ฝากครรภ์ โรงพยาบาล ปากน้ำ โพ

เราบริการด้วยคุณภาพตามความต้องการ ภายใต้บรรยากาศการที่อบอุ่น

โดยมีเป้าหมายการบริการที่มีประสิทธิภาพ ให้ผู้มาใช้บริการ มีความพึงพอใจสูงสุด

เราบริการด้วยคุณภาพตามความต้องการ ภายใต้บรรยากาศการที่อบอุ่น

โดยมีเป้าหมายการบริการที่มีประสิทธิภาพ ให้ผู้มาใช้บริการ มีความพึงพอใจสูงสุด

ฝากครรภ์ โรงพยาบาล ปากน้ำ โพ

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

ฝากครรภ์ โรงพยาบาล ปากน้ำ โพ

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่

แพ็กเกจคลอดเหมาจ่าย คลอดธรรมชาติ 24,000 บาท ผ่าตัดคลอด 34,000 บาท พิเศษ
ผ่าตัดคลอด ห้อง เพรสซิเด้นท์ ตรวจ ATK 2 ท่าน(คนเฝ้า) ทำหมันฟรี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.(056) 000-111 ต่อ 18221 - 18222

แพ็กเกจคลอดเหมาจ่าย โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1  Healthserv.net

ข้อมูลนี้เป็นบริการของ

ลูกรูบิก

รูบิกหรือที่เรียกกันว่า ลูกรูบิก เป็นของเล่นลับสมองประดิษฐ์ขึ้นในปี 2517 โดย เออร์โน รูบิก ซึ่งเป็นประติมากร และศาสตราจารย์ในสาขาสถาปนิกชาวฮังการี ผู้สนใจเรขาคณิต และรูปทรงสามมิติ

เออร์โนจดสิทธิบัตรในชื่อ ลูกบาศก์มหัศจรรย์ (Magic Cube) ในปี 2518 ที่ฮังการี แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรนานาชาติ จากนั้นมีการผลิตชุดแรกเพื่อสำรวจตลาดในปลายปี 2520 โดยจำหน่ายในร้านของเล่นในกรุงบูดา เปสต์

หลังจากนั้นเริ่มได้รับความนิยมไปทั่วทั้งฮังการี โดยการบอกเล่าปากต่อปาก วงการศึกษาในกลุ่มประเทศตะวันตกจึงเริ่มให้ความสนใจ

เดือนก.ย. ปี 2522 บริษัท ไอดีล ทอยส์ (Ideal Toys) ที่ได้ข้อตกลงจำหน่ายทั่วโลก นำของเล่นนี้ไปเปิดตัวที่งานแสดงของเล่นที่กรุงลอนดอน อังกฤษ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี และกรุงปารีส ฝรั่งเศส จนแพร่หลาย

ต้นปี 2523 บริษัท ไอดีล ทอยส์ เปลี่ยนชื่อของเล่นนี้เป็นลูกบาศก์ของรูบิก (Rubik"s Cube)

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่าใครคือบุคคลที่คิดค้นของเล่นชนิดนี้คน แรก โดยอีกผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าประดิษฐ์ลูกบิดขึ้นมาเล่นก่อนนายรูบิก คือนายลาร์รี นิโคลส์ เพียงแต่ว่าของเล่นของลาร์รีมีขนาด 2ด2ด2 ไม่ใช่ 3ด3ด3

โดยลาร์รีตั้งชื่อว่า "Puzzle with Pieces Rota table in Group" และตัวยึดลูกบิดเข้าไว้ด้วยกันคือแม่เหล็ก ทำให้เป็นของเล่นที่มีราคาแพงและไม่แพร่หลาย ส่วนของรูบิกคือพลาสติกราคาถูก

ขณะเดียวกันชาวญี่ปุ่นชื่อ อิชิกิ เทรุโตชิ (Terutoshi Ishigi) ได้ขอจดสิทธิบัตรของเล่นที่มีลักษณะเกือบเหมือนลูกบาศก์ของรูบิก ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลาระหว่างที่สิทธิบัตรที่รูบิกขอนั้นกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ นายอิชิกิจึงได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นการค้นพบซ้ำกัน

โดยทั่วไปรูบิกทำจากพลาสติก แบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ 26 ชิ้น ประกอบกันเป็นรูปลูกบาศก์ที่บิดหมุนไปรอบๆ ได้ แต่ละด้านประกอบด้วย 9 ส่วนย่อย มีสีทั้งหมด 6 สี จุดประสงค์ของการเล่นคือ จัดเรียงให้แถบสีทั้ง 9 ที่อยู่ในด้านเดียวกันของลูกบาศก์ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ด้านนั้นมีสีเดียวกัน

ปัจจุบันนี้รูบิกพัฒนาปรับเปลี่ยนจนมีหลากหลาย มีทั้งแบบ 2ด2ด2, 4ด4ด4, 5ด5ด5, 8ด8ด8 หรือมากกว่านั้น มีแบบที่เป็นวงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปดาว แต่แบบที่คลาสสิคที่สุดยังคงเป็นแบบ 3ด3ด3 และต้องเป็นสีน้ำเงิน สีขาว สีเหลือง สีส้ม สีเขียว และสีแดง ถึงจะเรียกว่าคลาสสิคจริง

มีการพูดกันว่ารูบิกเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก ขายไปแล้วกว่า 300 ล้านอันทั่วโลก

สหพันธ์ลูกบาศก์โลก (World Cube Association) รับผิดชอบจัดแข่งขันเพื่อหาผู้ที่สามารถแก้ปัญหาลูกบาศก์ของรูบิกได้เร็วที่สุด การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 5 มิ.ย. 2525 ผู้ชนะเลิศครั้งนั้นคือ มินห์ ไท (Minh Thai) นักศึกษาชาวเวียดนามจากนครลอสแองเจลิส ใช้เวลา 22.95 วินาที จากนั้นการแข่งขันครั้งต่อมาก็มีผู้ทำลายสถิติได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือ 7 วินาที และต่ำกว่า 4 วินาที

สถิติแก้รูบิคของ หยูเฉิง ตู้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันชาวจีน ที่มีความสามารถแก้รูบิคได้อย่างรวดเร็วด้วยเวลาเพียง 3.47 วินาทีเท่านั้น ทำไว้ไว้เมื่อปี 2561
แล้วท่านล่ะ เล่นรูบิคได้เร็วที่สุด ใช้เวลาเท่าไหร่เอ่ย

 

MI-6

หน่วยข่าวกรองลับ (อังกฤษ: Secret Intelligence Service) ย่อว่า เอสไอเอส (SIS) และยังเรียกว่า เอ็มไอ 6 (MI6) เป็นหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลสหราชอาณาจักร มีหน้าที่หลักเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองจากมนุษย์ (human intelligence) ในต่างแดนและด้วยวิธีการลับ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เอสไอเอสเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมข่าวกรองของสหราชอาณาจักร และหัวหน้าของเอสไอเอสต้องรายงานตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร

เอสไอเอสก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1909 เป็นแผนกหนึ่งของสำนักงานราชการลับ (Secret Service Bureau) โดยมีความชำนัญพิเศษในด้านข่าวกรองต่างประเทศ และเจริญก้าวหน้าอย่างเด่นชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันอย่างเป็นทางการในราว ค.ศ. 1920[5] ส่วนชื่อ "เอ็มไอ 6" นั้น ย่อมาจาก "Military Intelligence, Section 6" (ข่าวกรองทหาร แผนก 6) เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อใช้เป็นชื่อเรียกเพื่อความสะดวก เพราะเวลานั้น หน่วยงานนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชื่อ "เอ็มไอ 6" นี้ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การมีอยู่ของเอสไอเอสไม่เป็นที่รับรองอย่างเป็นทางการจนกระทั่ง ค.ศ. 1994 ซึ่งมีการเสนอพระราชบัญญัติราชการข่าวกรอง ค.ศ. 1994 (Intelligence Services Act) หรือไอเอสเอ (ISA) ต่อรัฐสภา เพื่อวางรากฐานให้แก่หน่วยงานนี้เป็นครั้งแรก ปัจจุบัน เอสไอเอสอยู่ในการกำกับดูแลของคณะตุลาการอำนาจสืบสวน (Investigatory Powers Tribunal) กับคณะกรรมาธิการข่าวกรองและความมั่นคงของรัฐสภา (Parliamentary Intelligence and Security Committee) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เอสไอเอสมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตึกเอสไอเอสในลอนดอน ตรงฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์

บทบาทที่สำคัญกว่าบทบาทอื่นของเอสไอเอส ตามที่มีระบุไว้ คือ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธร้ายแรง การให้ข่าวกรองเพื่อสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการสนับสนุนเสถียรภาพในต่างแดนเพื่อทำลายการก่อการร้ายและอาชญากรรมอื่น ๆ แต่เอสไอเอสต่างจากหน่วยงานพี่น้อง ซึ่งได้แก่ หน่วยความมั่นคง (Security Service: MI5) และกองบัญชาการสื่อสารของรัฐบาล (Government Communications Headquarters: GCHQ) ตรงที่เอสไอเอสทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับการประมวลข่าวกรองจากต่างประเทศ พระราชบัญญัติไอเอสเอกำหนดให้เอสไอเอสปฏิบัติการต่อบุคคลที่อยู่นอกเกาะบริติชเท่านั้น การดำเนินการบางอย่างของเอสไอเอสนับแต่คริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ

หน่วยสืบราชการลับอังกฤษ MI6 เตรียมเพิ่มจำนวนสายลับอีกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

รอยเตอร์/บีบีซี - “เอ็มไอซิกส์” (MI6) หน่วยสืบราชการลับระหว่างประเทศของอังกฤษ เตรียมจะเพิ่มจำนวนสายลับอีกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหาคนมาจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถือเป็นหนึ่งในการขยายกำลังครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

สำนักข่าวบีบีซี อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน โดยระบุว่า หน่วยสืบราชการลับ MI6 จะเพิ่มจำนวนกำลังคนจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 2,500 คน ไปอยู่ที่ตัวเลขต่ำกว่า 3,500 เพียงเล็กน้อย ขณะที่ทาง MI6 ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเจ้าหน้าที่ของตนเอง

บรรดาสายลับทั่วโลกกำลังพยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อหาว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถทำปฏิบัติการลับได้ในยุคนี้ ที่เกือบทุกคนในสังคมตะวันตกล้วนทิ้งร่องรอยเอาไว้ในอินเตอร์เน็ต ทำให้มันยากมากยิ่งขึ้นในการปลอมตัวตนขึ้นมา

เทคโนโลยีจดจำใบหน้ายังได้ไปถึงจุดที่บรรดารูปภาพ อย่างเช่น รูปเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ซึ่งกำลังเดินทางด้วยตัวตนที่สมมติขึ้นมา สามารถถูกค้นหาย้อนกลับไปได้อย่างง่ายดายจนเจอรูปที่ถูกโพสต์ออนไลน์ด้วยตัวตนจริง สมัยที่ยังไม่ได้เข้าร่วม MI6 หรือ CIA

หน่วยสืบราชการลับ MI6 เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะองค์กรต้นสังกัดของยอดจารชนในนิยายสายลับชื่อดัง “เจมส์ บอนด์” ที่ออกปฏิบัติการในต่างแดนเพื่อปกป้องอังกฤษและผลประโยชน์ของชาติ

อ้งอิง
Wikipedia
https://mgronline.com/around/detail/9590000095757

 

"สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง" หรือ "สิบพระยาไม่เท่าหนึ่งพ่อค้าเลี้ยงกันแน่"
ผู้เป็นเจ้าของวลี "สิบพระยาไม่เท่าหนึ่งพ่อค้าเลี้ยง" เขามีอาชีพเป็นพ่อค้า เขาตั้งตัวเองเป็นศัตรูกับระบบเจ้าขุนมูลนายอย่างรุนแรง อันตราย ด้วยการแสดงออกซึ่งความเห็นที่ว่า "สิบพระยาไม่เท่าหนึ่งพ่อค้าเลี้ยง"
ความทะเยอทะยานในสิ่งที่ใครๆก็คิดว่าเป็นทางลบ แต่เขาประสบความสำเร็จจากการต่อสู้ชีวิต ด้วยความมีน้ำอดน้ำทน มีมานะ ในที่สุดเขาก็ได้เป็น "นายห้าง" ฐานะเขาอยู่ระดับเศรษฐีขั้นแนวหน้า เป็นเจ้าของรถเมล์ขาว โรงน้ำแข็งนายเลิศ เรือเมล์ของนายเลิศ ปาร์ค นายเลิศ เขาเริ่มต้นธุรกิจมาตั้งแต่สมัย "ราชาธิปไตย" ตราบจนเปลี่ยนยุคประชาธิปไตย แม้เขาจะถึงแก่กรรมอำลาโลกนี้ไปแล้ว เขาก็ฝากของขวัญให้แก่ทุกคน นั่นคือ โรงพยาบาลเลิศสิน ให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้เยียวยาและรักษาโรคมาจนถึงทุกวันนี้ และยังได้ฝากถ้อยคำอันเป็นสัจธรรมอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่เคยตกยุคให้แก่คนรุ่นหลังไว้ได้นำมาใช้เป็นอุทาหรณ์อีกด้วย
ครั้งหนึ่งเขาถูกเชิญให้ไปบรรยายเหตุและผลที่สถานีส่งกระจายเสียงที่ศาลาแดง สวนลุมพินี ให้ประชาชนได้ฟังว่า เพราะอะไร "สิบพระยาไม่เท่าหนึ่งพ่อค้าเลี้ยง" ท่านพ่อค้าผู้นี้กล้าพูด ด้วยคำพูดที่คนที่มีศักดิ์เป็นพระยา เขาตกลงยอมรับคำเชิญไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงให้ไปโต้วาที (ดีเบท) กับพระยาท่านหนึ่ง
สุดท้ายพระยาก็ยอมจำนนพ่อค้า เพราะพ่อค้ารายนี้ไม่ยอมลดราวาศอกให้ จะเอาไปตัดคอก็ยอม เพราะมันเป็นสัจธรรม
"สิบพระยาไม่เท่าหนึ่งพ่อค้าเลี้ยง" ออกในรายการ ออกอากาศ ณ สถานีศาลาแดง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นการกระจายเสียงทางวิทยุ ความมีอยู่ว่า
ท่านเจ้าของตู้เครื่องรับ หรือผู้ฟังเสียงวิทยุทั้งหลาย ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ถูกท่านผู้ใหญ่เชิญ หรือเกณฑ์ให้มาบรรยายให้ท่านฟังถึงเรื่อง การค้าขาย หรือทำมาหากิน หรือการอาชีพ อันการบรรยายปาฐกถาเช่นนี้ เขามักเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้ามีความยินดี แต่สำหรับตัวข้าพเจ้า ณ บัดนี้ ยังไม่มีความยินดี จนต่อไปอีก ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี ในเมื่อตัวข้าพเจ้ายังไม่ตาย และเมื่อข้าพเจ้าได้ข่าวแน่ชัดว่า พวกชาวไทยเห็นดีเห็นชอบจนคิดอ่านชักชวนกันทำตามความแนะนำของข้าพเจ้านี้แล้วไซร้ ณ เมื่อนั้นแหละข้าพเจ้าจึงจักมีความยินดี
ข้อใหญ่ใจความ ซึ่งข้าพเจ้ามุ่งหมายจะมาพูด ณ บัดนี้ ต้องการจะแนะนำเพื่อนหนุ่มหรือเพื่อนสาว ซึ่งถึงและเกือบจะถึงวัยที่จักต้องออกจากการเล่าเรียน เข้าหาการอาชีพ หรือทำมาหากิน หรือค้าขายสำหรับตน หรือครอบครัวของตน ในกาลข้างหน้า ในขั้นแรก อยากจะชี้ให้เธอมองดูหรืออ่านดูว่า โลกเรานี้ บ้านเมืองที่สมบูรณ์พูนเกิด หรือในบ้านเมืองของเรา บุคคล หรือครอบครัว หรือบริษัทที่มั่งมีนั้น เขาได้อาศัยจากการค้าขาย หรือการอาชีพใช่ไหม! เธอจะตอบ ฉันก็ไม่ได้ยิน แต่ฉันเดาเอาว่า เธอคงตอบว่าใช่ จริงทีเดียว
แล้วฉันว่า บุคคลที่มั่งมีหรือคณะนั้นน่ะ เขาเป็นใคร ชาวไทยเราใช่ไหม! เธอคงตอบว่า ไทยเราก็มีเหมือนกัน แต่น้อยตัวเต็มที นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น (จีน อินเดีย ฝรั่ง) นี่น่ะซี ที่ทำให้ฉันไม่กล้าคุยว่า ขืนคุย ก็เป็นการโกหกตัวเอง เป็นธรรมดาของชาวเรามาตั้งแต่โบราณแล้ว ที่ว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง แต่เดี๋ยวนี้มันถึงเวลาที่พวกเราควรจะยกคำนี้ทิ้งคลองกันเสีย
ฝ่ายท่านบิดามารดา พอรู้ว่าบุตรของตนจะต้องออกจากการเล่าเรียน ก็เที่ยวสืบหาทางราชการให้ตามเคย ฉันขออภัยโทษ ที่นี่ฉันไม่ได้ติว่าทำราชการไม่ดีดอกนะ อันทำราชการนั้นก็ดีเหมือนกัน แต่สำหรับฉัน ฉันเห็นว่าค้าขายนั้นดีกว่า แม้แต่อาชีพอื่นๆ ฉันก็ชอบมากกว่าทำราชการ ขอซักตัวอย่าง เช่น เป็นนายอำเภอ ปลัดอำเภอ เสมียนอำเภอ เป็นนายตำรวจ พลตำรวจ และเสมียนตามโรงพัก เป็นต้น ท่านเหล่านี้เป็นผู้คุ้มครองรักษาทุกข์สุขของราษฎร เขาเงินเดือนมีจำกัด เป็นตำแหน่งๆ เมื่อราษฎรทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ท่านจับ ท่านขัง ส่งศาล ทำโทษลงโทษตามกฎหมาย แต่เมื่อราษฎรทำชอบ ท่านไม่มีของรางวัลแจก ลงท้าย ท่านเหล่านั้นตกอยู่ในตำแหน่งภาชนะใบใหญ่ สำหรับรับความเกลียดชัง ความกลัวของราษฎร ฝ่ายท่านผู้พิพากษา ตุลาการก็ดุลกัน คือเมื่อตัดสินคู่ความ ก็ต้องตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายแพ้ย่อมเสียใจ ฝ่ายชนะก็ดีใจ
ครั้งหนึ่ง ฉันได้พบเพื่อนตุลาการคนหนึ่ง ฉันเห็นสีหน้าท่านมัวหมอง จึงได้ถามว่า ท่านไม่สบายรึ! ท่านตอบว่า "๓ วันมาแล้ว ท่านได้ตัดสินประหารนักโทษ แล้วก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกโผลเผล ไม่สบายใจ"
ดูเอาสิเธอเอ๋ย ราชการน่ะเป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นหน้าที่ ครั้นจะไม่ทำก็ไม่ได้ เราเป็นราษฎรควรเห็นอกท่าน สำหรับฉัน ฉันมั่นใจว่า ท่านข้าราชการนั้น ถ้าแม้อาศัยแต่เฉพาะเงินเดือนอย่างเดียวแล้ว หากว่าเธอได้เคยเห็นข้าราชการผู้ใดที่ได้เป็นเศรษฐีอยู่ได้ ไม่เหมือนถ้อยคำที่ฉันพูดนี้ละก็ เธอลองชี้ตัวให้ดูทีรึ
ทีนี้เธอคงถามฉันว่า ก็เมื่อเราค้าขายแล้วเกิดขาดทุนล่มจม ล้มละลาย เราจะหนีความเสียใจ เศร้าใจ ให้อายุเราสั้นไปเปล่าๆ เราเสียของ เราเสียทรัพย์ของเราเอง ทรัพย์สมบัติของเรา ประเดี๋ยวมันก็มา ประเดี๋ยวมันก็ไป เราควรเสียใจเฉพาะในเมื่อเราทำให้คนอื่นเขาเสีย แต่ว่าเมื่อเราทำใช้เขาได้จนเป็นที่พอใจเขาแล้ว เราก็ไม่ควรเสียใจต่อไปอีก เราควรเสียใจ เศร้าใจ ต่อเมื่อเราไม่มีปัญญาจะใช้เขา เช่น เมื่อเราเผลอสติไปพูดให้ร้ายเขา ทำร้ายเขา ครั้นในเมื่อเราได้สติ เราจะกลับไปรับโทษ หรือขอโทษ มันก็ไม่ทำให้เขาพอใจได้อย่างเดิม เช่นนี้เราควรเสียใจ เศร้าใจมากๆทีเดียว
การค้าขายติดต่อกับชาวต่างชาติ ฉันได้กระทำมามาก นับเวลาก็ได้ถึง ๔๖ ปี จนรู้จักมักคุ้น บางคนได้รักใคร่ ได้เคยช่วยเหลืออุปการะซึ่งกันและกันมาก็มาก แต่ฉันเห็นว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเห็นแก่กิจการและความเจริญของบ้านเมืองเราเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด อันการรักการนับถือซึ่งกันและกันนั้น มันเป็นการส่วนตัวบุคคล ในไม่ช้าไม่นานต่างคนก็ต่างตายหายสูญไปหมด ไม่เหมือนกับบ้านเมือง อันเป็นที่รักของเรา ในกาลข้างหน้า อันไม่มีเวลาจบ
ชนต่างชาตินั้น เมื่อเขาทำมาหากำไรได้แล้ว เขาก็ส่งกำไรนั้นๆไปบ้านเมืองของเขาหมด บางคนที่เขาไม่ส่งเงินนั้นออกไป แต่เขาซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้าน ตึกแถวให้คนไทยเราเข้าอยู่ ถ้าเราไม่รู้จักค้าขาย หรือหาทางอา ชีพอื่นๆ เอาอย่างเขาบ้าง ต่อไปภายหน้าชาวเราต้องเช่าบ้านเขาอยู่ หรือเป็นลูกจ้างให้เขาใช้ ซึ่งเมื่อได้คิดขึ้นมาแล้ว เป็นที่ไม่น่ายินดีเสียเลย
ทีนี้ เธอคงย้อนถามฉันว่า ก็ไม่มีทุนรอนจะให้คิดค้าขายได้อย่างไร ข้อนี้ เธอถามถูก แต่เธอคิดไม่ถูก การค้าขายไม่ได้หมายความว่า พอเริ่มลงมือก็เปิดห้าง หามิได้ ฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น ตามความจุใจ ตามฐานะของตน ขายอ้อยจีน ขายอ้อยควั่น ไอติม เปิดร้านเย็บจักร ขายของ ทุนน้อยกำไรน้อย ตามมีตามการณ์
