ท้อง 7 สัปดาห์ มีเลือดออกสีแดง

ทีมงานมะลิ

แอปมะลิได้พัฒนาขึ้นในความร่วมมือของ นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (กุมารแพทย์), พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ(สูตินรีแพทย์), นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท (สูตินรีแพทย์), และ นางสาวเกศสุภา จิระการณ์ (นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก) และดำเนินการโดยกลุ่มผู้เขียน และครีเอทีฟ ที่มีความต้องการให้เด็ก ๆ ได้เติบโตไปกับครอบครัวอย่างมีความสุข และได้รับการเลี้ยงดูบนพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยที่ถูกต้อง

ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่แม่ๆ หลายคนกำลังลุ้นว่า ทุกอย่างจะผ่านไปได้อย่างปลอดภัยหรือไม่? ปัญหาที่แม่ๆ มักจะเจอได้บ่อยๆ คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งมักจะทำให้แม่ๆ กังวลไม่น้อย แต่การมีเลือดออกอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หรือ ภาวะแท้งเสมอไป แล้วในช่วงไตรมาสแรก สาเหตุที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมีอะไรบ้าง? เดี๋ยวไปติดตามกันค่ะ

ท้อง 7 สัปดาห์ มีเลือดออกสีแดง

จากข้อมูลการศึกษาในปี 2010 พบว่า กว่า 30% ของคนท้อง อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์และเลือดที่ออก ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ และสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ได้อย่างปกติ แล้วอาการเลือดออกทางช่องคลอดในไตรมาสแรก เกิดจากสาเหตุต่างๆ ต่อไปนี้

1.เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding)

เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก มักพบวันที่ 6-12 หลังไข่ตก สีจะเป็นสีน้ำตาลหรือชมพูอ่อนๆ และปริมาณไม่มาก ซึ่งเลือดล้างหน้าเด็กเป็นสัญญาณหนึ่งของการตั้งครรภ์ แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกคน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเลือดล้างหน้าเด็ก) หลายคนอาจสับสนกับประจำเดือนได้

2. เลือดออกตามหลังการออกกำลังกายหรือการมีเพศสัมพันธ์

ในช่วงตั้งครรภ์ จะมีเลือดมากเลี้ยงบริเวณปากมดลูกมากขึ้น ทำให้มีโอกาสมีเลือดออกได้ง่ายขึ้น เมื่อมีอะไรไปสัมผัส เช่น การตรวจร่างกายทางช่องคลอด หรือ การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเลือดที่ออก อาจเป็น สีน้ำตาล หรือ สีแดงอ่อนๆ และจะมีปริมาณไม่มาก และจะหยุดเอง ซึ่งไม่ได้เป็นภาวะที่น่ากังวลแต่อย่างใด

3. ท้องแฝด (Twins)

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ที่จะมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ ซึ่งอาจเป็นภาวะแท้งคุกคาม ที่อาจต้องได้รับการดูแลจากสูตินารีแพทย์ นอกจากนี้ เลือดที่ออกในท้องแฝด อาจเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนได้เช่นกัน

4. ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

การตั้งท้องนอกมดลูก เกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่ตำแหน่งอื่นนอกมดลูก เช่นท่อนำไข่ ซึ่งพบประมาณ 2.5% ของการตั้งท้องโดยทั่วไป นอกจากอาการเลือดออกทางช่องคลอดแล้ว มักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • อาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง

  • อาการหน้ามืด เป็นลม

  • ความดันต่ำ

ซึ่งภาวะท้องนอกมดลูกนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษา

5. ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)

ครรภ์ไข่ปลาอุก เกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัวของรก โดยตัวอ่อนอาจเจริญเติบโตหรือไม่ก็ได้ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 คนของหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบได้คือ

  • เลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นสีแดงหรือน้ำตาล

  • อาการปวดท้อง

  • อาการแพ้ท้องอย่างหนัก

6. ภาวะแท้ง

ภาวะแท้ง อาจมีตั้งแต่ภาวะแท้งคุกคาม หรือ แท้งสมบูรณ์ก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องภาวะแท้ง) ซึ่งภาวะแท้งจะพบประมาณ 15-20% ของการตั้งครรภ์ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งภาวะนี้ได้ และมักจะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อน โดยอาการที่อาจบ่งบอกว่าอาจมีภาวะแท้งคือ

  • เลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก

  • เลือดสีแดงสด

  • ปวดท้องน้อย

  • ปวดหลัง

  • มีถุงตัวอ่อน หรือส่วนประกอบของรกหลุดออกมา

โดยถ้ามีอาการที่น่าสงสัยภาวะแท้ง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลเพิ่มเติม

เมื่อไหร่ควรปรึกษาแพทย์

แม้ว่า ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดจะพบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม การมีเลือดออกช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นภาวะที่ต้องระมัดระวัง ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่า อาการเลือดออกนั้น เป็นภาวะผิดปกติที่ต้องได้รับการดูแลหรือไม่ค่ะ

ในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก คุณแม่ต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษนะคะ ขอให้แม่ๆ ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง และตัวน้อยในท้องก็แข็งแรงเช่นกันค่ะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ

เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The Family

#เลือดออกตอนท้อง #เลือดออกทางช่องคลอดตอนท้อง #เลือดสีน้ำตาลทางช่องคลอดตอนท้อง