หลักสูตรผู้บริหารระดับต้น

หลักสูตรผู้บริหารระดับต้น

โครงการฝึกอบรม

หลักสูตร “ผู้บริหารงานยุติธรรมระดับต้น (บธต.)” รุ่นที่ ๒๘

-------------------------------------------

๑. หลักการและเหตุผล

การพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความทันสมัย ก้าวสู่สากล มีคุณธรรมจริยธรรม และมีขีดความสามารถในการก้าวสู่การแข่งขันในทุกระดับ ประกอบกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมโดยเท่าเทียมและทั่วถึง การพัฒนาผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมในระดับต่างๆ ในฐานะผู้นำภาครัฐจึงเป็นกลไกหลัก ที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การพัฒนาผู้บริหารฯ ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพเหมาะสมต่อไป อีกทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อประชาชนมีความคาดหวังต่อบทบาทเจ้าหน้าที่ภาครัฐในอัตราที่สูง จึงเป็นเหตุให้การพัฒนานักบริหารของกระทรวงยุติธรรม จำเป็นต้องเน้นบทบาทของผู้บริหารงานยุติธรรม ในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ สร้างหรือนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างจริงจัง และมีขีดความสามารถในการนำประเทศให้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันระดับสากล ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในด้านการบริหารอย่างถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงานต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงว่าประชาชนจะได้รับอะไรจากบริการของรัฐ

สถาบันพัฒนาบุคลากรกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงเห็นสมควรจัดฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้บริหารงานยุติธรรมระดับต้น (บธต.)” รุ่นที่ 28 เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรมในระดับต้น ให้เป็นผู้นำที่เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนาและนักวางแผนที่มีความเชี่ยวชาญ
นักปฏิบัติที่สามารถแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและนักยุติธรรมที่มี
ความเข้าใจในระบบงานและกระบวนการยุติธรรม โดยเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาคือการได้นักบริหารระดับต้น
ที่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และกระทรวงยุติธรรมไปสู่เป้าหมายอันจะนำไปสู่ประโยชน์สุข
ของประชาชนด้วยแนวคิดที่ว่า "ยุติธรรมถ้วนหน้า ประชามีส่วนร่วม”

สมัครเข้าร่วมฝึกอบรม: นักบริหารระดับสูง (นบส.1)

รายละเอียดโครงการ: ดาวน์โหลด

โครงสร้างหลักสูตร แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การปฐมนิเทศ

             เป็นการฝึกอบรมแบบอยู่ประจำ และไป – กลับ ประกอบด้วยกิจกรรมการชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร การประเมินบุคลิกภาพเพื่อการพัฒนา (MBTI) การพัฒนากระบวนการคิดของนักบริหาร การวางแผนการจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม การฝึกปฏิบัติการวางแผนการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาภาวะผู้นำและเครือข่ายผู้บริหาร

ช่วงที่ 2 การฝึกอบรม 4 หมวดวิชา

             เป็นการฝึกอบรมแบบอยู่ประจำและไป - กลับ เน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในสมรรถนะนักบริหาร ทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันหรือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เนื้อหาประกอบด้วย

  • หมวดวิชาที่ 1 ภาวะผู้นำและการบริหารราชการ กับบริบทการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (Management and Leadership in the 21st Century)

                     วัตถุประสงค์ของหมวดวิชา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นความสำคัญและเข้าใจในเรื่องของภาวะผู้นำและบทบาทหน้าที่ของนักบริหารในการบริหารราชการ โดยสามารถประยุกต์ความรู้ ทักษะ และภาวะผู้นำดังกล่าวให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในบริบทภาครัฐในมิติต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

  • หมวดวิชาที่ 2 บทบาทหน้าที่ของนักบริหารระดับสูง ด้านการบริหารทิศทาง นโยบาย และการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Visioning, Managing Direction and Change)

                               วัตถุประสงค์ของหมวดวิชา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ สมรรถนะ ด้านการสร้างวิสัยทัศน์ การกำหนดทิศทางการบริหารราชการ การสร้างธรรมาภิบาล การสร้างการเปลี่ยนแปลง การสร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการและประเมินผลการเปลี่ยนแปลง ในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการจัดบริการสาธารณะ ตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

  • หมวดวิชาที่ 3 บทบาทหน้าที่ของนักบริหารระดับสูง ด้านการบริหารผลงานกับการบริหารจัดการด้านทรัพยากร และเทคโนโลยี (Managing Results, Resources, and Technology)

                               วัตถุประสงค์ของหมวดวิชา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้พัฒนาภาวะผู้นำและความสามารถในการบริหารราชการ ด้านการจัดสรรและบริหารทรัพยากร วิทยาการ และเทคโนโลยี เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเน้นในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน การบริหารจัดการทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การจัดการทรัพยากรทางกายภาพและวิทยาการ การบริหารจัดการข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ การบริหารแผนงานและโครงการ การสื่อสารแผนงานและโครงการ และการบริหารผลงาน คุณภาพและบริการ

  • หมวดวิชาที่ 4 บทบาทหน้าที่ของนักบริหารระดับสูง ด้านการบริหารตน และการบริหารคน (Managing Self and Others)

                               วัตถุประสงค์ของหมวดวิชา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้พัฒนาความสามารถ ในการบริหารตน (Managing Self) และมีภาวะผู้นำในการทำงานกับผู้อื่น (Working with People) ได้อย่างสมดุล

ช่วงที่ 3 การศึกษาดูงานในประเทศ และต่างประเทศ

ช่วงที่ 4 ปัจฉิมนิเทศ

หลักเกณฑ์การสำเร็จการฝึกอบรม

               1) ระยะเวลาการฝึกอบรม

                      ช่วงที่ 1 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้ารับการฝึกอบรมครบ ๑๐๐% หากเข้ารับการอบรมในส่วนนี้ไม่ครบ 100% จะไม่สามารถเข้ารับการอบรมในช่วงต่อไปได้

                      ช่วงที่ 2 – 4 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 80%

                2) ผลการศึกษา

                      ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องจัดทำรายงานการศึกษาส่วนบุคคล (Individual Study) รายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project) และรายงานการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารวิชาการของหลักสูตร

                3) การประพฤติปฏิบัติตน

                   เป็นผู้มีความประพฤติเหมาะสมตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม หมายถึง การปฏิบัติตนระหว่างการอบรมที่แสดงถึงความตั้งใจในการเข้าเรียน ความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ การอุทิศตน ความร่วมแรงร่วมใจ ภาวะผู้นำ และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียหรือเป็นความเสียหายต่อราชการ