คร บาช ยวงศ ว ดพระพ ทธบาทห วยต ม

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ด้วยศรัทธา วิถีชาวพุทธปกาเกอะญอแห่ง “บ้านห้วยต้ม” ลำพูน

เผยแพร่: 21 พ.ค. 2565 17:18 ปรับปรุง: 21 พ.ค. 2565 17:18 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชุมชนชาวปกาเกอะญอขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ ณ “บ้านห้วยต้ม” อ.ลี้ จ.ลำพูน นับว่าเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก ที่เห็นอย่างเด่นชัดมากๆ ก็คือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่ยังคงสืบทอดความเชื่อและการปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

อีกอย่างคือการเป็นชุมชนมังสวิรัติ ที่แม้วันนี้ชาวบ้านจะเป็นมังสวิรัติลดลงเหลือราวๆ ร้อยละ 80 แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนมาก และเป็นการสืบสานคำสอนของ “หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนโดยกำเนิด เมื่อท่านบวชเป็นพระได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา พบกับชาวเขาที่แต่ก่อนยังนับถือผี ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้ถือปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้นเพื่อหาโอกาสสอนพุทธธรรมให้กับพวกชาวเขา สอนอย่างมีเมตตาและค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเรื่องของศีล 5 และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชาวเขาจึงเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของครูบาวงศ์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านมาพัฒนาวัดพระบาทห้วยต้ม ชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่

สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สั่งสอนและชาวบ้านยังคงยึดถือปฏิบัติตามกันสืบมาก็คือการสอนให้ชาวบ้านกินมังสวิรัต โดยหลวงปู่เคยสอนไว้ว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์ สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเรา โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้ากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ชาวบ้านห้วยต้มจึงกินมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้านและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชื่อ “บ้านห้วยต้ม” มีความเป็นมา กล่าวคือ เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรดสัตว์ในสถานที่ต่างๆ เมื่อเสด็จมาถึงบริเวณที่เรียกว่าดอยนางนอนจอมแจ้ง มีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้า ขณะที่ไม่มีอะไรมาถวาย พระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้ฉัน พวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉัน ให้ศีลให้พร และประทับรอยพระบาทไว้ จากนั้นจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ห้วยต้มข้าว” และต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “ห้วยต้ม”

ตามความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่นี่และประทับรอยพระบาทไว้ ภายในวัดพระพุทธบาทห้วยต้มจึงมี “รอยพระพุทธบาท” ประดิษฐานอยู่ด้านใน “วิหารหลวง” ซึ่งถูกออกแบบแปลนการก่อสร้างวิหารหลวงครอบรอยพระพุทธบาทโดยหลวงปู่ครูบาวงศ์

ด้านในวิหารหลวงประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ หลวงปู่ครูบาเจ้า 5 องค์ ด้านในสุดของวิหารหลวงเป็นห้องพระที่หลวงปู่ครูบาวงศ์เคยใช้เป็นห้องสวดมนต์ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารบอกเล่าเรื่องราวของครูบาวงศ์ฯ ตั้งแต่เกิดไปจนถึงเรื่องราวหลังมรณภาพ และพร้อมกันนั้นก็ได้บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนพระบาทห้วยต้ม

ด้านหลังวิหารหลวงมี “พระเจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์” บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนกว่า 8 หมื่น 4 พันองค์ นอกจากนี้ยังมี “วิหารพระเมืองแก้ว” ที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์มรณภาพเมื่อปี 2543 และในวันที่ 17 พ.ค ซึ่งเป็นวันคล้ายวันละสังขารของหลวงปู่ครูบาวงศ์ ชุมชนพระบาทห้วยต้มจะมีการทำบุญเปลี่ยนครองสรีระเป็นประจำทุกปี

ห่างจากตัววัดไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะมี “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีทองงามอร่าม หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพราะเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราช (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้

ดังที่บอกว่าชาวบ้านห้วยต้มมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหลวงปู่ครูบาวงศ์เป็นอย่างมาก ในทุกๆ เช้าจะมีการ “ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ โดยการตักบาตรผักนี้จะทำเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันหยุดหรือวันพระใหญ่ จะมีชาวบ้านพากันมาทำบุญมากกว่าในวันปกติ

ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอ มารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตร หลังจากวางข้าวของจับจองที่นั่งแล้วแต่ละคนจะกราบพระพุทธเพื่อขอขมาลาโทษต่อสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำ จากนั้นจะถวายดอกไม้และอาหารทั้งคาวหวานที่เตรียมมาวางไว้ใส่ถาดเพื่อเตรียมถวายพระพุทธและพระสงฆ์

จากนั้นราว 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร นำโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่จะนั่งบนอาสนะหัวแถว พระสงฆ์จะสวดมนต์ จากนั้นก็ถึงเวลาใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียว โดยผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้นำใส่บาตร ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงเด็กผู้ชาย จากนั้นจึงเริ่มเป็นผู้หญิงที่มีอาวุโสที่สุดไปจนถึงเด็กผู้หญิง ทุกคนต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากบาตรของพระพุทธ บาตรหน้ารูปเหมือนหลวงปู่ครูบาวง และบาตรของหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระลูกวัดตามลำดับ ข้าวเหนียวหยิบเป็นก้อนใส่ในบาตร ส่วนข้าวสวยตักเป็นช้อนในกะละมัง เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า

ส่วนการทำบุญในวันพระจะมีความพิเศษเพิ่มมาอีกคือ ช่วงสายจะมีการทำ “สังฆทานผัก” โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนําผัก ผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนํามาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วย

* * * * * * * * * * * * * *

“วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน (อยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนราว 115 กิโลเมตร) สามารถติดต่อกับทางกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม นำโดยคุณวิมล สุขแดง ประธานกลุ่มได้ที่ โทร.06-2420-9075 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง (ดูแลลำปาง ลำพูน) โทร.0-5422-2214

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline