ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ชื่อวัด : วัดช่องแค นครสวรรค์

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติหลวงพ่อพรหมวัดช่องแค

ประวัติพระเกจิ

หลวงพ่อพรหม

ประวัติหลวงพ่อพรหม

หลวงพ่อพรหม ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปี มะแม ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๖ ณ ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายหมีและนางล้อม โกสะลัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกันทั้งสิ้น ๔ คน

หลวงพ่อพรหมในขณะเยาว์วัยได้ศึกษาอ่านเขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับฉายาว่าถาวโร โดยมีหลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญและเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงพ่อพรหม เริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วง ต่อมาเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษาอสุภกรรมฐาน สมถะกรรมฐาน วิปัสสนา จากหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ ๔ ปี ในพรรษาที่ ๕ อาจารย์พ่วง ได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาส และได้ศึกษาวิชาแขนงต่างๆเป็นเวลา ๕ ปีเต็ม จนกระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม ซึ่งในภายหลังหลวงพ่อพรหมได้นำกระดูกมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค จากนั้นหลวงพ่อพรหม ก็ไม่ได้ไปศึกษากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงมีแต่ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่และรุ่นเดียวกันในระหว่างธุดงค์

สร้างวัดช่องแค

หลวงพ่อพรหม ชอบที่จะเดินธุดงค์เป็นอย่างมาก ทั้งเส้นทางใกล้และไกล โดยหลวงพ่อเคยเดินธุดงค์ไปประเทศพม่าถึงเมืองย่างกุ้ง และได้มีโอกาสที่มนัสการพระเจดีย์ชะเวดากอง ก่อนจะเดินธุดงค์ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ และธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน จึงเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก และเดินเรื่อยๆไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก หลวงพ่อพรหม ได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพรหม เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม จึงเริ่มปลูกต้นไม้แห่งศรัทธาลง ณ ช่องเขาแห่งนี้นี่เอง ซึ่งขณะที่หลวงพ่อพรหมจำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว ๒ รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาส ภายในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆ บริเวณวัดรกร้าง

             ต่อมาชาวบ้านในแถวนั้นซึ่งมีความนับถือเลื่อมใสหลวงพ่อได้นิมนต์ให้หลวงพ่อพรหมลงมาจำพรรษาข้างล่าง คือวัดช่องแคในปัจจุบัน หลวงพ่อพรหม จึงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกอย่างเป็นทางการของวัดช่องแค โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น หลวงพ่อพรหมได้เริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างไม่มีเสนาสนะใดๆ เมื่อปี ๒๔๖๐ มาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของหลวงพ่อเอง ต่อมาเมื่อทางวัดจะสร้างโบสถ์ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัดจึงขออนุญาตหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคลขึ้นจนหลวงพ่อพรหมกลายมาเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้นี่เอง

ตลอดระยะเวลา ๕๘ ปี หลวงพ่อพรหมไม่เคยย้ายไปอยู่วัดใดเลย โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงพ่อได้ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธมมวโร เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน จนกระทั่งหลวงพ่อพรหม มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ณ.โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา นับเป็นการสิ้นสุดอีกหนึ่งตำนานเกจิชื่อดังของชาวนครสวรรค์ในที่สุด

หลังการมรณภาพ

หลังจากหลวงพ่อพรหม มรณภาพแล้ว คณะกรรมการวัดได้บรรจุศพของท่านไว้ในโลงแก้ว อยู่บนศาลาการเปรียญ ศพของหลวงพ่อพรหมไม่เน่าเปื่อย มด ไร มอด และ แมลง ไม่ได้รบกวนทำลายชิ้นส่วนใดๆในร่างกายของท่านแม้แต่น้อย คล้ายกับหลวงพ่อนอนหลับอยู่ แม้ว่าท่านจะมรณภาพมาแล้วถึง๓๐กว่าปี นอกจากนี้ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับสรีระสังขารของท่านอีก ๗ ประการ ได้แก่ เส้นผมงอกยาว ๕-๖ มิลลิเมตร ,เส้นขนคิ้วงอกยาว ๕-๖ มิลลิเมตร ,เส้นขนตางอกยาว ๑ เซนติเมตร ,หนวดงอกยาว ๕-๖ มิลลิเมตร ,เคราใต้คางยาว ๕-๖ มิลลิเมตร ,เล็บมืองอกยาว ๑ เซนติเมตร และเล็บเท้างอกยาว ๔-๕ มิลลิเมตร

วัตถุมงคล

ตามลักษณะนิสัยของหลวงพ่อพรหมนั้น ท่านชอบระฆังเป็นอย่างมาก ทำให้ในการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อจึงมีรูประฆังและกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อพรหม

นอกจากนี้หลวงพ่อพรหม ยังมีวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัยหยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวนรอบๆ ๙ รอบ แล้วจึงนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆโดยที่หลวงพ่อลืมตาเพ่งกระแสจิตอัดพลัง แล้วจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคลทั้งหลายแล้วหลวงพ่อจะจับบาตรใส่วัตถุมงคล เพ่งกระแสจิตอีกครั้งจนกระทั่งวัตถุมงคลเหล่านั้น มีรังสีพุ่งออกมา จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่าพระเนื้อผงของหลวงพ่อจะมีรอยบิ่น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เพราะเกิดจากหลวงพ่อเอามือคนในบาตร ดังนั้นพระที่มีรอยบิ่นจึงสันนิษฐานได้ว่า ได้สัมผัสกับมือหลวงพ่อโดยตรง และเป็นที่ต้องการสำหรับนักสะสมเป็นจำนวนมาก