การเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 ส่งผลต่อประชาชนชาวไทยอย่างไร

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่  7)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในปี  พ.ศ. 2468  แล้ว  พระองค์ต้องการประสานรอยร้าวระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่  จึงทรงตั้ง “อภิรัฐมนตรีสภา” ขึ้นมาใหม่  เพื่อรวบรวมพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ยังทันสมัยและมีประสบการณ์มาก  ด้วยมีเจตนาจะให้สภานี้ทำหน้าที่คอยเหนี่ยวรั้งการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  พระองค์ทรงรื้อฟื้นสภาที่ปรึกษาขึ้นมาเพราะต้องการปลดปล่อยอำนาจให้เจ้านายที่มีความรู้ความสามารถช่วยกันรับผิดชอบ

รัชกาลที่  7  ทรงตระหนักดีว่าคนมีการศึกษาสูงได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น  จึงทรงเตรียมการที่จะให้สิทธิการปกครองแก่ประชาชนหลายอย่าง  เช่น  ดำริให้ประชาชนมีส่วนร่วมการปกครองท้องถิ่นตามรูปแบบ

เทศบาล,  ทรงเตรียมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพระราชทานแก่ประชาชนให้เร็วที่สุด  

มีการร่างรัฐธรรมนูญ  2  ฉบับ  คือ  ฉบับของพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) 

และฉบับของนายเรมอนด์  สตีเฟน

บรรยากาศทางการเมืองกับแนวคิดในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

เมื่อสยามได้ติดต่อกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์  เป็นเวลาที่สังคมตะวันตกได้

ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาแล้ว  เช่น  การปฏิวัติอุตสาหกรรม  และการปฏิวัติฝรั่งเศส  ที่ให้ค่านิยมทางการเมืองในเรื่องสิทธิ  เสรีภาพ  และการมีส่วนร่วมในการปกครอง

การศึกษาแผนใหม่ตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่  5  ได้สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีการรับรู้และประสบการณ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้นมา  ซึ่งเห็นว่าการปกครองระบอบสมบูรณา

ญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งที่ล้าหลังแล้ว  จึงนำไปสู่การที่  “กลุ่มหัวก้าวหน้า  ร.ศ.103 (พ.ศ.2428)”  เป็นกลุ่มแรกที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อถวายคำกราบบังคมทูลรัชกาลที่  5  เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก  “แอบโซลูทโมนากี”  เป็น  “คอนสติติวชันแนลโมนากี”  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มี

การเสนอให้นำรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ  แต่การเรียกร้องไม่ได้เกิดความรุนแรง

ในสมัยรัชกาลที่  5  มีปัญญาชนที่เป็นนักเขียนเชิงปฏิรูปสังคมที่โดดเด่น  คือ  เทียนวรรณ  

และก.ศ.ร.กุหลาบ  ปัญญาชนทั้งสองได้เสนอความเห็นให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามแบบตะวันตกผ่านสิ่งพิมพ์  เทียนวรรณได้เสนอความเห็นผ่านหนังสือ “ตุลวิภาค พจนกิจ”  และ “ศิริพจนภาค”  ส่วน ก.ศ.ร.กุหลาบ  ได้เสนอไว้ใน “สยามประเภท”

ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่  6  รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการเติบโตของข้าราชการ  ข้าราชการบางคนลาออกไปประกอบอาชีพอื่น  เช่น  นายมังกร  สามเสน  เป็นพ่อค้า,  นายถวัติ  ฤทธิเดช  เป็นทนายความ  ส่วนคนที่เพิ่งจบการศึกษาอย่างกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ต้องไปประกอบอาชีพอิสระ  เช่น  นักเขียน  นักหนังสือพิมพ์

ขณะที่กิจการหนังสือพิมพ์เฟื่องฟูมาก  ชนชั้นสูงได้วางเฉยต่อบทบาทและท่าทีของชนชั้นกลาง  ปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน  ดังปรากฏว่า  ร้อยตำรวจตรีวาส  สุนทรจามร  ใช้นามปากกาว่า  “หมอโพล้ง”  เขียนบทความเรื่อง  “เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ”  ในหนังสือพิมพ์ “ราษฎร”  (มกราคม  2471)  โจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเรียกร้องสิทธิตามระบอบ

ประชาธิปไตยให้แก่ราษฎร

ในปี  พ.ศ.  2469  เกิดฎีการูปแบบใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก  คือ  ฎีกาแสดงความคิดเห็น  เช่น  นายชื้น  

อัมโภช  ถวายฎีกาเรื่องวิธีบำรุงการทำนา (พ.ศ.2474),  นายถวัติ  ฤทธิเดช  ถวายฎีกาเรื่องวิธีแก้ไขฐานะชาวนา (พ.ศ.2474),  นายสรวง  มุติภัย  ถวายฎีกาเรื่องเพื่อผดุงฐานะทางการเงินของประเทศ (พ.ศ.2474)

ปัญหาเศรษฐกิจไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475

-เศรษฐกิจการค้าของไทยผูกพันกับระบบทุนนิยมโลก  เพราะผูกการกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยนเงินตราใน

ระบบมาตรฐานทองคำ  เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  ไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทได้

-ปัญหาการขาดแคลนเงินสำหรับใช้จ่ายในราชการและมีการขาดดุลในงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่  6  ทรงมีโครงการใช้จ่ายเงินของรัฐหลายโครงการ  (ระหว่าง  พ.ศ.  2456  – 2459)  งบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายได้ตลอดทุกปี)  จนกระทั่ง  พ.ศ.2462  ประเทศต้องประสบภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมติดต่อกันเป็นเวลา  3  ปี  เป็นผลให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงมาก  รัฐต้องขาดรายได้จาก

การค้าข้าวกับต่างประเทศ  งบประมาณของประเทศอยู่ในภาวะขาดดุล  รายจ่ายมากกว่ารายรับอยู่

หลายปีจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่  6

-นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า  ในปี  พ.ศ.  2466  งบประมาณขาดดุลถึง  18  ล้านบาท  รัฐบาลได้นำเงินคงคลังที่สะสมไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  5  ออกมาใช้จ่ายจนหมด  จนกระทั่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังต้อง

ประกาศว่า  ฐานะการคลังของประเทศอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย  และเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาด้วยการตัดทอนรายจ่าย  คือ  ลดเงินงบประมาณของกระทรวงกลาโหมและให้ราชสำนักหยุดการก้าวก่ายเงินแผ่นดิน

-เมื่อรัชกาลที่  7  ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว

พระองค์ทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์และราชสำนัก  ปลดข้าราชการบางส่วนออก  ยุบตำแหน่งและกรมกองที่ไม่จำเป็นออก

สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่  1  ส่งผลกระทบมาถึงไทย  ครั้งนี้รัชกาลที่  7  ทรงใช้นโยบายดุลข้าราชการออกและลดเงินเดือนข้าราชการ  และใช้มาตรการเก็บเงินภาษีเพิ่ม  

โดยเก็บจากภาษีเงินเดือน

ความผิดพลาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชนชั้นสูง  ทำให้ชนชั้นกลางที่ติดตามข่าวอยู่ได้เห็นความ

เสื่อมและไร้ประสิทธิภาพของเจ้านายชั้นสูงที่ทำหน้าที่บริหารประเทศซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม

วิกฤตทางเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้อำนาจในระบอบเดิมถูก

สั่นคลอน  รัฐบาลในระบอบเก่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้  จึงนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาระบอบ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์  และล่มสลายลงในที่สุด

คณะราษฎรกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475

กลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปได้มีโอกาสคุ้นเคยกับแนวคิดทางการเมืองแบบตะวันตก  และรับรู้ถึงความเสื่อมสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป  เกิดแนวคิดในเชิงเปรียบเทียบว่า  ระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในสยาม  น่าจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศ  กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า  “คณะราษฎร”  ขึ้นครั้งแรกที่กรุงปารีส  เมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2469  เพื่อวางแผนดำเนินการ

เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมี

พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย

เมื่อคณะราษฎรจากปารีสกลับเข้าประเทศไทยแล้ว  ได้มีการชักชวนผู้คนเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น  จนกระทั่ง  พ.ศ.  2475  จึงมีการติดต่อกับสายนายทหาร  เพื่อพิจารณาร่วมกันในวิธีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และเห็นว่าต้องยึดอำนาจเท่านั้น

เช้าตรู่ของวันที่  24  มิถุนายน  2475  ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปร

พระราชฐานโดยทางรถไฟไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล  คณะราษฎรนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  (นายปรีดี  พนมยงค์)  เป็นหัวหน้า  ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง

ระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  โดยได้ใช้กำลังทหารบกและทหารเรือเข้ายึดสถานที่

สำคัญทางยุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ  และควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ประกัน  คณะราษฎรใช้

เวลาเพียง  3  ชั่วโมงเข้ายึดอำนาจโดยไม่มีการต่อต้านและเสียชีวิต  หลังจากนั้นคณะราษฎรได้กราบ

บังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับกรุงเทพฯ  เพื่อดำรงฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป

ทั้งนี้คณะราษฎรได้ยึด หลัก  6  ประการ  คือ  เอกราช  ความสงบปลอดภัย  เศรษฐกิจ  สิทธิเสมอภาค  เสรีภาพ  

และการศึกษา  ในการบริหารประเทศ

ในวันที่  27  มิถุนายน  2475  คณะราษฎรได้ทูลเกล้าถวาย  ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม

ชั่วคราว  พ.ศ.  2475  ให้รัชกาลที่  7  ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดใน

การปกครองประเทศ

พระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล  หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์)  ได้เสนอชื่อ  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์)  เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร

วันที่  10  ธันวาคม  พ.ศ.  2475  รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร  เปลี่ยนชื่อตำแหน่งประธานคณะกรรมการราษฎร เป็น นายกรัฐมนตรี

การเมืองไทยหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร  เมื่อวันที่  10  ธันวาคม  พ.ศ.  2475  แล้ว  

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์)  ร่างแผนการสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่งโครงร่างดังกล่าวเสนอให้  

มีการยกเลิกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  เปลี่ยนมาใช้การพัฒนาเศรษฐกิจในระบบสหกรณ์  รัฐจะเป็นผู้ควบคุม

การผลิตและการค้าข้าว  รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน  แรงงานและทุนทั้งหมด  นอกจากนี้รัฐยังทำหน้าที่กำหนดกลไกต่างๆ  ทางเศรษฐกิจ  เช่น  ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี  และดูแลสวัสดิการให้แก่ประชาชน

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  

(สมุดปกเหลือง)  โจมตีว่าเป็นแผนแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  และเสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ สมุดปกขาว ตอบโต้  ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจจึงทำให้เกิดความคิดแตกแยกกันอย่างเห็นได้ชัดทั้งในรัฐบาลและ

ในหมู่ผู้นำคณะราษฎร

หลังจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาชนะการลงคะแนนเสียงในคณะรัฐมนตรี  และได้ใช้ช่วงเวลานี้ออก

กฎหมายต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์  หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ  หนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกรัฐบาลสั่งปิด

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎรมีมากขึ้น  จนวันที่  20  มิถุนายน  2476  

พระยาพหลพลพยุหเสนาและนายพันโทหลวงพิบูลสงครามได้ทำรัฐประหาร  มีผลให้รัฐบาล

พระยามโนปกรณ์ฯ ถูกบังคับให้ลาออก  และพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว  มีการเรียกตัว

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกเรียกตัวกลับมาจากต่างประเทศโดยให้คำรับรองว่าจะไม่คิดดำเนินการ

โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติแบบบังคับรวมทุนและแรงงานอีก

เหตุการณ์กบฏบวรเดชฯ

การกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีผลให้บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางเก่าไม่พอใจ

เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะนำเอาระบอบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้  จึงร่วมกันก่อตั้ง “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ขึ้นมา  โดยมีพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร  เป็นหัวหน้า  นำทหารจากโคราช

มาสมทบกับทหารจากอยุธยาที่นำโดยพระยาศรีสิทธิสงคราม (ถิ่น  ท่าราบ)  หมายจะใช้ทหารหัวเมืองเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ

พันโทหลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งให้คุมทหารในกรุงเทพฯ  ซึ่งมีอาวุธและระเบียบวินัยดีกว่า  

เพื่อปราบปรามกองกำลังของคณะกู้บ้านกู้เมือง  ผลของการปะทะกันที่ดอนเมืองทำให้

พระองค์เจ้าบวรเดชฯและนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลบหนีไปอินโดจีน

ผลกระทบจากกบฏบวรเดชมีผลให้พระมหากษัตริย์กับรัฐบาลขาดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น  

ในท้ายที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมดหวังกับประชาธิปไตยของคณะราษฎร  

จึงได้เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ  ขณะประทับในต่างประเทศทรงปฏิเสธที่จะลงพระนาม

ในกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ  และทรงสละราชสมบัติในวันที่  2  มีนาคม  พ.ศ.  2477  รัฐบาลจึงเลือก

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลกรมหลวงสงขลานครินทร์ให้สืบราชสมบัติต่อไป

สรุป

การเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ.  2475  เป็นช่วงเวลาที่มีการต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่าง

รุนแรงระหว่างฝ่ายซ้ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบใหม่กับฝ่ายขวาที่ต้องการรักษาสภาพเดิมของ

ข้าราชการอาวุโสทั้งพลเรือนและทหาร

ในระยะแรกกลุ่มปีกซ้ายในคณะราษฎรนำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีบทบาทนำในการต่อสู้กับพลัง

ของระบบราชการทั้งทหารและพลเรือน  เขาได้พยายามที่จะสร้างความสมบูรณ์ให้กับการปฏิวัติด้วยการวางแผนเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  แต่ล้มเหลวไม่สามารถผลักดันความคิดสังคมนิยมของเขาให้เป็นจริงได้

ลัทธิชาตินิยมกับการสร้างไทยให้เป็นอารยประเทศในสมัยจอมพล  ป พิบูลสงคราม

พลตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก  ขีตตะสังคะ)  ได้รับการสนับสนุนจากคณะราษฎรให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน

เดือนธันวาคม  พ.ศ.  2481  รัฐบาลนี้มีนโยบายในการบริหารประเทศบนพื้นฐานอุดมการณ์ชาตินิยม  

มีความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อสร้างสังคมไทยให้เจริญทัดเทียมกับนานาชาติทางตะวันตก  หลวงพิบูลสงครามได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมืองไทยโดยกำหนดให้วันที่  24  มิถุนายน  

เป็นวันชาติแทนการใช้วันเฉลิมพระชนมพรรษา,  เปลี่ยนชื่อทางการของประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”,  เลือกเพลงที่ขึ้นต้นว่า  “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”  เป็นเพลงชาติ,  

รวมถึงการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กลางถนนราชดำเนิน

ระหว่าง  พ.ศ.  2482 – 2485  รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่า  “รัฐนิยม”  เพื่อสร้างความเป็นชาตินิยม  

มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นในปี  พ.ศ.  2483  เพื่อรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการบำรุงวัฒนธรรม  

สร้างวัฒนธรรม  เช่น  การสวมหมวก  สวมรองเท้า  ผู้หญิงให้ไว้ผมยาว  ขอร้องให้เลิกหมากพลู  

ประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์  ปรับตัวอักษรไทยใหม่  และใช้เลขอารบิกแทนตัวเลขไทย  เคารพธงชาติ

ทุกเช้าเวลา  08.00  น.

