ต วอย างการขออน ม ต ส บน ำของชาวเกษตร

“ม็อบเกษตร” ปีนรั้วทำเนียบ จี้ ครม.แต่งตั้ง กก.กองทุนฟื้นฟู

เผยแพร่: 12 มิ.ย. 2555 11:56 โดย: MGR Online

กลุ่มเกษตรรายย่อยปีนรั้วทำเนียบฯ จี้ ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นทางการ หลังสรรหามาแล้ว 2 เดือนเศษ แต่ยังไม่สามารถทำงานได้ ขณะชาวบ้านร่วมชุมนุมเกิดเป็นลมต้องหามส่งโรงพยาบาล

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 มิ.ย. กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ประมาณ 200 คน นำโดยนายรณชิต ทุ่มโมง แกนนำ ได้เดินเท้าจากหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มายังทำเนียบรัฐบาลบริเวณประตูน้ำพุ สะพานมัฆวานรังสรรค์ บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งใกล้กับทางเข้าอาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสรรหาคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และมีมติแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการภายในวันนี้ (12 มิ.ย.) เนื่องจากเมื่อวานที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือให้มีการบรรจุการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเข้าเป็นวาระแต่งตั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่การสรรหาคณะกรรมการชุดนี้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

นายรณชิตกล่าวระหว่างการปราศรัยว่า ความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการทำให้เกษตรกรซึ่งมีหนี้สินได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากกำลังจะถูกนายทุนยึดที่ดินทำกิน ซึ่งโดยอำนาจแล้ว คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารดูแลคุ้มครองที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรได้ จึงต้องการมาทวงถามความคืบหน้าจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากวันนี้มีการแต่งตั้งแล้วเสร็จ จะยุติการชุมนุมในทันที

ระหว่างการชุมนุมเกษตรกรต้องการขอเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รั้วเหล็กปิดทางเข้าออกไว้ ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงปีนรั้วเข้ามาประมาณ 30 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขยับแนวรั้วเข้ามาอีก อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเกษตรกรปีนรั้ว มีนักศึกษาชายคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่งแฝงตัวปืนรั้วเข้ามาด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปตรวจสอบที่กองรักษาการณ์

ธนาคารอาหารทะเล ความมั่นคงบนความขัดแย้ง

เผยแพร่: 27 มิ.ย. 2549 14:32 โดย: สำนักข่าวประชาธรรม

ธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม

โครงการอาหารทะเล หรือซีฟู้ดแบงก์ (Sea Food Bank) ของกรมประมงจัดทำขึ้นตามนโยบายแก้ปัญหาความยากจน การดำเนินงานตั้งอยู่ในฐานหลักความคิดการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนผสมผสานเข้ากับความต้องการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งประมง และการลดลงของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเพื่อเป็นการพัฒนาฐานการผลิตอาหารของทะเลในประเทศขึ้นใหม่ ทดแทนผลผลิตจากธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ตามแนวชายฝั่งประมาณ 130,106 ไร่ มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม และปลาน้ำกร่อยแล้ว ซึ่งกรมประมงได้ประเมินศักยภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย พบว่า เรายังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเพาะเลี้ยงอีกประมาณ 154,386 ไร่!

โครงการนี้จึงหยิบเอาแนวคิดของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มาใช้จัดการบริหารพื้นที่ชายฝั่ง ด้วยการจัดทำและเอกสารสิทธิการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่ 284,492 ไร่ที่จะทำการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ทั้งนี้เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้เพาะเลี้ยงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมประมงกำหนด ส่วนการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบที่ครบวงจร ก็จะอยู่ในรูปแบบระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)

นายไพโรจน์ โลกนิยม รองผู้อำนวยการสำนักงานการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (สปท.) กล่าวว่า สถานะโครงการซีฟู้ดแบงก์ในปัจจุบันเป็นเพียงหลักการแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการแจกจ่ายโฉนดน้ำเพื่อนำชาวประมงเขาสู่ระบบสินเชื่อ หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน อย่างไรก็ตามการใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า ธนาคารอาหารทะเล หรือ โฉนดน้ำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการนำเอาทรัพยากรทางทะเล มาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

นายไพโรจน์ ชี้แจงว่า พื้นที่ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเวลานี้ก็มีการจับจอง และมีคนได้รับอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์จนเกือบเต็มพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่มีการจัดระเบียบทำให้แหล่งทรัพยากรในบางพื้นที่หลุดไปอยู่ในมือของนายทุน ดังนั้นการที่กรมประมงเอาเรื่องแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาใช้จึงเป็นโอกาสที่จะล้างของเก่า และเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น

“หากมองในแง่ดีนโยบายนี้จะเป็นโอกาสทำให้พี่น้องชาวประมงมีรายได้จากทรัพยากรทางทะเล โดยการใช้ประโยชน์จากการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีมาตรฐาน มีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมที่ดีได้ สปท.ก็ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำนโยบายนี้ให้เป็นจริง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ”

นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า ความพยายามรักษาอันดับ1ใน10 ผู้ส่งออกสินค้าประมงสูงสุดของรัฐบาล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดจำนวนลง ทั้งยังทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรชาวบ้านด้วยความร่วมมือของประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ได้พยายามหาช่องทางใหม่ในการเพิ่มผลผลิต และจัดระเบียบในการจับปลา เลิกใช้เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรอย่างอวนลาก อวนรุน หรือการใช้ทรัพยากรอย่างเกินกำลังการผลิต จนสภาพแวดล้อมฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาเมื่อกรมประมงนำแนวคิดนี้มาเสนอชาวบ้านก็เริ่มเกิดข้อกังวล โดยเฉพาะชาวมุสลิม ซึ่งกฎหมายอิสลามบัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ท้องทะเลอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่มีใครมีอำนาจยกทะเลให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ ยิ่งไปกว่านั้นชาวประมงจากอ่าวปัตตานียังเคยผ่านบทเรียนอันเจ็บปวดจากโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายคลึงกับซีฟู้ดแบงก์ กล่าวคือ เริ่มต้นมีการแจกจ่ายสิทธิการเพาะเลี้ยงกับชาวบ้านหรือชาวประมงที่ยากจน แต่สุดท้ายสิทธิทั้งหมดก็ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียง 2 ราย ที่นิยมจ้างแรงงานต่างด้าวแทนคนไทยในพื้นที่

ส่วนวัตถุประสงค์ของโครงการในการแก้ปัญหาความยากจนและพื้นฟูความเสื่อมโทรมของทรัพยากรนั้น นายสะมะแอ แย้งว่า นอกเหนือจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว อาจเร่งการเสื่อมโทรมของทะเลไทยทั้งหมด เพราะการเลี้ยงปลาจำนวนมาก ย่อมหมายถึงต้องใช้อาหารปลาจำนวนมาก ปัจจัยนี้จะผลักดันให้มีการใช้อวนลากเพื่อจับปลาขนาดเล็กมาผลิตเป็นอาหาร ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศน์ของทะเลอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการแก้จนจะสำเร็จหรือไม่ ให้ย้อนไปพิจารณานโยบายแก้จนอย่างกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ว่าเป็นการช่วยให้ชาวบ้านพ้นวิกฤติหรือเป็นการเพิ่มหนี้กันแน่

“การเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยรัฐบาลควรส่งเสริม แต่ควรทำให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ควรเกิดจากขบคิดร่วมกันพร้อมกับคนในท้องถิ่น ไม่ใช่การใช้อำนาจสั่งการลงไปในพื้นที่”

รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงแนวคิดเรื่องการปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการตัวเองนั้น ได้รับการยอมรับในหลายๆ ประเทศ อย่างกรณีการเพิ่มผลผลิตกุ้งในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงไปให้ทะเลจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการเพาะเลี้ยง ซึ่งไทยก็มีประสบการณ์จากการเพาะพันธุ์ปลาทู และปล่อยลงทะเลในปี 2510 จนถึงปัจจุบันอ่าวไทยก็ยังมีปลาทูให้บริโภคอยู่ หรือกรณีการปล่อยลูกกุ้งในทะเลสาบสงขลา ซึ่งสามารถเพิ่มกำไรแก่ชาวประมงได้ถึง 5 เท่าตัว ดังนั้นการทำให้ทะเลให้เป็นทรัพย์สินสาธารณะจะเป็นประโยชน์มากกว่า

รศ.ดร.เริงชัย กล่าวเสริมว่า ความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลเป็นประเด็นที่รัฐต้องพิจารณา เพราะไม่เพียงกระทบชาวประมง แต่ยังผลไปถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิ ห้องเย็น แม่ค้า การส่งออก เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์ทุกชนิด ซึ่งพึ่งพิงวัตถุดิบจากทะเลเป็นหลัก นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือการกำหนดให้ Contract farming เป็นส่วนเกี่ยวพันหนึ่งของซีฟู้ดแบงก์ โดยแผนการดำเนินงานระบุให้องค์การสะพานปลาเป็นผู้รับชอบ และภายหลังจะมีการแปรรูปองค์กรผ่านตลาดหลักทรัพย์ อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) หรือการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)

“กรณีซีฟู้ดแบงก์กำลังกลายเป็นความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร รัฐบาลต้องระวังให้ดีโดยเฉพาะความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ จนอาจลุกลามเป็นปัญหาด้านความมั่นคงไป ส่วนตัวคิดว่า แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเลน่าจะเป็นทางออกที่ดี และมีตัวอย่างความสำเร็จหลายแห่งในอ่าวไทย เช่น อ่าวบ้านดอน อ่าวพังงา ทะเลสาบสงขลาบางส่วน ฯลฯ”

อาจารย์สอรัฐ มากบุญ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดสรรพื้นที่น้ำมีความแตกต่างจากพื้นที่บก เนื่องจากพื้นที่น้ำนั้นสิ่งมีชีวิตในน้ำมีการเคลื่อนย้าย ในขณะที่บนบกนั้นการเคลื่อนย้ายมีไม่มาก แต่โครงการทางน้ำของรัฐยังมองการจัดสรรพื้นที่น้ำโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งอีกแง่หนึ่งกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายทรัพยากรในน้ำได้

ในอดีต ท้องทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพร่วมกัน แต่โครงการจัดสรรพื้นที่ทางทะเลของรัฐนั้น แม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าในการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาด้วย ทั้งนี้เพราะการให้กรรมสิทธิ์พื้นที่ส่วนรวมเป็นของส่วนบุคคล ย่อมทำให้คนอีกจำนวนมากได้รับผลกระทบ ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความรักความสามัคคีของคนในชุมชน

“ที่ผ่านมาการจัดสรรพื้นที่ทางน้ำ เช่น เพื่อการเลี้ยงหอยก็มีอยู่แล้ว แต่เป็นระบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่มีความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามโครงการจัดสรรพื้นที่ทางทะเลอาจทำได้ แต่ต้องพึงระลึกว่า โครงการนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่สมควรทำ คืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า”

เชื่อว่าการผลักดันและดำเนินงานโครงการนี้ในอนาคต คงเป็นอีกหนึ่งนโยบายประชานิยมของภาครัฐ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายๆ ว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้จริงหรือ หรือกลายเป็นความขัดแย้งการช่วงชิงทรัพยากรอีกระลอก