วิธีเขียนใบสมัครงานผ่านอีเมล

เพราะการส่งอีเมลกับการทำเรซูเม่คือการสร้างความประทับใจแรกให้กับบริษัทที่ยังไม่รู้จักเรามาก่อนเลย ดังนั้นนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราอาจจะต้องจริงจังกับการส่งใบสมัครงานกันหน่อยเนอะ

วิธีเขียนใบสมัครงานผ่านอีเมล

ส่งอีเมลแบบไหน?

ทุกวันนี้เราอาจไม่ต้องไปยื่นใบสมัครงานถึงบริษัท แค่ส่งผ่านอีเมลก็ถึงมือบริษัทได้ง่ายๆ แต่ว่าเมลของเราจะถูกปัดตกมั้ย ก็ต้องลองมาดูว่าเราเขียนอีเมลไปหาบริษัทยังไงกันบ้าง เพราะนี่คือ first impresstion ที่ทางบริษัทจะได้รู้จักกับคุณ และโปรดลบการเขียนอีเมลตอบกลับจากอาจารย์บางคนที่อาจพิมพ์มาหาเราในสมัยเรียนว่า ok krab / good job ka su su ไปได้เลย 

1. ใช้ชื่ออีเมลที่เป็นทางการ ไม่ควรเป็นอีเมลที่มีการใช้ฉายา หรือใส่ตัวอักษรแปลกๆ อย่าง fasai_lnwzaa หรือ nongfasai007 เพราะจะทำให้เราดูไม่จริงจังและสูญเสียภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือไป

2. เขียนหัวข้ออีเมลให้ชัดเจน หากบางบริษัทกำหนดว่าต้องเขียนหัวข้อแบบไหนก็ให้ทำตามรูปแบบของบริษัทนั้นๆ แต่ถ้าไม่ได้กำหนเมา เราก็ควรเขียนหัวข้อว่า สมัครงาน ตำแหน่ง … เพื่อแจ้งให้บริษัททราบ

3. เขียนอธิบายตัวเองคร่าวๆ เป็นใคร จบจากที่ไหน ทำอะไรอยู่ ทำไมสนใจสมัครตำแหน่งนี้ และจะติดต่อกลับได้ยังไง โดยเป็นภาษาที่ทางการ เพื่อให้บริษัทได้รู้จักคุณคร่าวๆ เพราะหากไม่เขียนอะไรมาเลย ก็มีโอกาสง่ายมากที่จะโดนปัดตกทันที

4. เช็กให้ดีว่าแนบไฟล์เรซูเม่หรือผลงานที่เกี่ยวข้องแล้วเรียบร้อยหรือยัง และชื่อไฟล์ควรใช้ให้เป็นทางการ แจกแจงว่าไฟล์นี้คืออะไร เพื่อไม่ให้ทางบริษัทต้องเสียเวลามาเดาสุ่มว่าไฟล์ไหนคืออะไร และผลงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเกี่ยวข้องจริงๆ และเลือกมาเท่าที่เรารู้สึกว่าโดดเด่นจนบริษัทต้องว้าววววว (ไม่ควรเกิน 5-6 ผลงาน) และไฟล์ที่แนบมาก็ไม่ควรใหญ่เกินไป เพราะบริษัทอาจปิดใจระหว่างรอโหลดไฟล์ขนาดมหึมาของคุณก็ได้

5. สุดท้าย! ตรวจสอบความถูก-ผิดของตัวอักษรด้วยนะ

 

ทำเรซูเม่แบบไหน?

เรซูเม่ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะถือว่าเป็นหน้าเป็นตาแทนตัวเราที่บริษัทจะได้ทำความรู้จักอย่างแท้จริง ดังนั้นการทำเรซูเม่ให้น่าอ่าน น่าสนใจ ก็อาจจะทำให้ทางบริษัทประทับใจเราได้ แล้วเราควรจะใส่อะไรลงไปในเรซูเม่บ้างนะ?

1. ชื่อ-นามสกุล ประวัติส่วนตัว เช่น วันเกิด ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล สิ่งเหล่านี้ควรใส่เพื่อให้บริษัทได้รู้จักเราคร่าวๆ ว่าเป็นใคร มาจากไหน แต่ไม่ต้องถึงขั้นใส่น้ำหนัก ส่วนสูง กรุ๊ปเลือด (ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งนะ บางที่ก็อาจจะจำเป็นแหละ) 

2. ประวัติการศึกษา ซึ่งอย่างน้อยควรใส่ระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย แต่จะเพิ่มระดับประถมศึกษาก็ได้เช่นกัน โดยบอกรายละเอียดเล็กน้อยว่าเรียนสาขาไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่

3. ประสบการณ์การทำงาน เป็นส่วนสำคัญมากๆ เพราะทางบริษัทจะได้รับรู้ว่าเราเคยทำอะไรมาก่อน เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัครมั้ย และทำให้ทางบริษัทสามารถมองเห็นทักษะหรือความสนใจบางอย่างจากประสบการณ์ของเราได้ เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม ประสบการณ์ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเป็นเด็กจบใหม่ อาจจะใส่งานที่ทำในมหาวิทยาลัย รางวัลที่เคยได้รับ หรือการฝึกงานที่เคยไปร่วมก็ได้ เพื่อที่อย่างน้อยบริษัทจะได้เห็นว่าเรามีความพยายามและความสนใจในเรื่องไหนบ้าง

