สมัครการออมแห่งชาติทำอย่างไร


เผยแพร่ 22 เม.ย. 2565 ,18:25น.




ชวนออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เริ่มต้นส่งเงินขั้นต่ำ 50 บาท/เดือน มีสิทธิได้บำนาญตลอดชีพ เช็กเงื่อนไข-วิธีสมัคร ที่นี่!

ประเทศไทยของเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เพราะจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ แม้คนไทยจะมีการวางแผนออมเพื่อการเกษียณถึง 84.7% แต่มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่สามารถทำได้จริงตามแผน

กองทุนการออมแห่งชาติ เปิดบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ

กอช.เผยสมาชิกกลุ่มพิเศษมีสิทธิรับเงินสมทบจากรัฐนาน 10 ปี

สมัครการออมแห่งชาติทำอย่างไร

สำหรับข้าราชการ หรือพนักงานเอกชน อาจจะยังพอเอาตัวรอดได้จากเงินบำนาญสวัสดิการของรัฐ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท หรือประกันสังคมได้

ส่วนคนที่ทำอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว กลับไม่มีสวัสดิการเหมือนข้าราชการหรือพนักงานบริษัท แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง ทีมข่าว PPTV ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “กองทุนเพื่อการออมแห่งชาติ” หรือ กอช. กองทุนออมเพื่อเกษียณที่น่าสนใจ ที่ทุกคนจะได้ทั้งเก็บออมและยังได้รับเงินสมทบฟรีจากรัฐอีกด้วย มีรายละเอียดดังนี้

รู้จักกองทุน กอช.

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ “กอช.” เป็นหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เพื่อเป็นกองทุนกลางที่ช่วยสนับสนุนการสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณของคนไทยที่เป็น “แรงงานนอกระบบ”

โดยจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับ ได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณตลอดชีพเหมือนแรงงานในระบบ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความมั่นคงของผู้สูงอายุให้มีรายได้พอเพียงจนถึงวัยเกษียณ อันเป็นปัจจัยของความสำเร็จและเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กอช.มีสมาชิกแล้ว 2,467,437 คน 

ใครออมเงินกับ กอช.ได้บ้าง ?

สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิสมัครเข้า กอช. ได้นั้น มีรายละเอียดดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • อายุ 15-60 ปี
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม (ม.33, ม.39, ม.40(2), ม.40 (3)) แต่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 (ผู้ประกันตนจ่ายเอง เดือนละ 70 บาท ได้รับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วย ตาย พิการ และไม่มีบำเหน็จบำนาญ) สามารถสมัครได้
  • ไม่เป็นข้าราชการ หรือสมาชิก กบข.
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • มีอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง หรือไม่มีอาชีพ

ตัวอย่างอาชีพที่สมัคร กอช. : เกษตรกร, ค้าขาย, แม่บ้าน, เจ้าของธุรกิจส่วนตัว, ฟรีแลนซ์, ขับรถรับจ้าง, แท็กซี่, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, นักเรียน และนักศึกษา

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ

เมื่อเข้าเป็นสมาชิก กอช. หนึ่งสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจที่เราจะได้รับ คือ การได้รับเงินสมทบจากรัฐ ที่จะสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิกนับตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มออมเงิน โดยทุกครั้งที่มีการส่งเงินออม สมาชิกจะได้รับเงินสมทบทันทีในเดือนถัดไป มีรายละเอียด ดังนี้

  • อายุสมาชิกในการส่งเงินออม 15-30 ปี

รัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ 50%  ของเงินสะสมแต่ละครั้ง เมื่อรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท รับเงินสมทบสูงสุด 600 บาท/ปี

  • อายุสมาชิกในการส่งเงินออมมากกว่า 30-50 ปี

รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้ 80% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง เมื่อรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท รับเงินสมทบสูงสุด 960 บาท/ปี

  • อายุสมาชิกในการส่งเงินออมมากกว่า 50-60 ปี

รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้ 100% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง เมื่อรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท รับเงินสมทบสูงสุด 1,200 บาท/ปี

นอกจากจะได้รับเงินสมทบจากรัฐแล้ว สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับอีก มีดังนี้

  • รัฐบาลช่วยค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน ไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร
  • ลดหย่อนภาษี เต็มจำนวนเงินสะสมต่อปี
  • รับเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีพจาก กอช. สูงสุดกว่า 7,000 บาท (เงินออมสะสม+เงินสมทบจากรัฐ+ผลตอบแทนการลงทุน)
 

แต่ใน กรณีที่สมาชิกเข้าสู่ระบบแรงงานที่ได้รับสวัสดิการ อาทิ ข้าราชการ และพนักงานบริษัท ภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกกับ กอช.ไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะหากส่งเงินสะสมต่อไปจนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับทั้ง 1.) เงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. 2.) รับเงินก้อนจาก กอช. (ส่วนที่ส่งเงินออมสะสมต่อในช่วงที่ทำงานในระบบ) และ 3.) รับเงินบำเหน็จบำนาญจากการทำงานในระบบ

และในกรณีที่ไม่ส่งเงินสะสมต่อไปจนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว เมื่ออายุครบ 60 ปีจะได้รับ 1.) เงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. (ส่วนที่ออมกับกอช. ก่อนทำงานในระบบ) และ 2.) รับเงินบำเหน็จบำนาญจากการทำงานในระบบเท่านั้น

สมัครการออมแห่งชาติทำอย่างไร

นำเงินออกมาใช้ได้เมื่อไร?

กอช.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างคุณภาพที่ดีหลังเกษียณ ดังนั้นเงินที่เราออมไว้ จะได้รับหลังจากอายุ 60 ปีบริบูรณ์ โดยใครออมปีละ 13,200 บาท เป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนไปตลอดชีพ แต่ถ้าออมได้น้อยกว่า 13,200 บาท เป็นเวลาน้อยกว่า 10 ปี จะได้รับเงินเป็นรายเดือน จนกว่าเงินที่เราเก็บไว้จะหมด

แต่ใน กรณีต้องการถอนเงินออกมาใช้ก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์ กอช.จะให้ถอนเงินได้เมื่อ "ลาออก" จากการเป็นสมาชิกเท่านั้น และจะได้รับเงินก้อน เฉพาะส่วนเงินสะสมและผลตอบแทนการลงทุนเท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้รับเงินในส่วนที่รัฐสมทบให้

ช่องทางสมัครเข้า กอช.

ผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก หรือส่งเงินออมสะสม ได้ผ่านช่องทางดังนี้

  • แอปพลิเคชัน กอช. ทั้งระบบ iOS และ Android
  • ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ
  • สำนักงานคลังจังหวัด
  • สถาบันการเงินชุมชน
  • ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน
  • ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา
  • ไปรษณีย์ไทย
  • สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส
  • ศูนย์การค้า อาทิ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี
  • ตู้บุญเติม
  • เครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ
 

วิธีสมัครสมาชิก กอช.

การสมัครสมาชิก กอช.สามารถสมัครด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคาร

  • กรณีสมัครออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. เพียงกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนในแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบสิทธิ หากมีสิทธิสมัครให้กรอกข้อมูลตามรายละเอียด ส่งเงินออมงวดแรกขั้นต่ำ 50 บาท และจะได้รับ SMS ยืนยันการเป็นสมาชิก ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
  • กรณีมาสมัครด้วยตนเองที่เครือข่ายของ กอช. เพียงแค่แสดงบัตรประจำตัวประชากร และส่งเงินออมงวดแรกขั้นต่ำ 50 บาท
  • กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นสมัครให้ที่เครือข่ายของ กอช. จะต้องพกสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ 2 ชุด และของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุดมายื่นกับเจ้าหน้าที่ พร้อมส่งเงินออมงวดแรกขั้นต่ำ 50 บาท

ทั้งนี้ กรณีสมาชิก กอช.ต้องการขอรับสมุดเงินออมสะสม เพียงแค่พกบัตรประจำตัวประชาชน ไปติดต่อขอรับได้ที่ธนาคารออมสิน ทุกสาขาทั่วประเทศไทยฟรี

สมัครการออมแห่งชาติทำอย่างไร

เงื่อนไขการออม

สมาชิก กอช. สามารถส่งเงินสะสมง่าย ๆ ขั้นต่ำ 50 บาท/ครั้ง/เดือน ไปจนถึงสูงสุด 13,200 บาท/ปี โดยไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งทุกเดือน เพราะการส่งเงินออมนั้นเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ใน 1 เดือนส่งเงินได้ 1 ครั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่ออายุครบ 60 ปี สมาชิกสามารถรับได้รับทั้งเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. และ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากรัฐบาลได้อีกด้วย

การขอรับเงินคืน

เมื่อสมาชิก กอช.ออมเงินจนครบอายุ 60 ปี กอช.จะมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า 3 เดือนก่อนถึงวันเกิด เพื่อแจ้งเตือนให้สมาชิกเตรียมตัวยื่นเอกสารขอรับเงินคืน ดังนี้

1. กรณีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ รับเงินดำรงชีพ/รับเงินบำนาญรายเดือน (เงินสะสม+ผลตอบแทนการลงทุน+เงินสมทบ)

เมื่อสมาชิกได้รับจดหมาย ให้ยืนยันเอกสารขอรับเงินคืน และส่งกลับมาที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ, สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ, ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ, สถาบันการเงินชุมชนที่เข้า หรือ ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา

2. กรณีเสียชีวิตก่อน 60 ปีบริบูรณ์ กอช.จะคืนเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์หรือทายาทตามกฎหมาย โดยจะจ่ายให้เป้นเงินก้อนครั้งเดียวเลย (เงินสะสม+ผลตอบแทนการลงทุน+เงินสมทบ) ดังนั้นขอให้ทายาทเตรียมเอกสารยืนยันขอรับเงินคืน ดังนี้

  • สำเนาใบมรณะ (สมาชิก)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ผู้รับประโยชน์)
  • สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีเป็นคู่สมรส)
  • สำเนาใบสูติบัตร หรือแบบฟอร์ม กอช.06+สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบุตร)
  • สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร (กรณีขอรับเงินผ่านบัญชีธนาคาร)

เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ให้ยื่นเอกสารกลับมาที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ, สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ, ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ, สถาบันการเงินชุมชนที่เข้า หรือ ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา

โดยทั้งกรณีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และเสียชีวิต สามารถแจ้งความประสงค์รับเงินคืนได้ 2 ช่องทาง คือ รับเงินผ่านไปรษณีย์  หรือรับเงินผ่านบัญชีธนาคารก็ได้

การออมเงินกับ กอช. ถือเป็นอีกทางเลือกออมเงินเพื่อเกษียณสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามเพดานสูงสุดของการรับบำนาญตลอดชีพ คือ ราว ๆ 7,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคต เมื่อคิดรวมเงินเฟ้อ ดังนั้นหากทุกคนออมเงินและลงทุนเพิ่มช่องทางอื่นด้วย อาจช่วยให้ตัวเองมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กองทุนการออมแห่งชาติ

ไม่พลาดทุกเหตุการณ์ติดตามข่าวจาก PPTV ได้ที่ Subscribe