ลักษณะ ภูมิประเทศ ที่ เหมาะ สำหรับ สร้าง โรงงาน ไฟฟ้านิวเคลียร์

ประเด็นสำคัญ

  • รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
  • ความสำเร็จของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น เกิดจากความต่อเนื่องเชิงนโยบาย การพัฒนากฎหมายอย่างครอบคลุมและรอบด้าน โดยยึดถือหลักการยอมรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ยินยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่จำกัด และรัฐบาลต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพลังงานนิวเคลียร์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระและเข้มแข็งทำหน้าที่เป็นผู้แทนเจรจาต่อรองกับภาครัฐ
  • รัฐบาลไทยเริ่มพิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จริงจังช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 อันมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี แนวนโยบายของไทยยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนและกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
  • ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ไทย เกิดจากประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยยังคงขาดกลไกส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างแท้จริง และร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ยังไม่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้ หน่วยงานรับผิดชอบด้านพลังงานนิวเคลียร์ยังคงไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
  • การรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องทบทวนแผนการก่อสร้างและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของตน
  • หากไทยต้องการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างจริงจัง ภาครัฐควรเร่งสานต่อให้นโยบายมีความชัดเจนและต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทางการเงินที่มีความโปร่งใส พร้อมเร่งตรากฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านนิวเคลียร์ โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งส่วนความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลและบริษัทผู้รับสัมปทาน ที่สำคัญ ควรออกกฎหมายตอบแทนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นผู้แทนเจรจากับรัฐบาล นอกจากนี้ ควรประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับภาวะ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ภายใต้เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาบุคลากร

* สรุปและเรียบเรียงจากงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากฎหมายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น โดย ชาญวิทย์ ชัยกันย์ (2010)
* สรุปและเรียบเรียงโดย ดร.พัชรา โล่ห์จินดารัตน์ ()

1. บทนำ

รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมีนโยบายมุ่งลดการพึ่งพาทรัพยากรพลังงานจากต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) โดยเชื่อว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม หากแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 1955 และเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกเมื่อปี 1970 ในภาพรวม กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 17 แห่งทั่วประเทศ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 55 เครื่อง ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของอุปสงค์ภายในประเทศ (ภาคผนวกที่ 1) นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นร้อยละ 41 ภายในปี 2015

สำหรับกรณีของไทย แนวคิดเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากไทยเองไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ประกอบกับวิกฤตการณ์น้ำมันในตลาดโลกตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 (ภาคผนวกที่ 2) ทำให้รัฐบาลอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 แต่ท้ายที่สุดจำเป็นต้องเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในอ่าวไทย แม้ว่าเมื่อปี 1992 คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่งภายในปี 2006 แต่แนวทางการดำเนินการยังคงไม่ชัดเจน โดยต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการหันมามุ่งเน้นการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งล่าสุดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทยอีกวาระหนึ่งอย่างจริงจัง โดยปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2011 – 2021 ครอบคลุมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ โดยได้อนุมัติงบประมาณระหว่างปี 2008 – 2011 สำหรับเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ เลือกสถานที่ก่อสร้าง/เทคโนโลยีการผลิต ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน และพัฒนาบุคลากรนอกจากนี้ ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการตั้งงบประมาณ 240 ล้านบาทระหว่างปี 2008 2010 สำหรับเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและการพัฒนาบุคลากร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการระยะที่ 2 (การเตรียมการกำหนดประกวดราคาก่อสร้าง) โดยมีการลงนามร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต่างประเทศ 5 แห่ง และมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างน้อย 2 แห่งระหว่างปี 2014 – 2020 เพื่อผลิตไฟฟ้าปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ เข้าสู่ระบบระหว่างปี 2020 – 2021 และทำการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความเป็นไปได้แล้วรวม 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ขอนแก่น และตราด

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในภูมิภาค Tohoku ของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เนื่องจากระบบไฟฟ้าสูบน้ำหล่อเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fukushima Daiichi ล้มเหลว และเกิดการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หลายครั้ง ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล และรัฐบาลญี่ปุ่นออกคำสั่งอพยพประชาชนออกจากรัศมีรอบโรงไฟฟ้า โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ได้รับสัมปทานการผลิตไฟฟ้ายังคงต้องร่วมมือกันดำเนินการควบคุมสถานการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนในประเทศต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลเยอรมนีประกาศทบทวนนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ และรัฐบาลอิตาลีชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นที่กังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจปลุกกระแสการต่อต้านไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของภาคประชาสังคมให้รุนแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าระดับการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีที่ญี่ปุ่นจะไม่รุนแรงในระดับเดียวกับอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน เมื่อปี 1986

Policy Brief ฉบับนี้ สรุปและเรียบเรียงขึ้นจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง “การพัฒนากฎหมายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น” อันเป็นการนำเสนอข้อค้นพบสำคัญ ๆ จากงานวิจัย พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอันมาจากข้อค้นพบเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้า Fukushima Daiichi ของญี่ปุ่น ดังนั้น Policy Brief ฉบับนี้ จึงมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ข้อเสนอต่างๆสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น

2. ความสำเร็จของการผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

  • เกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ

(1) นโยบายพลังงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เน้นความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง มีการประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นอยู่เสมอ เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าในระยะกลางและระยะยาวอย่างเหมาะสม

(2) การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์อย่างครอบคลุมและรอบด้าน โดยเน้นการเชื่อมโยงนโยบายนิวเคลียร์เข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง อันประกอบด้วย 8 กลุ่มกฎหมายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ และกลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการชดเชยค่าเสียหายทางนิวเคลียร์โดยรัฐ ซึ่งยึดถือหลักการยอมรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ยินยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัด และรัฐบาลต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายด้วย ส่งผลให้ประชาชนญี่ปุ่นยอมรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในที่สุด

(3) การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาพลังงานนิวเคลียร์อย่างแท้จริง โดยมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจเลือกรูปแบบการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมสำหรับในแต่ละพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความอิสระและเข้มแข็ง ให้สิทธิแก่ประชาชนเต็มที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมและใช้สิทธิทางศาลตามที่กรอบกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ การสอดประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์จากต่างประเทศ การส่งเสริมงานวิจัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาล และการให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์แก่เยาวชนและสาธารณชน ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

3. ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ไทย

ในกรณีของประเทศไทย พบว่า การผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ได้แก่

  • 1) กระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของสังคม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งในแง่ของการก่อสร้าง การควบคุมการเดินเครื่อง และการบริหารจัดการกากกัมมันตรังสี อีกทั้งภาครัฐยังคงขาดการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในฐานะแหล่งพลังงานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา ยังคงขาดกลไกส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างเป็นระบบ
  • 2) ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ยังไม่มีความครอบคลุมเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งส่วนความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทานให้ชัดเจน และให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคประชาชนยิ่งขึ้น

(3) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานนิวเคลียร์ยังคงมีค่อนข้างน้อย ยังขาดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และหน่วยงานที่มีอยู่ก็ไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของไทยไม่มีอำนาจและอิสระในการบริหารจัดการ และไม่มีบทบาทเชิงรุกในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เมื่อเทียบกับคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

(4) การขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยไปในทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

  • จากการศึกษาประสบการณ์ในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า หากไทยต้องการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างจริงจัง ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ ดังนี้

      (1) สานต่อนโยบายพลังงานให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้นโยบายและแผนด้านพลังงานนิวเคลียร์เกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง และให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทางการเงินที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีต้นทุนการก่อสร้างสูงและใช้เวลาก่อสร้างไม่น้อยกว่า 13 ปี ซึ่งถือเป็นภาระด้านงบประมาณในระยะยาว

      (2) เร่งตรากฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านนิวเคลียร์ ที่มีความชัดเจนด้านการคุ้มครองผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งส่วนความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลและบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน ที่สำคัญ การออกกฎหมายตอบแทนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าในลักษณะต่างๆ อาทิ เงินอุดหนุนรายได้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนยอมรับโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น

      (3) พัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นผู้แทนเจรจากับรัฐบาล พร้อมดึงให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ในขณะที่ปัจจุบัน องค์กรพัฒนาเอกชน (NonGovernmental Organization: NGO) กลับกลายเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แทนที่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจมิได้สะท้อนความต้องการของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

      (4) ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับภาวะ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ภายใต้เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์/แรงจูงใจที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับ เช่น การสร้างรายได้ การลดภาษีท้องถิ่น และการให้ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินในอัตราสูง

      (5) พร้อมนี้ เร่งพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งในระดับปริญญาเอก และระดับช่างเทคนิคที่สามารถควบคุมการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้เมื่อก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากปัจจุบันไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรดังกล่าวอย่างมาก

  • แม้วิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะก่อให้เกิดคำถามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงว่า ประเทศไทยยังสมควรสานต่อนโยบายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่ แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาสถานการณ์และแนวโน้มด้านพลังงานของไทยในปัจจุบันแล้วเห็นว่า ไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ ไม่สามารถตอบโจทย์อัตราการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าของไทยในอนาคตได้แล้ว ก็สมควรสร้างความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณชน และทำความเข้าใจกับประชาชนว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเป็นเพราะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีแบบเก่าที่ไม่สามารถทนทานต่อขนาดแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริคเตอร์และคลื่นสึนามิระดับสูง 10 เมตรได้ ในขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบันได้รับการออกแบบเทคโนโลยีให้สามารถป้องกันการล้มเหลวของระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อีกทั้งประเทศไทยเองตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้ในการเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในระดับที่ต่ำกว่ามาก อย่างไรก็ดี ความโปร่งใสในการดำเนินการและการคัดเลือกบริษัทผู้รับสัมปทาน จะยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการยอมรับในภาคประชาชน โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นใจต่อสาธารณชนว่า ภาครัฐจะให้ความสำคัญต่อ “ความปลอดภัย” ของเทคโนโลยีเป็นประการแรก เหนือกว่า “ราคาต้นทุน” ของเทคโนโลยี อันจะช่วยให้การดำเนินโครงการมีความราบรื่นยิ่งขึ้นในระยะต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ชาญวิทย์ ชัยกันย์ (2010) การพัฒนากฎหมายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น, สัญญาเลขที่ RDG5210029, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เว็บไซต์

International Atomic Energy Agency (IAEA) <http://www.iaea.org>

World Nuclear Association (WNA) <http://www.world-nuclear.org>

Tokyo Electric Power Company (TEPCO), Japan <http://www.tepco.co.jp>

Ministry of Economy, Trade and Industry (METI), Japan <http://www.meti.go.jp>

Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology (MEXT), Japan

                  <http://www.mext.go.jp>       

Energy Information Administration (EIA), Department of Energy, USA <http://www.eia.doe.gov>

Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety (BMU), Germany

                  <http://www.bmu.de/english/aktuell/4152.php>

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ <http://www.oaep.go.th>

กระทรวงพลังงาน <www.energy.go.th>