อันทุนรอนนั้นน่ะ ฉันว่าคนเรามีด้วยกันทุกคน เว้นแต่จำพวกคนตาบอด ขาหักพิการต่างๆ ทุนรอนอันนี้ฉันไม่ได้หมายถึง เงิน หรือทรัพย์สมบัติ สิ่งที่กล่าวนี้บางคนมี บางคนไม่มี บางทีมีอยู่ บางทีก็หมดไป มันไม่เที่ยง มันไม่แน่นอน แต่ความซื่อสัตย์ สุจริต ความพากเพียร อดทนนั้น เป็นต้นทุนอันประเสริฐ สำคัญกว่าเงิน ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ ซื่อสัตย์ หมั่นเพียร อดทน ทุกคนมีได้
เมื่อใครรู้สึกว่าตนไม่มี ก็ไม่ต้องไปขอ หรือไปซื้อจากผู้ใด ถ้าเธอตั้งใจจริงจังว่า เธอจักมีก็มีได้ ไม่มีใครหวง ไม่มีใครอิจฉา บางคนมีลาภ ถูกลอตเตอรี่ ได้มรดกกองโตๆ เกิดอยากค้าขาย แต่ตนยังไม่มีความรู้ความชำนาญพอ ด่วนออกลงทุนค้าขายในเวลาอันไม่สมควร ก็ต้องขาดทุน หมดตัวก็มี เป็นมาหลายคนแล้ว ซึ่งฉันเองได้เคยเห็นมากต่อมากแล้ว ถึงตัวฉันเองก็ถูกเข้ารูปนี้ มาก็หลายหน หลายครั้ง เป็นพยานได้ดี
อันต้นทุนของเราที่เป็นเงิน เป็นทรัพย์สินนั้น เมื่อเราพลาดพลั้ง มันหนีเราไปหมดได้ แต่ต้นทุนคุณสมบัติ ๓ ประการของเราคือ ซื่อสัตย์ พากเพียร อดทนนั้น มันเป็นนิสัยสันดาน ติดอยู่ในตัวเรา มันจะหนีหายจากเราไม่ได้เป็นอันขาด นอกจากซึ่งเราจะสลัดมันทิ้งเสียเท่านั้น ซึ่งถ้าเราขืนทิ้งมัน เราก็ฉิบหายแน่ๆ
ตามธรรมดาคนในเมื่อเงินทอง ทรัพย์สมบัติ มันหมดไปแล้ว แต่ความพากเพียร ความอดทนของเรา มันยังอยู่นะ เรายังไม่ฉิบหายนา อย่าตกใจไปเลย เพื่อนเอ๋ย ชีวิต สกุลของเรา ของคุณพ่อ ของคุณปู่ และชาติของเรา เราต้องปกปักรักษาต่อไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต พากเพียร และอดทน คนเราเมื่อมีเงิน มีทรัพย์มาก ย่อมถูกคนอิจฉา ปองร้ายมากมาย แต่ถ้าเราไม่มีทรัพย์มาก แต่มีความซื่อสัตย์ สุจริต พากเพียร อดทน ย่อมมีคนรักใคร่เอ็นดู นั่นเป็นของธรรมดา ธรรมชาติ เมื่อได้ลาภ ได้เงิน ได้ทรัพย์มานั้น ก็เป็นบุคคลอันประเสริฐชนิดหนึ่ง จงอย่าดูถูกดูแคลนมัน จงอย่าคิดว่ามันมาง่ายๆ ก็ยอมให้มันไปง่ายๆ เช่นนั้นไม่ถูก ต้องเก็บมันไว้ให้มั่นคง แล้วแสวงหาความรู้ว่า เราจะรักษามันไว้ และจักต้องใช้จ่ายมันไปอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์อันดี
ถ้าให้ดีจงไปเที่ยวหางานรับใช้เป็นลูกจ้างตามห้าง หรือตามร้านที่เราชอบในกิจการของเรา เงินเดือนถูกๆก็เอา เป็นลูกจ้างให้เขาใช้ไป จะเป็น ๑-๒ หรือ ๕ ปีก็ตามควรแก่การณ์ จนได้ความรู้ รู้จักผู้คน บวกเข้ากับวิชาความรู้ ซึ่งตนได้รับมาจากครู จากโรงเรียนจนเป็นที่พอใจ หรือว่าจะไปแสวงหาความรู้ต่างจังหวัด ต่างเมือง หรือต่างประเทศได้ก็ยิ่งดี หัดรู้จักการใช้การจ่าย การได้ การเสีย ซึ่งเป็นบทเรียนอันสำคัญยิ่งของการค้า การเที่ยวไปในที่ต่างๆนั้น จงอย่าเผลอว่า มันเป็นการเรียนวิชาวิเศษชนิดหนึ่ง เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่แปลกๆ จงจดจำเอาไว้ให้ดีๆ
ฉันอยากจะแถมอีกสักหน่อยก่อนจบ คือในเมืองของเราที่ว่ามีสำมะโนครัว ๑๔-๑๕ ล้านคน ฉันคะเนว่า ๑ ล้านคนไม่ถึง ที่ได้เอาใจใส่สวดมนต์ ในเมื่อก่อนที่จะเข้านอน ฉันต้องการตักเตือนเธออย่างเต็มเสียงว่า เพื่อนเราทุกคน ทั้งแก่ ทั้งหนุ่มสาว ทั้งชาย ทั้งหญิง จงอย่าละการสวดมนต์ ในเมื่อเวลาเข้านอน ฉันต้องการตักเตือนเธออย่างเต็มเสียงว่า จงสวดมนต์เถิด แม้แต่เล็กๆน้อยๆ ๒๐-๓๐ คำ ในเวลา ๓-๕ นาทีก็ได้ ตามที่เหมาะแก่ใจ แก่เวลาของตน เช่น นะโมตัสสะ อิติปิโสภะคะวา ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น สำหรับฉัน ฉันว่า สวดนะโมตัสสะนั้นน่ะ เป็นเพราะตัวฉันนับถือศาสนาพุทธ แต่ว่าถ้าเธอบางคน ผู้ฟังเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ก็จงสวดตามศาสนาของตนเถิด
ฉันว่า การสวดมนต์ทุกอย่างเป็นการดีทั้งนั้น การสวดมนต์ทำให้เรามีใจเบิกบาน ซื่อตรง สุจริต พากเพียร อดทน จนบังเกิดความกล้าหาญ ทำให้เราเกลียดชังการโกหก การโลภ และการเลวทรามต่างๆ คนเราเมื่อตัวถูกเปื้อนสิ่งโสโครก เราใช้สบู่ฟอกล้าง แต่เมื่อเรามีสันดานชั่วใช้สบู่ล้างไม่ออก แต่การสวดมนต์นั้นล้างสันดานชั่วเลวทรามออกได้ ตัวเราทำการชั่ว การเลว เราอาจปิดบังไม่ให้เพื่อนเรารู้ได้ แต่ปิดบังต่อการสวดมนต์ไม่ได้ เพราะการสวดมนต์ก็คือเราพูดกับพระ เราโกหกตัวเองไม่ได้
ฉันขอลาทีละนะ ขอให้เธอมีความซื่อตรง สุจริต เธอจะได้รับความสุข และบังเกิดความกล้าหาญ ขอให้เธอมีความเพียร อดทน เธอจักได้รับความเจริญรุ่งเรือง ขอให้เธอนิยมการสวดมนต์ สวัสดี เลิศ เศรษฐบุตร
ครับ! ท่านผู้อ่าน เลิศ เศรษฐบุตร คือผู้ที่ถูกเชิญไปออกอากาศทางวิทยุรายการ "สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง" เขาคือ เลิศ สะมันเตา เลิศ เศรษฐบุตร พระยาภักดีนรเศรษฐ ผู้ริเริ่มสร้างโรงน้ำแข็ง รถเมล์ (ขาว) รถลาก และโรงพยาบาลเลิศสิน คนรุ่นใหม่อาจจะแปลกใจคำว่า "เลิศ สะมันเตา" เพราะชื่อนี้มีเพียงหนึ่งเดียว เป็นชื่อของคนสู้ชีวิต ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศไทย เป็นชื่อของบุคคลผู้ริเริ่มกิจการต่างๆในวงการธุรกิจ เป็นต้นว่า รถเมล์ เรือเมล์ การโรงแรม การจัดสรรที่ดิน การต่อเรือเดินชายฝั่ง ต่อเรือเดินสมุทรส่งออกไปขายยังต่างประเทศ กิจการค้าโรงน้ำแข็ง สร้างสวนสาธารณะเพื่อประชาชน จะได้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ก่อสร้างอาคารสูงๆ แม้กระทั่งกิจการขายน้ำมัน เหล่านี้เป็นการริเริ่มปูทางไว้แต่บรรพชนมาแล้ว
ชื่อ "เลิศ สะมันเตา" ผู้เป็นบิดาตั้งให้ หมายความว่า ดี เยี่ยมยอด ไม่มีใครเทียบเท่า เป็นสามัญชนคนหนึ่งที่สร้างตัวเองด้วยความอุตสาหะ อาศัยความพยายาม มานะ อดทน พากเพียร จนเป็นเศรษฐี พ.ศ.๒๔๖๘ เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ นายเลิศเอาเรือเมล์ขาวที่เป็นธุรกิจของตนไปช่วยชาวนา ไปช่วยขนควายให้ชาวนาหนีน้ำ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีนรเศรษฐ แปลว่า "เศรษฐีผู้มีคนรัก"
นายเลิศ หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ เจ้าของภาษาที่คาใจว่า "เลิศ สะมันเตา" เขาถือกำเนิดในตระกูลเศรษฐบุตร เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ บ้านปลายสะพานวัดบพิตรภิมุข ปากคลองโอ่งอ่าง บิดาชื่อชื่น แม่ชื่อทิพย์ นายเลิศเป็นลูกคนกลาง มีภรรยาชื่อสิน โรงพยาบาลเลิศสิน ได้ชื่อมาจากการรวมชื่อของสามีภรรยาที่พร้อมใจกันรวมทุนบริจาคทรัพย์ เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลที่โด่งดังในปัจจุบัน พื้นฐานการศึกษา นายเลิศไม่เคยได้รับปริญญามาจากสถาบันใดๆ เพียงแต่เรียนจบจากโรงเรียนสวนอนันต์ จบแล้วต้องการทำธุรกิจ พ่อค้า
สุดยอดปรารถนาก็คืออยากเป็นนายห้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคาใจนายเลิศอยู่ก็คือ "ไม่เคยเป็นลูกจ้าง ก็แล้วจะเป็นนายจ้างได้อย่างไร" สิ่งที่เขาปรารถนาก็คือตำแหน่ง "นายห้าง" ไม่ใช่ขุนนาง ซึ่งก็นับว่าเป็นคนแรกที่หักล้างคำว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง"
สกุลไทย
เครดิตเพจ เจาะเวลาหาอดีตครับ
_________________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ

 

"สัมปทานป่าไม้สักเมืองเหนือและปัญหาที่เหลือไว้"
พ.ศ. ๒๔๒๖
รัฐบาลไทยเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทยได้ และในช่วงเวลาเดียวกันคือหลังจาก พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา ที่พม่าก็ได้ปิดป่าไม้สักไม่ให้มีการทำ...เนื่องจากสภาพป่าสักเสื่อมโทรมลงมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ และความต้องการไม้สักในหมู่ประเทศยุโรปจึงมีมากขึ้น เมื่อมีความชำนาญในการทำไม้ในพม่า บริษัทของอังกฤษทราบถึงวิธีการที่จะได้ผลมากที่สุดทั้งเทคนิคการตัดไม้และลากจูง การลงทุนที่คุ้มค่าและมีกำไรสูงสุด และการบริหารงาน ความเชี่ยวชาญ และเหตุผลข้างต้นทำให้บริษัททำไม้ของยุโรปเข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศไทย
เริ่มจากบริษัทบริดิช เบอร์เนียว จำกัด มาตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ แต่เริ่มอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด [Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.]ของอังกฤษ ซึ่งเป็นใหญ่และมีอิทธิพลมากในประเทศพม่าเข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ตั้งสาขาที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทสยามฟอเรสต์ จำกัด [Siam Forest Company,Ltd.] ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลสยามและแองโกลไทย จำกัด เข้ามาทำป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ [Louis t.Leonowens Ltd.] ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริดิช บอร์เนียว ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ และบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่งคือ บริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบริษัทที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายด้วย สำนักงานเดิมตั้งอยู่ข้างโรงแรมโอเรียลเต็ล และบริษัทนี้ยังคงทำธุรกิจอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีบริษัทของฝรั่งเศสอีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัทเอชิอาติก เออาฟริเกน ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ส่วนผู้ทำไม้รายย่อยซึ่งเริ่มเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นนายทุนของสยามได้แก่ บริษัทล่ำซำ จำกัด ของนายอึ้ง ล่ำซำ ซึ่งเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส บริษัทกิมเซ่งหลี จำกัด ก่อตั้งโดย นายอากรเต็งหรือหลวงอุดรภัณฑ์พานิช ซึ่งมีทุนน้อยกว่าชาวยุโรป นอกจากนี้ยังมีเจ้านายจากเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองแพร่และเมืองน่าน คนอเมริกันและฮอลันดา และคนท้องถิ่น 2
การทำป่าไม้ในมณฑลพายัพดำเนินการโดยพ่อค้าอังกฤษและชาวพม่าในบังคับอังกฤษ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ ๒ บริษัทป่าไม้อังกฤษใหญ่ๆ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา และบริษัท บริดิช บอร์เนียว ซึ่งการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทจะกระทำอย่างมีแบบเเผนและใช้วิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่ทำป่าไม้ก็มีความชำนาญในการทำป่าไม้มาจากพม่า เมื่อบริษัทได้มาตั้งสาขาขึ้นในมณฑลพายัพก็ดำเนินการทำป่าไม้ทุกอย่าง นับตั้งแต่การรับเช่าทำป่าไม้ การตัด แม้แต่การออกทุนในการรับซื้อไม้จากพ่อค้าไม้ชาวพื้นเมือง
การทำธุรกิจป่าไม้เป็นแบบการรับสัมปทานป่าเป็นผืนๆ ไป การลงทุน เทคโนโลยี การจ้างแรงงานเป็นของบริษัทรับทำทั้งหมด ส่วนการอนุญาตเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ เช่น เจ้าผู้ครองนครของหัวเมืองต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งในทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่ข้ออ้างทางการเมืองที่ฝ่ายเจ้าอาณานิคมที่เป็นคนดูแลทั้งบริษัทและคนในบังคับชาติต่างๆ สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการจุดประเด็นเพื่อเข้ายึดดินแดนต่างๆ ได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในพม่าและที่อื่นๆ
การจัดการป่าไม้โดยรัฐบาลจากกรุงเทพฯ การฟ้องร้องจำนวนมากและหลายคดีที่ฝ่ายเจ้าของสัมปทานคือเจ้าผู้ครองนครเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้รัฐไทยตระหนักว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นและคุกคามต่ออาณาเขตของรัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนั้น จนนำไปสู่ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดระบบการปกครองที่ดูแลจากส่วนกลางอย่างเข้มข้นในระยะเวลาเดียวกัน
การแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำสัมปทานป่าไม้ซึ่งมีการออกพระราชบัญญัติและประกาศต่างๆ เกี่ยวกับไม้สักเพื่อแก้ปัญหาการให้สัมปทานเช่าซ้ำซ้อน การจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น การลักขโมยตัดไม้ การฆาตกรรม การลอบตีตราเถื่อนและซ้ำซ้อน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖ เจ้าผู้ครองนครต่างๆ ที่จะทำสัญญากับชาวต่างประเทศต้องได้รับความยินยอมจากกรุงเทพฯ ก่อน
ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๒๗ รัฐบาลส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปเป็นข้าหลวงพิเศษแก้ไขปัญหาป่าไม้ และมีประกาศ พ.ศ. ๒๔๒๗ เรื่องซื้อขายไม้ขอนสักและประกาศเรื่องตัดไม้สัก พ.ศ. ๒๔๒๗ เพื่อควบคุมเรื่องการทำสัญญาเช่าป่าให้อยู่กับรัฐบาลและข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เท่านั้น ห้ามเจ้านายเจ้าของป่าออกใบอนุญาตแก่ผู้ขอเช่าทำป่าไม้เอง เป็นการลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครโดยตรง เพราะรายได้จำนวนมากเหล่านี้ตกอยู่กับเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มในการจัดระบบการปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจที่จะเกิดขึ้น และห้ามไม่ให้ตัดฟันไม้สักในป่าเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน นอกจากได้รับอนุญาตจากข้าหลวง นอกจากนี้ยังมีประกาศเรื่องการเก็บภาษีไม้ขอนสักให้ถูกต้องใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ห้ามไม่ให้ล่องไม้ในเวลากลางคืน ห้ามลักขโมยไม้ใน พ.ศ. ๒๔๓๙
รัฐบาลได้โอน Mr. Castenjold ที่เดิมปฏิบัติราชการประจำกระทรวงการคลังมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสำรวจสถานการณ์ป่าไม้สักทางมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันที่จังหวัดตาก ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เจรจาขอยืมตัว Mr. H. A. Slade ข้าราชการอังกฤษที่รับราชการในกรมป่าไม้พม่าให้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ในกิจการป่าไม้ของไทย เช่นเดียวกับที่ Sir. Dietrich Brandis ได้เริ่มลงมือจัดการป่าไม้ในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙
ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ Mr. Slade ขึ้นไปตรวจการทำป่าไม้ในหัวเมืองภาคเหนือ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ พร้อมนักเรียนไทยฝึกหัดอีก ๕ คน ออกไปสำรวจและนำเสนอรายงานชี้แจงข้อบกพร่องต่างๆ ของการทำป่าไม้ในเวลานั้น และให้ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลไทยเคยออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ โดยสรุปคือ
ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของ Mr. Slade
ควรทำแผนที่แบ่งป่าไม้สักและไม้อื่นๆ ทางภาคเหนือเพื่อทราบความหนาแน่นของไม้และมูลค่าจริงของป่าแต่ละแห่งแล้วจัดวางโครงการทำป่าไม้
ควรสำรวจไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สักเพื่อใช้ทดแทนไม้สัก เป็นการสงวนพันธุ์ไม้สักไว้ใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมต่อไป
ควรดำเนินการให้ป่าไม้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและยกเลิกส่วนแบ่งค่าตอไม้ซึ่งเจ้านายต่างๆ ได้รับมาแต่เดิม โดยรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้เป็นการทดแทน
รวมทั้งควรจัดตั้งหน่วยงานควบคุมป่าไม้ขึ้นเป็นทบวงการเมืองของรัฐ
ควรออกกฎหมายสำหรับควบคุมกิจการป่าไม้เพื่อป้องกันรักษาป่า การจัดวางโครงการป่าและการจัดเก็บผลประโยชน์จากป่า รวมทั้งการแก้ไขสัญญาอนุญาตทำไม้ให้มีความเป็นระเบียบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
ควรจัดส่งนักเรียนไปศึกษาอบรมที่โรงเรียนการป่าไม้ในต่างประเทศ ๒-๓ คนทุกปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารกิจการป่าไม้ไทยต่อไป
ควรจัดตั้งด่านภาษีใหม่รวม ๖ แห่ง ที่เมืองพิชัย สวรรคโลก ปากน้ำโพ และกรุงเทพฯ ส่วนค่าตอไม้สำหรับไม้ที่ล่องลงแม่น้ำสาละวิน ควรตั้งด่านภาษีที่เมืองมะละเเหม่งหรือเมาะลำเลิงเพื่อควบคุมไม้ที่ล่องไปยังพม่า และควรปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานการป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นชอบกับกระทรวงมหาดไทยและรายงานของ Mr. Slade ว่าถูกต้องสมควรทุกประการ โดยกล่าวถึงอำนาจรัฐบาลซึ่งถือว่าป่าไม้เป็นของหลวงมาแต่เดิมจะใช้สิทธิ์ตามอำนาจนั้น เจ้าผู้ครองนครผู้เป็นเจ้าของป่าเมื่อเป็นผู้อนุญาตแต่ผู้เดียวก็ไม่สามารถจัดการกับการสัมปทานค่าตอไม้ได้อย่างชัดเจน และการใช้จ่ายเงินทองรั่วไหลไปที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ถึงรัฐอย่างเต็มที่ หากจะสูญเสียรายได้ก็น่าจะเป็นการเสียรายได้จากการจ่ายเงินเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาคอรัปชั่นในการสัมปทานป่ามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ
จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปิดให้สัมปทานหรือทำสัญญาเช่าทำป่าไม้สัก กลายเป็นช่องทางให้ผู้รับเหมาตัดไม้สักอย่างเดียว ไม่จำกัดขนาดและปริมาณจนหมดป่า รัฐบาลกลางจึงจัดตั้ง กรมป่าไม้ ขึ้นในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Forest Department สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากในเวลานั้นกระทรวงเกษตราธิการเพิ่งจะสถาปนาขึ้นใหม่ ยังไม่มีกำลังพอจะดำเนินการเองได้ และชื่อภาษาอังกฤษบ่งบอกเป็นนัยว่า ป่าไม้นั้นเป็นของหลวง
เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ Mr. Slade เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา สิ่งที่กรมป่าไม้จัดการก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ป่าไม้ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจจากเจ้านายจากหัวเมือง โดยเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์จนถึงกับล้มเลิกระบบเจ้าหลวงปกครองเมืองเป็นแห่งแรกในหัวเมืองเหนือ เช่นที่เมืองแพร่/จากหนังสือ นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบันฯ ,
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
# ล้านนาประเทศ
___________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ

 

#สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็กเทียน ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิหญิง พระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน
สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็กเทียน หรือ จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน มีพระนามเดิมว่าอู่เม่ยเหนียง พระราชบิดามีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการนามว่าอู่ซื่อย้วยและพระราชมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์สุย ทรงพระราชสมภพ ณ กรุงฉางอันซึ่งเป็นนครหลวงของราชวงศ์ถังในขณะนั้น
สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็กเทียน (ค.ศ. 625-705) ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิหญิง พระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน (สมเด็จพระจักรพรรดิหญิง คือจะทรงเป็นองค์จักรพรรดิด้วยพระองค์เอง บางท่านอาจจะเรียกว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถ ส่วนคำว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีนั้นจะเป็นเพียงพระอัครมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิเท่านั้น) มีพระนามเดิมว่า อู่เม่ยเหนียง เสด็จพระราชสมภพในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง (ครองราชย์ ค.ศ. 626-49) รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์ถัง โดยแต่เดิมทรงเป็นสามัญชน ธิดาข้าราชการนามว่า บูซื่อย้วย ส่วนพระราชมารดานั้นเรียกกันว่าคุณนายหยาง เป็นภริยาคนที่สองของอู่ซื่อย้วย กล่าวกันว่าพระราชมารดานั้นเดิมทรงเป็นเชื้อสายพระราชวงศ์สุย ซึ่งปกครองจีนมาก่อนราชวงศ์ถัง คือว่าคุณนายหยางนั้นเดิมเป็นพระนัดดาของท่านอ๋อง กวนอ๋อง พระนามเดิมหยางสง ซึ่งเป็นพระญาติสนิทของสมเด็จพระจักรพรรดิสุยหยางตี้ (พระนามจริงว่า หยางกว่าง) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุย นับว่าชาติตระกูลคุณนายหยางสูงส่งมาก หากว่าราชวงศ์สุยไม่ได้ล่มลับดับสูญไปเสียแล้ว อู่ซื่อย้วยคงมิได้มีโอกาสแม้เพียงพบหน้าองค์หญิงหยางด้วยซ้ำ แต่ราชวงศ์สุยก็ล่มลับไปเสียก่อนองค์หญิงหยางจึงจำต้องหาที่พึ่งพิง สตรีในยุคนั้นมีทางเลือกไม่มากนัก องค์หญิงหยางซึ่งถูกเลี้ยงดูทะนุถนอมมาเป็นอย่างดีจึงไม่อาจอยู่ต่อไปได้โดยลำพัง เพราะบัดนั้นพระองค์เป็นเพียงพระราชวงศ์ตกยากเท่านั้นเอง ในฐานะใหม่บูซื่อย้วยเองก็ต้องการที่หาภริยาที่จะมาส่งเสริมตัวเองไม่น้อย เพราะภริยาคนแรกนั้นเป็นเพียงหญิงชาวบ้านธรรมดา ไม่อาจเชิดชูส่งเสริมเกียรติสามีได้ในยามที่ต้องออกสังคมกับพวกขุนนางด้วยกัน ซึ่งก็มักจะเป็นผู้ดีเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นองค์หญิงตกยากเชื้อสายราชวงศ์สุย อย่างองค์หญิงหยางจึงเป็นเป้าหมายที่บูซื่อย้วยสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อความต้องการหรือผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตรงกัน อดีตองค์หญิงหยางจึงสมรสกับบูซื่อย้วย มีฐานะเป็นภริยาคนที่สอง และถูกเรียกขานนามว่า คุณนายหยาง นับแต่นั้นมา แม้จะเป็นภริยาคนที่ 2 แต่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์เก่ามาก่อนบูซื่อย้วยจึงรักและยกย่องคุณนายหยางอย่างมาก ทำให้ภริยาคนแรกกับบุตรชายทั้ง 2 ที่เกิดแต่ภริยาคนแรกไม่ชอบใจคุณนายหยางอย่างมากและจะเกิดเหตุกระทบกระทั่ง ทำร้ายจิตใจกันตลอดมา
ครั้นอายุได้ 17 ปี บูเม่ยเหนียงได้มีโอกาสเข้าวังไปรับราชการฝ่ายในจนมีฐานะเป็นถึงพระสนม นับว่าย่อมต้องเป็นหญิงงามคนหนึ่งของยุคทีเดียว ในรัชกาลนั้นพระอัครมเหสี คือสมเด็จพระจักรพรรดินีฉางซุน (พระนางนั้นมีแซ่ 2 พยางค์คือ ฉางซุน หรือจ่างซุน ส่วนพระนามนั้นคือ อู่เต๋อ) ผู้เป็นพระชนนีของพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ขององค์ไท่จง
เวลาต่อมาหลี่เฉิงเฉียน พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งรัชทายาท กับพระราชโอรสองค์ต่อมาคือ หลี่ไท่ ซึ่งมีความขัดแย้งกันมานานแล้ว เนื่องจากหลี่ไท่ต้องการที่จะเป็นรัชทายาทแต่ติดที่ตัวเองไม่ได้เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ และยังรู้อีกว่าองค์รัชทายาทนั้นเป็นรักร่วมเพศ จึงพยายามทุกทางที่จะกำจัดพี่ชายตนเองให้ได้ ครั้งหนึ่งองค์จักรพรรดิเกือบจะจับได้ตรงๆแล้วว่าองค์รัชทายาทนั้นเป็นรักร่วมเพศ แต่หลักฐานไม่เพียงพอ และทรงเลือกที่จะเชื่อพระราชโอรสของพระองค์มากกว่า จึงโปรดให้ประหารชีวิตขันทีคนสนิทซึ่งเป็นคู่รักขององค์รัชทายาทเสีย แต่ไม่ได้โปรดเกล้าฯให้ปลดจากรัชทายาทแต่อย่างใด ต่อมาองค์รัชทายาทได้วางแผนกบฎ เพื่อรวบอำนาจมาไว้ที่ตนเองแต่ผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะกำจัดหลี่ไท่อนุชา แต่แผนการรั่วเสียก่อน องค์จักรพรรดิไม่อาจนิ่งเฉยได้ต่อไปจึงโปรดเกล้าฯให้ปลดองค์รัชทายาทลงเป็นสามัญชน แล้วเนรเทศไปชายแดน หลี่เฉิงเฉียนอยู่ต่อมาได้อีกไม่นานก็ถึงแก่กรรมที่ตำบลชายแดนนั้นเอง ส่วนหลี่ไท่ราชโอรสองค์ต่อมาก็พลาดหวังจากตำแหน่งรัชทายาท ซึ่งกลับไปตกอยู่กับหลี่จื้อ พระราชโอรสพระองค์เล็กซึ่งเป็นอนุชาของหลี่ไท่นั่นเอง ทั้งนี้เป็นพระราชดำริองค์จักรพรรดิเองว่าพระราชโอรสพระองค์รองนั้นมีจิตใจโหดเหี้ยม แม้จะมีความสามารถเหนือกว่าแต่ก็ไม่สมควรได้ครองแผ่นดิน ส่วนพระราชโอรสพระองค์เล็กนั้นแม้จะไม่เข้มแข็งเด็ดขาด แต่ก็มีพื้นฐานจิตใจค่อนไปทางฝ่ายดีงาม การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงครั้งนี้จะเป็นการพลิกโฉมประวัติศาสตร์จีนในอีกไม่นานนับจากนั้น
ต่อมาไม่นานสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงก็เสด็จสวรรคต หลี่จื้อซึ่งเป็นองค์รัชทายาทจึงขึ้นสืบราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง (ครองราชย์ปี 649 - 83) เป็นรัชกาลที่ 3 นับจากองค์ปฐมจักรพรรดิถังเกาจู่เป็นต้นมา โดยที่ทรงมีอัครชายาที่พระราชบิดาทรงพระราชทานอภิเษกสมรสให้มาแต่เดิม พระอัครชายาเดิมนั้นจึงได้ครองพระราชอิสริยยศสมเด็จพระอัครมเหสี ออกพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง นั่นเป็นเพราะพระนางนั้นเดิมแซ่หวาง
สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงนั้นทรงเป็นบุคคลที่อ่อนแอแต่มีจิตใจดีงาม แม้ว่าจะค่อนข้างไปทางหูเบาและฝักใฝ่ในกามารมณ์ไปบ้างก็ตาม ดังนั้นไม่นานนักหลังจากขึ้นครองราชย์ หวางฮองเฮาก็ทรงพบคู่แข่งที่ทรงเสน่ห์อย่างมาก นั่นก็คือสตรีสามัญแซ่เซียว นามว่า ฮุ่ยจือ ซึ่งองค์เกาจงโปรดปรานนางอย่างมาก จนถึงกับโปรดเกล้าฯให้สถาปนานางขึ้นเป็นพระมเหสีลำดับที่ 3 ออกพระนามว่า พระวรราชชายาเซียว สมเด็จพระจักรพรรดินีหวางทรงตระหนักดีว่าพระราชสวามีโปรดปรานพระวรราชชายาเซียวมาก จนทรงกลัวว่าจะส่งผลถึงฐานะของพระนาง ซึ่งก็เป็นความจริงดังที่องค์จักรพรรดินีทรงกังวล เพราะไม่นานต่อมาพระวรราชชายาก็ทรงพระครรภ์และประสูติพระราชกุมารพระองค์น้อยที่มีสุขภาพแข็งแรง ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซู่เจี๋ย องค์จักรพรรดิกับพระวรราชชายาทรงปีติยินดีอย่างยิ่ง องค์จักรพรรดิถึงกับโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์น้อยขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งรัฐสี่ตั้งแต่แรกประสูติทีเดียว และยังมีพระราชปรารภว่าจะให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทอีกด้วย
องค์จักรพรรดินีผู้ตื่นตกใจได้พยายามดำเนินการใช้กโลบายทุกทางจนสามารถเปลี่ยนพระทัยให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในบรรดาพระราชโอรสทั้งหมด คือ พระองค์เจ้าชายหลี่จง กษัตริย์แห่งรัฐเอี้ยน ซึ่งพระมารดาเป็นเพียงพระสนม คือพระสนมหลิว ซึ่งเป็นพระญาติกับองค์จักรพรรดินีทางฝ่ายพระมารดาในองค์จักรพรรดินีคือท่านผู้หญิงหลิวนั่นเอง ให้เป็นองค์รัชทายาทแทนได้สำเร็จ ซึ่งพระวรราชชายาโกรธแค้นอย่างยิ่ง เมื่อพบหน้ากันครั้งใดก็จะใช้วาจาเสียดสีกันเสมอๆ ในขณะที่องค์จักรพรรดินีทรงคิดหาวิธีการต่างๆนานาที่จะกำจัดศัตรูหัวใจไปให้ได้อย่างเด็ดขาดนั้น ในที่สุดก็ทรงคิดได้ถึงบูเม่ยเหนียง พระสนมในรัชกาลก่อน ซึ่งปัจจุบันได้ไปบวชชีตลอดชีวิตตามราชประเพณีนั้น บูเม่ยเหนียงได้เคยเป็นที่ทรงปฏิพัทธิ์ในองค์เกาจงมาตั้งแครั้งรัชกาลก่อน เรื่องนี้สมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง ก็ทรงทราบดี แต่ทรงคิดว่าจะเพียงแต่ชักนำนางเข้ามาเพื่อดึงความสนพระทัยขององค์จักรพรรดิมาเสียจากพระมเหสีเซียวเท่านั้น พอกำจัดพระมเหสีเซียวไปได้แล้วก็จะค่อยกำจัดบูเม่ยเหนียงทีหลัง จึงไม่ทรงขัดขวางเมื่อพระราชสวามีมีพระราชดำริจะรับบูเม่ยเหนียงเข้าวังในอีกครั้ง
คราวนี้บูเม่ยเหนียงไม่ได้เป็นเพียงพระสนมธรรมดาเหมือนในรัชกาลก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าโปรดเกล้าฯให้นางเป็นถึงพระสนมเอกลำดับ 1 จากบรรดาพระสนมเอกของจีนซึ่งมีทั้งหมด 9 นาง นับว่าเป็นที่ 3 ในวังรองจากสมเด็จพระจักรพรรดินี และ พระวรราชชายาทีเดียว พระสนมเอกก็ไม่ทำให้องค์จักรพรรดินีทรงผิดหวัง เพราะว่าหลังจากนั้นไม่นานพระวรราชชายาเซียวก็ถูกองค์จักรพรรดิทรงลืมไปเสียสนิท เมื่อสบโอกาสพระสนมเอกก็ไม่รอช้าที่จะกำจัดองค์จักรพรรดินีออกไปเสียก่อนที่ตนเองจะเป็นฝ่ายถูกกำจัดออกไปแทน เรื่องที่บันทึกไว้มีว่า พระสนมเอกมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก (ในเศวตฉัตร เพราะทรงประสูติราชโอรสกับองค์จักรพรรดิแล้ว 2 พระองค์ในระหว่างที่จำใจถือเพศบรรพชิต)
ปรากฏว่าองค์จักรพรรดินีเสด็จไปทรงเยี่ยมเจ้าหญิงน้อยซึ่งยังพระชนม์ไม่ถึงเดือน นัยว่าเสด็จไปทรงเยี่ยมตามราชประเพณีในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระมารดาเลี้ยงและเพื่อแสดงว่าทรงมีพระมหากรุณาต่อเจ้าหญิงน้อยดุจพระมารดาแท้ๆ แต่สิ่งที่ตามมาร้ายแรงกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ ก็คือเจ้าหญิงน้อยได้สิ้นพระชนม์โดยไม่ทราบสาเหตุในวันเดียวกันนั้นเอง ข้อหาว่าองค์จักรพรรดินีว่าเป็นสาเหตุที่พระราชธิดาน้อยสิ้นพระชนม์ในครั้งนี้องค์จักรพรรดินีไม่อาจแก้ตัวใดๆได้เลย เพราะว่าพระนางเป็นผู้ที่อยู่กับเจ้าหญิงน้อยเป็นพระองค์สุดท้ายก่อนที่เจ้าหญิงน้อยจะสิ้นพระชนม์ นับว่าองค์จักรพรรดินีทรงชักศึกเข้าบ้านโดยแท้
สมเด็จพระจักรพรรดินีบู (ต่อไปนี้จะขอออกพระนามแต่โดยย่อว่า องค์จักรพรรดินี ) คือพระอิสริยยศใหม่ของพระสนมเอกบู เพราะว่าองค์จักรพรรดิทรงโปรดเกล้าฯให้ถอดพระยศอดีตจักรพรรดินีหวางลงเป็นสามัญชน ให้เรียกว่านางไพร่หวาง พระวรราชชายาก็พบว่ามีส่วนรู้เห็นด้วย ก็โปรดให้ถอดยศลงเป็นนางไพร่เซียว แล้วให้กักบริเวณนางทั้ง 2 ไว้ ณ ตำหนักเย็นอันอับชื้นมืดทึบ ภายหลังต่อมาไม่นานองค์จักรพรรดินีก็จัดการให้ทั้งนางไพร่หวาง และนางไพร่เซียว ให้ถูกฆาตกรรมไปอย่างโหดร้ายและเงียบเชียบ นอกจากพระราชโอรส 2 พระองค์โตที่ประสูติก่อนเข้าวังคือหลี่หง ซึ่งได้รับพระกรุณาให้เป็นรัชทายาทแทนเจ้าฟ้าชายหลี่จง องค์รัชทายาทองค์ก่อนที่ถูกปลดจากตำแหน่งพร้อมๆกับพระนางหวางนั่นเอง และหลี่เสียน แล้วองค์จักรพรรดินียังได้ประสูติพระราชโอรสรุ่นเล็กอีก 2 พระองค์คือหลี่เจ๋อ (ภายหลังเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง) และเจ้าฟ้าชายหลี่ต้าน (ภายหลังเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังยุ่ยจง) ตลอดระยะเวลาราว 30 ปีที่ทรงดำรงตำแหน่งองค์จักรพรรดินีในรัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงนั้น แทบจะเรียกได้ว่าองค์จักรพรรดินีบูนี่เองคือผู้ปกครองแผ่นดินอย่างแท้จริง เนื่ององค์จักรพรรดินีเป็นสตรีที่มีความสามารถ และมีสติปัญญาไม่น้อยไปกว่าบุรุษแต่อย่างใด และเมื่อมาเจอกับบุรุษที่อ่อนแอและจิตใจค่อนข้างดีงามเช่นสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงด้วยแล้ว จึงนับว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง แต่เดิมที่บรรดาเจ้านายฝ่ายในแต่โบราณจะถูกห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน แต่องค์จักรพรรดินีบูกลับทรงเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นองค์จักรพรรดินีพระองค์แรกที่ประทับอยู่หลังม่านเวลาที่พระราชสวามีออกว่าราชการ และองค์จักรพรรดิก็มักจะตรัสถามองค์จักรพรรดินีที่ประทับอยู่หลังม่านเบื้องหลังราชบัลลังก์อยู่ตลอด ทั้งนี้ไม่มีใครเลยที่จะไม่ยอมรับว่าองค์จักรพรรดินีไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ
ในช่วงกลางรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงมีพระราชโองการให้ประชาชนออกพระนามพระองค์ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งสวรรค์ ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีบูนั้นให้ออกพระนามในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งสวรรค์ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เวลาที่ออกพระนามคู่กันทั้ง 2 พระองค์ ให้ใช้คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้ง 2 พระองค์ และได้บังคับใช้ดังนี้ไปจนตลอดรัชกาล
ในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงนั้นเกียรติภูมิของราชวงศ์ถังสูงส่งขึ้นกว่าสมัยใดนั่นเพราะกองทัพถังมีชัยเหนืออาณาจักรโกกุเรียว ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือถึงตอนกลางของคาบสมุทรเกาหลี แม้แต่ในรัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง พระราชบิดาก็ไม่อาจทรงพิชิตได้ แต่สงครามครั้งนี้ก็ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในท้องพระคลังไปมหาศาล ทั้งองค์จักรพรรดินีเองก็ไม่ทรงโปรดทำอะไรเล็กๆ จึงทรงโปรดให้เฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้โดยการโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ภูเขาไท่ซาน ภูเขาที่นับถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในแผ่นดิน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่จักต้องเสด้จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีสักการะสิ่งศักดิสิทธิ์ ณ ภูเขาไท่ซานแห่งนี้ แม้สมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงเองยังทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลของเหล่าข้าราชการที่กราบบังคมทูลขอให้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ถึง 3 ครั้งทีเดียวจึงได้ยอมเสด็จ เพราะทรงตระหนักดีว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในท้องพระคลังอย่างยิ่งนั่นเอง
พระราชพิธีในรัชกาลนี้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้ง 2 พระองค์โปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพราะโปรดให้เป็นการแสดงอำนาจบารมีของมหาอาณาจักรต้าราชวงศ์ถัง ซึ่งขณะนั้นกำลังเบ่งบานถึงที่สุดให้นานาประเทศได้ประจักษ์ พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ยิ่งใหญ่มโหฬารจนถึงกับมีนักประวัติศาสตร์ได้จดบันทึกไว้อย่างพิสดาร มีบรรดาทูตานุทูตจากทั้ง 3 อาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลีอีกทั้งประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียใต้และเอเชียกลางรวมถึงประเทศมุสลิมแถบคาบสมุทรอาหรับต่างก็ส่งผู้แทนของตนมาร่วมถวายพระเกียรติในพระราชพิธีครั้งนี้กันอย่างคับคั่ง พระราชพิธีนี้เป็นความยิ่งใหญ่มโหฬารที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังทีเดียว
สมเด็จพระจักรพรรดินีบูอาจมีชื่อเสียงว่าเป็นทรราชย์หญิงองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน เป็นผู้ที่โหดร้ายและโหดเหี้ยมผิดไปจากสตรีทั่วไป อย่างไรก็ดีทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มิอาจมองแต่เพียงมุมเดียวแล้วสามารถให้ภาพที่สมบูรณ์ได้ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังและผู้ที่ได้ศึกษาพระราชประวัติของพระนางไม่อาจปฏิเสะได้เลยก็คือ พระนางเป็นสตรีที่มีความสามารถอย่างยิ่ง ทรงมีมุมมอง ระบบความคิด (cognitive system) ที่ก้าวล้ำหน้าเกินกว่ายุคสมัยของพระนางเป็นอันมาก คุณูปการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งจากจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทรงกระทำให้แก่ประวัติศาสตร์จีนก็คือทรงเป็นผู้ริเริ่ม (หรือเป็นแรงสำคัญที่สนับสนุน) ให้เกิดระบบสอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน จากแต่โบราณมาถึงสมัยพระนางนั้นการเข้ารับราชการจะสงวนไว้ให้เฉพาะบรรดาลูกท่านหลานเธอทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่มีการพัฒนาประเทศ พระนางทรงเริ่มให้มีระบบสอบคัดเลือกขึ้นมาทำให้ราชสำนักได้บุคคลผู้มีความสามารถจากทั่วทั้งแผ่นดินได้เข้ามาสู่กระบวนการตัดสินใจของรัฐ ทำให้อาณาจักรต้าถังเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในยุคนั้นทีเดียว มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศแม้แต่กับชาติตะวันตกโดยผ่านหลายทางทั้งทางบก (ผ่านเส้นทางสายไหมทางเอเชียกลาง) หรือทางทะเล (ผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่ากรุงฉางอัน ราชธานีของต้าถังในยุคนั้นมีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคนนับเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดของโลกทีเดียว (ในสมัยเดียวกันที่พอจะเทียบได้ก็คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล นครหลวงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ เท่านั้นที่มีประชากรมากพอๆกัน ความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของต้าถังนั้นนับว่าพระนางเป็นบุคคลสำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งที่มิอาจมองข้ามไปได้
ช่วงเวลาประมาณ 30 ปีในรัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงนั้นนับว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน เพราะว่าสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงฉางซุน ได้เสด็จสวรรคตไปแล้วตั้งแต่รัชกาลก่อน อดีตจักรพรรดินีหวางก็สวรรคตไปอย่างไร้เกียรติ อำนาจขององค์จักรพรรดินีบูนั้นนับว่าเหนือกว่าองค์จักรพรรดิเสียอีก ด้วยเหตุที่กล่าวไปแล้วคือองค์จักรพรรดิเองเป็นบุคคลที่ค่อนไปทางอ่อนแอ เมื่อมาเจอกับสตรีที่แข็งแกร่งและล้ำยุคเช่นพระนางด้วยแล้ว ผลก็เป็นอย่างที่น่าจะคาดเดากันได้ไม่ยาก มีบันทึกไว้ว่าช่วงกลางถึงปลายรัชกาลนั้น องค์จักรพรรดินีทรงกำหนดกฎระเบียบใหม่ๆขึ้นมาในราชสำนัก ทำให้องค์จักรพรรดิมิอาจมีพระมเหสีและพระสนมกำนัลอื่นใดได้อีก เพราะองค์จักรพรรดินีทรงให้ยกเลิกเสียโดยอ้างว่าเพื่อให้องค์จักรพรรดิซึ่งทรงเป็นประดุจดังเทพเจ้าในร่างของมนุษย์ ตามความเชื่อโบราณที่ว่าทรงเป็นโอรสสวรรค์ จึงต้องรักษาพระราชจริยวัตรให้บริสุทธิ์งดงาม ตำแหน่งมเหสีและบรรดาสนมนางในต่างๆถูกเปลี่ยนเป็น" พระนางผู้พิทักษ์คุณธรรมจรรยา "เพราะองค์จักรพรรดินีทรงโปรดปรานในการคิดค้นศัพท์ใหม่ๆด้วยพระองค์เอง โดยมักจะค่อนไปทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้องค์จักรพรรดิจึงไม่ต่างไปจากบรรพชิตหรือนักบวชเท่าไรนัก เพราะแม้แต่องค์จักรพรรดินีเองก็ทรงงานราชการ อาทิ ตรวจฎีกา ตัดสินพระทัยในราชการทั้งปวง ตัดสินความ ฯลฯ จึงไม่ทรงเหลือเวลาถวายงานในฐานะพระมเหสีอีก
ภายหลังจึงเกิดความเล่าลือว่าองค์จักรพรรดิทรงพอพระทัยในตัวเฮ่อหลันฮูหยิน พี่สาวแท้ๆของพระจักรพรรดินีบู ที่เข้ามาอยู่ในวังเพื่อถวายการอภิบาลพระนัดดาทั้ง 4 พระองค์ เพราะองค์จักรพรรดินีซึ่งเป็นพระชนนีแท้ๆมิทรงมีเวลาเนื่องจากต้องทรงงานว่าราชการแผ่นดิน (แทนองค์จักรพรรดิ) เฮ่อหลันฮูหยิน ในฐานะพระมาตุจฉาจึงต้องเป็นผู้ถวายการอภิบาลเจ้าชายน้อยๆทั้ง 4 พระองค์ตลอดมา โดยเฉพาะ 2 พระองค์โตคือ เจ้าฟ้าชายหลี่หง และเจ้าฟ้าชายหลี่เสียนนั้น ต่างก็สนิทสนมรักใคร่กับท่านผู้หญิงประดุจพระมารดาแท้ๆทีเดียว ด้วยว่าทั้ง 2 พระองค์ประสูตินอกเศวตฉัตรคือตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระชนนียังประทับอยู่ที่สำนักชีในครั้งนั้นเอง จึงไม่อาจเปิดเผยเรื่องนี้ได้ ท่านผู้หญิงจึงต้องถวายการอภิบาลเจ้าชายน้อยทั้ง 2 พระองค์แทนพระชนนีแท้ๆไปก่อน แม้ภายหลังองค์จักรพรรดินีบูจะเข้าวังแล้ว พระยศขณะนั้นก็ยังเป็นเพียงพระสนมเอก ระยะแรกการชิงดีชิงเด่นกับสมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง และพระมเหสีเซียวก็กำลังเข้มข้น พระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์อาจมีอันตรายได้ ระยะที่ทั้งสองทรงอยู่ในการอภิบาลของท่านผู้หญิงจึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน จึงก่อให้เกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งประดุจพระมารดาแท้ๆนั่นเอง
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าองค์จักรพรรดินีทรงตั้งกฏเกณฑ์ใหม่ๆขึ้นหลายประการ ยังผลให้องค์จักรพรรดิทรงตกอยู่ในภาวะที่ไม่ต่างจากนักบวชยิ่งกว่าสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งมหาอาณาจักรต้าถัง ในพระราชฐานฝ่ายในนั้นสตรีที่พระองค์น่าจะสนิทด้วยได้ง่ายที่สุด น่าจะเป็นเฮ่อหลันฮูหยินนี่เอง เพราะว่าทรงใช้เวลาอยู่กับพระราชโอรสบ่อยๆ (เพราะองค์จักรพรรดินีเอาราชการไปบริหารเองหมดแล้ว) ท่านผู้หญิงซึ่งเป็นพระอภิบาลในพระราชโอรสทั้ง 4 และน่าจะเป็นผู้ที่องค์จักรพรรดินีไม่ทรงระแวงเพราะเป็นพระพี่นางแท้ๆของพระนาง บุคคลทั้งสอง (เฮ่อหลันฮูหยินก็เป็นหม้าย เพราะสามีถึงแก่กรรมตั้งแต่ในรัชกาลก่อนแล้ว) น่าจะเห็นใจกันและกันได้ไม่ยาก ซึ่งจะโทษใครก็ไม่เต็มปากนัก ทั้งหมดที่กล่าวไปเป็นคำเล่าลือกันทั่วไป แต่ความจริงอย่างเดียวที่ปรากฏในเวลาต่อมาก็คือ เฮ่อหลันฮูหยินถึงแก่อสัญกรรมโดยปัจจุบันทันด่วน พิสูจน์ได้วางท่านถูกวางยาพิษ แน่นอนว่าเสียงเล่าลือก็เป็นไปในทางที่ว่าองค์จักรพรรดินีวางยาพิษฆ่าพี่สาวของตัวเอง แต่นั่นไม่มีอะไรยืนยัน บางกระแสก็ว่าเพราะองค์จักรพรรดิทรงบังคับใจ ท่านผู้หญิงจึงกินยาพิษปลิดชีพตนเอง เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาของกาลเวลาอยู่จนทุกวันนี้
ดังที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าอดีตรัชทายาทคือ เจ้าฟ้าชายหลี่จง ซึ่งเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดินีบูขึ้นครองอำนาจแล้วจึงถูกถอดออกจากตำแหน่งรัชทายาท เจ้าฟ้าชายหลี่หง พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่สมเด็จพระจักรพรรดินีบูจึงได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทสืบต่อมา เจ้าฟ้าชายหลี่หงตามบันทึกกล่าวไว้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง ถ้าได้ทรงขึ้นครองบัลลังก์ราชวงศ์ถังน่าจะรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่เป็นอีกหลายเท่า แต่ความขัดแย้งกับพระชนนีนั้นมีอยู่มาก เพราะองค์ชายก็มีความคิดเช่นเดียวกับคนอื่นในยุคสมัยเดียวกันว่าพระชนนีเป็นเพียงสตรี ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราชการแผ่นดินมากนัก แต่สำหรับองค์พระชนนีซึ่งแทบจะทรงว่าราชการแทนองค์จักรพรรดิทั้งหมดอยู่แล้วนั้น องค์รัชทายาทยิ่งมิอาจทนได้ จึงทรงกราบทูลพระราชบิดาว่าจะวางแผนยึดอำนาจจากพระชนนี โดยออกพระราชโองการองค์จักรพรรดิว่าองค์จักรพรรดินีใส่ร้ายอดีตจักรพรรดินีหวาง และให้คืนศักดิ์ฐานะแด่อดีตจักรพรรดินีหวางและอดีตพระมเหสีเซียวผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย
ทว่าองค์จักรพรรดินีทรงล่วงรู้เสียก่อน ภายหลังความจริงอย่างเดียวที่ปรากฏคือ องค์รัชทายาทเสด็จทิวงคตโดยปัจจุบันทันด่วนโดยทรงถูกวางยาพิษ (เรื่องอื่นก่อนหน้าเป็นเพียงคำเล่าลือ) หลี่เสียนพระราชโอรสองค์ถัดมาจึงได้เป็นรัชทายาทสีบแทน เจ้าชายองค์นี้เป็นผู้ที่มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าพระเชษฐาธิราชเลยแม้แต่น้อย แต่พระองค์นี้จะมีผลงานโดดเด่นในด้านอักษรศาสตร์ คือได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพงศาวดารตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่ยังคงได้รับการยอมรับจากวงการประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันว่ามีความน่าเชื่อถืออ้างอิงได้มากที่สุดฉบับหบึ่งทีเดียว นับว่าทรงเป็นปราชญ์ก็ว่าได้ แต่จุดจบของพระองค์ก็ไม่ต่างจากพระเชษฐาเท่าไรนัก เรื่องของเรื่องที่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็คือ ในเวลาต่อมา หมิงสงเอี๋ยน หมอดูคนโปรดซึ่งเป็นพระสหายที่ร่วมต่อสู้ในเกมช่วงชิงอำนาจ และเป็นกำลังสำคัญให้บูเม่ยเหนียงขึ้นมากุมอำนาจทั้งหมดของอาณาจักรในทุกวันนี้ได้ในฐานะองค์จักรพรรดินี ถูกฆ่าตาย ทหารไปค้นเจออาวุธจำนวนมากในวังขององค์รัชทายาท จึงมีพระราชโองการว่าองค์รัชทายาทคิดจะก่อการกบฎ ให้ถอดออกจากตำแหน่งรัชทายาทลงเป็นสามัญชน แล้วเนรเทศไปถึงนครเฉิงตู ดินแดนเสฉวนอันห่างไกล ภายหลังหลี่เสียนทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองโดยการผูกคอตายที่นครเฉิงตูนั้นเอง เสียงเล่าลือก็ดังขึ้นมาอีกว่าองค์จักรพรรดินีนั่นเองที่พระราชทานแพรขาวไปให้พระราชโอรสเพื่อบีบบังคับให้ผูกคอตายเอง เรื่องนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือคิดอย่างไร
ก่อนหน้านั้นพระนางทรงสละราชสมบัติพระราชทานคืนให้แก่พระโอรส และรื้อฟื้นราชวงศ์ถัง ขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ ฮองเฮาหวัง พระมเหสีองค์ก่อนของถังเกาจง ซึ่งถูกพระนางใส่ร้ายจนถูกสำเร็จโทษ นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการให้ลบพระปรมาภิไธยของพระนางออกจากรายพระนามฮ่องเต้เสีย ให้คงไว้แต่ว่าพระองค์เป็นฮองเฮาในฮ่องเต้ถังเกาจงเท่านั้น หลังจากพระนางสวรรคตแล้ว พระบรมศพถูกฝังไว้ร่วมกับ ถังเกาจง พระสวามี ณ สุสานหลวงเฉียงหลิงมณฑลส่านซีภาคตะวันตกของจีน และได้สร้างศิลาจารึกไร้อักษรไว้หน้าสุสานด้วย ศิลาจารึกไร้อักษรนี้มีชื่อเสียงดังอุโฆษไปทั่วโลก เพราะว่าความสำเร็จความล้มเหลวและความผิดถูกดีเลวของจักรพรรดินีพระองค์นี้ไม่จำต้องจารึกไว้เป็นตัวอักษร หากแต่ให้ชนรุ่นหลังพิจารณาเองเอง
มีกลอนบทหนึ่งซึ่งแต่งไว้ให้แก่ฮ่องเต้หญิงพระองค์นี้ ได้มีการแปลเป็นไทยได้ความว่า...
นับเป็นบุญ ช่วยหนุนนำ หรือกรรมซัด
สวรรค์จัด ให้กำเนิด เกิดใต้ฟ้า
ฤๅนรก บีฑาคน ดลเธอมา
ลงเป็นข้า ในพระองค์ ถังไท่จง
เป็นสตรี ถือดีมา กว่าหญิงอื่น
กล้าหยัดยืน ฝืนชะตา ที่ฟ้าส่ง
ขอลิขิต ขีดเส้นทาง อย่างทะนง
เป็นนางหงส์ คงเคียงคู่ หมู่มังกร
ใครกำหนด กดสตรี มิแจ้งเกิด
บุรุษเลิศ ประเสริฐล้ำ นำหน้าก่อน
ส่วนนารี สิอยู่หลัง ดังขั้นตอน
คือคำสอน กลอนโบราณ สานสืบมา
เปลี่ยนแนวคิด ขีดเส้นใต้ ให้คำใหม่
ขอก้าวไกล ไปเป็นหนึ่ง ซึ่งเหนือหล้า
เป็นฮ่องเต้ ยอดหญิงเหล็ก เสกบัญชา
ฤทธิ์เทียมฟ้า นางพญา บูเช็กเทียน

ที่มา :http://oknation.nationtv.tv/.../JeabJe.../2010/05/22/entry-3
___________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ

 

เจ้าหญิงท็อกฮเย (ฮันกึล: 덕혜옹주; Deokhye Ongju) หรือ อี ท็อก-ฮเย เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิโคจง กับพระสนมบกนย็อง ภายหลังทรงถูกนำไปประทับที่ประเทศญี่ปุ่น ทรงรับการศึกษาและเสกสมรสที่นั้น ภายหลังจึงนิวัตกลับประเทศเกาหลีใต้ในปัจฉิมวัย
เจ้าหญิงท็อกฮเยประสูติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ณ พระราชวังชังด็อก เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในจักรพรรดิโคจง ที่ประสูติแต่พระสนมยัง หลังประสูติกาลพระราชธิดา จึงได้รับพระราชทานราชทินนามว่าพระสนมบกนย็อง เจ้าหญิงท็อกฮเยเป็นพระธิดาองค์โปรดของพระชนกนาถผู้มีพระชนมายุ 60 พรรษา ทรงก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลชุนมย็องดัง (준명당) สำหรับพระราชธิดาทรงพระอักษร ณ ตำหนักฮัมนย็องภายในพระราชวังท็อกซู โดยมีเหล่าธิดาจากครอบครัวชนชั้นสูงร่วมชั้นเรียนด้วย
พ.ศ. 2460 จักรพรรดิโคจงทรงโน้มน้าวให้เทราอูชิ มาซาตาเกะ ผู้ปกครองครองเกาหลีของญี่ปุ่นในขณะนั้น รับรองเจ้าหญิงท็อกฮเยว่ามีพระสถานะเป็นเจ้าและเป็นสมาชิกพระราชวงศ์เกาหลี
พ.ศ. 2462 จักรพรรดิโคจงมีพระราชประสงค์ให้เจ้าหญิงท็อกฮเยหมั้นหมายกับคิม จัง-ฮัน หลานชายของคิม ฮวัง-จิน เจ้าพนักงานกรมวัง เพื่อปกป้องพระราชธิดาจากการคุกคามญี่ปุ่น แต่ทว่าญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงพระราชพิธีหมั้นนี้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาคิม ฮวัง-จินมิได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพระราชวังท็อกซูอีก ส่วนจักรพรรดิโคจงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 มกราคมในปีนั้น สองปีต่อมาเจ้าหญิงท็อกฮเยทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประถมศึกษาฮีโนแด (Hinodae elementary school) ในเคโจ
ประทับในญี่ปุ่นและการเสกสมรส
พ.ศ. 2468 ทางการญี่ปุ่นนำเจ้าหญิงท็อกฮเยไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยอ้างว่าให้เจ้าหญิงเสด็จไปศึกษาต่อเช่นเดียวกับมกุฎราชกุมารอึยมินพระเชษฐา โดยศึกษาต่อที่โรงเรียนกากูชูอิง (Gakushuin) พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นอย่างเงียบ ๆ เปล่าเปลี่ยว และไม่สบายพระทัย เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระชนนีถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2472 ทางการญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้เจ้าหญิงผู้นิราศกลับไปมาตุภูมิชั่วคราวสำหรับการปลงศพพระชนนีในปี พ.ศ. 2473 แต่ทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้พระองค์เข้าร่วมพิธีศพด้วยฉลองพระองค์สุภาพ และในปีเดียวกันนั้นพระองค์เริ่มมีปัญหาทางจิตอันแสดงออกด้วยพระอาการละเมอเดิน (sleepwalking) พระองค์จึงเสด็จไปประทับพระราชวังลีในโตเกียวร่วมกับมกุฎราชกุมารอึยมินพระเชษฐา ซึ่งในช่วงนี้เจ้าหญิงทรงเลือนพระสัญญาเรื่องการเสวยพระกระยาหาร แพทย์ประจำพระองค์ลงความเห็นว่าพระองค์ประชวรด้วยภาวะพระมัตถลุงค์เสื่อมก่อนวัย (precocious dementia) หนึ่งปีต่อมาหลังจากนั้นพระอาการของพระองค์ก็ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการอภิบาลอย่างดี
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงท็อกฮเยเสกสมรสกับเคานต์ทาเกยูกิ โซ (宗武志) ขุนนางชาวญี่ปุ่น อันเป็นการคลุมถุงชนในพระราชประสงค์ของจักรพรรดินีเทเมในจักรพรรดิไทโชแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเดิมมีกำหนดการที่จะจัดพิธีเสกสมรสในปี พ.ศ. 2473 แต่มกุฎราชกุมารอึยมินทรงคัดค้านเพราะพระขนิษฐายังประชวรอยู่ ครั้นเจ้าหญิงท็อกฮเยทรงหายจากการประชวรในปีต่อมา ทางญี่ปุ่นจึงจัดพิธีเสกสมรสขึ้น โดยพระองค์ได้ให้ประสูติกาลพระธิดาคนเดียวคือเคาน์เตสมาซาเอะ โซ (宗正惠; 14 สิงหาคม 2475 – 2499) หรือชง จ็อง-ฮเย (종정혜, 宗正恵) ในภาษาเกาหลี
หนึ่งปีถัดมาหลังประสูติการพระธิดา เจ้าหญิงท็อกฮเยทรงประชวรด้วยพระอาการทางจิตอีกครั้ง คราวนี้พระองค์มีพระบังคนหนักเล็ดราด หรือกลั้นพระบังคนไม่ได้ (incontinence) ด้วย และใช้เวลายาวนานหลายปีในการรักษาอาการประชวรดังกล่าว
หลังการพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีกลับมามีเอกราชอีกครั้ง และทาเกยูกิ โซพระภัสดาสูญเสียบรรดาศักดิ์เพราะญี่ปุ่นยกเลิกระบบขุนนางไป ทั้งสองห่างเหินกันและนำไปสู่การหย่าร้างในปี พ.ศ. 2496 ทาเกยูกิได้สมรสใหม่กับโยชิเอะ คัตสึมูระ หญิงสามัญชาวญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เจ้าหญิงท็อกฮเยทรงเศร้าพระทัยและไร้สุขกับชีวิตรักที่อัปปาง แต่มีเหตุการณ์ที่สร้างความปริวิโยคที่สุดนั่นคือมาซาเอะ พระธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์หายสาบสูญในปี พ.ศ. 2499 มีรายงานว่ามาซาเอะได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากเสียใจที่บิดามารดาหย่าร้างกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าหญิงท็อกฮเยจึงทนทุกข์ทรมานกับพระพลานามัยที่ไม่สู้สมบูรณ์เนื่องจากเสียพระทัยจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นไล่เลื่ยกัน
... นิวัตเกาหลี ...
เจ้าหญิงท็อกฮเยได้เสด็จนิวัตเกาหลีตามคำกราบทูลเชิญของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2505 หลังประทับอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนาน 37 ปี เบื้องต้นรัฐบาลเกาหลีปฏิเสธที่จะให้ผู้สืบสายเลือดจากพระราชวงศ์พระองค์สุดท้ายกลับมาตุภูมิ เพราะประธานาธิบดีอี ซึง-มันเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง อย่างไรก็ตามคิม อึล-ฮันได้พบกับเจ้าหญิงท็อกฮเยและชี้ชวนให้ทางการเกาหลีใต้กราบทูลเชิญเจ้าหญิงเสด็จกลับ
เจ้าหญิงทรงกรรแสงเมื่อพระองค์นิวัตมาตุภูมิ และประทับ ณ ตำหนักนักซ็อนในพระราชวังชังด็อก ร่วมกับมกุฎราชกุมารอึยมิน, เจ้าหญิงพังจา, เจ้าชายกู, จูเลีย มุลล็อก และพย็อน บกดง นางสนองพระโอษฐ์
เจ้าหญิงท็อกฮเยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ณ ตำหนักซูกัง พระราชวังชังด็อก และปลงพระศพ ณ ฮงรยูรึงในนัมยังจูใกล้กรุงโซล
... ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ...
ภาพยนตร์และโทรทัศน์
ภาพยนตร์เรื่อง ท็อกฮเย ความหวังสุดท้ายของโชซอน (The Last Princess) รับบทโดยซน เย-จิน (พ.ศ. 2559)
... หนังสือ ...
อัตชีวประวัติเจ้าหญิงท็อกฮเย (A biography for Princess Deokhye) โดยยาซูโกะ ฮมมะ (本馬恭子)
เจ้าหญิงท็อกฮเย (Princess Deokhye) โดยคว็อน บี-ย็อง (Kwon Bi-young)
... เพลง...
โฮ ชิม-นัม (Ho Shim-nam) นักร้องชาวเกาหลีใต้ แต่งเพลงจากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2506
"กุหลาบแห่งน้ำตา" (눈물꽃, The Rose of Tears) โดยโฮ จิน-ซ็อล แต่งเพลงจากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2553
... ละครเวที ...
มีการแสดงละครเรื่อง "เจ้าหญิงท็อกฮเย" (Princess Deokhye) ณ ศูนย์ศิลปะโซล เมื่อปี พ.ศ. 2538
มีการแสดงละครเพลงเรื่อง "ท็อกฮเย เจ้าหญิงองค์สุดท้าย" (덕혜옹주) จากพระประวัติของเจ้าหญิงท็อกฮเย เมื่อปี พ.ศ. 2556

ที่มา : วิกิพีเดีย
________________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ

 

"แพน นางละครชาวสยาม" ผู้เกือบได้เป็น "ราชินี" แห่งกัมพูชา
แพน เรืองนนท์ เป็นนางละครชาวไทย ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงละครชาตรีในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และโด่งดังจากการเข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ พระสนมในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ โดยมีข่าวลือว่าเธอเป็น "ว่าที่พระราชินีกัมพูชา" จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ซินเดอเรลลาสยาม" แต่ท้ายที่สุดเธอก็ถูกส่งกลับประเทศไทยและมิได้รับราชการฝ่ายในของกัมพูชาอีกเลย
แพน เรืองนนท์ เกิดในครอบครัวนักแสดงละครชาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2457 ที่บ้านหลานหลวง กรุงเทพพระมหานคร (ปัจจุบันอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรสาวของพูน และแป้น เรืองนนท์ เธอมีพี่น้องร่วมและต่างมารดาทั้งหมด 17 คนหนึ่งในนั้นคือ ทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี)
ครอบครัวของเธอดำเนินกิจการแสดงละครชาตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบรรพบุรุษชื่อ พระศรีชุมพล (ฉิม) ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยรับราชการในราชสำนักนครศรีธรรมราช จนรับสมญาว่า "ละครเรือเร่หรือละครเรือลอย" ที่ถ่ายทอดการแสดงละครชาตรีสู่ผู้สืบสันดาน ด้วยเหตุนี้แพนบุตรสาวของพูนผู้มีหน้าตาสะสวยจึงซึมซับการเล่นละครชาตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจำเริญวัยเธอก็รับบทเป็นนางเอก
พูนรับเล่นละครกับคุณหญิงลิ้นจี่ ครั้นไปเปิดวิกที่อื่นก็ทำให้การแสดงคณะของพูนจึงขาดช่วงไป กอปรกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจนคนไม่อยากจ่ายเงินมาดูละคร พูนจึงเสนอให้คุณหญิงลิ้นจี่เลือกตัวละครที่ชอบไปแสดง คุณหญิงลิ้นจี่จึงเลือกแพนและชื้น (สมญา ชื้นตาหวาน) นำคณะไปเล่นละครแถบอรัญประเทศ และเข้าไปยังแถบเมืองพระตะบอง ชื่อเสียงของคณะละครดังไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ทรงเรียกให้ไปเล่นละครในพนมเปญ ชื้นตาหวานผู้เป็นตัวพระเอกไม่กล้ารับแต่แพนตัวนางเอกรับปากและเข้าไปยังราชสำนักเขมร พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์จึงให้แพนร่วมแสดงกับเหล่าพระสนม โดยแพนรับบทเป็น "บุษบา" ตอนไหว้พระ ต่อหน้าพระพักตร์ ผลก็คือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงรับนางสาวแพนเข้าเป็น เจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น "หลวง" แก่นายพูนผู้บิดา
เรื่องราวดั่งนิยายของเธอได้รับเปิดเผยครั้งแรก จากการสืบเสาะของนักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ที่ชื่อว่าประสุต (ไม่ปรากฏนามสกุล) ที่บังเอิญได้ยินบบทสนทนาจากกลุ่มสตรีที่ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ที่กำลังสนทนาว่าด้วยเรื่องมารดาของแพนเล่าให้ฟังระหว่างโดยสารรถไฟกลับมาจากแดนกัมพูชาโดยอ้างว่าบุตรสาวของนางจะได้รับการแต่งตั้งเป็นราชินีแห่งกัมพูชาซึ่งตอนนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมแล้ว หลังสัมภาษณ์นางแป้น ประสุตได้รายงานแก่แอนดริว เอ. ฟรีแมน (อังกฤษ: Andrew A. Freeman) ผู้เป็นบรรณาธิการ นายฟรีแมนจึงตัดสินใจพาดหัวข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ว่า "SIAMESE DANCER MAY BE CAMBODIA'S QUEEN" (นางละครชาวสยามอาจได้เป็นราชินีแห่งกัมพูชา) ทำให้เรื่องส่วนตัวของแพนโด่งดังมากในปี พ.ศ. 2470
หลังข่าวแพร่สะพัด ชีวิตรักของหญิงสามัญกับกษัตริย์กัมพูชาก็เป็นที่โจษขานในสังคมพระนคร นายฟรีแมนระบุไว้ว่า "บ้านของบิดามารดานางสาวแพนกลายเป็นศาลเจ้าสำหรับคนที่เชื่อในความมหัศจรรย์ พวกเขาถูกถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์ และได้รับการว่าจ้างให้ไปปรากฏตัวในงานแสดงต่าง ๆ" นางแป้นผู้มารดาได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า "ก่อนฉันเดินทางกลับมา [จากกัมพูชา] ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่า ๆ กับเป็นนางรำ" ทรงโปรดปรานเจ้าจอมแพนมากถึงขั้นมอบหมายให้เธอถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลเครื่องทรงเครื่องเสวย ทั้งยังดูแลกิจการฝ่ายใน และการที่เจ้าจอมแพนสามารถขัดพระทัยพระเจ้าอยู่หัวโดยการไว้ผมยาวจนกว่าจะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาซึ่งต้องโกนผมไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมกัมพูชา
.. คืนสู่สามัญ..
ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในกรุงพนมเปญ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง จริง ๆ แล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฏศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญและมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวกัมพูชา เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้
นี่คือแถลงการณ์ที่กงสุลฝรั่งเศสส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์
--------------------------
ขณะที่เรื่องราวของแพน เรืองนนท์ กำลังเป็นที่พูดถึงนั้น มงซิเออร์ ชาล็อง (ฝรั่งเศส: Monsieur Chalant) กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยามได้โทรศัพท์ไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และชี้แจ้งแก่นายฟรีแมนว่า "เรื่องที่คุณลงตีพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มุนีวงศ์มันผิดทั้งหมด" และ "ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไปให้คุณ และมงซิเออร์เรโย (Monsieur Réau) ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอร้องให้คุณหยุดเขียนเรื่องพระองค์กับเด็กสาวคนนี้" เมื่อบรรณาธิการถามถึงเหตุผล กงสุลก็ตอบว่า "เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องไร้สาระ" ทั้งนี้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าว แต่ตัดถ้อยคำที่ว่า "เรา [กรุงเทพเดลิเมล์] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้" ออก และยังส่งนักข่าวคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบิดาเจ้าจอมแพน
--------------------------
"ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่"
"I AM THE CAMBODIAN KING'S WIFE."
SAYS NANGSAO BAEN
State She Is Going
Back to Pnom-Penhn
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์
--------------------------
แต่สถานกงสุลฝรั่งเศสในพระนครก็ไม่สิ้นความลดละ โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง ความว่า "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระทัยและปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดานางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพฯ โดยทันที" ซึ่งกัมพูชาได้บอกกับพูนและแพนว่า "หากอยู่ไปจะเกิดอันตรายได้" แต่เมื่อแพนกลับถึงพระนครในวันรุ่งขึ้น เธอปฏิเสธเรื่องที่ว่ากษัตริย์กัมพูชาส่งเธอกลับ โดยอ้างว่าเธอเพียงมาเยี่ยมน้องชายที่ป่วยเท่านั้น "พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วันและจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาพระองค์อยู่" ซึ่งกรุงเทพเดลิเมล์ได้นำคำพูดดังกล่าวมาเป็นพาดหัว
ทางกงสุลฝรั่งเศสก็ทำการโต้ตอบหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ทันที ด้วยการส่งแถลงการณ์ไปยังหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษอีกสองฉบับคือ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ (Siam Observer) และเดอะบางกอกไทมส์ (The Bangkok Times) แต่ไม่ส่งมายังกรุงเทพเดลิเมล์ โดยเนื้อหาที่ตีพิมพ์ระบุว่า "เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่านางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก"
ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเหตุผลกลใดฝรั่งเศสจึงเดือดร้อนนักที่เจ้านายกัมพูชาจะมีนางสนมเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่นางสาวแพนก็เป็นเพียงหญิงสามัญนางหนึ่ง และไม่มีบทบาททางการเมืองอย่างใด นอกจากนี้ทางสถานกงสุลฝรั่งเศสได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลสยามช่วยปิดข่าวอีกด้วย ก่อนข่าวนางสาวแพนจะจางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มีประชาชนกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายไปยังบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์ แสดงความขุ่นเคืองฝรั่งเศส ว่าควรขอโทษนางสาวแพน ที่กล่าวหาว่าเธอ "ไม่เป็นที่พึงประสงค์" ของราชสำนักกัมพูชา
กลับสู่โลกแห่งละคร
นับแต่นั้น แพนก็เก็บตัวอยู่ในบ้านของบิดา แม้นมีวิกต่าง ๆ มาเสนอค่าตัวสูงถึง 300 บาทให้เธอไปปรากฏตัว ซึ่งขณะนั้น 300 บาทถือว่าเทียบเท่ารายได้ต่อปีของเธอ แม้แต่คณะละครต่างชาติที่จัดแสดงอยู่ในมะนิลาได้ชี้ชวนให้เธอไปแสดงที่สหรัฐอเมริกาแต่เธอก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เธอให้เหตุผลว่า "ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา" และเธอมิอาจเข้าใจได้เลยว่าพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์นั้นมิได้กุมอำนาจสูงสุดในกัมพูชา หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระดับสูงที่ทางการส่งมาประจำที่พนมเปญ
สุดท้ายเธอก็กลับไปเป็นนางละครในคณะของมารดาตามเดิม หลังจากนั้นอีกสองปีเธอก็สมรสใหม่กับชายคนหนึ่ง มีบุตรสาวชื่อกัญญา ทิพโยสถ ซึ่งเป็นนางละครเช่นแพน
แพน เรืองนนท์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2522 สิริอายุได้ 65 ปี
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าที่โพสต์ ขอเชิญหาอ่านได้จากเว็บด้านล่างนี้ค่ะ
https://my.dek-d.com/xxxx5566/writer/viewlongc.php...

ข้อมูล : วิกิพีเดีย
_____________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ

 

มเหสี เจ้าจอม พระเจ้าตาก
สำหรับชีวิตส่วนพระองค์พระเจ้าตากสิน นั้น ทรงมีพระอัครมเหสีและพระสนมหลายพระองค์ ดังนี้
1. สมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจาริกา สมเด็จพระอัครมเหสี (หอกลาง) พระนามเดิมว่า สอนหรือส่อน ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหลวงบาทบริจาริกา
พระราชโอรส 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้าจุ้ย ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช ที่เป็นตำแหน่งของพระรัชทายาทในการสืบราชสมบัติ และ สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย เมื่อถึงคราวผลัดแผ่นดิน สิ้นรัชสมัยพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระอัครมเหสี และ สมเด็จพระเจ้าน้านางเธอกรมหลวงเทวินทรสุดา ได้ถูกลดพระยศเป็น “หม่อมสอน” และ “หม่อมอั่น” ตามลำดับ โดยถูกจองจำเอาไว้พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ถูกสำเร็จโทษ แต่ภายหลังการผลัดแผ่นดินได้ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบสุขในธนบุรี โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ใน รัชกาลที่ 1เป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูคอยช่วยเหลือพร้อมผู้อื่นหลายท่าน
2. เจ้าจอมมารดา เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1
มีโอรส คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ต่อมาเปลี่ยนพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ และได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น กรมขุนกษัตรานุชิต ต่อมาถูกข้อหาเป็นกบฏ ได้ถูกสำเร็จโทษพร้อมเจ้าชายที่เป็นโอรสเล็ก ๆ อีก 6 องค์ ใน พ.ศ. 2352 พระองค์ได้ทรงสถาปนาวัดอภัยธารามสามเสน
3. เจ้าจอมมารดา เจ้าหญิงฉิม ราชธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
มีพระโอรส 3 พระองค์ คือ
สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงษ์ สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร และ เจ้าฟ้ามัญจปาปี ซึ่งทรงเป็นพระชายาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ราชภาคิไนยในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
4. เจ้าจอมมารดา เจ้าหญิงปราง เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นกนิษฐภคินีของกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ เข้าไปอยู่ในวังพร้อมเจ้าหญิงฉิม และ เป็นเหตุให้ เจ้าพระยาพิไชยราชา ซึ่งส่งเถ้าแก่เข้าไปสู่ขอทำให้พระเจ้าตากกริ้ว โปรดให้ประหารชีวิต เพราะบังอาจจะเป็นเขยเล็กแข่งกับพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากนั้นเจ้าหญิงปรางก็ได้เข้าถวายตัวกับพระเจ้าตากสิน
เมื่อเกิดเหตุ เจ้าพัฒน์พระมหาอุปราชเมืองนครไปสงครามได้รับชัยชนะกลับมาและ เจ้าหญิงนวลผู้เป็นภริยาเสียชีวิต จึงได้พระราชทานเจ้าหญิงปรางให้ทั้ง ๆ ที่ทรงพระครรภ์ได้ 2 เดือนแล้ว และได้ประสูติพระราชโอรสของพระเจ้าตากใน พ.ศ. 2319 คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) โดย พระมหาอุปราช (พัฒน์) ไม่กล้าขัดด้วยเกรงพระราชอาญาโดยไม่ทรงถือเป็นชายาแต่ได้ตั้งเป็นแม่วัง ด้วยความเคารพในพระมหากรุณาธิคุณ และไม่ได้แตะต้องเจ้าหญิงปรางเลย
5. เจ้าจอมมารดา เจ้าหญิงจวนหรือญวน ราชธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ถวายตัวกับพระเจ้าตากสินและได้ทรงพระครรภ์ แต่ได้พระราชทานแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ที่มีความดีความชอบในราชการสงคราม ซึ่งได้ประสูติเป็นชาย ปรากฏพระนามว่า ทองอินทร์ โดยเจ้าพระยานครราชสีมามิได้ถือเป็นภริยา แต่ได้ยกย่องไว้ในอีกพระฐานะหนึ่งแทน
6. เจ้าจอมมารดาอำพัน ราชธิดาของ เจ้าอุปราชจันทร์ แห่งนครศรีธรรมราช
มีพระราชโอรสคือ พระองค์เจ้าชายอรนิกา และ พระองค์เจ้าหญิงสาลีวรรณ ทรงเป็นพระราชชายากรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 2 พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสองพระองค์นี้ถูกข้อหากบฏ สำเร็จโทษพร้อมเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เมื่อ พ.ศ.2352
7. เจ้าจอมมารดาทิม เป็นหม่อมราชวงศ์ของพระราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระธิดาของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) มีพระราชโอรสคือ พระองค์เจ้าชายอัมพวัน
8. เจ้าจอมมารดาเงิน มีพระธิดาคือ พระองค์เจ้าหญิงประไพพักตร์ และในตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น มีพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงที่มิได้ถูกกวาดต้อนไปพม่าและได้ถวายตัวกับพระเจ้าตากสินหลายองค์ ซึ่งพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงดังนี้
“...พระราชวงศานุวงศ์ซึ่งเหลืออยู่ พม่ามิได้เอาไปนั้นตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นก็มีบ้างและเจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้านันทวดี เจ้าฟ้าจันทวดี พระองค์เจ้าฟักทองหนึ่ง ทั้ง 4 เป็นราชบุตรี พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ
เจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง
หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตสุนทร
หม่อมเจ้ามณี บุตรีกรมหมื่นเสพภักดี
หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจืด
พระองค์เจ้าทับทิม บุตรีสมเด็จพระอัยกา พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้...”
ทั้งนี้ ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ได้กล่าวไว้ว่า
“...บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพ หม่อมประยงค์ โปรดให้เป็นเจ้าอนิรุทเทวา
บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมกระจาดให้ชื่อ บุษบา
บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิตร ประทานชื่อ ประทุม
บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพะยอม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจิตรเลี้ยงเสมอกันทั้งสี่คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทุม อยู่คนละข้าง...”
จะเห็นได้ว่าพระมเหสีที่พระเจ้าตากสินทรงโปรดปรานมากที่สุดสองพระองค์ คือ หม่อมฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจืด พระเจ้าหลานเธอของพระเพทราชา และ หม่อมเจ้าหญิงอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ
#เหตุหึงหวง
หม่อมเจ้ามิตร ทูลฟ้องว่า หม่อมฉิม กับ หม่อมอุบล เป็นชู้กับฝรั่งในวัง จึงลงโทษประหาร ผ่าอกต่อมาทรงเสียพระทัย ทรงคิดถึงและสงสารหม่อมอุบล ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะทรงครรภ์ได้ 2 เดือน ถึงกับมีพระราชปรารภว่ามีพระประสงค์จะตายแทน จนถึงกับต้องนิมนต์พระเถระมาถวายพระพร เตือนพระสติจึงได้เปลี่ยนพระทัย
นอกจากนี้ยังมีพระสนมพร้อมพระราชโอรสกับพระราชธิดาอีกหลายพระองค์ที่มิได้กล่าวอ้างในที่นี้ และภายหลังแม้เมื่อมีเกิดการผลัดแผ่นดิน จนผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ทั้งพระราชโอรสต้องถูกราชภัยสำเร็จโทษ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระเจ้าน้านางเธอ รวมทั้งพระมเหสีพระราชธิดาต้องถูกถอดพระยศ และถูกคุมขังจองจำ แม้กระทั่งขุนนาง ข้าราชการและขุนศึกที่เคียงคู่ร่วมรบ ร่วมสร้างบ้านเมืองมาร่วมกัน ก็ต้องถูกประหารไปเป็นจำนวนมากกลาย
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี พระมเหสี พระราชโอรสและพระราชธิดาถูกถอดจากพระอิสริยยศกลายเป็นสามัญชน มีเพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้นที่ยังคงดำรงยศชั้นเจ้านาย แต่ถึงอย่างนั้น ตลอดพระชนม์ชีพก็ยังคงถูกดูหมิ่นพระเกียรติและมีชีวิตที่เรียกได้ว่า รันทด ไม่น้อยเหมือนกัน
#ราชสกุลสายพระเจ้าตาก
สินสุข (สินศุข)
จาตุรงคกุล
รุ่งไพโรจน์
ศิลานนท์
โกมารกุล ณ นคร
ณ นคร
อินทรโยธิน
คชวงศ์ (คชวงษ์)
มหาณรงค์
อินทรกำแหง (สายเจ้าเมืองนครราชสีมา)
อินทโสฬส
อินทนุชิต
เชิญธงไชย
เนียมสุริยะ
นิลนานนท์ (นินนานนท์)
พงษ์สิน
ศิริพร
กริส (ชูกฤส)

ขอบคุณที่มา
เพจ เรื่องเล่าความหลัง
ภาพจากละคร ศรีอโยธยา
__________________________
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