การฉ ดกล โคสให ก บคนไข ท ม อาการอ อนเพล ย

เผยแพร่: 8 พ.ค. 2557 13:15 โดย: MGR Online

ผู้ป่วยเลือดจาง “ธาลัสซีเมีย” พุ่งไม่หยุด เด็กเกิดใหม่เป็นโรคปีละ 12,000 ราย หมอรามาฯเผยแนวโน้มไม่ลดลง ทั้งที่มีการรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคมากว่า 20 ปี แนะตรวจเลือดก่อนมีบุตรและตรวจครรภ์ เตรียมจัดงานวันธาลัสซีเมียโลกให้ความรู้ ย้ำระวังกิน “ช็อกโกแลต” เพิ่มธาตุเหล็กในร่างผู้ป่วยเสี่ยงอันตราย!

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี นางสายพิน พหลโยธิน ประธานชมรมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจัดงานวันธาลัสซีเมียโลกครั้งที่ 13 “ธาลัสซีเมียกับคุณภาพชีวิต” ซึ่งจัดโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และชมรมโรคโลหิตจางฯ ว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินผิดปกติหรือน้อยลง จนส่งผลให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติและมีอายุสั้น มีการถ่ายทอดผ่านทางยีนด้อย ซึ่งประชากรไทยประมาณ 30-40% หรือประมาณ 20 ล้านคน มีพันธุกรรมโรคนี้แฝงอยู่ แต่คนกลุ่มนี้จะไม่แสดงอาการ ที่น่ากังวลคือ เมื่อคู่สมรสที่มีพันธุกรรมโรคนี้แฝงอยู่แต่งงานกัน ลูกจะมีโอกาสได้รับยีนด้อยทั้งจากพ่อและแม่จนกลายเป็นโรคธาลัสซีเมียถึง 1 ใน 4 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 6 แสนคน ส่วนทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ปีละ 12,000 ราย

รศ.นพ.ธันยชัย สุระ หัวหน้าหน่วยเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และโครงการธาลัสซีเมีย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาของโรคธาลัสซีเมียคือ มีผู้ป่วยรายใหม่หรือเด็กเกิดใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 12,000 รายต่อปีมาโดยตลอด ไม่มีจำนวนลดลง ทั้งที่มีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคธาลัสซีเมียมากว่า 20 ปีแล้ว หนทางแก้ไขคือจะต้องเร่งให้คู่แต่งงานมาตรวจเลือดเพื่อหาพันธุกรรมแฝงธาลัสซีเมีย เมื่อเวลาจะมีบุตรจะได้มีความระมัดระวัง และเมื่อตั้งครรภ์จนมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 12 สัปดาห์จะต้องมาตรวจด้วยการเจาะน้ำคร่ำ หรืออัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่าเด็กในท้องเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ หากเป็นแบบรุนแรงอาจส่งผลกระทบถึงชีวิตแม่ได้ เนื่องจากทำให้ครรภ์เป็นพิษ อาจต้องแก้ปัญหาถึงขั้นยุติการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการถ่ายเลือดเพื่อช่วยชีวิตแม่และเด็ก ซึ่งการตรวจรักษาดังกล่าวครอบคลุมอยู่ในทุกสิทธิการรักษาแล้ว

“ปัญหาคือคนมาตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่น้อย ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมผู้ป่วยรายใหม่ได้ ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะลำบากไปตลอดชีวิต เพราะการที่เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้น เมื่อเม็ดเลือดแดงตายลงจะเกิดของเสียออกมารวมถึงธาตุเหล็กสะสมเป็นจำนวนมาก ธาตุเหล็กจะไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ จนทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ ยังทำให้เลือดจาง มีภาวะซีดอ่อนแรง ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ ต้องได้รับการถ่ายเลือดสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้มีธาตุเหล็กในเลือดเดินอีก ทำให้ต้องรับประทานยาขับเหล็กควบคู่ไปด้วย” รศ.นพ.ธันยชัย กล่าว

รศ.นพ.ธันยชัย กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคธาลัสซีเมียให้ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและครอบครัวเข้าใจ ซึ่งงานวันธาลัสซีเมียโลกปีนี้จะเน้นเรื่องการอาหารของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าผู้ป่วยจะมีธาตุเหล็กในร่างกายเกิน โดยคนปกติจะมีธาตุเหล็กประมาณ 100 นาโนแกรม/มิลลิลิตร แต่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจะมีธาตุเหล็กเกินถึงขั้นเป็น 10,000 นาโนแกรมต่อมิลลิลิตร ซึ่งการจะให้ยาขับเหล็กจะให้เมื่อมีธาตุเหล็กเกิน 800 นาโนแกรม/มิลลิลิตร ดังนั้นเรื่องการกินอาหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ผักบางชนิดอย่าง ผักขี้เหล็ก ผักคะน้า เป็นต้น รวมไปถึงขนมที่ไม่มีใครคิดอย่างช็อกโกแลต จริงๆ ก็มีธาตุเหล็กเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยรวมไปถึงประชาชนทั่วไปควรเข้าใจและระวังในเรื่องนี้ ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 18 พ.ค.2557 เวลา 08.30 - 15.00 น. ที่ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ รพ.รามาธิบดี

