ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีการใช้ตัวเลขอย่างไร

                   ฟองจันทร์  สุขยิ่ง และคณะ(มมป:37)ได้กล่าวกล่าวไว้ดังนี้

1.ตัวอักษรเขียนจากซ้ายไปขวาและอ่านจากซ้ายไปขวา

2.การวางตัวตำแหน่งพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ มีหลักเกณฑ์ดังนี้

- เขียนพยัญชนะและสระอยู่บนบรรทัดเดียวกัน

- วรรณยุกต์และนฤคหิตอยู่บนพยัญชนะ ถ้ามีทั้งนฤคหิตและวรรณยุกต์ใช้เขียนต่อกันไม่เขียนซ้อนกัน

- สระส่วนใหญ่เขียนหน้าไว้พยัญชนะ เว้นแต่สระอาะ อา และอำ เขียนไว้หลังพยัญชนะ

- สระอะเมื่อมีตัวสะกดใช้ตัวสะกดซ้อนกัน เช่น ขบบ อ่านว่า ขับ

- สระเอียใช้ ย  เมื่อมีตัวสะกด เช่น รยง อ่านว่า เรียง

- สระอือและสระออ ไม่ใช้ อ เคียงเช่น ชื่ อ่านว่า ชื่อ

- สระอัว เมื่อไม่มีตัวสะกด ใช้ วว เช่น หวว อ่านว่า หัว

- ใช้ นฤคหิต แทนสระอำ เช่น บํเรอ อ่านว่า บำรเอ

- ไม้ไต่คู้ไม่มีใช้ ให้ใช้รูปเอกแทน

3.วรรณยุกต์ที่ใช้มีเพียงรูปเอกกับโทเท่านั้น

 

เจอแล้วครับ บทความของอ.ชัชวาล บุญปัน

จาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 04

ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อสงสัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

"เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประวัติการค้นพบ และการเก็บรักษาศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในสมัยรัชกาลที่ ๔..."

ข้างต้นนี้คือ บทสรุปของงานวิจัยเรื่อง "การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์" ที่นักวิทยาศาสตร์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากกองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่มีมานานหลายทศวรรษแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยใดกันแน่

บทความทางวิชาการดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๘๗-๑๐๓ หลังจากเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผมจำได้ว่า หลังจากนั้นไม่นาน มีการเชิญวิทยากรมานำเสนอผลงานวิจัยนี้ ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนฟังเต็มห้องประชุมทีเดียว ผมมีโอกาสไปฟังการบรรยาย และเห็นคล้อยตามว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น มีนักวิชาการบางท่านลุกขึ้นกล่าวขอบคุณผู้วิจัยว่า ได้ช่วยคลี่คลายปมปัญหาที่คาใจแก่วงวิชาการด้านนี้มาเป็นเวลานานให้ลุล่วงไปได้

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้คราใด ก็มักจะมีข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยกผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง ว่าได้พิสูจน์ไว้แล้ว ดูเหมือนว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์จะจบแล้ว แน่นอนแล้ว ชัดเจน ไม่มีอะไรจะต้องมาเถียงกันอีก บางท่านก็ถึงกับบอกว่า การตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ ระวังจะกลายเป็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของทั้งพ่อขุนรามคำแหง และรัชกาลที่ ๔ เอาเลยทีเดียว

เรื่องนี้ กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็น "มรดกแห่งความทรงจำโลก" มีข้อโต้แย้งถกเถียงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า เหตุผลจากการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาอ้างอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครร่วมถกในประเด็นนี้ด้วย

ผมเพิ่งมาสนใจเอาเมื่อเกิดกรณีมรดกแห่งความทรงจำโลกนี้เอง ว่าประเด็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? พยายามตามหางานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้จากบทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรดังกล่าวเพียงบทความเดียว ดังนั้นข้อสงสัยทั้งหมดของผม จะอิงจากผลการพิสูจน์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๔ ฉบับนี้ เป็นหลัก

หลังจากที่ได้ศึกษางานวิจัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผมพอจะจับประเด็นต่างๆ ได้แล้ว ผมพบว่าจริงๆ แล้วการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังมิได้จบดังที่เข้าใจกัน คือเข้าใจว่า พิสูจน์ได้แล้วว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้าง แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น ขอให้ดูบทสรุปประโยคต่อจากที่ยกมาข้างบน

"แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะเป็นการยืนยันว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยสุโขทัยก็ได้"

หมายความว่า ผลการพิสูจน์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้เอง ใครที่เอาผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไปอ้างว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหง จึงไม่ตรงกับข้อสรุปของการพิสูจน์ดังกล่าว

จากนั้นผู้วิจัยระบุต่อไปจนจบข้อสรุปว่า

"การศึกษาวิจัยด้วยวิธีนี้ มิได้เป็นการกำหนดอายุของศิลาจารึก แต่เป็นการเปรียบเทียบริ้วรอย และองค์ประกอบที่ผิวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกระบวนการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เทียบกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย และศิลาจารึกของรัตนโกสินทร์ (ถ้ามี) เป็นที่น่าเสียดายที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกหรือวัตถุโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกันนี้ จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน" (หน้า ๑๐๑)

ในการตรวจสอบนั้น ผู้วิจัยใช้ศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ทำจากหินทรายแป้ง (Calcareous siltstone) เช่นเดียวกับหลักที่ ๑ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕, ศิลาจารึกหลักที่ ๓, ศิลาจารึกภาษามคธ และภาษาไทย กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ตัวอักษรสมัย พ.ศ. ๑๙๐๐ และพระแท่นมนังคศิลาบาตร

ผมเห็นว่า การยังไม่พบศิลาจารึกที่ทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากหินชนิดเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาตรวจสอบเปรียบเทียบแบบเดียวกันนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามันแตกต่างอย่างไร ข้อพิสูจน์ว่าเหมือน ก็ยังเลื่อนลอยไม่หนักแน่น กล่าวคือ ผลการวิจัยที่ว่า ริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของผิวหิน ระหว่างศิลาจารึกหลักที่ ๑ คล้ายคลึงกับศิลาจารึกหลักที่รู้แน่ๆ ว่าทำในสมัยสุโขทัย แล้วจึงมาสรุปว่า น่าจะทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่กลับไม่มีริ้วรอยการสึกกร่อนจากจารึกที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบนั้น เท่ากับว่าการศึกษาวิจัยยังทำไม่เสร็จ จึงไม่ควรสรุปว่า "...ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น..." หากจะสรุปโดยเคร่งครัดในหลักฐานควรจะบอกว่า "ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างในสมัยใด จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นๆ นอกจากสมัยสุโขทัย มาตรวจสอบเสียก่อน" เป็นต้น เพราะถ้ามีศิลาจารึกหินทรายแป้ง ที่ทำในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบแล้วเกิดพบว่าคล้ายกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาอีก ย่อมเกิดคำถามแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ที่ผู้วิจัยเองก็ "เสียดาย" ที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่จะเอามาเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ เพราะการทดลองเพื่อตรวจสอบจำเป็นต้องมีตัวเทียบ ตัวเทียบจะเป็นตัวที่ทำให้เราทราบได้ว่า มีอันอื่นเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อเปรียบกับตัวเทียบ

ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราจะวัดความเปลี่ยนแปลงของตัวทดลองใดๆ เราสามารถกำหนดตัวเปรียบเทียบหรือตัวควบคุม กับตัวที่จะแปรไป ภายใต้เงื่อนไขเวลาของการทดลองแบบเดียวกัน แล้วศึกษาว่าตัวแปรจะแปรไปอย่างไร เมื่อเทียบกับตัวควบคุม

แต่ในเรื่องศิลาจารึก เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานเป็นร้อยเป็นพันปี จะทำแบบในห้องทดลองไม่ได้ นั่นคือ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะสามารถวัดอายุของการจารึกลงบนศิลาว่าจารึกลงเมื่อใดโดยตรงได้* วิธีที่จะหาอายุ มักจะเป็นการหาร่องรอยของการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ซึ่งอาจจะพอเป็นร่องรอยในการวิเคราะห์ได้บ้าง แต่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับการผุพังของศิลาจารึกที่ทำจากหินชนิดเดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น

ดังนั้นรายงานการตรวจพิสูจน์ฉบับนี้จึงระบุสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ "แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นหลังจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย เป็นเวลานานเท่าใด คงจะพิสูจน์ไม่ได้..." และ "บอกไม่ได้ว่าหินนั้นๆ ถูกสกัดมาใช้งานเมื่อใด" (หน้า ๘๘) เพราะในเรื่องการกำหนดอายุของหินด้วยวิธีทางธรณีวิทยานั้น จะบอกเพียงอายุของหินที่ใช้ทำศิลาจารึกว่าเกิดขึ้นมากี่ร้อยล้านปีมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าถูกสกัดมาใช้เมื่อใด นี่คือขีดจำกัด

