ความต้องการ จ้างงานในสาขา วิชาชีพ นักบิน

นายกสมาคมนักบินไทยเผยปัจจจุบันพบว่ามีอัตราว่างงานของนักบินไทยที่จบใหม่มากถึง 600 คน ยังไม่สามารถหาสังกัดได้ เหตุตลาดนักบินเริ่มอยู่ในภาวะอิ่มตัว เพราะก่อนหน้านี้มีการผลิตบุคลากรออกมาเป็นจำนวนมาก ที่มาภาพประกอบ: medimoon.com

เว็บไซต์ smartsme.co.th รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ว่านายสนอง ยิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยว่าปัจจจุบันพบว่ามีอัตราว่างงานของนักบินไทยที่จบใหม่มากถึง 600 คน โดยทั้งหมดยังไม่สามารถหาสังกัดได้ ทั้งนี้สาเหตุมาจากการส่งเสริมให้เกิดการผลิตบุคลากรในส่วนนักบินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินจำนวนมากซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มอัตราการจ้างงานในตำแหน่งนักบินที่เพิ่มสูงในอดีต

อย่างไรก็ตามตลอด 3 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าเกิดปัญหานักบินจบใหม่ว่างงานมากขึ้น เนื่องจากอัตราการจ้างงานส่วนหนึ่งถูกนักบินต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ซึ่งประเด็นนี้อาจจะขัดต่อหลักการ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และการกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสงวนอาชีพนักบินไว้สำหรับคนไทย กระนั้นก็ตามจาการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีคนต่างด้าวทำงานในตำแหน่งนักบินจำนวน 113 คน จาก 13 บริษัทที่ให้บริการ โดยได้รับใบอนุญาตทำงานในแบบธุรกิจ 12 คน และได้รับอนุญาตให้ทำงานแบบ BOI อีก 101 คน

ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าได้รับทราบถึงปัญหาที่นักบินไทยเพิ่งจบใหม่ว่างงาน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ดีอย่างมากโดยจะมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ประชาสัมพันธ์ รวมถึงแนะแนวให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งใจจะมาเรียนด้านการบิน และสาขาที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ ว่าตลาดนักบินเริ่มอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว เพราะมีการผลิตบุคลากรออกมาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการบรรจุ

"ต้องการให้เด็กนักเรียน หรือผู้ปกครองแนะนำบุตรหลานไปเรียนสาขาอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ และจากนี้จะกำชับให้กวดขันเรื่องการทำงานของนักบินต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นอีกทางในการช่วยแก้ปัญหานักบินไทยล้นตลาด" รมว.แรงงาน กล่าว

Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า นักบิน และบุคลากรบนเครื่องบิน คืออาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและทวีปเอเซียโดยรวม

Boeing ประเมินว่า  ภายใน 20 ปีนี้  ความต้องการนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ ประมาณ 33% จะมาจากภาคพื้น Asia Pacific  หรือประมาณ 240,000 คน โดยจีนจะต้องการนักบิน 128,500 คน, ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการนักบิน 48,500 คน และประเทศในเอเซียใต้ต้องการนักบิน 42,750 คน

ความต้องการนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์จำนวนมากในทวีปเอเซียมีสาเหตุมาจาก จำนวนนักบินจำนวนมากจะปลดประจำการ (เกษียณ) ในช่วงเวลานี้  ทำให้แนวโน้มความต้องการนักบินจำนวนมากจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี  บวกกับการขยายตัวของธุรกิจการบินในภาคพื้น Asia Pacific

Boeing ยังประเมินว่า แนวโน้มความต้องการช่างเทคนิคและบุคลากรบนเครื่องบินในภาคพื้น Asia Pacific อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยจีนต้องการช่างเทคนิคสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ประมาณ 126,750 คน, เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการ  54,000 คน และเอเซียใต้ต้องการ 35,000 คน

ในส่วนของบุคลากรบนเครื่องบิน จีนต้องการ 147,250 คน, เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการ 76,250 คน และเอเซียใต้ต้องการ 43,250 คน

