เหตุการณ์ ทาง ประวัติศาสตร์ไทย สมัยอยุธยา

ย่ำกรุงเก่า เล่าเรื่องราชวงศ์จักรี-คณะราษฎรในอยุธยา กับ ชาตรี ประกิตนนทการ

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย ณภัทร เวชชศาสตร์ และ ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

5 พฤศจิกายน 2022

เหตุการณ์ ทาง ประวัติศาสตร์ไทย สมัยอยุธยา

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

อ.ชาตรีระบุว่า โบราณสถานที่เป็นซากในอยุธยา ความเสียหายใหญ่เกิดจากการรื้อย้ายอิฐไปสร้างกรุงเทพฯ ไม่ใช่เกิดจากการต่อสู้กับพม่า

อยุธยา ราชธานี 417 ปีของอาณาจักรสยามที่ล่มสลายลงเพราะสงคราม กลับมามีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะเครื่องมือสร้าง "อดีต" และ "ประวัติศาสตร์" ให้แก่รัฐชาติสมัยใหม่ นับจากยุคเริ่มต้นเปิดประเทศ ปฏิรูปสยาม ปฏิวัติสยาม และยุคชาตินิยมไทย

พื้นที่ที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมของรัฐจารีต ถูกใช้งานโดยชนชั้นนำของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อย่างตั้งใจ ก่อนกลายเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้สอยได้ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยถือเป็นเมืองเก่าไม่กี่แห่งที่ผู้คนในบริบทปัจจุบันแทรกอยู่ในโบราณสถานและเนื้อเมืองเก่า

บีบีซีไทยร่วมเดินทางไปกับ ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ เพื่อสำรวจร่องรอยประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

การเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 ส่งผลให้เมืองอยุธยาถูกทิ้งร้าง อิฐมหาศาลถูกรื้อ-ย้าย-ขนถ่ายไปสร้างกรุงเทพมหานครในยุคต้นรัตนโกสินทร์

แม้มีความพยายามบูรณะสถานที่สำคัญ ๆ แต่มิอาจฟื้นฟูเมืองเก่าให้กลับมาชีวิตดังเดิม

  • เยือนลพบุรี ดูมรดกที่เหลืออยู่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการอภิวัฒน์ 2475
  • สำรวจความคิด "คณะราษฎร" ผ่านมรดกทางวัฒนธรรม
  • เปิดพระราชหัตถเลขา ร.7 ถึงที่ปรึกษาอังกฤษ ก่อนรัฐประหาร 2476

กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ที่อาจารย์ชาตรีเรียกว่า "การปฏิสังขรณ์อดีต" ซึ่งเขาให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นการซ่อมแซม สร้างกลับ โดยมีการแต่งเติม เสริม เพิ่มเข้าไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ได้สนใจความเป็นต้นฉบับดั้งเดิมแท้ 100% ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของการบูรณะโบราณสถานในยุคก่อนสมัยใหม่

นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแบ่งการปฏิสังขรณ์อดีตในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาออกเป็น 3 ระลอก ได้แก่

  • พ.ศ. 2394-2475 โดยราชวงศ์จักรี
  • พ.ศ. 2475-2490 โดยคณะราษฎร
  • พ.ศ. 2490-2500 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ในแต่ละระลอกได้เกิดการ "รื้อฟื้นอดีต" และ "ตีความอดีตใหม่" หลายเรื่องกลายเป็นเค้าโครงประวัติศาสตร์ไทยที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน

ราชวงศ์จักรี : การสร้างประวัติศาสตร์ "สยามใหม่"

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์บนพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาริเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในวัง และวัด

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระสยามเทวาธิราชทูลเชิญพระอิศวรเสด็จลงมาจุติเป็นพระนเรศวรภายในวัดสุวรรณดาราราม เขียนโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร (ในสมัย ร.7) ถือเป็นประวัติพระองค์ดำในแบบที่ต่างออกไป เพราะมีการแทรกเรื่องบุญบารมีและเรื่องเล่าโบราณลงไปด้วย

