าขายสินค้า และแหล่งความบันเทิงในย่านนั้นไปโดยปริยาย

การตัดถนนในระยะต่อมาเกิดขึ้นจากสาเหตุเรื่องอัคคีภัยและความแออัด จึงปรากฏการสร้างถนนอย่าง ถนนทรงวาด หลังจากเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่สำเพ็งเมื่อ พ.ศ. 2449

การพัฒนาถนน สู่ยุครถยนต์

ภายหลัง พ.ศ. 2449 การคมนาคมทางเรือยังเป็นทางเลือกหลักของการขนส่งอยู่อีกหลายสิบปี แม้ว่าช่วงทศวรรษ 2440 เป็นช่วงที่ไทยเริ่มตื่นตัวกับ “รถยนต์” พาหนะบนบกที่ใช้เครื่องยนต์จากชาวตะวันตก เจ้านายในไทยหลายพระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์กันมากแล้วก็ตาม

เมื่อปรากฏรถยนต์พระที่นั่งในรัชกาลที่ 5 เข้ามา ควบคู่ไปกับการพัฒนาถนนมากขึ้น การคมนาคมขนส่งโดยรถยนต์ย่อมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่กว่าที่รถยนต์สำหรับการขนส่งหรือรถบรรทุกของขนาดใหญ่จะถือกำเนิดและแพร่หลายมาถึงไทยในระดับวงกว้างก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของผู้จัดจำหน่ายรถอีซูซุในประเทศไทยระบุว่า

“บริษัทเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกอีซูซุคันแรกในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2500”

จากข้อมูลข้างต้นนี้จึงพอตั้งสันนิษฐานได้ว่า “รถบรรทุก” น่าจะปรากฏขึ้นในไทยก่อนช่วงทศวรรษ 2500 สักระยะหนึ่ง

หลักฐานประการหนึ่งของความคึกคักทางการค้าและความนิยมของรถบรรทุกสะท้อนผ่านคำบอกเล่าของผู้คนในย่านถนนทรงวาด ซึ่งเป็นย่านการค้าส่ง สินค้านำเข้า-ส่งออกนานาชนิดล้วนมาผ่านจุดนี้ ภาพของรถบรรทุกที่วิ่งกันคับคั่งในย่านนี้ก็เป็นภาพที่คุ้นตาของผู้คนท้องถิ่นเมื่อกว่า 60 ปีก่อน

จากคำบอกเล่าของสมชัย กวางทองพานิชย์ พ่อค้าท้องถิ่นย่านทรงวาดและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ย่านจีนเล่าว่า ราวทศวรรษ 2510-2520 ภาพรถบรรทุก รถสิบล้อซึ่งบรรทุกผลผลิตทางการเกษตรจากภูมิภาคต่างๆ เข้ามาในบริเวณถนนทรงวาดเพื่อขนถ่ายสินค้ามาเก็บในโกดังริมแม่น้ำก็มีภาพเช่นนี้ปรากฏให้เห็นแล้ว

ขณะที่พืชผลการเกษตรที่บรรทุกมาในย่านการค้านำเข้า-ส่งออกแหล่งสำคัญของไทยในอดีตมีหลากหลายชนิด เช่น มะขามเปียก หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริกแห้ง ถั่ว ข้าวโพด สะท้อนภาพความเป็นศูนย์กลางของพืชผลทางการเกษตรจากรถบรรทุกที่นำของมาลงโกดัง ก่อนจะนำออกมาขายต่อไป กิจการเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรบางแห่งยังหลงเหลืออยู่บนถนนทรงวาดจนถึงปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษ 2500 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง เห็นได้จาก “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ฉบับแรกทั้ง 2 ช่วง (พ.ศ. 2504-06 และ 2507-09)

ในช่วงแรกอยู่ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นที่ทราบกันว่าชูนโยบายพัฒนาประเทศทุกด้านและการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของสหรัฐฯ ในยุคผลักดันการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จนเกิดวลี “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” (วีรพงษ์ รามางกูร, 2561)

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” เอ่ยถึงการสร้างและบูรณะทางหลวงแผ่นดินเชื่อมต่อภาคต่างๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น การพัฒนาได้รับความช่วยเหลือเงินกู้จากสหรัฐฯ ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายต้านคอมมิวนิสต์และมองไทยเป็นประเทศสำคัญในยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้

การคมนาคมทางบกซึ่งมีถนนหลายสายมากขึ้น ขนาดถนนขยายมากขึ้น เชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ต่างๆ สะดวกขึ้น และมีพาหนะรถยนต์สำหรับใช้สัญจรและแพร่หลายในภายหลัง ล้วนส่งผลต่อการขนส่งลักษณะเดิมอย่างการขนส่งทางเรือ เห็นได้จากหลักฐานทั้งคำบอกเล่าและในเอกสารที่บันทึกว่า ภายหลังจากถนนตัดหลายสาย บนถนนคับคั่งไปด้วยรถยนต์ อาคารร้านค้าต่างๆ หรือสำนักงานที่เป็นกิจการซึ่งเชื่อมโยงกับการขนส่งทางเรือก็ซบเซาลง บางแห่งเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ส่วนท่าเรือหลายแห่งก็ปิดกิจการหรือปรับเปลี่ยนการบริการไป

อ่านเพิ่มเติม :

  • ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

การคมนาคมในอดีตและปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นโดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้” เป็นเนื้อหาตอนหนึ่งในซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม และสื่อสังคมออนไลน์ในเครือมติชน

อ้างอิง :

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย. “จากผืนน้ำสู่แผ่นดิน จากตรอกเล็กสู่ตรอกใหญ่ : คลอง ถนน ซอย สะพาน และการคมนาคมในสำเพ็ง,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

คณะอนุกรรมการประมวลเอกสาร โครงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

ปอน ประพันธ์. “รถไฟไทย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550.

สัมภาษณ์ สมชัย กวางทองพานิชย์ เมื่อวันที่ 13 และ 16 กันยายน 2564

สุภางค์ จันทวานิช. “การค้าและการขนส่งในย่านสำเพ็ง : จากท่าเรือสำเภา สู่ท่าเรือกลไฟ, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทางรถไฟสายอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5-7,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550.

“ประวัติอีซูซุในประเทศไทย”. อีซูซุ. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2564.

“22 กันยายน 2431 พิธีเปิดรถรางในสยาม, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 22 กันยายน 2561. เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2564.

วีรพงษ์ รามางกูร. “สฤษดิ์น้อย,” ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2561. สืบค้นออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2564.

สมชาย ชัยประดิษฐรักษ์ เรียบเรียง. รถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย. สมุทรปราการ, 2553. อ้างถึงใน เอนก นาวิกมูล. (2564, 12 กันยายน). “สถานีหัวลำโพงแน่หรือ?”. [Status Update]. Facebook. https://www.facebook.com/anake.nawigamune/posts/1914337998727877

การคมนาคมในอดีตมีอะไรบ้าง

ในอดีตรูปแบบการขนส่งนั้นเริ่มจากการใช้ขา ต่อมาก็เริ่มฝึกฝนสัตว์เพื่อใช้โดยสารหรือบรรทุกสิ่งของ ได้แก่ ม้า อูฐ ต่อมาจึงเริ่มพัฒนามาเป็น เกวียนและรถม้าขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณของคนและสิ่งของ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระยะทางในการขนย้ายอีกด้วย

การคมนาคม มีอะไรบ้าง

1. การขนส่งทางบก (Road or Motor Transportation).
2. การขนส่งทางน้ำ (Water Transportation).
3. การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation).
4. การขนส่งระบบคอนเทนเนอร์ (Container System).
5. การขนส่งทางท่อ (Pipeline Transportation) เราจะมาลงรายละเอียดกัน โดยเริ่มจาก.

การขนส่งที่เก่าแก่ที่สุด คืออะไร

- การขนส่งทางน้ำ เป็นการขนส่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก - ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการพัฒนาเรือให้สามารถนำมาใช้หาปลาตามชายฝั่งในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน - ชาวฟินิเชียน ได้ใช้เรือในการเดินทางขนส่งทางน้ำเป็นครั้งแรก

การคมนาคมของไทยมี 3 ทางอะไรบ้าง

2.1.2 ถนน 2.1.3 ทางหลวง 2.1.4 ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