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น  หลวงพิบูลสงครามได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมที่มุ่งต่อต้านชาวจีน

โดยเฉพาะ  มีการออกกฎหมายสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้คนสัญชาติไทย  เช่น  ตัดผม  เผาถ่าน 

ถีบสามล้อ  เป็นต้น

การสร้างชาติสร้างวัฒนธรรมของจอมพล ป.  นั้น  

มีการใช้สื่อที่ทำให้เข้าถึงมวลชนได้ง่ายที่สุด  คือ  วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ  การใช้บทเพลงและบทละครเป็นสื่อ  โดยมีที่ปรึกษาคนสำคัญ  คือ  “หลวงวิจิตรวาทการ”

รัฐบาลไทยสมัยจอมพล  ป.พิบูลสงครามกับสงครามโลกครั้งที่  2

จอมพล ป.พิบูลสงครามคาดหมายว่าฝ่ายอักษะจะมีชัยชนะในสงคราม  หากไทยให้ความร่วมมือ (ร่วมวงไพบูลย์) กับญี่ปุ่น  จะเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายอำนาจออกไปรวมเผ่าไทยทั้งในลาว  รัฐฉาน  

ตลอดจนดินแดนสิบสองจุไท

เมื่อถึงปี  พ.ศ.  2484  ประเทศไทยจึงเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่  2  โดยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น  

และเมื่อญี่ปุ่นเปิดศึกทางด้านเอเชีย  กองทัพญี่ปุ่นได้บุกขึ้นทางภาคใต้ของไทย

ในวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ.  2484  รัฐบาลจอมพลป.  ได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ดินแดนไทยผ่านไปโจมตีจักรวรรดิอังกฤษในพม่า

และมลายู  ต่อมาได้ขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นมากขึ้น  เช่น  ประกาศสงครามกับอังกฤษและ

สหรัฐอเมริกา  และส่งกองทัพไปร่วมรบกับญี่ปุ่นทางเหนือของพม่า

ส่วนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจอมพล ป.  จึงดำเนินงานเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นกับกลุ่ม “ขบวนการเสรีไทย”

ขบวนการเสรีไทย (Free Siamese Movement)  เป็นขบวนการใต้ดินจากความร่วมมือของคนไทยทั้งในและนอกประเทศ  

โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและคัดค้านรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น  ในประเทศไทย

มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์) เป็นแกนนำ,  ในสหรัฐอเมริกามี ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันเป็นหัวหน้า  ส่วนในอังกฤษมี ม.จ.ศุภสวัสดิวงศ์สนิท  สนิทวงศ์  เป็นแกนนำ

ขบวนการเสรีไทยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในการฝึกการสืบราชการลับ  และส่งข้อมูล

ของญี่ปุ่นให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร

สงครามยิ่งดำเนินไปฝ่ายญี่ปุ่นก็ยิ่งเพลี่ยงพล้ำมากยิ่งขึ้น  อำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. ค่อยๆ ลดลง  และตกต่ำถึงที่สุดในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  2487  เมื่อเสนอโครงการนครหลวงเพชรบูรณ์

และพุทธบุรีมณฑล  สระบุรี  แต่สภามีมติไม่รับพระราชกำหนดทั้ง  2  ฉบับ  ซึ่งมีผลกดดันให้

จอมพล ป.  ต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังสงครามโลก  ฝ่ายเสรีไทยได้พยายามขอความเห็นใจจากฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอให้การประกาศ

สงครามของไทยเป็นโมฆะ  เพื่อจะได้ไม่ถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

รัฐบาลพลเรือนหลังสงครามโลกครั้งที่  2 

หลังสงครามโลก  ทหารและกลุ่มนักการเมืองอำนาจนิยมต้องถูกลดบทบาททางการเมืองลง  

เพราะถูกมองว่าเป็นเผด็จการใฝ่สงครามและชักศึกเข้าบ้าน  กลุ่มการเมืองต่างๆ  ได้หันมาสนับสนุน

รัฐบาลเสรีไทย  ช่วงเวลาสั้นๆ  หลังสงครามโลกจึงเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลพลเรือน  ซึ่งพยายาม

สถาปนาการเมืองแนวคิดประชาธิปไตยระบบรัฐสภาให้แข็งแกร่งขึ้น  แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไม่มี

เสถียรภาพ  ภายในเวลา  2  ปี  มี  8  รัฐบาล  และเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง  5  คน

ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่  8  เมื่อวันที่  9  มิถุนายน  2489  รัฐบาลของนายปรีดี  พนมยงค์  

ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อกรณีสวรรคตนี้ได้  ในที่สุดกรณีสวรรคต

ก็กลายเป็นเกมการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำมาใช้ในการโจมตีรัฐบาลของนายปรีดี  พนมยงค์  ถึงขนาดกล่าวหาว่านายปรีดี  เป็นคนพัวพัน  แหล่งข่าวลือผ่านหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย,  ศรีกรุง  และ

เกียรติศักดิ์  มีผลทำให้นายปรีดีต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และทำให้

พลเรือตรีถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์  เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ช่วงเวลาของรัฐบาลพลเรือน  บ้านเมืองอยู่ในสภาวะหลังสงครามและได้รับผลกระทบจาก

สภาพเศรษฐกิจตกต่ำเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง  เดือนธันวาคม  2489  รัฐบาลได้จัดตั้ง องค์การสรรพาหารเพื่อขายสินค้าราคาถูกแก่ประชาชน  แต่ดำเนินการได้เพียง  5  เดือนก็ต้องปิด   

เพราะมีการทุจริตคอรัปชั่นกันมาก  ปัญหาเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องตัดงบประมาณรายจ่ายลง  

จึงมีการปลดทหารประจำการจำนวนมาก  ฝ่ายทหารจึงไม่พอใจ  จึงมีผลนำไปสู่การทำรัฐประหาร

ในเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.  2490

รัฐบาลทหาร  พ.ศ.  2490 – 2500

คณะผู้ยึดอำนาจเมื่อวันที่  8  พฤศจิกายน  2490  เรียกตนเองว่า  “คณะทหาร”  

มีพลโทผิน  ชุณหะวัณ  และนาวาอากาศเอก กาจ  กาจสงคราม  ได้เชิญจอมพล ป.พิบูลสงครามมาเป็นหัวหน้า  การยึดอำนาจครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ขัดขืน  หลังจากยึดอำนาจแล้ว

คณะรัฐประหารได้ให้นายควง  อภัยวงศ์ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล  แต่พอถึงเมษายน  2491  คณะรัฐประหารบังคับให้นายควง  ลาออก  

และให้จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  การดำรงตำแหน่งครั้งนี้ของจอมพล ป.  

ครั้งที่  2  นี้ยาวนานถึง 10 ปี  

แต่ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนครั้งแรก  แต่อำนาจกลับอยู่ที่คณะรัฐประหาร

ช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งของจอมพล ป.ดังกล่าว  เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับการยึดอำนาจหลายครั้ง  คือ  กบฏเสนาธิการ (1  ตุลาคม  2491),  กบฏวังหลวง (26  กุมภาพันธ์  2492),  กบฏแมนฮัตตัน (29  มิถุนายน  2494)

ในช่วงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ในครั้งที่  2  นี้  อำนาจทางกองทัพบก  อยู่ใต้บังคับบัญชาของพลเอกสฤษดิ์  ธนะรัชต์  จอมพลป.

จึงได้เสริมสร้างกรมตำรวจให้เข้มแข็งโดยมีพลตำรวจเอกเผ่า  ศรียานนท์เป็นอธิบดีกรมตำรวจ  

และได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา (CIA)  มีการจัดตั้งกองตำรวจรถถัง,  ตำรวจพลร่ม,  ตำรวจน้ำ  และตำรวจตระเวนชายแดน

จอมพล ป.พิบูลสงคราม  ได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคเสรีมนังคศิลา 

และลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.  2500  มีหลักฐานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มี การโกงกันมาก  อย่างไรก็ตามรัฐบาลจอมพล  ป.  ก็บริหารประเทศต่อมาด้วยเวลาอันสั้น   

เพราะพลเอกสฤษดิ์  ธนะรัชต์ก่อรัฐประหารในวันที่  16  กันยายน  2500

สมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร  จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  และจอมพลถนอม  กิตติขจร

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่  16  กันยายน  2500  คณะรัฐประหารได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการ

แต่งตั้งนายพจน์  สารสิน  เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

(ส.ป.อ.  หรือ  SEATO)  ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างยุติธรรม

หลังการเลือกตั้งได้มีการเสนอชื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  เป็นนายกรัฐมนตรี  แต่จอมพลสฤษดิ์ปฏิเสธ  พลเอกถนอม  กิตติขจร  จึงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เดินทางกลับมาเมืองไทยในวันที่  19  ตุลาคม  พ.ศ.  2501  ในวันรุ่งขึ้น

พลเอกถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ในคืนวันเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึด

อำนาจ  โดยมีพลเอกถนอมเป็นรองประธานคณะรัฐประหาร

หลังการทำรัฐประหารแล้ว  จอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจรัฐบาลอย่างเด็ดขาด  

รูปแบบการปกครองเป็นแบบเผด็จการทหาร (อำนาจนิยม)  จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  มีการรื้อฟื้นประเพณีต่างๆ  เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์  มีการยกเลิกการจำหน่ายและสูบฝิ่น  สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมตามคำขวัญที่ว่า  “น้ำไหล  ไฟสว่าง  ทางดี  มีงานทำ  บำรุงความสะอาด”  

มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในด้านอุตสาหกรรมและ

การพัฒนาชนบท  มีการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตามคำแนะนำของธนาคารโลกและ

สหรัฐอเมริกา  เพื่อจะให้ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแรงพอที่จะป้องกันตนเองจากการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์  พร้อมทั้งขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ชนบท  

ส่วนหลักการปกครองถือหลัก “พ่อปกครองลูก”  (พ่อขุน)

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นี้  กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น  ในระหว่างที่ยังร่างไม่เสร็จได้ใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร  พ.ศ.  2502”  ซึ่งมาตรา  17  ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจ

นายกรัฐมนตรีอย่างมาก  สามารถตัดสินใจโดยเด็ดขาดเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของ

ประเทศ  เช่น  สามารถสั่งประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ.  2506  แล้ว  

มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกถนอม  กิตติขจร  เป็นจอมพล  เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี  

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย  และยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย  

ส่วนพลเอกประภาส  จารุเสถียร  เป็นผู้บัญชาการทหารบก  รัฐมนตรีกลาโหม  

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จอมพลถนอมพยายามสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ของจอมพลสฤษดิ์ไว้  

แต่จอมพลถนอมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดึงกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้มาสนับสนุนรัฐบาล  ในสถานการณ์ที่มีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างไม่ชอบธรรม  และรัฐบาลจอมพลถนอมมีอำนาจมากเป็นเวลานานเกินไป  รัฐบาลไม่สนใจที่จะประชาสัมพันธ์หรือสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน  ไม่สนใจว่าประชาชนจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรกับรัฐบาล  

และไม่คิดว่าจะมีใครขึ้นมาท้าทายอำนาจของตนได้  ขณะที่ประชาชนมีความร่วมกับนักศึกษาในการต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ  จนนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล  ใน “เหตุการณ์  14  ตุลา  2516”