Boeing คาดว่าในอนาคตอันใกล้ จำนวนการสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ลำใหม่ประมาณ 40% จะมาจากภาคพื้น Asia Pacific

คุณเคยอยากบินได้เหมือนนกหรือไม่ ?? คนเราอาจจะไม่มีปีกแต่เครื่องบินสามารถพาเราบินไปบนท้องฟ้าที่กว้างไกลได้ อาชีพนักบินเป็นอาชีพในฝันตลอดกาลอีกหนึ่งอาชีพ ทั้งรวยทั้งเท่ห์แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้เป็นกันง่ายๆ อาชีพนี้มีความพิเศษหลายๆอย่างที่จะต้องแข่งขันฝ่าฟันเพื่อที่จะได้เป็นนัก บินขับเจ้านกเหล็กตัวใหญ่พาผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทาง อาชีพในฝันจะไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป คุณพร้อมที่จะบินตามความฝันหรือยัง

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

เนื่องจากนักบินเป็นผู้ขับเครื่องบินให้ไปสู่จุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร หรือสินค้าที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งจะไปถึงที่หมายปลายทางได้หรือไม่นั้น นักบินจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้น ผู้ประกอบอาชีพนักบิน จึงควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
2. ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี ควรมีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ดีพอสมควร เพื่อใช้ในการศึกษา และใช้ในการปฏิบัติงาน
3. รูปร่าง บุคลิกดี มีความสูงไม่น้อยกว่า 165 ซ.ม. มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีปฏิภาณไหวพริบดี มีสำนึกในความปลอดภัย และมีความสามารถเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม
4. มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้อื่นสูง มีความกล้าหาญ และมีความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
5. มีความมั่นใจในตนเอง ละเอียดรอบคอบ มีความจำดี ช่างสังเกต
6. สายตาสั้นไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด และต้องไม่ตาบอดสี
7. ในการสอบสัมภาษณ์มีทั้งการสอบภาษาไทย และสอบเชาว์ปัญญา ( Aptitude Test) และอาจมีการสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผู้สมัครควรมีความรู้ภาษาอังกฤษดี และมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ด้วย
8. ในการขับเครื่องบิน ต้องได้รับใบอนุญาตการบิน ( Pilot License) รวมทั้งต้องผ่านการตรวจ ร่างกาย และทดสอบทางจิตเวชจากสถาบันเวชศาสตร์การบิน

ลักษณะของงาน

1. ขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณีย์ภัณฑ์ หรือสินค้า
2. ควบคุมอากาศยานให้อยู่ในเส้นทาง ซึ่งทำการบินประจำ หรือในเที่ยวบินเช่าเหมา
3. สังเกตเครื่องวัดมิเตอร์ และเครื่องวัดประกอบการบินอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมอากาศยาน
4. ตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ ใช้เครื่องช่วยในการเดินอากาศสำหรับควบคุมเส้นทางบินของอากาศยาน
5. อาจเป็นผู้ควบคุมอากาศยาน และรับผิดชอบในลูกเรือทั้งหมด หรือเป็นนักบินผู้ช่วย และอาจทำการบินภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมอากาศยาน

โอกาสในการทำงาน

อาชีพนักบินสามารถรับราชการเป็นนักบินของหน่วยราชการต่างๆ เช่น กองบินสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร หรือสายการบินเอกชนต่างๆ เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งยังมีความต้องการพนักงานในตำแหน่งนี้ยังมีมากแต่การคัดเลือกบุคลากรที่ เหมาะสม รวมทั้งการสอน และอบรมในการบินสามารถรับได้ครั้งไม่มากจึงจัดว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลน
ผู้ที่ประกอบอาชีพนักบินสามารถเข้าสมัครงานในภาคราชการหรือภาคเอกชนที่ ประกาศรับสมัครโดยต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการอบรมการบินตามโรงเรียนการบินใน ประเทศไทย ตามที่หน่วยงานของตนจะกำหนด โดยเมื่อจบการอบรมก็จะได้รับบรรจุเข้าเป็นนักบินประจำหน่วยงานนั้น
ยกเว้นนักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งจะต้องเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศและสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนการบินของ กองทัพอากาศซึ่งจะมีหลักสูตรการบินที่เกี่ยวกับการทหารไม่ใช่การบินเชิง พาณิชย์สำหรับนักบินทั่วไป เมื่อจบหลักสูตรจึงจะได้บรรจุเป็นทหารสัญญาบัตรเหล่านักบิน และได้รับการบรรจุเข้าประจำฝูงบินต่างๆ หรือบรรจุเข้ารับราชการตามกรมกองต่างๆ

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

เป้าหมายสูงสุดในอาชีพนักบิน คือ โอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งกัปตันซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดและจะมักเป็นที่ต้องการของสายการบินอื่นๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบินมามาก อาชีพนักบินจะเริ่มต้นการทำงานเป็นนักบินที่ 3 หรือต้นหน System Operator ( สำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก 737 / 747 ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินรุ่นใหม่ไม่ใช้นักบินที่ 3 หรือต้นหน) และใช้เวลาปฏิบัติงานประมาณ 4 ปีจึงจะได้เป็นนักบินที่ 2 หรือ Co-pilot และนักบินที่ 2 ต้องมีความชำนาญประมาณ 8 ปี จึงเป็นกัปตันหรือนักบินที่ 1 ได้
ทั้งนี้ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และผ่านการตรวจร่างกาย และทดสอบทางจิตเวชทุกปี และสำหรับนักบินที่มีประสบการณ์ และได้รับการอบรมจนเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการสอน ก็สามารถเป็นผู้สอนนักบินฝึกหัด หรือนักบินที่มีความสามารถในการบริหารงานสามารถที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น ผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรนั้นได้
ผู้ประกอบอาชีพ "นักบิน" จะมีโอกาสก้าวหน้าอย่างยิ่งในด้านเงินเดือนที่ได้รับเพิ่ม โดยเฉพาะความสามารถ และความชำนาญในการบินจะเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของนักบินนั้น ๆ ผู้เป็นนักบินในหน่วยงานของทางราชการ หรือองค์การต่างๆ นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามปกติแล้วยังได้รับเงินพิเศษจากการบินด้วย

อยากเป็นนักบินต้องเรียนอะไร?

สถาบันตรงสำหรับเรียนคือ สถาบันการบินพลเรือน (Civil Aviation Training Center) มีบุคลิกดี ความสูงไม่น้อยกว่า 165 ซ.ม. อายุไม่เกิน 38 ปี ไม่สายตาสั้น และต้องไม่ตาบอดสี (หากสายตาสั้นแนะนำให้ไปทำ Lasik ไว้ก่อนเลย) แต่ค่าเล่าเรียนแพงมากกกกกก ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นนักศึกษาฝากเรียนจากหน่วยราชการ เช่น โรงเรียนนายเรือ นายเรืออากาศ องค์การ รัฐวิสาหกิจ หรือจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ที่เกี่ยวข้อง แล้วสมัครงานนักบินที่สายการบิน เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย หากบริษัทรับเข้าทำงานเป็นนักบินแล้วจะมีทุนให้เรียนและชดใช้คืนภายหลังตอนทำงาน

หลักสูตรที่ต้องเรียน

หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของหลักสูตรภาคอากาศ คือ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี เครื่องบินCommercial Pilot Licence - Aeroplane เรียนด้านการบินกับเครื่องบินเครื่องยนต์เดียวและหลายเครื่องยนต์ ตั้งแต่ต้นจนสามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย ทั้งการบินด้วยสายตา และการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน เรียนที่สถาบันการบินพลเรือน และศูนย์ฝึกการบิน‎ที่ท่าอากาศยานหัวหิน รวมถึงได้ฝึกบินกับเครื่องบินจำลอง 44 ชม. เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (COMMERCIAL PILOT LICENSE : CPL)