เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ” ข้อความนี้หมายถึงข้อใด

ผู้แต่ง  : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลักษณะคำประพันธ์ : ร้อยแก้วที่มาของเรื่อง  : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.2428 เพื่อพระราชทานแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์ เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศครั้งทรงพระเยาว์ คือ
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์)กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม)  และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)   เมื่อคราวที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ จึงทรงพระราชทานข้อคิด คำแนะนำสั่งสอนให้พระราชโอรสประพฤติปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ดังนี้
              ๑. การไปเรียนในครั้งนี้ให้ตั้งใจไปเพื่อศึกษาวิชาความรู้อย่างเดียว ไม่ควรไปเปิดเผยหรืเผยแพร่เกียรติยศชื่อเสียง ไม่ควรประกาศตนว่าเป็นเจ้า เพราะการไว้ยศนั้นทำให้วางตนลำบาก จะต้องรักษายศศักดิ์ จึงควรประพฤติตนเยี่ยงสามัญชนทั่วไป
              ๒. เงินที่ใช้สอยในการศึกษาเล่าเรียน เป็นเงินพระคลังข้างที่ ทั้งนี้เพราะว่าพระองค์มีพระราชโอรสมาก จึงทรงเห็นว่าการใช้เงินแผ่นดินในการส่งพระราชโอรสไปศึกษาเล่าเรียนจึงทำให้พ้นจากคำครหาทั้งปวงได้
               ๓. ขอให้ตระหนักว่า ถึงจะเกิดมาเป็นลูกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็มิใช่ว่าจะฝักใฝ่แต่ความสบายอย่าง จึงขอให้มีความอุตสาหะใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียน
               ๔. อย่าคิดว่าตนเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจยิ่งใหญ่ จะมาทำเกะกะระรานไม่เกรงกลัวผู้ใดไม่ได้ พระองค์ทรงปรารถนาให้พระราชโอรสมีความอ่อนน้อม ว่านอนสอนง่าย ให้ประพฤติให้ดีอยู่เสมอ ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษทันที
                ๕. เงินทองที่ใช้สอย ขอให้จงประหยัดเขม็ดแขม่ อย่าทำใจโตใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ถ้าใครเป็นหนี้กลับมา พระองค์จะไม่ยอมใช้ให้ หากจะใช้ให้ก็จะต้องได้รับการลงโทษเป็นประกันมั่นใจก่อนว่าจะไม่กลับไปทำอีก
                ๖. วิชาที่ออกไปศึกษาเล่าเรียน ต้องเรียนภาษาให้ได้สองในสาม จากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมภาษาไทย
                ๗. การเล่าเรียนทั้งปวงของพระราชโอรส พระองค์ได้ทรงมอบธุระสิทธิ์ขาดให้แก่ กรมหมื่นเทวะวงษ์โรปการ และมีราชทูตเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาอันใดให้สอบถามได้คุณค่าด้านวรรณศิลป์
          - ใช้เทศนาโวหารด้วยสำนวนภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา เช่น   “ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูก บรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จง ประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้”
    ...การซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียง...
          - จะทรงโน้มน้าวใจโดยทรงชี้ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบกัน เช่น         “ถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวงที่จะทำทุกอย่าง เป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะพอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็แพลกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเป็นเจ้าก็ดีเป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้ แต่ถ้าเป็นลูกผู้มีตระกูลก็จะเข้าที่ประชุมสูงๆได้เท่ากันกับเป็นเจ้านั่นเอง”
         - การเปรียบเทียบความประพฤติของคนที่อยู่นิ่งๆโดยไม่ทำการสิ่งใด เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ มีมานะที่จะหมั่นศึกษาหาความรู้ เช่น     “ถ้าจะถือว้าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิตก็สบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก”
         - การใช้ภาพพจน์ เปรียบเทียบให้เกิดจินตนภาพ เช่น    “ชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว  ความชั่วนั้นควรปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด”คุณค่าด้านสังคม
