ตัวอย่าง บท พูดหน้าชั้นเรียน

วิกิฮาวเป็น "wiki" ซึ่งหมายความว่าบทความหลายๆ บทความของเรานั้นเป็นการร่วมมือกันเขียนของผู้เขียนหลายคน ในการเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้คน 112 คน ซึ่งบางคนไม่ขอเปิดเผยตัว ได้ร่วมกันเขียนและปรับปรุงเนื้อหาของบทความอย่างต่อเนื่อง

บทความนี้ถูกเข้าชม 72,503 ครั้ง

กลอสโซโฟเบีย (Glossophobia) คืออาการกลัวการพูดในที่ชุมชนซึ่งมีผลกระทบต่อคน 3 ใน 4 คน สถิติที่น่าตกใจนี้ทั้งน่าแปลกใจและน่าหวั่นใจ เนื่องจากอาชีพส่วนมากต้องการคุณสมบัติในการพูด บทความนี้จะแสดงให้เห็นวิธีการนำเสนองานเพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป

  1. เขียนกระดาษโน้ตหรือกระดาษดัชนี. เขียนความคิดหลักๆ ลงในกระดาษดัชนี ไม่ต้องเขียนรายละเอียด ไม่อย่างนั้นจะต้องติดอยู่กับชะตากรรมของการก้มมองแล้วจ้องไปที่กระดาษโน้ตขณะอ่านมันไปด้วย ใส่ข้อเท็จจริงตลกๆ คำถามที่จะให้ผู้คนมีส่วนร่วม และกิจกรรมที่เชื้อเชิญให้ผู้คนมีส่วนร่วมลงในกระดาษเพื่อจะเอามาแบ่งปันหน้าชั้นเรียน

    • เขียนคำหลักหรือความคิดหลัก ถ้าคุณจำเป็นต้องดูกระดาษดัชนี คุณก็จะแค่มองลงไปปราดเดียวเพื่อข้อมูล ไม่ใช่อ่านทุกคำที่เขียน
    • ส่วนมากแล้ว การใส่ข้อมูลลงไปในกระดาษดัชนีจะช่วยให้คุณจำข้อมูลได้ ต่อให้คุณไม่จำเป็นต้องมีกระดาษโน้ตก็ได้ แต่มันก็ปลอดภัยกว่าถ้าจะมีไว้ เผื่อคุณลืมว่าจะต้องพูดอะไร

  2. ฝึกซ้อม. ในการนำเสนอส่วนมาก มันชัดเจนเลยว่าใครซ้อมมาหรือใครไม่ได้ซ้อม ฝึกกับสิ่งที่คุณจะพูดและจะพูดมันยังไง คุณจะมั่นใจมากขึ้นเมื่อต้องออกไปนำเสนอจริง และคุณจะลดการพูดคำว่า “แบบ” และ “เอ่อ” ได้มาก ไม่เหมือนคนที่พยายามจะออกไป “ขายผ้าเอาหน้ารอด”

    • เวลาจะซ้อมนำเสนองานให้ซ้อมต่อหน้าคนในครอบครัว เพื่อน หรือหน้ากระจก อาจจะดีกว่าถ้าซ้อมต่อหน้าเพื่อนที่รู้จักกันดี เพราะจะช่วยให้คุณได้จำลองความรู้สึกตอนที่อยู่หน้าชั้นเรียน
    • ขอผลตอบรับจากเพื่อนเมื่อนำเสนอเสร็จแล้ว การนำเสนอยาวไปหรือเปล่า การสบตากับผู้ฟังของคุณเป็นอย่างไรบ้าง คุณตะกุกตะกักบ้างไหม คุณอธิบายทุกประเด็นได้กระจ่างหรือเปล่า
    • ทำการวิจารณ์การซ้อมนำเสนองาน ท้าทายตัวเองเพื่อให้ทำในสิ่งที่คุณคิดว่าจะพัฒนามันต่อไปได้ระหว่างการนำเสนอจริง เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปเจอของจริง คุณจะรู้สึกมั่นใจว่าคุณได้พยายามมากเป็นพิเศษต่อสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับตนเองแล้ว

  3. หาข้อมูล. เพื่อที่จะมีการนำเสนอที่ผู้คนสนใจ คุณจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองกำลังพูดถึงอะไรอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรืออ่านหนังสือทุกเล่มหรือเว็บไซต์ทุกเว็บที่เขียนเกี่ยวกับหัวข้อของคุณ แต่คุณควรจะสามารถตอบคำถามทุกคำถามที่อาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นอาจจะถามคุณได้

    • หาข้อความอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อความอ้างอิงจะทำให้การนำเสนอดีมากที่สุด ใช้สิ่งที่คนฉลาดทั้งหลายเคยพูดเอาไว้มาใส่ในงานนำเสนอไม่ได้ทำให้คุณดูฉลาดขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้อาจารย์เห็นด้วยว่าคุณใช้เวลาไปกับการคิดถึงสิ่งที่คนอื่นได้พูดเอาไว้ด้วย
    • ดูให้แน่ใจว่าแหล่งข้อมูลของคุณเชื่อถือได้ ไม่มีอะไรจะทำลายความมั่นใจของคุณได้เท่ากับข้อเท็จจริงที่กลายเป็นเพียงข้อเท็จที่ไม่จริง อย่าเชื่อข้อมูลที่เอามาจากในอินเทอร์เน็ตเสมอไป

  1. ยิ้มไปที่ผู้ฟัง. เมื่อถึงเวลานำเสนอ ไม่มีอะไรที่จะดึงความสนใจของผู้ฟังมาได้มากเท่ากับการยิ้มตามธรรมเนียม ทำตัวให้มีความสุข คุณกำลังจะสอนสิ่งที่คนทั้งชั้นเรียนไม่เคยรู้มาก่อน

    • งานวิจัยเผยว่าการยิ้มเป็นสิ่งที่ติดต่อได้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อคุณยิ้ม ก็จะเป็นการยากต่อทุกคนที่จะ“ไม่”ยิ้ม ดังนั้นถ้าคุณอยากจะให้งานนำเสนอของคุณดำเนินไปอย่างไม่ต้องเจอกับอุปสรรคก็บังคับตัวเองให้ยิ้มเข้าไว้ สิ่งนั้นจะทำให้ทุกคนยิ้ม และรอยยิ้มของคนเหล่านั้นก็อาจจะทำให้คุณยิ้มขึ้นมาจริงๆ ก็ได้

  2. รู้สึกมั่นใจในงานที่คุณจะนำเสนอ. เมื่อคุณจะนำเสนองานให้กับคนในชั้นเรียน โดยเฉพาะเมื่ออาจารย์ยกให้คุณทำหน้าที่ของเขาสักพักหนึ่ง มันก็เป็นงานของคุณที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจสิ่งที่คุณพยายามจะบอกพวกเขา ดูให้แน่ใจว่าคุณให้ความสนใจกับวิธีที่อาจารย์สอนก่อนที่คุณจะนำเสนองานเพราะอาจารย์ก็คือผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอ

    • จินตนาการให้เห็นความสำเร็จในช่วงก่อน, ระหว่าง, และหลังการนำเสนองาน ถ่อมตัวกับสิ่งที่คุณทำ ไม่มีประโยชน์ที่จะโอหัง แต่ให้จินตนาการถึงการนำเสนอที่ประสบความสำเร็จตลอดเวลา อย่าให้ความคิดเรื่องความล้มเหลวเข้ามาในหัวคุณได้
    • ในหลายๆ ทาง ความมั่นใจของคุณก็สำคัญพอๆ กับข้อมูลที่คุณกำลังนำส่ง คุณไม่อยากจะเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ หรือพูดข้ามในสิ่งที่อุตส่าห์ค้นคว้ามาก็จริง แต่สิ่งที่จะทำให้คุณได้รับคะแนนเพิ่มและเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ จะเข้าใจด้วยนั้นคือระดับความมั่นใจของคุณต่างหาก ถ้าคุณมีความมั่นใจ คุณจะแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนร่วมชั้นได้ดีกว่า
    • ถ้าคุณต้องการเพิ่มความมั่นใจ ให้คิดในภาพรวม หลังจาก 10 หรือ 15 นาที การนำเสนอของคุณจะเสร็จสิ้นลง อะไรที่จะเป็นผลจากการนำเสนอของคุณในระยะยาว อาจจะไม่มากก็ได้ พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าคุณเริ่มประหม่า ย้ำกับตัวเองว่ามันยังมีช่วงเวลาที่สำคัญกว่านี้ในชีวิตคุณที่กำลังจะมา

  3. สบตา. ไม่มีอะไรที่จะน่าเบื่อไปกว่าการฟังคนนำเสนอที่เอาแต่ก้มมองพื้นหรือโพยกระดาษ ทำตัวสบายๆ ผู้ฟังของคุณก็คือเพื่อนๆ ที่คุณคุยอยู่ด้วยตลอดนั่นแหละ พูดแบบเดียวกับที่คุณคุยกันปกติได้เช่นกัน

    • ตั้งเป้าว่าต้องมองไปที่ทุกคนในห้องเรียนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ด้วยวิธีนี้ ทุกคนจะรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา บวกกับตัวคุณเองก็จะดูเหมือนว่าเข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูดอย่างดีด้วย

  4. จงแน่ใจว่าคุณมีการเปลี่ยนเสียงสูงต่ำ. เป้าหมายคือมีส่วนร่วมกับคนฟัง ไม่ใช่ทำให้พวกเขาง่วงนอน มีสีสันเวลาพูดถึงหัวข้อของคุณ พูดราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในโลก เพื่อนร่วมชั้นของคุณจะขอบคุณคุณในเรื่องนี้เลยล่ะ

    • การเปลี่ยนเสียงสูงต่ำก็คือการขยับเสียงขึ้นลงที่ดีเจในรายการวิทยุใช้กันเวลาพูด คือการใช้เสียงสูงของคุณเวลาที่มันมีเรื่องน่าตื่นเต้น คุณไม่จำเป็นจะต้องทำเสียงเหมือนกับว่าคุณเพิ่งไปเจอสิงโตมา แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำเสียงเหมือนว่าคุณเพิ่งได้เจอกระรอกตัวน้อยด้วยเช่นกัน แค่เปลี่ยนโทนเสียงบ้างให้การนำเสนอน่าสนใจขึ้น

  5. ใช้การขยับมือ. ขยับมือของคุณไปด้วยเมื่อคุณพูด ใช้มือทั้งสองเพื่อเน้นประเด็นและทำให้คนฟังรู้สึกสนใจ มันจะนำพาพลังงานจากความประหม่าของคุณไปอยู่ถูกที่ถูกทาง

  6. มีการลงท้ายที่ดี. คุณอาจจะเคยได้ยินการลงท้ายการนำเสนองานด้วยอะไรประมาณว่า “อืม... แค่นี้แหละ” การปิดท้ายของคุณเป็นความประทับใจสุดท้ายของผู้ฟัง รวมถึงอาจารย์ของคุณด้วย ทำให้มันน่าตื่นเต้นด้วยการแนะนำสถิติสุดท้ายหรืออะไรสักอย่างที่สร้างสรรค์ในตอนจบ การลงท้ายของคุณจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้คนฟังรู้ว่าคุณนำเสนอจบแล้ว

    • เล่าเรื่อง บางทีอาจเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องเล่าจะดีมากสำหรับการนำเสนองานวิชาประวัติศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ บางทีคุณอาจจะสามารถโยงงานที่คุณนำเสนอกับเกร็ดประวัติของคนดังในประวัติศาสตร์ด้วยก็ได้
    • ถามคำถามที่กระตุ้นให้คิด การจบด้วยคำถามเป็นหนทางที่ดีที่จะทำให้ผู้ฟังนึกถึงการนำเสนอของคุณเองในทางที่น่าสนใจ คุณมีการปิดท้ายแบบที่คุณอยากจะให้เป็นหรือเปล่า

  7. เดินกลับมาพร้อมกับรอยยิ้ม. รู้ไว้ว่าคุณเพิ่งจะเอาชนะการนำเสนอของคุณมาหมาดๆ และคุณเพิ่งทำในสิ่งที่คนหลายคนไม่สามารถที่จะทำได้ อย่ารู้สึกผิดหวังหากคุณไม่ได้รับเสียงปรบมือ มั่นใจเข้าไว้