การประกาศอิสรภาพของพระนเรศวร

วันสมเด็จพระนเรศวรมีหลายวัน! ๒๕ เมษาวันสวรรคต ๑๔ เมษาประกาศอิสรภาพ ๑๘ มกราวันยุทธหัตถี !!

เผยแพร่: 23 เม.ย. 2564 09:44   ปรับปรุง: 23 เม.ย. 2564 09:44   โดย: โรม บุนนาค


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรบุรุษของชาติที่ถูกกล่าวขานอยู่ในประวัติศาสตร์ถึงวีรกรรมของพระองค์มากที่สุดก็ว่าได้ ทรงกู้อิสรภาพให้ชาติไทยในขณะที่ตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าได้อย่างมหัศจรรย์ ในขณะนั้นกองทัพไทยอยู่ในสภาพอ่อนแอ เพราะถูกพม่ายึดอาวุธและกวาดต้อนผู้คนไปทั้งหมด เหลือข้าราชการให้อยู่รักษาเมืองแค่ ๓,๐๐๐ คน ที่สำคัญทั้งทหารและประชาชนต่างหวาดกลัวความอำมหิตของพม่า ทั้งพระองค์เองก็ตกไปเป็นตัวประกัน

เมื่อพระองค์หนีจากพม่ากลับมาแผ่นดินเกิด ความกล้าหาญและอัจฉริยภาพในความเป็นผู้นำของพระองค์ก็ปรากฏ ทรงปลุกเร้าให้ความหวาดกลัวนั้นกลับเป็นความฮึกเหิม ทรงตัดสินพระทัยประกาศอิสรภาพในขณะที่กำลังกองทัพไม่อาจเทียบกับพม่าได้ แต่ด้วยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพระองค์ ก็ทรงรวมกำลังใจของเหล่าทหารให้ต่อต้านกองทัพพม่าที่ยกมาปราบปรามจนแตกพ่ายยับเยินไป ขยายพระราชอาณาจักรไทยออกไปกว้างใหญ่ไพศาล เกียรติคุณของพระองค์ร่ำลือไกล ไม่แต่เพียงประเทศใกล้เคียงเท่านั้น พ่อค้าวาณิชตั้งแต่ยุโรปและเปอร์เซียต่างก็มุ่งสำเภาเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยาที่พลิกพื้นขึ้นสู่ความมั่นคงในรัชสมัยของพระองค์ จนเป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองและสงบสุขร่มเย็น ไม่มีอริราชศัตรูเข้ามารุกรานเป็นเวลาถึง ๑๐๐ ปีเศษ

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเตือนใจให้รำรึกถึงความเป็นมาของชาติไทยในอดีต ทุกวันนี้ก็ยังมีวันสำคัญเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่หลายวัน

ในปี พ.ศ.๒๑๔๘ สมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพใหญ่จากเชียงใหม่จะไปตีกรุงอังวะ เมื่อออกจากเชียงใหม่แล้วสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ได้แยกเดินทัพไปทางเมืองฝาง ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงทุ่งดอนแก้ว เมืองหาง แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรเป็นฝีขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นพิษ จึงโปรดให้ไปเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถมาโดยเร็ว ครั้นพระอนุชามาถึงได้ ๓ วันก็เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๑๔๘ ขณะพระชนมพรรษาได้ ๕๐ ปี ครองราชย์มาได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถได้อัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี เป็น “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี ให้มีการวางพวงมาลาพานพุ่มสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์หลายแห่งทั่วประเทศ

ส่วนวันที่ ๑๔ มกราคม ก็เป็นวันรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรที่สำคัญอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้ในปี ๒๑๒๖ พระเจ้าอังวะเป็นกบฏต่อพม่า พระเจ้านันทบุเรงจึงรวมพลไปปราบ และเกรงว่ากรุงศรีอยุธยาจะไปร่วมกับอังวะด้วย จึงขอให้ส่งกองทัพไปร่วม ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงส่งสมเด็จพระนเรศวรไปแทน พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรต่อไปจะเป็นภัยต่อหงสาวดี จึงรับสั่งให้ ๒ พระยามอญ คือพระยาเกียรติและพระยารามมาดักรอที่เมืองแครง และเดินทัพร่วมไปกับสมเด็จพระนเรศวร เมื่อได้โอกาสก็ให้หาทางกำจัดเสียกลางทาง ๒ พระยามอญเป็นศิษย์ของมหาเถรคันฉ่อง ได้นำความลับนี้ไปบอกพระอาจารย์ พระมหาเถรคันฉ่องนั้นมีความรักและเมตตาต่อสมเด็จพระนเรศวรมาก ทรงแวะมานมัสการทุกครั้งเมื่อผ่านมาทางเมืองแครง จึงทูนให้ทรงทราบเรื่องนี้

สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีคคิดร้ายต่อพระองค์ถึงเพียงนี้ จะเป็นไมตรีต่อกันไปไม่ได้แล้ว ถึงไม่พร้อมก็ต้องทำ จึงรับสั่งประชุมแม่ทัพนายกองพร้อมด้วย ๒ พระยามอญและกรมการเมืองแครง แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องมาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งหลายได้ทราบ แล้วทรงหลั่งน้ำด้วยพระเต้าทองคำสู่แผ่นดิน ประกาศต่อเทพยดาฟ้าดินว่า

  “ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป”

จากนั้นก็ทรงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม และชาวเมืองแครงที่ขมขื่นต่อการปกครองของพม่า ขอสวามิภักดิ์ติดตามมาด้วย

วันนี้จึงวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาติไทย แต่เนื่องจากวันนี้ยังมีความสับสน พงศาวดารกล่าวแต่ว่า เมื่อเดือน ๖ ปีวอก พ.ศ.๒๑๒๗ บางท่านก็ระบุว่าเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน เลยไม่มีรัฐพิธีในวันนี้

ส่วนวันที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชานั้นก็สับสนเช่นกัน ในปี ๒๔๙๔ สภากลาโหมเห็นว่า ควรเลือกวันที่มีความสำคัญเป็นเกียรติประวัติศาสตร์ของชาติเป็นวันกองทัพบก และกำหนดให้วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง เป็นวันที่ระลึกสำหรับกองทัพไทยและกองทัพบก โดยถือว่าการกระทำยุทธหัตถีครั้งนี้ เป็นชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนำมาซึ่งเอกราชของประเทศ และได้รับการยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งทวีปเอเซียและยุโรป จึงเป็นวันที่คนไทยพึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังจะทำให้เกิดความรักชาติ

แต่ก็เกิดการตีความกันว่า วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง เป็นวันที่เท่าไหร่กันแน่
ใน พ.ศ.๒๔๙๔ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้เป็นวันที่ ๒๕ มกราคม

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้วันที่ ๒๕ เมษายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันที่ ๑๘ มกราคม เป็นวันยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไป ดังนั้นเพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมในการกำหนดวันที่ระลึกกองทัพไทยและกองทัพบก รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก จึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยและวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันที่ ๑๘ มกราคม โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา

วันที่ ๑๘ มกราคมจึงถือว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา และถือว่าเป็น “วันกองทัพไทย” และ “กองทัพบก”

ประวัติศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนเราเกิดเป็นร้อยๆปี บรรพบุรุษของเรายุคนั้นก็ไม่มีความนิยมที่จะจดบันทึกเหตุการณ์ไว้ มาสอบหากันภายหลังก็อาจคลาดเคลื่อน เมื่อเราได้หลักฐานก็ลงความเห็นกันตามหลักฐาน หากได้หลักฐานใหม่ว่าหลักฐานเก่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเชื่อหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อถือกว่า เช่นแต่ก่อนเราเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีหลักฐานทางวิชาการว่า เมืองอู่ทองเป็นเมืองร้างก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยามาถึง ๓๐๐ แล้ว เราจึงค้นคว้าหลักฐานกันใหม่ เพราะสมัยนี้เราเชื่อกันด้วยหลักฐาน ไม่ใช่ให้ใครยกเมฆมากรอกหูกันได้

การประกาศอิสรภาพของพระนเรศวร

สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศเอกราช ณ ที่ใด

- พุทธศักราช ๒๑๒๗ พระชนมายุ ๒๙ พรรษา ทรงประกาศอิสรภาพของไทย เมืองแครง พระเจ้ากรุงหงสาวดีให้สุระกำมายกกองทัพตามมาไล่จับสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ถูกสุระกำมา แม่ทัพพม่าตายและทรงได้รับมอบอำนาจให้บัญชาการบ้านเมืองสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว สงครามไทยกับพม่า พระยาพะสิมยกกำลัง ๑๓๐,๐๐๐ คน มาทางเมืองสุพรรณบุรี ...

ผู้ที่ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงคือใคร *

เมืองแครง เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่เฉพาะในพงศาวดารไทยว่า เป็นเมืองของชาวมอญที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศเอกราชจากอาณาจักรตองอูเมื่อ พ.ศ. 2127 จากการค้นคว้าข้อมูลเพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้สันนิษฐานว่า เมืองแครงน่าจะตั้งอยู่ที่เมืองวอใน ...

พระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อพม่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระกฤดาภินิหาร ในความเป็นนักรบที่กล้าหาญซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญในวีรกรรมที่ได้ทรงประกาศอิสรภาพ ทำให้เมืองไทยพ้นจากอำนาจของพม่า และเมื่อพม่ายกกองทัพมาเหยียบย่ำพื้นแผ่นดินไทยให้ตกอยู่ในอำนาจ กองทัพพม่าครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก มีพระมหาอุปราชาเป็นจอมทัพ ยกตีเข้ามาถึงเมือง ...