         - สะท้อนให้เห็นว่าสมัยแต่เดิมนั้นบุตรของท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะหาช่องทางรับ   ราชการยากเพราะเป็นผู้มีวาสนาก็จะต้องแต่งตั้งให้รับตำแหน่งใหญ่โตสมฐานะ แต่ถึงตำแหน่งจะใหญ่โตความรู้ความสามารถก็ยังต้องถึงด้วย ดังคำสอนในพระบรมราโชวาทว่า
            “เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง”
         - สมัยก่อนการให้ความรู้นั้นถือว่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะเป็นของติดตัวไม่เสื่อมสูญ ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท
            “การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน”
        - สะท้อนให้เห็นว่าฝรั่งแต่ก่อนนั้นมั่งมี มีเงินใช้เยอะๆนั้นมาจากการได้ดอกเบี้ย สมัยก่อนนั้นจึงสอนบุตรไม่ให้อวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมผู้ดีฝรั่ง ให้ใช้เงินอย่างประหยัด มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควร ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท
            “ตั้งใจอยู่เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควรดัง ไม่มั้งมีเหมือนผู้ดีฝรั่งที่เขาสืบตระกูลกันมาได้ด้วยดอกเบี้ย อย่าอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียบเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด”
        -  สะท้อนให้เห็นว่าวิชาความรู้ในสมัยก่อนนั้นยังไม่รุ่งเรือง เหมือนสมัยนี้ มาจากการที่ไม่ได้คบค้าสมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังที่ตรัสไว้ในพระบรมราโชวาทว่า
            “จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่ามีน้อย เนื่องจากมิได้สมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียนจึงต้องไปเรียนภาษาอื่น แล้วเอากลับลงมาใช้เป็นภาไทยทั้งสิ้นการนำไปใช้
        ๑. การไปศึกษาที่ใดไม่ให้อวดอ้างหรือไว้ยศว่าเป็นเจ้าเพราะจะได้ไม่ต้องใช้เงินฟุ่มเฟือยในการรักษายศถาบรรดาศักดิ์ โดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
        ๒.ให้นึกไว้ว่าทุนทรัพย์ที่ได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวไม่เสื่อมสูญ จึงให้มีความอุตสาหะพากเพียรเรียนหนังสือให้เต็มที่ เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำคุณให้แก่บ้านเมือง
        ๓.รู้จักเป็นคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงละเว้นที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัวหรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด
        ๔.ให้รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และรู้จักคุณค่าของเงิน อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่าย จงนึกไว้ให้เสมอว่าเงินทองที่แลเห็นมากๆนั้น ไม่ได้เป็นของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไป
        ๕. ไม่ให้ใช้เกียรติยศชื่อเสียงเป็นช่องทางในการทำมาหากิน ถ้าจะเป็นผู้ที่ได้ทำราชการ
       มีชื่อเสียงดี   ก็ต้องอาศัยแต่สติปัญญาความรู้ ไม่ใช่ยศถาบรรดาศักดิ์
        ๖. ไม่ให้ถือตัวว่าเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่แล้วทำเกะกะระรานคุมเหมไม่เกรงกลัวผู้ใด เพราะ
       จะเป็นโทษแก่ตัวเองเมื่อหมดอำนาจวาสนาแล้ว
        ๗.ไม่ให้ก่อหนี้ยืมสิ้น เพราะจะให้โทษแก่ตัวเองเมื่อถึงเวลาใช้หนี้ก็ต้องหาเงินมาใช้ให้ทัน
        ๘. ไม่ให้คิดว่าเป็นเจ้านายมั่งมีแล้วอยู่นิ่งๆ ไม่ทำประโยชน์อันใด เพราะจะไม่ผิดอันใด
      กับสัตว์ดิรัจฉานเพราะสัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง
       แต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์ จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกอีก
       ๙.ให้เข้าใจว่าการออกไปศึกษาในประเทศยุโรปนั้น ใช่ว่าจะต้องนำเอามาใช้แต่เฉพาะ
       ภาษาฝรั่งอย่างเดียว  ภาษาไทยและหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของเราเอง
       คงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ คือ สามารถกลับมาแปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้
       จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์
        ๑๐. เมื่อไปอยู่โรงเรียนแห่งใดให้ประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างที่เขาตั้งไว้
       อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ


ข้อคิดที่ได้รับ
          ๑.คนเราควรอุตสาหะเล่าเรียนด้วยความเพียร เพื่อนำ ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
          ๒.ให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย อย่ามีทิฐิมานะในทางที่ผิด
          ๓.รู้จั้กใช้เงินอย่างคุ้มค่าโดยเฉพาะ
          ๔.ต้องศึกษาเล่าเรียนด้วยวิริยะอุตสาหะ
          ๕.ควรรักภาษาไทย เพราะภาษาไทยแสดงถึงความเป็นชาติและเอกราชของไทย

วิดีโอ YouTube

แบบทดสอบพระบรมราโชวาท

๑.ข้อใดใช้คำไทยแท้ทั้งหมด

ก.  อย่าได้ถือตัวว่าตัวเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมืองถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงคุมเหงผู้ใด

ข.  ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน  จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรียนวิชาให้กว้างขวางออก

ค.  ผู้ใดเป็นผู้จัดการจะได้ทำหนังสือมอบให้อีกฉบับหนึ่ง สำหรับที่จะได้ไปทวงเอาในเวลาต้องการได้

ง.  อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่ายโดยถือว่าตัวเป็นเจ้านายมั่งมีมากหรือถือว่าพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินมีเงินทองถมไป

 
๒.ข้อใดอ่านเว้นวรรคตอนได้ถูกต้อง

ก.  การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ / มีความประสงค์มุ่งหมาย / แต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว /

ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชา

อยู่นี้เลย

ข.  เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้ / อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า / ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูล

ในกรุงสยาม / คืออย่าให้ใช้ฮีสรอแยลไฮเนสปรินซ์นำหน้าชื่อ

ค.  ให้ใช้แต่ชื่อเดิมของตัวเฉย ๆ เมื่อผู้อื่นเขาจะเติมหน้าชื่อ / หรือจะเติมท้ายชื่อตามธรรมเนียมอังกฤษ

เป็นมิสเตอร์หรือเอสไควร์ก็ตามทีเถิด / อย่าคัดค้านเขาเลย

ง.  แต่ไม่ต้องใช้คำว่านายตามอย่างไทยซึ่งเป็นลูกขุนนาง / ที่เคยใช้แทนมิสเตอร์ 

เมื่อเรียกชื่อไทยในภาษาอังกฤษบ่อย ๆ / เพราะว่าเป็นภาษาไทยซึ่งจะทำให้

เป็นที่ฟังขัด ๆ หูไป

อ่านข้อความต่อไปนี้ แล้วตอบคำถามข้อ ๓-๕

    จงรู้สึกตัวเป็นนิจเถิดว่า  เกิดมาเป็นเจ้านายมียศบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่  แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยที่ผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น  จะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งแต่ก่อน  เจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ยากกว่าลูกขุนนางเพราะเหตุที่เป็นผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์มาก  จะรับราชการในตำแหน่งต่ำ ๆ ซึ่งเป็นกระไดขั้นแรก  คือเป็นนายรองหุ้มแพรมหาดเล็ก  เป็นต้น  ก็ไม่ได้เสียแล้ว  จะไปแต่งตั้งให้ว่าการใหญ่โตสมแก่ยศศักดิ์  เมื่อไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดี ก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง  เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตัว  และโลกที่ตัวได้มาเกิด  ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่ง ๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบายดังนั้น  จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก  สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากิน ๆ นอน ๆ แล้วก็ตาย  แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก  เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมาเป็นมา

  ๓. ประโยคใจความสำคัญอยู่ส่วนใดของย่อหน้า

ก.  ตอนต้นของย่อหน้า

ข.  ตอนท้ายของย่อหน้า

ค.  ตอนกลางของย่อหน้า

ง.  ตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า

๔.ข้อใดไม่ใช่วิธีการที่ผู้เขียนใช้ขยายใจความสำคัญ

ก.  ให้คำจำกัดความ

ข.  ให้รายละเอียด

ค.  เปรียบเทียบ

ง.  ให้เหตุผล

๕.ผู้เขียนใช้โวหารประเภทใดมากที่สุด

ก.  บรรยายและพรรณนา

ข.  พรรณนาและเทศนา

ค.  เทศนาและสาธก

ง.  เทศนาและอุปมา

๖. “การซึ่งให้โอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่น ๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ”

ใจความข้างต้นตรงกับโคลงบทใดมากที่สุด

ก.  แม้นมีความรู้ดั่ง         สัพพัญญู

ผิบ่มีคนชู                         ห่อนขึ้น

หัวแหวนค่าเมืองตรู         ตาโลก

ทองบ่รองรับพื้น                 ห่อนแก้วมีศรี

ข.  ความเพียรเป็นอริแล้วเป็นมิตร

คร้านเกียจเป็นเพื่อนสนิทร่วมไร้

วิชาเฉกยาติด                 ขมขื่น

ประมาทเหมือนดับไต้         ชั่วร้ายฤๅเห็น

ค.  ความรู้ดูยิ่งล้ำ         สินทรัพย์

คิดค่าควรเมืองนับ         ยิ่งไซร้

เพราะเหตุจักอยู่กับ         กายอาต-มานา

โจรจักเบียนบ่ได้                 เร่งรู้เรียนเอา

ง.  ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น         นักเรียน

ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร         ผ่ายหน้า

คนเกียจเกลียดหน่ายเวียนวนจิต

กลอุทกในตระกร้า         เปี่ยมล้นฤๅมี

๗.“ภาษาไทยและหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของตัว หนังสือของตัว คงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทย

ที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่า ๆ มีน้อย  เพราะมิได้สมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน...”   ผู้ใดสามารถนำข้อคิดจากพระบรมราโชวาทนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ตรงกับจุดประสงค์ของผู้เขียนมากที่สุด

ก.  นิดเรียนภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และภาษาญี่ปุ่น ได้คะแนนสูงสุดในชั้นเรียน

ข.  น้องพูดได้หลายภาษา  เธอเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกและเขียนหนังสือท่องเที่ยว 

ค.  นุชเรียนจบด้านอักษรศาสตร์ และเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับคนต่างชาติ

ง.  น้อยนำความรู้ทางภาษามาแปลตำราและวรรณกรรมต่างประเทศเป็นภาษาไทย

๘.“เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้ อย่าให้ไว้ยศเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม” 

ข้อใดไม่ใช่สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเช่นนั้น

ก.  เพราะเจ้านายฝ่ายเขามีน้อยฝ่ายเรามีมาก  ยศศักดิ์จึงไม่เต็มที่เท่าเขา

ข.  เพราะจะทำให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป  และถูกจับจ้องจนทำอะไรได้ไม่สะดวก

ค.  เพราะทรงเกรงว่าพระเจ้าลูกยาเธอจะไม่ปลอดภัย         

ง.  เพราะทรงเกรงว่าต้องใช้จ่ายให้สมฐานะ ซึ่งสิ้นเปลืองทรัพย์อย่างไม่สมควร

๙.หลังจากอ่านพระบรมราโชวาท นักเรียนคิดว่าผู้เขียนเป็นบุคคลเช่นไร

ก.  มีความรักชาติอย่างยิ่ง

ข.  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

ค.  รักลูกดั่งแก้วตาดวงใจ

ง.  ฉลาดเท่าทันผู้อื่น

๑๐.ข้อคิดใดที่ไม่ปรากฏในพระบรมราโชวาท

ก.  การดำเนินชีวิต
ข.  การพูดจา
ค.  การศึกษาเล่าเรียน
ง.  การใช้จ่ายเงิน