ที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้น เป็นการเสนอประเด็นของงานวิจัยว่า การวิจัยนี้ต้องการหาอะไร? และมีขีดจำกัดไม่สามารถหาอะไรได้บ้าง? มีข้อสรุปอย่างไร? ข้อสรุปที่นำมาใช้อ้างในภายหลังไม่ตรงกับข้อสรุปของการวิจัยอย่างไร? เป็นต้น

ต่อไปผมจะศึกษาการตั้งสมมติฐาน, การทดลองตรวจสอบ, การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาเป็นผลสรุปงานตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น

สงสัยการพิสูจน์

ทางวิทยาศาสตร์

ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้วิจัยศึกษาเปรียบเทียบริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกสมัยสุโขทัย กับศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยอาศัยหลักที่ว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปี ย่อมสึกกร่อนมากกว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลาสั้นๆ หรืออาจไม่ได้อยู่กลางแจ้งเลย ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ดังนี้

"ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกลางฝนเป็นเวลานานกว่า ๕๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาในกรุงเทพฯ และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้โดยง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น แสดงว่าขณะที่ถูกพบ ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจจะไม่เคยอยู่ใต้ดินเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ น่าจะมีริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหินชนิดเดียวกัน มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว หลังจากทำเสร็จไม่นานก็นำมาเก็บรักษาในที่ร่มมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ริ้วรอยการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกหลักนี้ย่อมจะแตกต่างจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปีอย่างแน่นอน"

จากสมมติฐานที่ผมยกมา มีข้อน่าสังเกตกรณีที่ผู้วิจัยตั้งโจทย์ว่า

ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยสุโขทัย ก็น่าจะอยู่กลางแดดมา ๕๐๐ กว่าปี และตอนที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไปพบนั้น ก็พบได้โดยง่าย น่าจะอยู่บนดิน ฉะนั้นผิวของศิลาจารึกน่าจะมีริ้วรอยการสึกกร่อนและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำโดยหินชนิดเดียวกัน และรู้แน่ว่าทำในสมัยสุโขทัยเช่นกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อดูประวัติการพบก็น่าจะอยู่กลางแดดไม่กี่ปี ก็นำมาไว้ในร่ม ดังนั้นริ้วรอยการเสื่อมสลายจะต้องแตกต่างจากศิลาจารึกสุโขทัย

ต่อสมมติฐานเช่นนี้ ผมสงสัยว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหินนั้น การบอกความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน จะบอกช่วงห่างของระยะเวลาได้แค่ไหน จึงเห็นความแตกต่างได้

ประเด็นก็คือ ปรากฏการณ์การผุพังอยู่กับที่ มีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) คือ มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ แบบไม่ตรงไปตรงมา และตัววัตถุคือหินนั้น ไม่เป็นสารเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะบอกว่า การผุพังแปรผันตรง กับเวลา กล่าวคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของแต่ละหลัก จะเข้าใกล้กันมากขึ้น จนไม่สามารถบอกความแตกต่างได้

ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อทำจารึกบนหินมาหลักหนึ่งแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปี ทำอีกหลักหนึ่งด้วยหินชนิดเดียวกัน ถ้าตรวจพิสูจน์ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความแตกต่างระหว่างสองหลักได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐๐ ปี จารึกทั้งสองหลัก มีอายุ ๓๑๐ ปี และ ๓๐๐ ปี จะเริ่มบอกความแตกต่างไม่ได้ว่าหลักนี้อายุ ๓๑๐ ปี อีกหลักอายุ ๓๐๐ ปี

ประเด็นของผมก็คือ เป็นตัวเลขอะไรที่จะเริ่มบอกไม่ได้ เช่น ๓๕๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี นี่คือความไม่เป็นเชิงเส้นของกระบวนการผุพัง เพราะฉะนั้น ในช่วงของเวลาแค่เป็นร้อยปี อาจไม่แตกต่างกันก็ได้ ถ้ายังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่แม่นยำพอจะแยกความแตกต่างนั้นได้ นี่คือข้อสงสัยของผม

ประเด็นต่อมาก็คือ ในสมมติฐานของผู้วิจัยที่บอกว่า ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกว่า ๕๐๐ ปี เพราะการที่ไปพบได้โดยง่ายก็แสดงว่า ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจไม่เคยอยู่ใต้ดินเลย ตรงนี้ผมเห็นว่า ไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ ระยะเวลา ๕๐๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันอยู่ในสภาพอย่างไรมาบ้าง รู้เพียงแต่ว่า ไปพบอยู่บนดินเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ เท่านั้น (ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าพบจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ จึงขอยกไว้ก่อน ไม่นำมากล่าวในที่นี้)

การตั้งสมมติฐานแบบนี้ จึงดูเป็นการเจาะจงที่จะให้เงื่อนไขว่า อันหนึ่งอยู่กลางแดดกลางฝนกว่า ๕๐๐ ปี ส่วนอีกอันหนึ่ง ถ้าทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องอยู่ในร่มมาเป็นเวลา ๑๕๖ ปี ก่อนทำวิจัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมดูภาพศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ แล้ว กลับพบว่า จารึกหลักที่ ๑ ดูใหม่กว่าและสมบูรณ์กว่าอีกสองหลักมากทีเดียว

ข้อสงสัยต่อมาก็คือ การเสนอผลจากการถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบต่างๆ แล้วเปรียบเทียบภาพถ่ายนั้น ภาพส่วนหนึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูความแตกต่างของปริมาณแคลไซต์ที่ผิวหิน กับส่วนที่อยู่ด้านในของผิวนั้น โดยเรียกผิวที่อยู่ด้านนอกโดนแดดลม สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกว่า ด้านที่expose และเรียกด้านในถัดเข้าไป ด้านที่ยังไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมว่า ด้านที่ไม่ถูก expose แล้วนำเสนอ ทั้งของจารึกหลักที่ ๑, ๓, ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ให้เห็นถึงการลดลงของปริมาณแคลไซต์ ระหว่างผิวที่ expose กับไม่ expose ซึ่งเมื่อผมสังเกตดูก็เห็นว่ามันลดลง แต่ขณะเดียวกันภาพของแต่ละหลักก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ในการแสดงภาพอีกส่วนหนึ่งนั้น ผู้วิจัยใช้ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope : SEM) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผมเห็นว่ายังลักลั่นอยู่

ถ้านำมาเขียนเป็นตารางภาพ ที่ผู้วิจัยนำเสนอ จะได้ดังนี้

โบราณวัตถุ ภาพชั้นผิว หลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ พระแท่นมนังคศิลาบาตร

ด้านที่ expose ภาพขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ไม่มี เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สกัดออกมา

ที่ไม่ถูก expose ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๕๐๐ เท่า ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

จะเห็นว่า ภาพถ่ายด้วย SEM นั้น นำมาแสดงให้ดูด้วยกำลังขยายไม่เท่ากัน เช่น ด้านที่ expose ของหลักที่ ๑ ใช้ภาพกำลังขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ขณะที่ หลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ ใช้ภาพกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

ขณะเดียวกัน ด้านที่ไม่ถูก expose ของหลักที่ ๑ และหลักที่ ๔๕ ไม่มีมาแสดงให้ดู คงเหลือแต่ภาพจากหลักที่ ๓ และจากพระแท่นมนังคศิลาบาตรเท่านั้น แต่หลักที่ ๓ ก็ขยายเสีย ๑,๕๐๐ เท่า ขณะที่พระแท่นมนังคศิลาบาตร ขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

สรุปแล้วภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไม่สามารถนำมาเทียบกับอะไรได้ เป็นแต่แสดงไว้เฉยๆ

อันนี้อาจเกิดจากปัญหาการคัดรูปมาตีพิมพ์ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วควรคัดรูปที่มีกำลังขยายเท่ากันมาพิมพ์เทียบกันให้ดู เช่น ถ้าจะเทียบให้เห็นที่ ๓,๕๐๐ เท่า ก็ถ่าย ๓,๕๐๐ เท่า ให้เหมือนกันหมด จะได้ตัดประเด็นเรื่องกำลังขยายไม่เท่ากันออกไปได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ผมสงสัย

การทดลองที่ถือว่าสำคัญอีกวิธีหนึ่งของงานวิจัยนี้ ก็คือ การใช้เครื่อง Energy Dispersive X-rays Spectrometer มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุบนผิวของตัวอย่าง ทั้งส่วนที่ expose และ ไม่ได้ expose โดยอาศัยหลักที่ว่า เมื่อยิงลำแสงอิเล็กตรอนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไปยังผิวของตัวอย่าง ลำแสงอิเล็กตรอนจะทำให้เกิดรังสีเอกซ์ (X-ray) ที่มีพลังงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเมื่อวัดพลังงานของรังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถคำนวณหาปริมาณแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบบนจุดเล็กๆ แต่ละจุดบนตัวอย่างได้

เมื่อผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์หลายๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่าง แล้วหาค่าเฉลี่ย ก็พบว่า ผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ด้านที่ expose ต่อสภาวะแวดล้อม มีปริมาณแร่และธาตุ แตกต่างจากด้านที่ไม่ expose ในสัดส่วนที่ผู้วิจัยระบุว่าใกล้เคียงกันทั้ง ๔ หลัก ดังนี้

- ปริมาณซิลิกอน (Si) และซิลิกา (SiO2) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่ควอตซ์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง สูงกว่าด้านใน (ที่ไม่ expose) ประมาณ ๓-๑๐%

- ปริมาณอะลูมิเนียม (Al) และอะลูมินา (Al2O3) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแร่เฟลด์สปาร์และแร่คลอไรด์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง ต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๒-๑๐%

- ปริมาณแคลเซียม (Ca) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อประสาน ที่ผิวด้านนอกต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๓-๑๐%

ผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ผู้วิจัยพยายามบอกว่าทั้งหลักที่ ๑, หลักที่ ๓, หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร มีสัดส่วนการเพิ่มและลดของแร่ธาตุบางตัว ในลักษณะเดียวกัน จึงน่าจะบอกได้ว่า ทั้ง ๔ หลัก ทำในสมัยเดียวกัน คือสมัยสุโขทัย

แต่ผมสงสัยวิธีการสรุปแบบนี้ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่เรียกว่า ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดนั้น หน่วยขุดแต่ง กองโบราณคดี กรมศิลปากร "ขุดพบ" ได้ที่ริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารกลาง ด้านหลังของวิหารสูง ในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ นั่นคือหลักที่ ๔๕ จมดินมานานเท่าใดไม่ทราบ เพิ่งขุดขึ้นก่อนจะตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แค่ ๓๓ ปี เท่านั้น แต่ผลการตรวจยังไปใกล้เคียงกับหลักที่ ๑ ซึ่งสมมติฐานบอกว่า ถ้าสร้างในสมัยสุโขทัย ก็ต้องอยู่กลางแดดกลางฝนนานถึง ๕๐๐ ปี ก่อนจะมาอยู่ในร่ม

ลองคิดดูว่าหลักหนึ่งเพิ่งขึ้นมาอยู่บนดินได้ ๓๓ ปี อีกหลักอยู่บนดิน ๕๐๐ ปี และมาอยู่ในร่ม ๑๕๐ กว่าปี กลับมาเหมือนกัน แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง

ปัญหานั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือของตัวเลข ๓-๑๐%, ๒-๑๐% หมดไปในทัศนะของผม กล่าวคือ ปริมาณแร่ธาตุบางชนิดที่ลดลง ๒-๑๐%, ๓-๑๐% ของผิวด้านนอกเทียบกับผิวด้านใน และบางชนิดดูเหมือนเพิ่มขึ้น ๓-๑๐% นั้น ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปว่า มันควรจะสร้างในสมัยเดียวกันได้ เพราะเงื่อนไขแวดล้อมของตัวจารึก ต่างกันอย่างชัดๆ ค่า ๒-๑๐% จึงเป็นค่าที่กว้างเกินกว่าที่จะนำมาตีความได้ แม้แต่ถ้าพบว่ามีค่าแค่ ๕% เท่ากันพอดี ยังต้องมีประเด็นวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมาก

อย่าลืมว่าจารึกแต่ละหลักแม้จะทำจากหินทรายแป้งเหมือนกัน แต่องค์ประกอบภายในแตกต่างกัน มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ผมกลับสรุปได้ในทางตรงกันข้ามว่า ค่า ๒-๑๐% นั้นไม่สามารถจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างหลักหนึ่งที่จมดินอยู่ กับอีกหลักที่อยู่กลางแจ้งได้ และด้วยเหตุนี้ ผลการวิเคราะห์ที่ได้จึงกลายเป็นข้อหักล้างวิธีพิสูจน์นี้เสียเอง

