ม ลน ธ อ สน โครงการช วยเด กและคนชรา

ตัวเลขผู้สูงอายุในไทย ณ สิ้นปี 2565 จากฐานข้อมูลของ พม. มีอยู่กว่า 12.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพราว 11 ล้านคน

  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • 14 สิงหาคม 2023 ปรับปรุงแล้ว 16 สิงหาคม 2023

หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ส.ค. นับได้ว่าเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบ "ถ้วนหน้า" ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี

เบี้ยยังชีพคนชรา หรือ "เบี้ยคนแก่" เป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไป เริ่มขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ด้วยการใช้ระบบขึ้นทะเบียนก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นการยืนยันสิทธิ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ มีเพียงการระบุว่าจะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกาศใช้ระเบียบนี้ ให้ยังคงได้รับสิทธิต่อไป

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กฎระเบียบดังกล่าวเป็นการทำให้สวัสดิการผู้สูงอายุในไทย "ถอยหลัง" ไปจากปี 2552 ซึ่งขณะนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ จากเดิมใช้ระบบ "พิสูจน์ความจน" มาใช้ระบบ "ถ้วนหน้า" และตอนนี้กำลังจะกลับไปใช้ระบบพิสูจน์ความจน พร้อม ๆ กับการจำกัดกลุ่มเป้าหมาย

"เป็นเรื่องที่จะกระทบกับคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ของประเทศเราทั้งหมด... รัฐกำลังประหยัดงบประมาณบนความเหลื่อมล้ำสุด ๆ ที่มีในประเทศ" นิติรัตน์ กล่าวและบอกว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากเม็ดเงินงบประมาณที่แตกต่างกันระหว่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11 ล้านคน อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณบำนาญข้าราชการไม่ถึง 1 ล้านคน อยู่ที่ 320,000 ล้านบาท

ตัวเลขผู้สูงอายุในไทย ณ สิ้นปี 2565 จากฐานข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีอยู่กว่า 12.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพราว 11 ล้านคน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุที่รับเงินบำนาญจากรัฐ

สำหรับโครงสร้างอายุของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 60-69 ปี คิดเป็นจำนวนกว่า 56% หรือราว 7.1 ล้านคน

บีบีซีไทยเข้าใจว่า ผลจากประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้ประชาชนที่จะมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพคนชราในอนาคต ต้องถูกตรวจสอบคุณสมบัติด้านรายได้ จากเดิมที่เป็นระบบการขึ้นทะเบียนยืนยันสิทธิ โดยไม่มีการเช็คคุณสมบัติสถานะทางเศรษฐกิจ

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ (14 ส.ค.) ว่า การปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ยืนยันว่ารายเดิมยังได้อยู่ ส่วนเกณฑ์ใหม่รอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด พร้อมขอผู้สูงอายุที่มีฐานะเข้าใจรัฐบาล

"ขอผู้สูงอายุที่มีฐานะเข้าใจ เป็นการปรับเพื่อใช้งบกับกลุ่มที่จำเป็นหรือเดือดร้อนกว่า แก้ปัญหาอย่างพุ่งเป้า และสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ปี 2567 งบเบี้ยยังชีพแตะ 90,000 ล้านบาท จากก่อนหน้าที่ 50,000 ล้านบาท เพิ่มเรื่อย ๆ เป็น 80,000 ล้านบาท"

ม ลน ธ อ สน โครงการช วยเด กและคนชรา

ใครเกี่ยวข้องกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีหน่วยงานหลักคือ กรมกิจการผู้สูงอายุและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน, กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จ่ายเบี้ยยังชีพ และกระทรวงการคลัง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. ตัวประกาศอ้างอิงว่า เกณฑ์ของการรับเบี้ยคนชราให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้กำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดชุดนี้ออกมา หลังจากเมื่อเดือน ก.ค. 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ออกประกาศยกเลิกระเบียบฉบับเก่าของปี 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2565 ไปแล้ว