4. ทักษะ เป็นอีกส่วนที่สำคัญโดยเราจะต้องประเมินตัวเองว่าเรามีทักษะอะไรบ้างที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยอาจจะแบ่งเป็น Hard Skill กับ Soft Skill ในส่วนของ Hard Skill นั้นมีข้อควรระวังคือไม่ควรใช้เป็นสเกลหลอดพลัง เพราะจะเทียบเกณฑ์ได้ยากว่าหลอดนี้สัดส่วนเทียบกับอะไร ระดับไหน อย่างง่ายสุดก็คือใช้เกณฑ์ทั่วไป ดีมาก ดี พอใช้ หรือจะดีที่สุดหากมีคะแนนจากการสอบ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ก็ใส่คะแนน Toeic ได้เลย 

5. งานอดิเรก สิ่งนี้อาจช่วยให้บริษัทประเมินได้ว่าเรามีความสนใจอะไรบ้าง เหมาะกับตำแหน่งงานมั้ย หรือเวลาที่ไม่ใช่งานเรามีการเรียนรู้หรือทำอะไรอย่างอื่นอีก ถือเป็นการทำความรู้จักคนคนหนึ่งให้มากขึ้น

6. รูปถ่าย ไม่ควรใช้รูปเซลฟี่ และควรเป็นรูปหน้าตรง ในบางบริษัทที่มีความยืดหยุ่น อาจเลือกภาพที่ยิ้มแย้มได้ ไม่ต้องถ่ายในสตูดิโอก็ได้ ขอแค่ให้เห็นหน้าชัดๆ เห็นแล้วรู้ว่าหน้าตาเป็นไงก็พอ

นอกจากที่บอกไปข้างบนแล้ว บางแห่งอาจต้องการให้เราใส่บุคคลอ้างอิงด้วย ซึ่งอาจเป็นเจ้านายจากที่ทำงานเก่า หรือเด็กจบใหม่ก็อาจเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ในคณะ แล้วถ้ายังพอมีที่เหลือๆ ก็อาจจะใส่เป้าหมายในการทำงานจากตำแหน่งที่เราสมัครเพื่อสร้างความมุ่งมั่นไปด้วยก็ได้เหมือนกันนะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรซูเม่นี้ก็ไม่ควรมีความยาวเกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ไม่มีการเอาการ์ตูน หรือทำสีสันฉูดฉาดเกินไป หากไม่ได้สมัครตำแหน่งที่ต้องการความครีเอทีฟจริงๆ การใช้พื้นหลังสีขาวนั้นปลอดภัยที่สุดแล้วล่ะ

มาดูกันเลยครับ การเขียนอีเมลที่สร้าง First Impression ที่ดี ให้ดูเป็นมืออาชีพ  HR เห็นแล้วอยากเปิดอ่านทันที

มีแค่ 3 Step ง่าย ๆ เริ่มเลย …

 

1.หัวข้ออีเมล  สั้น  ๆ แต่สื่อสารชัดเจน ให้เขารู้ทันทีว่าสมัครตำแหน่งอะไร ง่ายต่อการค้นหาด้วยครับ

ตัวอย่าง : สมัครงาน ............. (ใส่ชื่อตำแหน่งที่สมัคร ตามที่ระบุในประกาศงานเลยครับ)

 

2.เนื้อหาอีเมล แนะนำตัวคร่าว ๆ ให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ HR อยากโหลดเรซูเม่ของคุณมาเปิดอ่านทันที

ประกอบด้วย

2.1 คำขึ้นต้น : ระบุชื่อผู้รับ 

2.2 รายละเอียด : แนะนำตัว แจ้งตำแหน่งที่สมัครและไฟล์ที่แนบ

2.3 คำลงท้าย : คำขอบคุณ และช่องทางติดต่อของคุณ

 

ตัวอย่าง :

เรียน  ฝ่ายบุคคล บริษัท....... (หรือชื่อ HR ที่ระบุในประกาศงาน)

ดิฉันนางสาว ...........................  มีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสาร และการสร้าง content เพื่อทำการตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook /Line จึงมีความประสงค์ในการสมัครงานตำแหน่ง การตลาดออนไลน์ ตามที่บริษัท ............. ได้ประกาศรับสมัครไว้ใน .................. (ช่องทางที่คุณเห็นประกาศ)

 

ไฟล์ที่แนบเพื่อประกอบการพิจารณา

1.Resume

2.Portfolio           

ปล. หากในประกาศระบุว่าต้องการเอกสารอื่น ๆ นอกจากนี้ อย่าลืมแนบไปด้วยนะครับ

 

ขอบคุณค่ะ

นางสาว..............

E-mail .............................

โทร .................................

 

3.ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อนส่งอีเมล ข้อความทั้งหมดต้องครบถ้วนและสะกดถูกต้องตามหลักภาษา ,ไฟล์ที่แนบ ต้องครบและถูกต้อง รวมถึงชื่ออีเมลผู้รับ ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยนะครับ ว่าถูกต้องตามที่ระบุในประกาศรึเปล่า

 

และ 3 ทริคที่ห้ามลืม !!

1.ชื่ออีเมลของคุณ ควรเป็นชื่อจริง-สกุล อย่าใช้อีเมลที่เป็นชื่อแปลก หรือที่มีคำแสลงนะครับ

 

2.ชื่อไฟล์ที่แนบ ระบุให้ชัดเจน ว่าไฟล์นั้นคืออะไร เพื่อความสะดวกในการค้นหา เช่น Resume_ชื่อจริง , Portfolio_ชื่อจริง

 

3.ขอขีดเส้นใต้สีแดงหนา ๆ 2 เส้นเลย อย่าหว่านเรซูเม่เด็ดขาด ต้องส่งไปทีละบริษัทนะครับ เจาะจงไปเลย แสดงให้เห็นว่าคุณมีความตั้งใจและอยากได้งานกับบริษัทนั้นอย่างจริงจัง (มาก) และแสดงความเป็นมืออาชีพอย่างสมบูรณ์แบบด้วยครับ