นายกฤติน กฤษเจริญ รองประธานชมรมผู้ป่วยธาลัสซีเมีย รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า นอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียแล้ว ยังมีกิจกรรมการให้กำลังใจเพื่อนๆ ผู้ป่วยด้วย รวมถึงการกระตุ้นสิทธิการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น เพราะจากที่เคยประสบมาพบว่าแพทย์แต่ละที่จะมีการวินิจฉัยการรับยาขับเหล็กต่างๆ อย่างตนตรวจที่ รพ.รามาธิบดี แพทย์แนะให้ยาขับเหล็ก แต่สิทธิประกันสังคมของตนอยู่ที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง แต่เมื่อไปพบแพทย์แล้วกลับไม่จ่ายยาให้ เนื่องจากวินิจฉัยว่ายังไม่จำเป็นต้องได้รับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการถ่ายเลือดด้วย หากเลือดแต่ละโรงพยาบาลไม่เพียงพอ จนต้องรอไปอีกสัปดาห์เพื่อมารับการถ่ายเลือดใหม่ เท่ากับว่าผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตแย่ไปตลอดสัปดาห์ เพราะหากไม่ได้ถ่ายเลือดก็จะเกิดอาการซีด อ่อนแรง ไม่สามารถทำงานตามปกติประจำวันได้

สธ.ตั้งเป้าลดเด็กเกิดใหม่ป่วยธาลัสซีเมีย 50% ประหยัดงบ 3 พันล้านบาทต่อปี

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 8 พ.ค.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นวันธาลัสซีเมียโลก โดย สธ.ตั้งเป้าหมายภายในปี 2560 จะลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่ให้เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งมีประมาณ 4,250 รายต่อปี ลดลงให้ได้ร้อยละ 50 หรือประมาณ 2,100 คน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตลอดช่วงอายุขัยของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย 1 คน จะมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 6 ล้านกว่าบาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 10,500 บาท หากสามารถดำเนินการป้องกันได้เป็นไปตามเป้า จะเป็นการลงทุนสร้างต้นทุนชีวิตเด็กไทยที่เกิดใหม่ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การควบคุมโรคธาลัสซีเมียจะใช้ 2 แนวทางหลัก คือ 1.ดูแลรักษาผู้ที่ป่วยแล้วให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อายุยืนยาว และ 2.ลดจำนวนการเกิดโรคในเด็กเกิดใหม่ เน้นการตรวจเลือดหาความผิดปกติ โดยกรมอนามัยได้ให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกแห่ง ตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรกฟรี เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยง หากผลเลือดผิดปกติ ก็จะติดตามตรวจเลือดของสามี และหากผลเลือดของสามีผิดปกติด้วย ก็จะเข้าสู่ระบบการป้องกันทารกในครรภ์ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เนื่องจากเด็กในครรภ์มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียสูง นอกจากนี้ ยังได้จัดระบบการตรวจเลือดทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันด้วย โดยจัดระบบส่งต่อเลือดของสามีจากจังหวัดต่างๆ ทางไปรษณีย์ และดำเนินการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้รู้ผลได้เร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นพ.พรเทพ กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและสามีเป็นโรคด้วย จะทำให้เด็กทารกในครรภ์ผิดปกติและเสียชีวิตภายในครรภ์หรือตายหลังคลอด 100% และหญิงตั้งครรภ์ที่มีทารกผิดปกติอยู่ในครรภ์กว่า 75% จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ คือมีอาการบวมและความดันโลหิตสูง ส่วนในรายที่มีอาการมาก เด็กที่คลอดออกมาจะมีอาการซีดเหลือง ตัวเล็กไม่สมอายุ หน้าตาแปลก คือหน้าผากใหญ่ โหนกแก้มสูง จมูกบาน ท้องโต เพราะตับม้ามโต ไม่มีแรงเพราะโลหิตจาง มักจะป่วยบ่อยเพราะติดเชื้อง่าย บางรายอายุสั้น เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก