วิธีการสอน เศรษฐกิจ พอ เพียง

วิธีการสอน เศรษฐกิจ พอ เพียง

Advertisement


เศรษฐกิจพอเพียง กับการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิต    ิต

          " ทฤษฎีใหม่  เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถประกอบอาชีพอย่างได้อย่างพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับประหยัดเป็นอย่างน้อย ทฤษฎีใหม่ประกอบด้วยหลักการและแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งตนเองอย่างมีอิสรภาพ มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เน้นความสามัคคี การมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกัน (ทิศนา  แขมมณี 2540 : 1) โดยดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน " คือ
               ขั้นที่ 1  เป็นการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 คือ แบ่งพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง 30 % เป็นที่สำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้  ส่วนที่ 2 30 % เป็นที่สำหรับทำนาในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงครอบครัว  ส่วนที่สาม 30 % เป็นที่สำหรับปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล พืชผัก พืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหาร และจำหน่าย  หากมีเหลือ ส่วนที่สี่ 10 % เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ
               ขั้นที่ 2  เป็นขั้นการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การที่เกษตรกรรวมพลังกันในรูปของกลุ่ม หรือสหกรณ์ในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่  สวัสดิการ  การศึกษา  สังคมและศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ หรือองค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชน
               ขั้นที่ 3  เป็นขั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีการติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน เพื่อมาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น
          ด้วยพระอัจฉริยภาพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ทฤษฎีใหม่จะเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรมก็ตาม แต่เนื่องด้วยทฤษฎีนี้ได้แฝงไว้ซึ่งแนวคิดที่น่าสนใจอันเป็นแก่นสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทฤษฎีนี้จึงมีศักยภาพที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

   การนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนรู้

          แนวทางการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตดังนี้
          1.  รูปแบบการจัดกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 รูปแบบ คือ
               รูปแบบที่ 1  เป็นรูปแบบสำหรับโรงเรียน หรือบ้านเรือนของนักเรียนที่มีพื้นที่สำหรับการทำนา และการเกษตร มีแหล่งน้ำพอเพียง สามารถจัดกิจกรรมโดยการจัดแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ตามแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามขั้นตอนที่ 1 เต็มรูปแบบ
               รูปแบบที่ 2  เป็นรูปแบบสำหรับโรงเรียน หรือบ้านเรือนของนักเรียนที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ไม่มีพื้นที่ในการทำนา โรงเรียนสามารถจัดแบ่งพื้นที่ให้นักเรียนปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ โรงเรียนอาจมอบหมายให้นักเรียนไปทำกิจกรรมนี้ที่บ้านของนักเรียนได้ด้วย
               รูปแบบที่ 3  เป็นรูปแบบสำหรับโรงเรียนที่มีพื้นที่น้อย โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนทำการเกษตรแบบใช้พื้นที่แคบ เช่น กะลามะพร้าว  กะละมัง  ล้อยางรถยนต์  การปลูกพืชสวนครัวรั้วกินได้ เป็นต้น นอกจากนั้น โรงเรียนยังสามารถส่งเสริมให้นักเรียนประดิษฐ์ชิ้นงานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การสานเสื่อ  การทำเครื่องใช้จากกะลามะพร้าว เป็นต้น
               ในการจัดกิจกรรมทั้ง 3 รูปแบบ สามารถฝึกนิสัยในการประหยัด การลดรายจ่าย การมีผักปลอดสารพิษไว้รับประทาน โรงเรียนควรจัดกิจกรรมช่วยเหลือด้านการตลาด เช่น จัดตลาดนัดจำหน่ายผลผลิตของนักเรียน หรือจัดกิจกรรมสหกรณ์ เป็นต้น
          2.  การนำแนวคิดด้านทักษะในการทำงานเป็นกรอบในการปฏิบัติงาน เช่น การทำงานเป็นการมีนิสัยรักการทำงาน การรู้จักวิเคราะห์งาน  การวางแผนการทำงาน และการรู้จักปรับปรุงงานอยู่เสมอ
          3.  การนำแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ดร.ทิศนา  แขมมณี (2546 : 2 - 7) ได้วิเคราะห์แนวคิดทฤษฎีใหม่พบว่า ทฤษฎีใหม่นี้มีศักยภาพที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีหลักสำคัญอยู่หลายประการดังนี้
               1.  รู้จักพึ่งพาตนเอง
               2.  ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีอิสรภาพ
               3.  มีความสามารถในการบริหารจัดการ รู้จักคิด รู้จักระบบ
               4.  ความขยัน อดทน ไม่ท้อถอย
               5.  มีความสามัคคี มีการแสวงหาความร่วมมือ และให้ความร่วมมือ มีการรวมกลุ่มและมีความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มคณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย
               6.  มีการศึกษาหาข้อมูล ข้อความรู้ และนำมาใช้ในการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
               7.  รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน
               8.  รู้จักพัฒนาตนเองขึ้นตามลำดับ
               9.  สามารถนำความรู้ หลักการ แนวคิด หรือทฤษฎีต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
          แนวทางที่นำเสนอนี้เป็นส่วนน้อยที่พอจะเป็นแนวทาง เป็นตัวอย่าง หากได้นำไปปฏิบัติแล้วจะทำให้ทุกคนมีการดำรงชีวิตในสังคมอย่างเรียบง่าย พอมี พอกิน และช่วยเหลือตนเอง เป็นหลักการของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

ที่มาของบทความ
          ประทีป  แสงเปี่ยมสุข.  "เศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิต"  การศึกษาไทย.  ปีที่ 4  ฉบับที่ 28  มกราคม 2550  หน้า 43 - 45.