รายงานผู้สอบบัญชี

เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงานตรวจสอบแล้ว ผู้สอบบัญชีจะทำการออกรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีต่องบการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ผู้ตรวจสอบบัญชีจะระบุไว้ว่า งบการเงินดังกล่าวแสดงไว้อย่างถูกต้องหรือไม่

ความเห็นจากการตรวจสอบมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่นำงบการเงินของกิจการไปใช้ เพราะจะช่วยให้พวกเขาทราบว่าข้อมูลในงบการเงินที่พวกเขาใช้อยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ และสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้หรือไม่

โดยมาตรฐานหลักที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชี คือ TSA 700 การแสดงความเห็นและการรายงานต่องบการเงิน และ TSA 705 การแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีสามารถแบ่ง ออกได้เป็น 4 ประเภท โดยเรามาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง แต่ละประเภทมีความหมายอย่างไรบ้าง

ความเห็นของผู้สอบบัญชี 4 ประเภท ได้แก่

1) ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion)

2) ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion)

3) ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion)

4) ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer)

ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion)

ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข คือ ความเห็นที่ผู้สอบบัญชีจะสรุปแสดงไว้เมื่องบการเงินของกิจการได้ถูกจัดทำขึ้นไว้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานรายงานทางการเงินที่ใช้ในการจัดทำและการนำเสนองบการเงิน ดังนั้น ความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีประเภทนี้เป็นความเห็นที่บริษัททุกบริษัทคาดหวังจะได้รับ

แม้ว่าผู้ตรวจสอบบัญชีจะมีการแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขซึ่งเป็นความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีที่ดีที่สุดในการสรุปว่างบการเงินถูกต้อง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่างบการเงินดังกล่าวไม่มีหรือปราศจาก ข้อผิดพลาดใดๆ อยู่เลย เพราะท่านผู้ใช้งบการเงินทุกท่านหากได้เคยลองอ่าน หน้ารายงานผู้สอบดีๆ แล้วจะพบกับคำว่า “โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญ” ดังนั้นย่อมหมายถึงว่า ข้อผิดพลาดที่ผู้สอบมองว่า “ไม่เป็นสาระสำคัญ” ก็อาจยังคงมีอยู่ในงบการเงินดังกล่าวได้ครับ

รายงานผู้สอบบัญชี

หลังจากนี้เราจะมาดูความเห็นสามประเภทที่เหลือซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเห็นในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป (Modified Opinion) ตามมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับที่ 705

ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Unqualified Opinion)

ความเห็นแบบมีเงื่อนไข คือ ประเภทของความเห็น ที่ผู้สอบบัญชีมองว่ามีรายการบางอย่างในงบการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือ มีรายการบางรายการที่เป็นสาระสำคัญแต่ผู้สอบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือได้รับเอกสารหลักฐานเพื่อรับรองความถูกต้องได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นไม่แผ่กระจายไปยังส่วนประกอบอื่นๆ ของงบการเงิน

ข้อผิดพลาดแบบแผ่กระจาย หมายถึง ข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างหรือหลายบัญชีในงบการเงิน โดยประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ใช้ผู้สอบบัญชีจะใช้ดุลยพินิจในการประเมิน ดังนั้นจึงไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวแน่นอนครับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเห็นแบบเงื่อนไข นี้จะดูแย่กว่าในสายตาของผู้ใช้งบการเงินถ้าเทียบกับความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นการระบุว่างบการเงินนั้นมีความผิดพลาดซ่อนอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีความเห็นในอีก 2 ประเภทที่อาจจะมีความรุนแรงมากว่าตามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ครับ

ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion)

ความเห็นในลักษณะนี้มีผลค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ใช้งบการเงิน เนื่องจากอาจกล่าวได้ว่าผู้สอบต้องการจะบอกผู้ใช้งบการเงินทราบว่า พวกเขาไม่ควรพึ่งพางบการเงินเหล่านี้ในการตัดสินใจ เนื่องจากผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและพบว่างบการเงินดังกล่าวมีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและข้อผิดพลาดดังกล่าวแผ่กระจายไปในงบการเงินของกิจการ

โดยปกติหากงบการเงินถูกแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้องมักจะมีผลกระทบต่อเป็นอย่างมากต่อ ผู้ลงทุน สถาบันทางการเงิน หรือบุคคลอื่นที่จำเป็นต้องใช้งบการเงินของกิจการในการตัดสินใจ

ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer Opinion)

การไม่แสดงความเห็นของผู้ตรวจสอบมีความแตกต่างกับ ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข และความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง เนื่องจากความหมายของความเห็นในลักษณะนี้ หมายถึง การที่ผู้ตรวจสอบ ไม่สามารถระบุได้เลยว่ารายการในงบการเงิน ถูก หรือ ผิด อย่างไร โดยสาเหตุของการออกความเห็นในลักษณะนี้มาจากการที่ผู้ตรวจสอบถูกจำกัดขอบเขตในการปฏิบัติงานตรวจสอบ หรือไม่ได้รับเอกสารหลักฐานที่เพียงพอเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบได้

โดยการถูกจำกัดขอบเขตดังกล่าว จะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้ตรวจสอบบัญชีได้มีการพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับผู้บริหารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลในการตรวจสอบ แต่ยังคงถูกปฏิเสธไม่ว่าจะมาจากทั้งกรณีเจตนาหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

และนั้นคือประเภทของความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีทั้งหมดครับ หลังจากนี้หากท่านในฐานะที่เป็นผู้ใช้งบการเงิน ผู้เขียนก็หวังว่าท่านจะสามารถเข้าใจความเห็นของผู้สอบบัญชีที่ปรากฏในงบการเงินของทุกท่านได้ดียิ่งขึ้น และยังอยากให้ทุกท่านให้ความสนใจในหัวข้อดังกล่าวเพราะความเห็นของผู้สอบเป็นเพียง หัวข้อสั้นๆ เท่านั้นเพียงแค่ท่านได้เปิดอ่านดูก็จะสามารถรู้ได้ทันทีว่างบการเงินดังกล่าวมีประเด็นอะไรไหม เพราะหากละเลยในจุดนี้ท่านอาจมาพบทีหลังก็ได้ว่างบการเงินที่ท่านได้ใช้ประกอบการตัดสินใจนั้นเป็นงบการเงินที่มีความเห็นว่า “งบการเงินไม่ถูกต้อง” ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้ครับ