ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ผลกระทบ

ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนทุกประเทศ แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดและความเข้มงวดของการควบคุม สำหรับสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดที่สุดในโลก จากข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทสด้านการวางแผนและนโยบายป้องกันการบาดเจ็บ พบว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๑๗ จำนวนการครอบครองปืนโดยพลเรือนทั้งในรูปแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในสิงคโปร์มีเพียง ๒๐,๐๐๐ กระบอก โดยคิดเป็นอัตราร้อยละ ๐.๓ ของประชากรทั้งหมดในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอัตราการครอบครองอาวุธปืนที่ต่ำที่สุด  นอกจากนี้ จากการายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace) พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสันติภาพและความสงบสุขเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอันดับเจ็ดจากประเทศที่ได้รับการประเมินทั้งสิ้น ๑๖๓ ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนนรวม ๑.๓๔๗ ซึ่งเป็นการประเมินจากปัจจัยที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยมีปัจจัยเกี่ยวกับการเข้าถึงอาวุธปืนขนาดเล็กเป็นตัวชี้วัดสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม ในด้านดังกล่าวสิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่สองของโลกมีคะแนน ๑.๒๓๓ โดยมีสถิติการก่อคดีอาชญากรรม จำนวนนักโทษในเรือนจำและยอดผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำ  ในการนี้จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาเกี่ยวกับมาตรการที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ในการควบคุมการมี การใช้ และการพกพาอาวุธปืน บทความฉบับนี้จึงมุ่งนำเสนอถึงสาระสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศอื่นต่อไป

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ภาพรวม

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นการสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน เช่น ธรรมาภิบาล การเคารพกฎหมายและหลักการสำคัญต่าง ๆ เช่น การแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีเป้าหมายและลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องปรากฏอยู่ในเอกสาร ASEAN Political-Security Community Blueprint หรือ APSC Blueprint 2025 ในปี 2561 อาเซียนมีการปฏิบัติตาม action lines ของ APSC Blueprint 2025 ไปแล้ว 255 ประเด็น หรือคิดเป็นร้อยละ 88 และยังเหลือรายการ action lines ที่ต้องดำเนินการอีก 35 ประเด็น

ในส่วนของไทยให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ (1) การบริหารจัดการชายแดน (2) การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล (3) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ (4) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน และ (5) การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน

ความคืบหน้าในการดำเนินการของประชาคมการเมืองและความมั่นคงในด้านต่าง ๆ มี ดังนี้

(1) การเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบปกติ

ในภาพรวมประชาคมการเมืองและความมั่นคงประสบผลสำเร็จในการป้องกันไม่ให้มีปัญหาข้อพิพาทที่นำไปสู่การสู้รบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถส่งเสริมความร่วมมือและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจภายในอาเซียนจนมีผลให้ความมั่นคงในรูปแบบปกติอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ ในประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งได้มีการทดลองและดำเนินการ MFA-to-MFA Hotline to Respond to Maritime Emergencies in the South China Sea เป็นผลสำเร็จ รวมทั้งมีการจัดทำร่างเอกสารสำหรับการเจรจา Code of Conduct for the South China Sea (COC) ทั้งนี้ ไทยยังคงส่งเสริมการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่จะพัฒนาทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในส่วนของการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting – ADMM) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 18 – 20 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ที่สิงคโปร์ ได้ให้ความเห็นชอบและยกระดับการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาเซียนให้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 2019 ที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ไทยจะรับตำแหน่งประธาน ADMM และ ADMM – Plus ด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยได้แสดงความพร้อมในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน และขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน ทั้งนี้ จะมีการส่งมอบศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine – ACMM) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์อาเซียนที่จะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับอาเซียนด้วย

(2) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่

การพัฒนาความเชื่อมโยงในอาเซียนนำมาซึ่งผลประโยชน์และความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอาเซียนยังไม่มีระบบการบริหารภัยคุกคามดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันอาเซียนมีกรอบความร่วมมือหรือความตกลงในรายสาขาเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 ความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติ

ความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติในอาเซียนมีความคืบหน้ามาก โดยปัจจุบันมีการกำหนดให้มีการประชุม ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime (AMMTC) ทุกปี (จากเดิมทุกสองปี) ซึ่งไทยมีบทบาทที่แข็งขันโดยเฉพาะในกรอบ ASEAN Senior Officials’ Meeting on Transnational Crime (SOMTC) และ AMMTC โดยไทยเป็นประเทศนำ (lead shepherd) ในเรื่องการต่อต้านยาเสพติดและการลักลอบค้าสัตว์ป่าและค้าไม้ผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 29 – 30 มีนาคม ค.ศ. 2018 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับ UNODC จัดการประชุมคณะทำงานการลักลอบค้าสัตว์ป่าและค้าไม้ผิดกฎหมาย ครั้งที่ 1 ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม AMMTC ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ที่กรุงเนปยีดอ ไทยได้สนับสนุนการดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมทั้งมาตรการทางด้านการพัฒนาควบคู่กับการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางสายกลาง ความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ และการแก้ปัญหาที่รากเหง้า รวมทั้งได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ อาทิ ASEAN Plan of Action (PoA) to Prevent and Counter the Rise of Radicalisation and Violent Extremism 2018 – 2025 และ Guidelines on Consular Assistance by ASEAN Member States Mission in Third Countries to Nationals of other ASEAN Member States นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวไทยได้รับมอบตำแหน่งประธาน AMMTC และแสดงความพร้อมที่จะจัดการประชุม AMMTC ครั้งที่ 13 ในปี ค.ศ. 2019 ด้วย

2.2 ความร่วมมือด้านการต่อต้านยาเสพติด

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่อาเซียนให้ความสำคัญอย่างมากและได้มีการตั้งกลไกในระดับรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ไทยยังคงบทบาทผู้ประสานงานที่สำคัญของสำนักงานประสานความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน (ASEAN-NARCO) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันยาเสพติดในระดับอาเซียน นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด (AMMD) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ณ กรุงฮานอย ไทยได้เสนอให้มีการขยาย ASEAN Cooperation Work Plan to Tackle Illicit Drug Production and Trafficking in the Golden Triangle (2017 – 2019) ให้ครอบคลุมถึงปี ค.ศ. 2022 เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ อาทิ Joint Statement at the High Level Segment และ Joint ASEAN Statement Against Legalisation of Controlled Drugs ซึ่งจะเป็นการแสดงจุดยืนของอาเซียนในการต่อต้านการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด ครั้งที่ 62 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ตลอดจนให้การรับรอง Guiding Criteria and Modalities in Engaging External Parties for AMMD and its Subsidiary Mechanism เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานของที่ประชุม AMMD ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2.3 ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์

ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียนมีความคืบหน้ามากโดยเฉพาะเมื่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children – ACTIP) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 โดยในส่วนของประเทศไทยได้ภาคยานุวัติอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 2016 ในปัจจุบันอาเซียนเริ่มมีการจัดตั้งกลไกข้ามรายสาขา (cross-sectoral mechanism) เพื่อต่อสู้กับเรื่องการค้ามนุษย์ผ่านกลไก Bohol Process ด้วย

2.4 ความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

อาเซียนให้ความสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมความร่วมมือและการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัว (soft launch) ศูนย์ AEAN-Japan Cybersecurity Capacity-Building Center เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2018 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุม ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting (TELMIN) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2017 ที่กัมพูชา ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2019 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จะได้มีการจัดพิธีเปิดตัวศูนย์ AEAN-Japan Cybersecurity Capacity-Building Center อย่างเป็นทางการด้วย

2.5 ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน

การบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญและมีบทบาทอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม ค.ศ. 2017 ไทยร่วมกับสหรัฐฯ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดการประชุม Workshop on the Concept Development of ASEAN Regional Forum Transnational Threat Information-sharing Centre (ATTIC) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมกับ UNODC จัดการประชุม High Level Regional Conference on Enhancing Cooperation on Border Management in the ASEAN Region มาแล้วถึง 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 โดยการประชุมครั้งล่าสุด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ซึ่งได้มีการรวบข้อเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการชายแดนเป็นเอกสารที่มีชื่อว่า “Growth with Security: ASEAN 2025 A Regional Border Management Roadmap to Synchronise Economic and Security Agendas” โดยข้อเสนอที่สำคัญคือ การเสนอแนะให้มีการจัดทำ “ASEAN-wide Border Management Cooperation Arrangement” เพื่อเป็นกลไกในการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมความปลอดภัยบริเวณชายแดนและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าข้ามแดน ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ไทยจะผลักดันในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

2.6 ความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล

ในปัจจุบันอาเซียนมีความพยายามมากยิ่งขึ้นที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและกับภาคีภายนอกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล อาทิ ในกรอบ ARF Inter-sessional Meeting on Maritime Security (ARF ISM on MS), ASEAN Maritime Forum (AMF) และ Expanded Maritime Forum (EAMF) ไทยให้ความสำคัญในเรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง maritime security, maritime safety, maritime cooperation and connectivity และการแก้ไขปัญหาโจรสลัด รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก Regional Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery against Ship in Asia (ReCAAP) ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้จัดทำแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2558-2564) ซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องความมั่นคงทางทะเล การรักษาความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

(3) การส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน

ปัจจุบันความเป็นแกนกลางของอาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายโดยภาคีนอกภูมิภาคต่าง ๆ ที่แข่งขันในการเข้ามามีบทบาทและมีส่วนกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อาเซียนได้พยายามรับมือกับความท้าทายดังกล่าวโดยการเสริมสร้างบทบาทนำของอาเซียนในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงในภูมิภาคโดยอาศัยกลไกที่มีอาเซียนนำ (ASEAN-led mechanisms) ได้แก่ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defense Ministers’ Meeting: ADMM-Plus) และการประชุมสุดยอดเอเชีย-ตะวันออก (East Asia Forum: EAS) เพื่อรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค