ประโยชน์ ของการเรียน รู้ โดยใช้ โครงงาน

การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน


แนวคิดที่นักการศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสนใจและเห็นว่าสอดคล้องกับการจัดการศึกษา ในศตวรรษที่ 21 มากที่สุด คือ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivist Learning Theory) ได้แก่ ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) และทฤษฎีการสร้างความรู้ ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism) ซึ่งมีความเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อ ผู้เรียนได้สร้างความรู้ที่เป็นของตนเอง สร้างความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจของตนเอง และมีส่วนร่วมในการเรียน (Active Learning) มากขึ้น รูปแบบจากการเรียนรู้ที่เกิดจากแนวคิดนี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) การเรียนรู้แบบช่วยเหลือกัน (Collaborative Learning) การเรียนรู้โดยการค้นคว้าอย่างอิสระ (Independent Investigation Method) รวมทั้ง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–Based Learning) (ยรรยง สินธุ์งาม, 2556)

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน


การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) เป็นวิธีการจัดการ เรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้และทักษะผ่าน กระบวนการศึกษาค้นคว้าและการใช้ความรู้ในชีวิตจริง ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมและการแก้ปัญหา ที่ท้าทายร่วมกัน โดยมีผลงานที่แสดงถึงศักยภาพและความสำเร็จของผู้เรียนซึ่งขั้นตอนการดำเนินการ มี 6 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อม เป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้สอนและผู้เรียน เป็นการเตรียมความพร้อมผู้สอนเพื่อให้เข้าใจบทบาทผู้สอนในการทบทวนสร้างความเข้าใจกับกิจกรรมในแผน การจัดการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้พร้อมต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน ส่วนการเตรียมความพร้อมผู้เรียนเป็นการสร้างความเข้าใจในบทบาทผู้เรียน ให้เกิดความตระหนักถึงเป้าหมายการเรียนรู้และบทบาทผู้เรียนที่ต้องมีส่วนร่วมในการเรียน

ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดและเลือกหัวข้อ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละหัวข้อที่จะทำโครงงาน รวมถึงการศึกษาความคุ้มค่าของโครงงานที่จะทำของผู้เรียนการกำหนดและเลือกหัวข้อเป็นกิจกรรม ที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดหัวข้อที่จะทำเป็นโครงงาน ศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าของ แต่ละหัวข้อเพื่อเลือกโครงงานที่จะจัดทำ

ขั้นตอนที่ 3 การเขียนเค้าโครงของโครงงาน เป็นการสร้างผังมโนทัศน์ (Conceptual Map) หรือแผนที่ ความคิด (Mind Map) ที่แสดงถึงภาพรวมทั้งหมดของโครงงานตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบด้วย แนวคิด หลักการ แผนงาน และขั้นตอนในการทำโครงงานตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติงานโครงงาน เป็นการนำขั้นตอนวิธีการตามเค้าโครงของโครงงานสู่การปฏิบัติ หลังจากที่ผู้เรียนได้รับความเห็นชอบจากครูผู้สอนหรือครูที่ปรึกษาแล้ว

ขั้นตอนที่ 5 การนำเสนอผลงาน เป็นการจัดทำรายงานและการนำเสนอผลการปฏิบัติโครงงาน ได้แก่ กระบวนการและผลงาน เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนปฏิบัติงานโครงงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนที่ 6 การประเมินโครงงาน เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของ โครงงานในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ก่อนทำโครงงานจนถึงเสร็จสิ้นโครงงาน ซึ่งเป็นการประเมินอย่าง ต่อเนื่องด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เน้นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ทั้งความรู้ กระบวนการ พฤติกรรมของผู้เรียน ผลงาน และข้อค้นพบที่ผู้เรียนได้จากการทำโครงงาน

วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน


วัฒนา มังคสมัน (2551) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานไว้ 4 หลักการ คือเมื่อใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานแล้ว ผู้เรียนมีลักษณะสำคัญดังนี้

   1. สามารถพัฒนากระบวนการคิดของตนเอง

   2. สามารถลงมือปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเอง

   3. สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นกระบวนการ

   4. เห็นคุณค่าในตนเอง

การประเมินผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน


บุญเลี้ยง ทุมทอง (2548) กล่าวถึงการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้โครงงาน โดยใช้การประเมินผลตามสภาพจริง ดังนี้

   1. ประเมินผลในขณะผู้เรียนแสวงหาความรู้

   2. ประเมินผลการใช้ภาษาในการถาม – ตอบของผู้เรียน ในทุกขั้นตอนของการเรียน โดยยึดหลักที่ว่า “ยิ่งพูด ยิ่งอธิบายมาก ยิ่งถามมาก ยิ่งสงสัยมากก็ยิ่งได้คะแนนมากเท่านั้น”

   3. ประเมินผลจากการทดสอบที่กำหนด 2 ช่วงคือ กลางภาค และปลายภาค

อังคณา ตุงคะสมิต (2559) กล่าวถึงการประเมินโครงงานที่ใช้เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถประเมินได้ 2 ส่วนคือ 1) ส่วนของนักเรียนที่ปะเมินตนเอง และ 2) ส่วนที่ครูใช้ประเมินคุณภาพของโครงงาน การทำงานของนักเรียน ประเมินความก้าวหน้าในระหว่างการทำงานและเมื่อโครงงานสิ้นสุด โดยมีข้อคำนึงในการประเมิน ดังนี้

   1. ต้องให้นักเรียนเป็นผู้ประเมินหลัก

   2. อาจใช้การอภิปรายเป็นกระบวนการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน

   3. อาจให้นักเรียนเขียนแสดงความรู้สึกต่อผลงานของตนเองหรือที่เรียกว่า Reaction sheet

ประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน


ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2556) ได้กล่าวถึงคุณค่าของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไว้ดังนี้

   1. การเรียนรู้มิได้เกิดจากการสอนของครูอย่างเดียว แต่เกิดจากตัวของนักเรียนเอง

   2. นักเรียนได้เรียนรู้จากการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับประสบการณ์ใหม่

   3. การเรียนอย่างต่อเนื่องจากการทำโครงงาน ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากรูปธรรมเป็นนามธรรมได้

       4. การเรียนรู้เกิดจากการลงมือปฏิบัติของนักเรียนเอง โดยผ่านขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมมั่นให้กับตนเอง

       5. เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการทำงานของนักเรียนต้องมีการติชม วิพากษ์วิจารณ์ และให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุงแก้ไขที่ดีขึ้น

       6. ความคาดหวังของนักเรียนที่มีต่อผลงาน เพราะในกระบวนการของการทำโครงงาน นักเรียนจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

       7. นักเรียนได้พัฒนาความสามารถที่มองสะท้อนตัวเองได้ (Self-reflection) โดยฝึกการติดตามความคิด ตรวจสอบความคิด ติดตามงานและฝึกแก้ปัญหาจากผลของการติดตามงานนั้น ๆ

อ้างอิง


     การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) อ้างอิงจาก: https://www.krupatom.com/wp-content/uploads/2019/07/PJBL.pdf.

     บุญเลี้ยง ทุมทอง. (2548). แนวการออกแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานคณิตศาสตร์. ในประมวลองค์ความรู้และงานวิจัยหลักสูตรและการเรียนรู้. ฉันทนา กล่อมจิต, ลัดดา ศิลาน้อย และพรชนิตว์ ลีนาราช. (บรรณาธิการ). ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

     ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต. (2556). ยกระดับครูสังคมศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่21.  ขอนแก่น: สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

     วัฒนา มังคสมัน. (2551). การสอนแบบโครงการ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย