พระยากัลยาณมิตร (ดร.ฟานซิส บี.แชร์) มีความเกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาเบาว์ริงอย่างไร

ระหว่างศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมและวังสราญรมย์อันเป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดิม มีถนนอยู่สายหนึ่ง ตั้งนามถนนตามราชทินนามของชาวต่างประเทศผู้มีคุณอย่างมากแก่วงการกฎหมายไทย ถนนนั้นมีนามว่า “ถนนกัลยาณไมตรี” เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์)

การตั้งนามถนนสายกลางพระนครสายหนึ่งให้เป็นเกียรติแก่ท่านนี้ ไม่ได้มากเกินไปเลยสำหรับสิ่งที่ท่านได้บำเพ็ญไว้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะแก่วงการกฎหมายของไทย เพราะท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเรียกคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เสียไปในสมัยที่ไทยเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมกลับมาได้เป็นผลสำเร็จ

พระยากัลยาณไมตรี มีนามเดิมว่า ฟรานซิส บี.แซร์ เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2428 เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด เป็นบุตรของนายโรเบิร์ต แซร์ และนางมาร์ธา เนวิน บ้านเกิดอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเซาท์เบทเลเฮม รัฐเพนซิลเวเนีย ในชั้นต้นได้รับการศึกษาที่วิทยาลัยวิลเลียมส์ จากนั้นเข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และต่อมาก็ได้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต เป็นดร.ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ได้เริ่มทำงานในสายวิชาการ โดยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาลัยวิลเลียมส์ ระหว่าง พ.ศ. 2457 ถึง 2460 อธิการบดีมหาวิทยาลัย Princeton ระหว่าง พ.ศ. 2456 ถึง 2464 นอกจากนี้ในเวลาที่ดำรงตำแหน่งบริหารนี้ท่านยังคงเป็นผู้บรรยายวิชาการปกครองและศาสตราจารย์ทางกฎหมายด้วย ด้านชีวิตครอบครัว ดร.แซร์ เข้าพิธีสมรสกับนางสาวเจสซี วูดโรว์ วิลสัน บุตรีของ ฯพณฯ วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ทำเนียบขาว เมื่อพุทธศักราช 2456

กระทั่งพุทธศักราช 2466 รัฐบาลสยามในเวลานั้นได้ทาบทามไปยังสหรัฐอเมริกาผ่านทางมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ต้องการหานักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ท่านได้ปรึกษากับมิชชันนารีที่เคยเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทยว่าสภาพสังคมบ้านเมืองและความเป็นอยู่เป็นอย่างไร แล้วในที่สุด ท่านก็ได้ตัดสินใจเดินทางมารับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในประเทศไทย

เมื่อท่านเข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น ประเทศสยามเพิ่งเสร็จจากการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเรียกร้องที่จะยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ผูกพันไทยไว้ตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม สำหรับประเทศคู่สัญญาที่เป็นประเทศฝ่ายแพ้สงคราม สนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบทั้งหลายนั้นก็เป็นอันเลิกไป หากแต่สำหรับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วยกัน การเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกำลังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะนอกจากสหรัฐอเมริกาซึ่งยอมยกเลิกสนธิสัญญาโดยง่ายแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายชนะสงครามด้วยกัน ต่างก็ยังหวงผลประโยชน์ของตนที่ได้จากสนธิสัญญาเดิมอยู่การเจรจาขอยกเลิกสนธิสัญญาจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก

ผลงานที่สำคัญของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ จึงได้แก่การใช้ความรู้ความสามารถเดินทางไปเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับไทย เนื่องจากในเวลานั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบันจึงทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากและใช้เวลานาน ประเทศที่ ดร.แซร์ เดินทางไปเจรจามีตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน

โดยความสามารถของท่าน ทำให้ท่านสามารถเจรจาขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับประเทศต่าง ๆ ได้รวมถึง 11 ประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นการทำให้ไทยได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาเป็นส่วนใหญ่ นับได้ว่าเป็นคุณานุคุณอย่างยิ่งแก่ประเทศไทยและวงการกฎหมายไทย

กระทั่งพุทธศักราช 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ดร.แซร์ มีผลการรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นอย่างดี สามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้เป็นอันมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยากัลยาณไมตรี” ถือศักดินา 1000 มีตำแหน่งราชการอยู่ในกระทรวงต่างประเทศตามประเพณี

แม้ว่าต่อมาท่านเจ้าคุณจะได้ถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปยังสหรัฐอเมริกา และได้รับตำแหน่งอันสูงต่าง ๆ ในรัฐการของสหรัฐอเมริกา หากแต่ท่านก็ยังช่วยเหลือประเทศไทยอยู่ โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนประเทศสยามประจำศาลอนุญาโตตุลาการณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช 2472

ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต ท่านเจ้าคุณยังได้เดินทางกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกสองครั้ง คือเมื่อพุทธศักราช 2496 ในครั้งนี้ได้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ 1 แก่ท่านเจ้าคุณเป็นบำเหน็จความชอบแต่หนหลังด้วย และครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2505 ครั้งนี้ท่านได้บริจาคเงินสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ไว้ในประเทศไทยหลายอย่าง แสดงถึงความผูกพันของท่านกับประเทศไทย หลังจากการกลับมาเยี่ยมประเทศไทยครั้งนี้แล้วท่านก็ไม่ได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกเลย

พระยากัลยาณไมตรี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพุทธศักราช 2515ที่บ้านพักในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สิริอายุได้ 86 ปี

นี่แหละครับ ชีวิตของเจ้าคุณกัลยาณไมตรีผู้มีคุณอย่างยิ่งแก่เอกราชทางการศาลของประเทศไทย.

ในปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชาวต่างชาติผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่เข้ามารับราชการในประเทศสยาม คือ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระยากัลยาณไมตรี”

ต่อมา ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญ ฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2469 อีกด้วย

ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ เกิดที่เมืองเซาธ์เบธเลเฮม ในเพนซิลเวเนีย เรียนจบด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เมื่อปี พ.ศ. 2455 และเริ่มงานด้านกฎหมายด้วยการเป็นผู้ช่วยอัยการแห่งนิวยอร์กเคาตี

ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ได้รับข้อเสนอจากคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ให้ไปเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเขาตอบตกลงด้วยอยากเผชิญกับความแปลกใหม่ จึงได้เข้ามารับราชการในเมืองสยามเมื่อปี พ.ศ. 2466 ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ขณะนั้นสยามกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งสัญญาที่เป็นปัญหาหนัก ก็คือ “สนธิสัญญาเบอร์นี” ในรัชกาลที่ 3 และ “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประเทศสยามมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายจุด

จากการที่สยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สหรัฐอเมริกายินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม แต่กับชาติพันธมิตรอื่น ๆ อย่างเช่นฝรั่งเศส หรืออังกฤษ การเจรจาในการแก้ไขสนธิสัญญากลับเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองชาติต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้ง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ให้เป็นผู้แทนประเทศสยามไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับชาติต่าง ๆ ในยุโรป โดยเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2467 และด้วยความสามารถทางการทูตของ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ทำให้การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยากัลยาณไมตรี”

กระทั่งในปี พ.ศ. 2468 ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการของสยาม และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงติดต่อกับประเทศสยามอยู่เสมอด้วยความสัมพันธ์อันดี

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่ง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ คือผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญนี้

ก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชหัตถเลขาเป็นคำถามถึง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ 9 ข้อ โดยคำถาม 4 ข้อแรกนั้น ว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งในข้อ 3 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตั้งคำถามว่า “หากประเทศนี้จำเป็นต้องมีระบบรัฐสภาเข้าสักวันหนึ่ง การปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล – แซกซัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่?”

และคำถามข้อ 4 ทรงตั้งคำถามว่า “ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองในระบบผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน?”

พร้อมกันนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงให้พระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยว่า “ในคำถามที่ 3 นั้นข้าพเจ้าเองยังไม่แน่ใจนัก ส่วนคำถามที่ 4 โดยความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่”

เมื่อ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ได้อ่านแล้ว จึงได้ถวายความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างที่เหมาะสมของรัฐบาลสำหรับสยามในสมัยนั้นกลับมาว่า

พร้อมกันนี้ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ยังได้แนบร่างรัฐธรรมนูญ 12 มาตรา ที่เขาเรียกว่า “Outline of Preliminary Draft” หรือเค้าโครงเบื้องต้นว่าด้วยโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น

แต่สุดท้าย กลับเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เสียก่อน รัฐธรรมนูญฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ มีส่วนช่วยในการร่างนั้น จึงไม่ได้นำออกมาประกาศใช้

ทั้งนี้ แม้ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ จะพ้นจากหน้าที่ในสยามไปแล้ว เขาก็ยังได้รับการยอมรับนับถือจากรัฐบาลสยามเป็นอย่างยิ่ง และยังได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเมืองไทยอยู่หลายครั้ง กระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2515 พระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา