ธุรกิจที่ซื้อต่อมาจากผู้อื่น buyout/take over

​​​​​​​​​​​​​​​​การควบรวมกิจการ

  • สรุปหลักเกณฑ์​

  • กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

  • แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง​

  • คำถามที่พบบ่อย​

ารเข้าควบรวมกิจการสามารถดำเนินการได้หลายวิธีการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถือหุ้น เพื่อครอบงำกิจการ การซื้อสินทรัพย์ หรือการควบรวมเข้าเป็นกิจการเดียวกัน ซึ่งในกรณีการเข้าควบรวมกิจการ โดยการเข้าถือหุ้นจนทำให้บุคคลนั้นมีอำนาจควบคุมบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ (substantial control) พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในเรื่องการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการจะเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล โดยมีหลักสำคัญประการหนึ่งมุ่งให้ความคุ้มครองผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการอันเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ได้โอกาสตัดสินใจว่าประสงค์จะถือหลักทรัพย์ของกิจการต่อไปภายใต้การควบคุมและการบริหารงานของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่หรือไม่ ซึ่งหากผู้ถือหลักทรัพย์รายใดไม่ประสงค์จะถือหลักทรัพย์ของกิจการต่อไป ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ก็จะต้องมีช่องทางในการเสนอซื้อหลักทรัพย์นั้นอย่างเป็นธรรม (fair exit and fair treatment) หลักสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเอื้ออำนวยให้การควบรวมกิจการมีช่องทางดำเนินการได้โดยสะดวก (facilitating market for corporate control) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการและผู้บริหารของกิจการปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ 

นอกจากหลักการสำคัญสองประการที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว บทบัญญัติในเรื่องการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการยังมีหลักการที่เอื้อให้ตลาดได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงผ่านกลไกการรายงาน (report on substantial holding) ซึ่งมีการเปิดเผยเป็นการทั่วไป และที่สำคัญข้อมูลอำนาจควบคุมที่เปิดเผยให้รับทราบกันทั่วไปจะต้องเป็นข้อมูลที่สะท้อนภาพรวมของอำนาจควบคุมที่แท้จริง จึงต้องนับรวมการถือครองหลักทรัพย์ในส่วนของบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเดียวกัน กิจการในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้อง" (ตามมาตรา 258 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535)  และ  “บุคคลที่กระทำการร่วมกัน" (concert party) โดยที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน การเปิดเผยข้อมูลนอกจากจะถูกต้องแล้วยังต้องทันเวลาอีกด้วย  ​

เครื่องมือที่ ก.ล.ต. ใช้ในการกำกับดูแลการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ มีอะไรบ้าง?

เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแลการกำกับดูแลกิจการจะเน้นในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการให้สิทธิแก่ผู้ถือหลักทรัพย์ได้มีโอกาสขายหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่อย่างเท่าเทียมกัน (fair exit and fair treatment)  เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมในกิจการ โดยมี  2 เครื่องมือหลัก คือ

  • การรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์  กำหนดให้ผู้ที่ถือครองหลักทรัพย์และหรือข้ามทุกร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ภายใน 3 วันทำการ

  • การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ กำหนดให้ผู้ที่ได้หุ้นที่มีสิทธิออกเสียงจนแตะหรือข้ามจุดที่มีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อ (trigger point) ต้องมีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ ทั้งนี้ ไม่ว่าการได้หุ้นมาจนแตะ trigger point  ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่ตามกฎหมาย (mandatory tender offer) หรือด้วยความสมัครใจของผู้ที่ต้องการครอบงำกิจการ (voluntary  tender offer)​

การควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

การควบรวมบริษัทเข้าด้วยกัน (amalgamation)* เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจฯ) มีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนการดำเนินการที่ลดลง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการด้วย

ก.ล.ต. ได้จัดทำกฎกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากการควบเข้ากัน โดยรัฐมนตรีได้ลงนามและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งได้ปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมการควบรวมของธุรกิจทุกประเภท จากเดิมที่รองรับเฉพาะธุรกิจบางประเภท  ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากันในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือคำขอจดทะเบียนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมสามารถประกอบธุรกิจ และรับโอนลูกค้าจากบริษัทเดิมได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้บริการและทำธุรกรรมได้อย่างต่อเนื่องด้วย ประกาศดังกล่าวข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

* ควบรว​มกิจการในรูปแบบที่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ (amalgamation) หมายถึง การรวมกิจการโดยที่บริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปรวมเข้าด้วยกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B = C) โดยเมื่อควบเข้ากันแล้วจะมีผลทำให้บริษัทเดิมสิ้นสภาพไปพร้อมกัน และบริษัทใหม่จะได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดชอบที่บริษัทเดิมมีอยู่