ปัญหาการเรียกคืนเบี้ยคนชรา อาจเป็นเหตุแก้ไขระเบียบ

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ได้เกิดกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุนับหมื่นราย หลังจากกระทรวงการคลังพบว่ามีการรับสิทธิทับซ้อนกับเงินบำนาญส่วนอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ โดยเป็นการเรียกคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2552 บางรายต้องนำส่งคืนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน

คณะรัฐมนตรี แก้ไขด้วยการออกมติ ครม. เมื่อ 23 ส.ค. 2565 ให้คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่รับประโยชน์ซ้ำซ้อนที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นจำนวนเงิน 245.24 ล้านบาท และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดี

ผลจากกรณีดังกล่าว รัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะ พม. ให้เร่งพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ชัดเจนโดยเร็ว

นิติรัตน์ ผู้ประสานงานจากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) แสดงความเห็นกับบีบีซีไทยว่า จากกรณีการจ่ายเบี้ยซ้ำซ้อนข้างต้น จึงอาจทำให้มีการขยายการพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพครั้งล่าสุดด้วย

สำหรับความแตกต่างระหว่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ฉบับล่าสุด และระเบียบฉบับเดิมเมื่อปี 2552 คือการเปลี่ยนแปลงในคุณสมบัติ ที่ระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือ อปท. แต่ระเบียบล่าสุดปี 2566 ไม่มีการระบุข้อความนี้

ม ลน ธ อ สน โครงการช วยเด กและคนชรา

ที่มาของภาพ, กระทรวงมหาดไทย

คำบรรยายภาพ,

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รักษาการ รมว.กระทรวงมหาดไทย

พิสูจน์ความจน ระบบที่ทำให้คนตกหล่น

นิติรัตน์ ชี้ว่า เกณฑ์ว่าต้องจ่ายให้กับผู้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เพียงพอ ต้องใช้งบประมาณในการจัดทำระบบคัดกรองผู้มีสิทธิ และจากการจ่ายสวัสดิการรัฐที่ผ่านมาอย่างเช่น เงินอุดหนุนเด็ก หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็พบว่ายังมีผู้ที่เข้าไม่ถึง

"ตัวระบบพิสูจน์ความจน เมื่อมีเงื่อนไขต่าง ๆ เกิดขึ้น จะยิ่งทำให้คนจนเข้าไม่ถึง... อย่างเงินอุดหนุนเด็ก งานวิจัยระบุชัดเจนว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนเข้าไม่ถึงสิทธินี้ถึง 30% และระบบถ้วนหน้าซึ่งเป็นสิทธิเสมอกันจะทำให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงโดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะต้องมีการลงทะเบียน แต่เมื่อมันไม่ต้องมีการพิสูจน์ มันจะต้องเป็นสิทธิที่เข้าถึงเลย"

นักเคลื่อนไหวด้านรัฐสวัสดิการ อธิบายด้วยว่า เมื่อเทียบกับระบบบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ใช้ระบบถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แม้ว่าจะมีตกหล่นก็เป็นเพียงส่วนน้อย 3-4% ดังนั้น ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจึงมีประสิทธิภาพในการทำให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการได้มากกว่า

สำหรับงานวิจัยเรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ที่นิติรัตน์กล่าวถึง คือ งานวิจัยของ ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ศึกษาประเมินการดำเนินการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงเด็กแรกเกิดในปี 2562

ผลการศึกษาพบว่า มีเด็กยากจนตกหล่นไม่ได้เงินอุดหนุนมากถึง 30% ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของเด็กที่ควรได้รับประโยชน์ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะมีภาวะโภชนาการที่ดี และขาดการเข้าถึงบริการของรัฐ

ความพยายามลดการใช้งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

หากย้อนดูความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดสวัสดิการผู้สูงอายุของรัฐ หลังจากมีการเปลี่ยนเป็นระบบถ้วนหน้าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เชชาชีวะ ในปี 2552 ที่เริ่มจ่ายเบี้ยเดือนละ 500 บาท และปรับขึ้นเป็น 600 บาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แนวคิดในการจัดการงบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ปรากฏในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติฯ เมื่อปี 2561 ที่ลงนามโดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า "ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเรียกชื่ออย่างอื่น"

สำหรับการลดรายจ่ายทางงบประมาณในรอบล่าสุดนี้ ปรากฏในคำให้สัมภาษณ์เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2566 ของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่กล่าวถึงมาตรการลดรายจ่ายในส่วนของงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า ควรลดรายจ่ายตรงนี้ลงแล้วนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่นดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราปีละ 50,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า ต้องศึกษาว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ สวัสดิการดังกล่าวเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน หรือเป็นสิทธิเฉพาะของกลุ่มที่เดือดร้อน ไม่มีความสามารถในการหารายได้เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษากติกาการจ่ายเงินที่กำหนดจากฐานรายได้อีกทางหนึ่ง

รายงานจากกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงแนวทางการลดงบประมาณสวัสดิการในกลุ่มที่มีความซ้ำซ้อนหรือลดกลุ่มเป้าหมายลง โดยระบุถึงการจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่าอาจมีการกำหนดให้ช่วยเหลือเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น

ใครได้รับผลกระทบบ้าง

นิติรัตน์ กล่าวว่า หากเป็นไปตามแนวทางนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพถูกตัดสิทธิไปถึง 6 ล้านคน จากราว 11 ล้านคนที่ได้สิทธิ เนื่องจากกระทรวงการคลังจะเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้น้อย) จำนวน 5 ล้านคน โดยรัฐอ้างว่าจะช่วยลดรายจ่ายงบประมาณไปได้ 30,000-40,000 ล้านบาท

"ผมคิดว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า กับระบบสงเคราะห์พิสูจน์ความจนก็ว่าได้ แล้วบวกกับเรื่องที่นักเทคโนแครตคิดว่า ควรจะจ่ายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายจะได้ตรงเป้า" ตัวแทนจากเครือข่ายรัฐสวัสดิการกล่าว

หากใช้เกณฑ์ของประกาศฉบับนี้ ผู้สูงอายุรุ่นล่าสุดที่รัฐเปิดให้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ คือผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2507 นั่นหมายความว่าผู้ที่เกิดหลังจากนี้ อาจต้องมีการพิสูจน์สิทธิขอรับเบี้ยยังชีพ ตามคุณสมบัติใหม่ของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุด

กฤษฎีกาชี้แจงการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกเอกสารชี้แจงกรณีเบี้ยผู้สูงอายุตามระเบียบฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย โดยอ้างอิงการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในการเสนอแนะการแก้ระเบียบ

นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายของกรมกิจการผู้สูงอายุ ที่กรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพราะซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น เห็นว่า มาตรา 48 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติรองรับสิทธิของผู้สูงอายุไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นบทบัญญัติที่รองรับสิทธิไว้โดยแจ้งชัด

ดังนั้น นอกจากเกณฑ์เรื่องอายุแล้ว การไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะพึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ เช่น กำหนดเกณฑ์ที่จะพึงถือว่า ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ

เอกสารชี้แจงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ด้วยว่า การที่มาตรา 11 (11) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติว่า การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ต้องแปลความให้สอดคล้องกับสิทธิที่ประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ระเบียบฉบับเดิมกำหนดไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้กำหนดที่มาของแหล่งรายได้ว่าบุคคลนั้นอยู่ในฐานะ "ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ" หรือไม่ ทำให้บุคคลอายุเกิน 60 ปี ที่ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใดหรือมีรายได้ประจำเพียงใด ถ้าไม่เคยได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ย่อมมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพทุกคน

ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นจากหน่วยงานรัฐแม้เพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีรายได้อื่นเลย กลับไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ จากระเบียบนี้

"ผลเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่ามีลักษณะ ‘อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม’ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า การกำหนดว่าผู้ใดไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ อาจพิจารณาจากข้อมูล เช่น รายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจน หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสอดคล้องกับทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ 2546