ศ.ดร. ชาตรีนำคณะไปเยือน 2 วัดสำคัญที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัย ร.4 นั่นคือ วัดสุวรรณดาราราม ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเพิ่มหลายหลัง ทั้งวิหาร เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย 10 องค์ หอระฆัง และกำแพงแก้วล้อมรอบเขตพุทธาวาส และวัดเสนาสนาราม (วัดเสื่อ) ซึ่งให้บูรณะเสมือนสร้างใหม่ แล้วปรับเป็นวัดในธรรมยุติกนิกาย โดยวัดแห่งหลังได้รับการเปรียบเปรยเป็นวัดคู่แฝดของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามใน กทม. ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลด้วย

ศิลปสถาปัตยกรรมของวัดสุวรรณดารารามและวัดเสนาสนารามที่มีลักษณะร่วมกัน หนีไม่พ้น หน้าบันและซุ้มประตูลายพระมหามงกุฏ พระราชลัญจกรประจำพระองค์ (พระนามเดิมของ ร.4 คือ เจ้าฟ้ามงกุฏ) และเจดีย์ทรงกลม ซึ่งจากการศึกษาของ ศ.ดร. ชาตรี พบว่าเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวที่สามารถโยงกลับไปหาพุทธวจนะได้ ขณะที่สถูปเจดีย์ทรงปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นของครูบาอาจารย์ยุคหลังซึ่งพุทธศาสนาเริ่มบิดผันไปเป็นพราหมณ์แล้ว

"รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย หลัก ๆ คือการย้อนกลับไปหาพุทธเดิมแท้ที่ถูกต้อง กลับไปหาคำพูดคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเจดีย์ทรงระฆังกลมสามารถโยงไปถึงพุทธแท้ได้ ดังนั้นเราจะเห็นเจดีย์ทรงนี้ในวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4" ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม ม.ศิลปากร กล่าว พลางชี้ชวนให้ดูเจดีย์ทรงพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

วัดเสนาสนารามใน จ.พระนครศรีอยุธยา เปรียบเหมือนวัดคู่แฝดของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามใน กทม. ซึ่งเป็นวัดประจำ ร.4

พระราชวังจันทรเกษม ซึ่งมีสถานะเป็นวังหน้าในสมัยอยุธยา ก็ได้รับการบูรณะเสมือนสร้างใหม่ในสมัย ร.4 เช่นกัน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสกรุงเก่า

"ความสำคัญคือการมีพระราชวังของกษัตริย์ฟื้นกลับมาที่อยุธยาเป็นครั้งแรกนับจากเสียกรุง และไม่ใช่แค่อยุธยา แต่มีการย้อนกลับไปยังเมืองเก่าอื่น ๆ ทั้งที่ลพบุรี สุโขทัย รื้อฟื้นให้เป็นประวัติศาสตร์ชุดเดียวกันของชาติ มีการสร้างวังทับลงบนโบราณสถานเดิมที่เชื่อว่าเคยเป็นวังอันยิ่งใหญ่" ศ.ดร. ชาตรีเล่า

เขาขยายความว่า ประวัติศาสตร์เป็นทรัพยากรชั้นดีในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐสมัยใหม่ การอ้างถึงความเป็นประเทศที่มีความเก่าแก่ยาวนานทางประวัติศาสตร์ มีเมืองเก่าที่ยิ่งใหญ่ย้อนกลับเป็นร้อยเป็นพันปี คือสิ่งที่โลกในยุคสมัยใหม่ต้องการ ต่างจากโลกยุคเก่าที่ไม่ต้องการอดีตแบบนี้ ทำให้เมืองเก่าที่เสียไปแล้ว หมดสถานะและความศักดิ์สิทธิ์ลงแล้ว ถูกทิ้งร้าง

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

พระราชวังจันทรเกษมได้รับการฟื้นสถานะให้เป็นวังอีกครั้งในยุค ร.4 ก่อนกลายเป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า ซึ่งมีพระยาโบราณราชธานินทร์เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ทว่าภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จันทรเกษม จนถึงปัจจุบัน

แม้ ร.4 ทรงริเริ่มการปฏิสังขรณ์อดีตในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญแท้จริงเกิดขึ้นในสมัย ร.5 ที่พระราชวังกรุงเก่า ซึ่งมีการสำรวจ ขุดค้น และบูรณะพื้นที่แห่งนี้ตามแนวคิดสมัยใหม่เป็นครั้งแรก

ศ.ดร. ชาตรีนำคณะเดินลัดเลาะผ่านวัดพระศรีสรรเพชญ แลเห็นเจดีย์เรียงรายสลับกับวิหารขนาดเล็กในสภาพปรักหักพัง เข้าสู่เขตพระราชวังโบราณซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์อยุธยา ก่อนมาหยุดอยู่กลางสนามหญ้ากว้างสุดลูกหูลูกตา ทว่าขาดความเขียวชอุ่ม ถัดไปไม่ไกลมีฐานอิฐ ผนังก่ออิฐ และเสา 2 ต้น หากปราศจากคำบรรยายของนักวิชาการผู้รับบทไกด์กิตติมศักดิ์ ย่อมไม่อาจจินตนาการได้ว่าซากโบราณสถานที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์

"จุดที่ทุกคนยืนอยู่นี้ คือลานด้านหน้าของพระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ. 126 สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายของการปฏิสังขรณ์อดีตในระลอกแรก"

พระราชพิธีนี้จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติยาวนาน เสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองคราวราชย์ยาวนานที่สุดในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ปีต่อมา มีพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในโอกาสครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี ยาวนานยิ่งกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์)

ที่มาของภาพ, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ,

ร.5 เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (สร้างขึ้นชั่วคราว) ในพระราชพิธีรัชมงคล พ.ศ. 2450

ในช่วงเวลา 4-5 วันของพระราชพิธี ภาพความยิ่งใหญ่ของราชธานี 417 ปีถูกรื้อฟื้น-ปรากฏแก่สายตาของเจ้านายชนชั้นนำสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่

  • กำแพงหน้าพระราชวัง : มีการก่อกำแพงเมือง ประตูเมือง และฉนวนขึ้นมาใหม่เป็นแนวยาว
  • พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท : มีการสร้างพระที่นั่งชั่วคราวขึ้นใหม่บนฐานรากเดิม เพื่อใช้เป็นที่ประทับ บำเพ็ญพระราชกุศล และประกอบพระราชพิธีบวงสรวงอดีตกษัตริย์อยุธยา
  • ท้องสนามหน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท : ได้รับการปรับแต่งให้เป็นสถานที่จัดแสดงมหรสพ
  • พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ : มีการสร้างพลับพลาและปรับสภาพ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงเจ้านาย

"เหตุการณ์นี้เป็นพิธีกรรมใหม่ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์เข้ากับราชอาณาจักรอยุธยา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องกลับมาทำถึงอยุธยาที่เคยทิ้งร้าง ไม่มีใครสนใจ"

"การได้มองเห็นกษัตริย์รัตนโกสินทร์ประทับและประกอบพระราชพิธีภายในมหาปราสาทของกษัตริย์อยุธยา... มันคือการสร้างเส้นเชื่อมทางพระมหากษัตริย์ของประเทศสยามผ่านประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ที่ยาวไกลไปเรื่อย ๆ ต่อเนื่องกัน เป็นวงศ์เดียวกัน แม้ต่างราชวงศ์ แต่เป็นสายของสถาบันกษัตริย์ชาติสยามเหมือนกัน"

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ภายในพระราชวังกรุงเก่าเป็นสถานที่ประชุมจัดตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อสืบสวนเรียบเรียงเรื่องราวของสยามในอดีต โดยมี ร.5 ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก มีพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ร่วมเป็นสมาชิก

2 ธ.ค. 2450 วันสุดท้ายของพระราชพิธีรัชมงคลที่กรุงเก่า ในหลวง ร.5 ทรงประชุมจัดตั้ง "โบราณคดีสโมสร" ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างจริงจังโดยชาวสยาม

ศ.ดร. ชาตรีอัญเชิญพระราชดำรัสเปิดโบราณคดีสโมสรเมื่อ 115 ปีก่อนมาถ่ายทอดเป็นบางช่วง และตีความเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไม่เพียงต้องการให้มีการปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยา แต่ยังคาดหวังไปถึงการปฏิสังขรณ์อดีตของบ้านเมืองอื่น ๆ ภายในอาณาบริเวณของประเทศสยาม ไม่ว่าจะเป็น เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย (ชื่อเรียกในขณะนั้นของสุโขทัย) อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ ฯลฯ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ "สยามสมัยใหม่" ขึ้นมา

ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับแนวพระราชดำรินี้มาใช้ชำระพระราชพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศจาก รัฐจารีต สู่ รัฐยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจารย์ชาตรีชี้ว่า ได้เกิดสำนึกใหม่ว่าด้วยรัฐและชาติในหมู่ชนชั้นนำ ทำให้อดีตและประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ที่มาของภาพ, สมุดภาพกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อน พ.ศ. 2500

คำบรรยายภาพ,

ขบวนช้างเสด็จของ ดุ๊กโยซัน อัลเบรกต์ แห่งเยอรมนี ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิก พร้อมด้วยพระชายา ร่วมฉายพระรูปบริเวณหน้าวิหารมงคลบพิตร ระหว่างเสด็จประพาสกรุงเก่าเมื่อ 8 ก.พ. 2452

หลังจากนั้นพื้นที่พระราชวังหลวงสมัยอยุธยาได้กลายเป็นสถานที่ที่กษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญเรื่อยมา เช่น ในปี พ.ศ. 2453 ร.6 เสด็จมาประกอบพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ พระที่นั่งตรีมุข ในพระราชวังกรุงเก่า ในปี พ.ศ. 2469 ร.7 เสด็จมาประกอบพระราชพิธีเดียวกันภายหลังขึ้นทรงราชย์

เช่นเดียวกับสถานที่ใกล้เคียงและวัดวาอารามต่าง ๆ ที่ชนชั้นนำสยามและแขกบ้านแขกเมืองเดินทางมาเยี่ยมชมอยู่เนือง ๆ

ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นเสมือนจุดเปลี่ยนทางความหมายจาก "เมืองที่ถูกทิ้งร้าง" กลายเป็น "เมืองโบราณที่เป็นหลักฐานของอดีตราชธานีเก่าอันยิ่งใหญ่ของสยาม" อาจารย์ชาตรีสรุป

นี่คือผลิตผลสำคัญของการปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยาที่เกิดขึ้นภายใต้บริสังคมการเมืองแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

คณะราษฎร : ชุบชีวิตเมืองด้วยคน

ทว่าภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิสังขรณ์อดีตก็เกิดขึ้นเป็นระลอก 2 เพื่อรองรับระบอบใหม่และอุดมการณ์การเมืองชุดใหม่

"ความแตกต่างที่สำคัญจากระลอกแรกคือ การเข้าไปบูรณะวัดตอนในทั้งหลาย ไม่มีวังเลย และไปเปิดพื้นที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์มากขึ้น" ศ.ดร. ชาตรีเกริ่นนำ

ที่มาของภาพ, CHATRI PRAKITNONTHAKAN

คำบรรยายภาพ,

แผนที่แสดงแนว ถ.โรจนะ ที่ตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา และโครงการก่อสร้างสำคัญ ๆ ในยุคคณะราษฎร

ความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นกับการอนุรักษ์โบราณสถานในยุคคณะราษฎรมี ดังนี้

  • พ.ศ. 2476 จัดตั้งกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ โดยหนึ่งหน้าที่รับผิดชอบคือการดูแลโบราณสถาน
  • พ.ศ. 2477 ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
  • พ.ศ. 2478 อธิบดีกรมศิลปากรในฐานะผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา 69 แห่ง โดยห้ามทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้าย
  • พ.ศ. 2481 ออก พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติแผ่นดินและที่วัดร้างภายในกำแพงเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมเนื้อที่ราว 4,500 ไร่ ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร ดำรงตำแหน่ง รมว.คลังในขณะนั้น
  • พ.ศ. 2481 จัดตั้งเทศบาลเมืองนครศรีอยุธยา

นักวิชาการ เจ้าของผลงานเขียน "ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์" ระบุว่า การปฏิสังขรณ์อดีตในระลอก 2 มุ่งเน้นการอนุรักษ์ควบคู่การพัฒนาเมือง โดยคณะราษฎรต้องการชุบชีวิตเมืองให้เต็มไปด้วยผู้คน-นำความเจริญสมัยใหม่ใส่เข้าไป จึงเน้นโครงการเปิดพื้นที่เมือง

รูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ การสร้างทางหลวงแผ่นดินสายวังน้อย-อยุธยา หรือที่เรียกว่า ถ.โรจนะ ผ่าเข้าไปกลางเกาะเมืองอยุธยา และการสร้างสะพานปรีดี-ธำรง เชื่อมต่อการการสัญจรด้วยรถยนต์เข้าสู่เกาะเมืองอยุธยาเป็นครั้งแรก

สะพานที่ตั้งตามชื่อของ 2 แกนนำคณะราษฎร ผู้เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เปลี่ยนสภาพการตั้งรกราก-สร้างที่อยู่อาศัยของชาวเมืองไปอย่างมีนัยสำคัญ จากเคยใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำรอบเกาะเมือง เดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ ก็ย้ายไปพักอาศัยในพื้นที่ตอนในของเกาะอยุธยามากขึ้น

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ด้านหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดมีเสา 6 ต้น สื่อถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และปลายเสาติดตั้งประติมากรรมของวีรกษัตริย์และวีรสตรี ได้แก่ พระเจ้าอู่ทอง, พระบรมไตรโลกนาถ, พระนเรศวร, พระนารายณ์, พระศรีสุริโยทัย และพระเจ้าตากสิน

ที่มาของภาพ, HATAIKARN TREESUWAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

อาคารหลังนี้เป็นหนึ่งในมรดกยุคคณะราษฎร โดย 2 แกนนำ - ปรีดี พนมยงค์ นายกฯ คนที่ 7 และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกฯ คนที่ 8 - เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด และเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้

นอกจากนี้ยังมีการสร้างสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด และโรงเรียน ด้วยศิลปสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร

อาคารสิริมังคลานันท์ของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งนายปรีดี-หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นศิษย์เก่า (ชื่อในขณะนั้นคือ โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า) เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมยุคนั้น สะท้อนผ่านอาคารรูปทรงเรขาคณิต หลังคาแบน ไม่ขึ้นเป็นจั่ว ไม่มีลวดลายไทย สื่อถึงความเสมอภาค และลดฐานานุศักดิ์ทางสังคม

คณะราษฎรยังเข้าไป "จัดการ" และ "สร้างความหมายใหม่" ให้แก่โบราณสถานบางแห่งด้วย ที่ยังมีหลักฐานปรากฏถึงปัจจุบันคือเจดีย์วัดสามปลื้ม ซึ่งถูกรื้ออาคารประกอบทั้งวิหาร โบสถ์ ออกไป จนเหลือเจดีย์ประธานเพียงองค์เดียว อาจารย์ชาตรีชี้ว่า นี่เป็นการเปลี่ยนความหมายของเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ในแบบประเพณี ไปสู่การเป็นอนุสาวรีย์-วงเวียน-หมุดหมายของเมือง (แลนด์มาร์ก) กลางถนนสมัยใหม่

"มันคือการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองใหม่แทรกอยู่ในเมืองเก่า ซึ่งโมเดลนี้เป็นที่ถกเถียงนะ เพราะหลายคนมองว่าเป็นตัวทำลายโบราณสถาน ซึ่งก็จริง วัดวาอารามหลายแห่งถูกรื้อทิ้งมากในช่วงการพัฒนาอันนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เมืองมีชีวิต ไม่ใช่กลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่มีใครทำโมเดลนี้แล้วนะ ถ้าเจอเมืองเก่า ไม่มีใครเขาตัดถนน หรือเข้าไปอยู่อาศัยแล้ว ก็จะปล่อยสภาพเดิมไว้ทั้งหมด" ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรมกล่าว

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

เจดีย์วัดสามปลื้มต้องเหลือเพียงองค์เดียวหลังมีการตัด ถ.โรจนะ ผ่านกลางพื้นที่วัดสามปลื้ม โดยชาวเมืองเก่าบางส่วนตั้งชื่อเล่นให้เจดีย์องค์นี้ “เจดีย์นักเลง” เพราะแม้แต่รถที่วิ่งมาก็ยังต้องหลบให้

จอมพล ป. : อนุสาวรีย์ที่ไม่ได้สร้าง กับ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อเกิด "อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียว" ในวงการโบราณคดี

เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลง แต่หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรนามว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในปี พ.ศ. 2491-2500

อดีตอันยิ่งใหญ่ของศูนย์กลางอาณาจักรสยามก็ถูกใช้เป็นโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย การปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยาเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสู่ระลอก 3 โดยมีเป้าหมายเพื่อการบูรณะโบราณสถานที่สำคัญของอยุธยาให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์หรือใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด

โครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้ อาทิ การปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ, การบูรณะเจดีย์สามองค์ วัดพระศรีสรรเพชญ รวมถึงการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทว่าโครงการหลังยังไม่ทันเกิดขึ้นก็มีต้องพับไป หลังรัฐบาลจอมพล ป. ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ. 2500

"ในระลอกนี้ มีความพยายามจะสร้างหรือตีความใหม่ ๆ ให้แก่โบราณสถานเหมือนกัน เช่น วงเวียนวัดสามปลื้ม ก็ทำเป็นฉากสำหรับสมเด็จพระเจ้าตากสินในการเสด็จหนีออกจากอยุธยา ผมคิดว่าถ้าอนุสาวรีย์นั้นสำเร็จ คงจะปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมได้ดีทีเดียวว่าโอ้โหคนไทยกลุ่มพระเจ้าตากกำลังหนีออกจากข้าศึกพม่าที่กำลังรุกรานกันอยู่ ก็คงจะเป็นอนุสาวรีย์ที่เข้ามาปลุกอุดมการณ์ชาตินิยมได้อย่างมีพลังมากขึ้น" ศ.ดร. ชาตรีให้ความเห็น

ที่มาของภาพ, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ/ BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เจดีย์สามองค์ วัดพระศรีสรรเพชญ ได้รับการบูรณะด้วยการฉาบปูน (ภาพในยุคจอมพล ป. เปรียบเทียบกับภาพปัจจุบัน)

ในยุคจอมพล ป. ยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีตามวัดต่าง ๆ จำนวนมาก และนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร มีการจัดทัศนะศึกษาที่พาผู้คนย้อนอดีตกลับไปรู้จักราชธานีอันยิ่งใหญ่ของชาติ ทำให้เรื่องราวของกรุงเก่ากลับมาอยู่ในความรับรู้ของสาธารณชน

บึงพระรามเป็นอีกสถานที่ที่ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ช่วงรัฐบาลจอมพล ป. เพื่อเป็นสวนสาธารณะให้ชาวเมืองได้พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งแนวคิดนี้สืบทอดมาจากคณะราษฎรที่นิยมสร้างรมณียสถานสำหรับประชาชนในพื้นที่กลางเมือง

บนเนื้อที่ 274 ไร่ของสวนสาธารณะบึงพระราม มีสิ่งปลูกสร้างหลังหนึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 ด้านหน้ามีป้ายกำกับไว้ว่า พระที่นั่งเย็น ทว่าไม่ค่อยมีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมนัก

เมื่อ ศ.ดร. ชาตรีนำคณะเข้าไปสำรวจใกล้ ๆ จึงพบว่าอาคารหลังนี้สร้างทับลงบนฐานอิฐเดิม

จากนั้นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมได้อธิบายถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่ใช้สร้างพระที่นั่งเย็น ซึ่งพบเห็นได้ในช่วงจอมพล ป. ยุคสอง ตัวอาคารต้องสวมด้วยจั่ว มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลดทอนรายละเอียด และใช้สีเขียว ต่างจากจอมพล ป. ยุคแรก-ยุคคณะราษฎร ที่ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ หลังคาแบน

"อาคารหลังนี้เป็นบ่อเกิดของประโยคที่สำคัญมากในวงการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยถือเป็นต้นกำเนิดแนวคิดในการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรที่ใช้สืบทอดต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน" นักวิชาการ ม.ศิลปากร กล่าว

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

พื้นที่ภายในพระที่นั่งเย็น ซึ่งสร้างทับลงบนฐานอิฐเดิม

ในคราวเสด็จประพาส จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงแวะพักผ่อนอิริยาบถ ณ พระที่นั่งเย็น ซึ่งทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ให้ และได้ทอดพระเนตรอาคารหลังนี้ ก่อนมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

"...การก่อสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย..."

นี่คือที่มาที่ของรากเหง้าความคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาโบราณสถาน แม้เป็น "อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียว" แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ชาติไทย

ความสำเร็จของชนชั้นนำไทย

เมื่อเค้าโครงประวัติศาสตร์ไทยพลิกผันไปตามการปฏิสังขรณ์อดีตในแต่ละระลอก น่าสนใจว่าประวัติศาสตร์ชุดไหนคือกระแสหลักในยุคปัจจุบัน

ศ.ดร. ชาตรีอธิบายว่า ปกติเวลาดูประวัติศาสตร์คณะราษฎรกับสมบูรณาญาสิทธิ์ จะขัดแย้งกัน แต่การบูรณะโบราณสถานในฐานของการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐชาติสมัยใหม่ ทั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ และรัฐชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีจุดร่วมและมีความสอดคล้องกันมากกว่าความขัดแย้ง เพราะโบราณสถานเมืองเก่าอยุธยา รวมถึงเมืองโบราณอื่น ๆ ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการสร้างหรือทำให้ความคิดแบบชาตินิยมมีพลัง และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอารยธรรมเก่าแก่ของรัฐ

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในรายละเอียดคือ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ รัฐ/ชาติ หมายถึงตัวกษัตริย์ ดังนั้นโบราณสถานที่เกี่ยวกับกษัตริย์จึงได้รับการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ ขณะที่ยุคหลัง 2475 เน้นปฏิสังขรณ์วัดและโบราณสถานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ศ.ดร. ชาตรีชี้ว่า หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสมัยใหม่คือประวัติศาสตร์ของรัฐและชาติ “ยิ่งรัฐไหนสาวอดีตไปไกลเป็นพันหรือหมื่นปี ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐนั้นยิ่งใหญ่”

ท่ามกลางความพยายามเสาะหา-สร้าง-เสริม-เติม-ต่อประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำยุคต่าง ๆ ความทรงจำต่ออยุธยาในฐานะอดีตราชธานีที่ล่มสลาย คล้ายยังเป็นภาพหลักเหนือกว่าภาพอดีตชุดอื่น ๆ

"จริง ๆ ก็ใช่ หากบางคนจะมองเห็นราชธานีเก่าที่ล่มสลาย แต่ก็มีคนที่เห็นว่าชาติไทยยิ่งใหญ่ขนาดไหนผ่านซากโบราณสถานของอยุธยา ไม่ได้เห็นแล้วรู้สึกเศร้า แต่รู้สึกว่าเมื่อก่อนเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้เชียวหรือ"

"นี่อาจนับได้ว่าเป็นความสำเร็จของชนชั้นนำไทยในการเปลี่ยนผ่านตัวเองจากรัฐโบราณสู่รัฐสมัยใหม่" ศ.ดร. ชาตรีกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : กิจกรรม "กรุงเก่าเล่าเรื่องราชวงศ์จักรีและคณะราษฎร" นำเดินชมโดย ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ จัดโดยศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

เหตุการณ์สำคัญในสมัยอยุธยามีอะไรบ้าง

สมเด็จเจ้าฟ้าไชยส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไม่ตอบรับ อ้างว่าตนดำเนินนโยบายปิดประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2179. สมเด็จเจ้าฟ้าไชยถูกสำเร็จโทษ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่อยู่ในราชสมบัติได้เพียงสองเดือนเศษ ก็ถูกสมเด็จพระนารายณ์ฯ จับสำเร็จโทษ สมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์

อยุธยาอยู่ในสมัยใด

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า เป็นยุคที่มีการจัดเก็บภาษีอากรรุ่งเรืองมาก การก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 1893 ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างพระนครขึ้นที่ริมหนองโสน แล้วทำการราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ขนานนามราชธานีว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ในช่วงตลอดอายุกรุงศรีอยุธยา ...

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยามีอะไรบ้าง

2.1 หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา.
พระราชพงศาวดาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) พระราชพงศาวดารที่ผ่านกระบวนการชำระ 2) พระราชพงศาวดารที่ไม่ผ่านกระบวนการชำระ คือ พงศาวดารที่ให้ข้อมูลตามที่บันทึกไว้.
จดหมายเหตุโหร.
จดหมายเหตุชาวต่างชาติ.
วรรณกรรม.
หลักฐานทางโบราณคดี.

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในรัชสมัยใด

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 - พ.ศ. 2310 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ (อยุธยา) และพระเจ้ามังระ (พม่า)