การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้ “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้ ยิ่งทำให้พฤติกรรรมคนไทยใช้เน็ตเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในปีนี้ คนไทยจะใช้เวลากับกิจกรรมไหนบนโลกอินเทอร์เน็ตมากที่สุด และอาชีพไหนใช้อินเทอร์เน็ตหนักสุด

สำนักงานพัฒนาธุรกรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 ซึ่งเป็นสำรวจด้วยวิธีออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 46,348 ราย ทั่วประเทศ กระจายตาม อายุ และจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม 2565 เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยและนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เจาะตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

10 ปีคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น “คนกรุง” ใช้เน็ตสูงสุด

ETDA ได้เริ่มทำผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2556 ตอนนั้นคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาที ผ่านมา 10 ปี ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก โดยกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและเหนือ ใช้ไม่ต่างกันมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 59 นาทีต่อวัน, 6 ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน และ 6 ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ ใช้น้อยสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

ด้าน Generation พบว่า Gen Y (ช่วงอายุ 22-41 ปี) ครองแชมป์การใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด อยู่ที่ 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 22 ปี) ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน ส่วน Gen X (ช่วงอายุ 42-57 ปี) อยู่ที่ 5 ชั่วโมง 52 นาทีต่อวัน และ Baby Boomers ขึ้นไป (ช่วงอายุ 58 ปีขึ้นไป) 3 ชั่วโมง 21 นาที

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ ติดอันดับ 1 ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน ตามด้วยฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน, เจ้าของกิจการ ธุรกิจส่วนตัว 7 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน และพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 7 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน เป็นต้น

“e-Health” ครองแชมป์กิจกรรมยอดฮิต ส่วน “Live Commerce” มาแรง

ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือเพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

รองลงมา คือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช้อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

แต่สิ่งที่มาแรงคือ Live Commerce ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มสำรวจเป็นปีแรก แต่กลับติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบการดู Live และเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ขาย โดยกลุ่มคนที่เข้ามาชมมากที่สุด คือ

1.Gen Y (88.36%)

2.Gen X (84.55%) 

3.Gen Z (81.53%)

4.Baby Boomers (74.04%)

5.Gen Builders (52.30%)

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

โดยประเภทสินค้าที่ Gen Y เลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ รองลงมาคือ เครื่องสำอาง ส่วน Gen X เลือกซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ Gen Z เลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องสำอาง ด้าน Baby Boomers เลือกซื้อสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมา อาหารแห้ง และ Gen Builders เลือกซื้ออาหารสดมากที่สุด เป็นต้น

สำหรับเหตุผลในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะ

1.ราคาถูก (63.10%)

2.ความหลากหลายของสินค้า (58.73%)

3.แพลตฟอร์มใช้งานง่าย (45.81%)

4.การจัดโปรโมชัน เช่น 11.11, 12.12, Flash Sale (44.39%)

5.ค่าจัดส่งถูกหรือฟรี (34.10%)

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

Gen Y – Z นักสร้างคอนเทนต์ตัวยง 

เมื่อพิจารณาช่องทางที่คนไทยเลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Kaidee 75.99% รองลงมาคือ Facebook 61.51% Website 39.7% LINE 31.04% Instagram 12.95% และ Twitter 3.81%

ส่วนช่องทางที่ผู้ขายนิยมใช้ขายสินค้าหรือบริการมากที่สุด คือ

1.Facebook (66.76%)

2.e-Marketplace (55.18%)

3.LINE (32.05%)

4.Website (26.67%)

5.Instagram (19.91%)

6.Twitter (9.90%)

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

ด้านช่องทางการชำระเงิน พบว่า คนไทยนิยมชำระเงินโดยการโอนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร มากที่สุดถึง 67.32% รองลงมาคือ เก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery หรือ COD) 58.49% ชำระด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) 24.43% บัตรเครดิต 17.09% และบริการชำระเงินออนไลน์ เช่น บริการ PayPal หรือ Google Pay 15.51% เป็นต้น

นอกจากพฤติกรรมในการซื้อขายของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมแล้ว ผลสำรวจในปีนี้ ยังพบว่า กิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มลดลงและอาจหายไปในอนาคต ได้แก่ การค้นหาข้อมูล search engine, การรับส่ง อีเมล เพราะปัจจุบันคนมักค้นหาข้อมูลและรับส่งข้อมูล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับการดาวน์โหลดซอฟแวร์ เพลง ละคร เกม เพื่อเก็บไว้ดูย้อนหลัง ในอนาคตอาจไม่มีอีกแล้ว เพราะถูกแทนที่โดย Streaming ที่สามารถชมได้แบบ Real time และย้อนหลังได้ผ่านแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ขณะเดียวกัน ยังพบด้วยว่า Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มมุ่งสู่การเป็น Content Creator มากกว่า Gen อื่นๆ เนื่องจากเป็น Gen ที่นิยมสร้าง Online Content มากที่สุด โดยประเภท Content ที่นิยมสร้างมากที่สุด คือ วิดีโอ/คลิป 49.85% เขียนบทความ/คอนเทนต์/เว็บไซต์ 41.79% ถ่ายทอดสด (Live) 36.77% สตรีมมิงเกม/สตรีมมิงอื่น ๆ 11.86% จัดรายการวิทยุออนไลน์ 10.32% และจัดรายการพอดแคสต์ 8.98%

การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand