กฎหมายการศึกษา ความมุ่งหมาย

ความสำคัญของกฎหมายการศึกษา

การดำเนินงานทางการศึกษาเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นฝ่ายจัดการศึกษา ฝ่ายรับบริการทางการศึกษา และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยบุคคลดังกล่าว ต้องปฏิบัติและดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ดังนั้นกฎหมายจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานทางการศึกษากล่าวได้ ดังนี้

๑. กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานจัดการศึกษาของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถจัดการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้

. กฎหมายการศึกษาเป็นกรอบการดำเนินงานที่ช่วยให้การบริหารการศึกษา เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการและสังคม

๓. กฎหมายการศึกษาช่วยให้สามารถใช้การศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

๔. กฎหมายการศึกษาทำให้ประชาชนของประเทศเกิดสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถปฏิบัติตนตามสิทธิ และหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมด้วยบทบาทดังกล่าว กฎหมายและกฎหมายการศึกษาจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือ ดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ หากขาดกฎหมายแล้วอาจทำให้การจัดการศึกษาไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้

ลักษณะของกฎหมายการศึกษา

กฎหมายการศึกษาเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องมีลักษณะของกฎหมายเช่นเดียวกับกฎหมายทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคล ซึ่งผู้มีอำนาจในประเทศกำหนดขึ้นและใช้บังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม มีลักษณะสำคัญประกอบด้วย(มานิตย์ จุมปา, ๒๕๔๘) 

๑) ต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับเป็นมาตรฐานของสังคม 

๒) ต้องเป็นการกำหนดความประพฤติของบุคคล 

๓) ต้องมีสภาพบังคับ 

๔) ต้องมีกระบวนการที่แน่นอนในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ กฎเกณฑ์ในกฎหมาย

สำหรับกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทย ตามรูปแบบเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร กำหนดตามศักดิ์ของกฎหมายได้ ดังนี้

๑. รัฐธรรมนูญ

๒. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

๓. พระราชบัญญัติ

๔. พระราชกำหนด

๕. พระราชกฤษฎีกา

๖. กฎกระทรวง

๗. กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากรูปแบบของกฎหมายดังกล่าวแล้ว กฎหมายยังสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภท เช่น หลักแหล่งกำเนิดของกฎหมาย หลักสภาพการบังคับของกฎหมาย หลักการใช้กฎหมาย หลักฐานะ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นต้น โดยทั่วไปแล้วการแบ่งประเภทของกฎหมายจะยึดหลักฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเกณฑ์ ซึ่งแบ่งประเภทกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน กล่าวคือ

๑) กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ในฐานะที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ปกครอง เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง และกฎหมาย การคลัง เป็นต้น

๒) กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่กำหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อกัน ในฐานะผู้อยู่ใต้ปกครองที่ต่างฝ่ายต่างก็เท่าเทียมกัน

กล่าวโดยเฉพาะ “กฎหมายการศึกษา” ก็จะหมายถึง กฎเกณฑ์ที่รัฐหรือผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นเป็นกฎ ข้อบังคับการปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารและจัดการศึกษา โดยมีรูปแบบทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงรวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ที่ใช้บังคับในการดำเนินงานทางการศึกษา และมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนในสาขากฎหมายปกครอง เนื่องจากกฎหมายการศึกษาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน และระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๖ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุเด็ก เพื่อเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๕ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้น

การจำแนกประเภทกฎหมายการศึกษา

กฎหมายการศึกษาไทยสามารถจำแนกเป็นประเภทได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการจำแนกกล่าวคือ 

หากจำแนกตามศักดิ์ของกฎหมายสามารถแบ่งประเภทออกเป็น

๑) กฎหมายแม่บท ได้แก่ รัฐธรรมนูญ  

๒) กฎหมายลูกบท ได้แก่ กฎหมายที่ออกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

หากจำแนกตามลักษณะการออกกฎหมาย สามารถแบ่งประเภทออกเป็น

๑) กฎหมายหลัก ได้แก่ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติต่าง ๆ และ

๒) กฎหมายรอง ได้แก่ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งอาศัยอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลักประกอบด้วย กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นต้น

ในที่นี้จะขอจำแนกประเภทตามลักษณะสาระสำคัญของกฎหมายซึ่งสามารถแบ่งกฎหมายการศึกษาออกเป็น๕ ประเภท ดังนี้

๑. กฎหมายแม่บททางการศึกษา รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกกฎหมายการศึกษาอื่น ๆได้แก่

๑.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๑.๒ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕

๑.๓ พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕

๒. กฎหมายว่าด้วยการจัดการโครงสร้างและการบริหารจัดการทางการศึกษา

๒.๑ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และกฎกระทรวง ระเบียบ ที่ออกตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

๒.๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้น

๒.๓ พระราชบัญญัติจัดตั้งสถานศึกษาเป็นการเฉพาะแห่ง เช่น พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น

๓. กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้แก่ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ และกฎกระทรวง ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

๔. กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลทางการศึกษา

๔.๑ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

๔.๒ พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

๔.๓ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

๔.๔ พระราชกฤษฎีกา การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

๕. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศึกษา ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศึกษาที่ผู้บริหารการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจะต้องนำมาใช้ประกอบการดำเนินงาน กล่าวคือ

๕.๑ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖

๕.๒ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

๕.๓ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐

๕.๔ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

๕.๕ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

๕.๖ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖

การบังคับใช้กฎหมายการศึกษา

การใช้กฎหมาย (Application of Law) มีความหมายสองประการ คือ

๑) การใช้กฎหมายในทางทฤษฎี เป็นการนำกฎหมายไปใช้แก่บุคคลในเวลาและสถานที่หรือตามเหตุการณ์หรือเงื่อนไขในเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งจะสัมพันธ์กับเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ

๒) การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ เป็นการนำกฎหมายไปปรับใช้แก่คดี หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อหาคำตอบหรือเพื่อวินิจฉัยพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งในเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเรียกว่าการปรับใช้บทกฎหมาย การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะอาจตีความผิด หรือนำเอาบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นมาใช้โดยลืมนึกถึงส่วนที่เป็นหลัก หรือนำเอาส่วนที่เป็นหลักมาใช้โดยไม่รู้ว่าเป็นข้อยกเว้น (วิษณุ เครืองาม, ๒๕๓๘)              

อย่างไรก็ตามนักบริหารการศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินงานให้องค์การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องเลือกใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งมีแนวทางพอสรุปได้ ดังนี้

๑. ผู้บริหารการศึกษาต้องรู้กฎหมายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตน เข้าใจและสามารถปรับบทกฎหมายใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

๒. ผู้บริหารการศึกษาต้องมีความสุจริตในการปฏิบัติงานซึ่งเป็นเจตนาที่ดีในการปฏิบัติงานตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้

๓. ผู้บริหารการศึกษาต้องถือกฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารงานไปสู่ความสำเร็จ กฎหมายไม่ใช่สิ่งขัดขวาง การปฏิบัติงาน ดังนั้น "ผู้บริหารการศึกษา" จะต้องเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบเพียงพอที่จะใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารและจัดการศึกษาให้ได้ 

การใช้กฎหมายในการบริหารและจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้บริหารการศึกษาจะต้องมีความรอบรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ มีความสุจริตใจและมีไหวพริบที่จะใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง

--------------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

มานิตย์ จุมปา. (๒๕๔๘). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิษณุ เครืองาม. (๒๕๓๘). เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒๓. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๔๔). ประเภทและศักดิ์ของกฎหมายในรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การค้าของคุรุสภา.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (๒๕๔๘). รวมกฎหมายการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค.

สุทัศน์ ทิวทอง. (๒๕๔๖). "หน่วยที่ ๖ บริบทด้านกฎหมาย" ในประมวลสาระวิชาบริบททางการบริหารการศึกษา. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.