ชวนเยาวชน

สนใจวิทยาศาสตร์ศิลาจารึก

มีการทดลองที่ผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัดขึ้น กล่าวคือ ได้สกัดส่วนหนึ่งของตัวอักษรส่วนหางของ "ล" บนด้านที่ ๓ ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้วนำมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการแกะสลักตัวอักษรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับผิวส่วนอื่นๆ (ที่ไม่มีตัวอักษร) ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่

ผลปรากฏว่า ปริมาณแคลไซต์ลดลงมาใกล้เคียงกัน

ผู้วิจัยสรุปว่า การแกะสลักตัวอักษร น่าจะทำในช่วงเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดหินออกมา

การพิสูจน์นี้ ผู้วิจัยต้องการตัดข้อสงสัยที่ว่า อาจมีผู้พบแท่งหินนี้ที่สุโขทัย แต่ไม่มีคำจารึก แล้วนำมาจารึกขึ้นทีหลัง

ตรงนี้ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่ทราบว่าระยะเวลาห่างกันเท่าใด ที่วิธีการตรวจแบบนี้จะบ่งบอกความแตกต่างได้ เช่น ที่ได้ตั้งคำถามไว้แล้วว่า สกัดมาแล้วจารึกเลย หรือ ๕ ปีค่อยจารึก หรือ ๕๐ ปีค่อยจารึก เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด จึงเริ่มจะบอกความแตกต่างไม่ได้อีกต่อไป

ข้อที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ การไม่มีจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกัน แต่ทำในสมัยต้นอยุธยา, กลางอยุธยา, ปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์มาเปรียบเทียบกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการตรวจสอบกับสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัย ผมเห็นว่า การพิสูจน์ยังไม่สำเร็จ ยังต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่ผู้วิจัยได้ใช้ความพยายามในการเริ่มต้นมาแล้วต่อไป

ถึงตรงนี้ ผมอยากเสนอให้

๑. สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน, X-ray fluoresence, X-ray Diffraction Analysis ฯลฯ และนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้ช่วยกันออกความคิดเสนอวิธีการตรวจสอบหาอายุของการจารึกหลักที่ ๑ โดยวิธีไม่ทำลายเนื้อสาร (Non-Destructive Testing : NDT) และโดยใช้หินตัวอย่างที่ทางกรมศิลปากรได้สกัดออกมาวิจัย (ซึ่งคิดว่าน่าจะเก็บไว้) ไปศึกษาตามวิธีการและเทคนิควิธีตามที่จะคิดออกแบบ ให้แต่ละแห่งแยกกันทำวิจัยอย่างอิสระ แล้วนำผลมาเสนอต่อสาธารณะร่วมกัน น่าจะเป็นประโยชน์มาก และ

๒. ประกาศให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ได้เสนอความคิด จะหาวิธีการศึกษาว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ จารึกขึ้นเมื่อใด จัดเป็นกิจกรรมขึ้นในโอกาสสำคัญ เช่น ทำเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ความคิดดีๆ จากเยาวชนอย่างนึกไม่ถึงก็ได้

วิธีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จะส่งเสริมให้เยาวชนได้สนใจเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสังคมอย่างกระตือรือร้น อย่างมีชีวิตชีวา อย่างรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เราสามารถจัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่ง ในการเฉลิมฉลองมรดกแห่งความทรงจำของโลกอย่างมีคุณค่าได้ และน่าจะช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม

กรณีศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังมีอะไรน่าสนใจ ติดตามศึกษาค้นคว้าอีกมาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแค่เพียงเริ่มต้น มาถึงจุดที่ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น ยังไม่จบ ขณะเดียวกันการค้นคว้าหาหลักฐานจากศาสตร์อื่นก็รุดหน้าไปมากแล้ว

ขอขอบคุณผู้วิจัยที่ทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมโดยมีความจริงเป็นเป้าหมาย มิใช่มีแต่วิทยาศาสตร์ที่ทำหน้าที่รับใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจของบริโภคนิยมที่มีแต่จะบิดเบือนและทำลายความจริงอยู่ตลอดมา

เชิงอรรถ

* ผู้สนใจศึกษาวิธีการตรวจสอบวัตถุโบราณด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดูได้จาก website ของ The British Museum ในส่วนของ The Department of Scientific Research http://www.thebritishmuseum.ac.uk/science/index.html