การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

หากไล่เรียงปัญหาของสังคมไทย หนึ่งในปัญหาร้ายแรงอันดับต้นๆ ย่อมหนีไม่พ้น ‘ปัญหายาเสพติด’ แม้ประเทศไทยจะมีข้อกฎหมายลงโทษผู้ทำผิดในคดียาเสพติดที่รุนแรง รวมทั้งมีปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดที่แข็งกร้าว เช่นครั้งหนึ่งที่เคยมีการใช้นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่การระบาดของยาเสพติดก็ไม่ได้น้อยลงไปจากสังคมไทยเท่าใดนัก นอกเหนือจากนั้น การใช้กฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดรุนแรง ยังสร้างปัญหาอื่นขึ้นมาเพิ่มเติม นั่นคือการมีนักโทษในคดียาเสพติดจำนวนมาก จนส่งผลให้มีจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อีกทั้งยังมีปัญหาว่าผู้ทำผิดจำนวนมาก เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำไปแล้ว ไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ และมักกลับไปกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากกระบวนการบำบัดฟื้นฟูระหว่างอยู่ในเรือนจำไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ จึงต้องกลับเข้าสู่เรือนจำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสมือนติดอยู่ในวงจรอุบาทว์

เหล่านี้ตอกย้ำว่าแนวนโยบายและกฎหมายที่ใช้ในการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทยมีข้อบกพร่อง จึงนำมาสู่การยกเครื่องแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยการออกกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ขึ้นมา 2 ฉบับ เมื่อปลายปี 2564 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวคิดปรับมุมมองใหม่ต่อปัญหายาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากผู้เสพเป็นผู้ป่วย มากกว่าเป็นอาชญากร ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้แนวทางสาธารณสุขมากกว่าการลงโทษทางอาญา รวมทั้งการไม่ได้มองยาเสพติดเป็นเพียงด้านมืดเพียงด้านเดียว จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าการพลิกแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญในตัวบทกฎหมาย พร้อมวิเคราะห์ถึงประโยชน์ และมองความท้าทายข้างหน้า ในการนำข้อกฎหมายใหม่นี้ไปปฏิบัติใช้จริง เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับคดียาเสพติดใหม่ออกมาจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยประกอบไปด้วย 24 มาตรา ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 นับว่าเป็นประมวลกฎหมายลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ซึ่งได้รวบรวมเอากฎหมายยาเสพติดที่เดิมกระจายอยู่หลายฉบับ ให้บูรณาการอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวประกอบไปด้วย 186 มาตรา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค 1: การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด, ภาค 2: การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด และ ภาค 3: บทกำหนดโทษ

นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอีกฉบับหนึ่งที่ออกมาคู่กันคือ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดเดิม ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกอบไปด้วย 10 มาตรา และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2564

ประเด็นสำคัญของกฎหมายยาเสพติดใหม่

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

การเกิดขึ้นของกฎหมายยาเสพติดใหม่ มีประเด็นสำคัญหลักๆ ที่ควรรู้อยู่ 5 ประการ

ประการแรก–เป็นการรวบรวมข้อกฎหมายให้เป็นระบบและเป็นเอกภาพ

ประการที่สอง–เป็นการใช้ระบบคณะกรรมการเข้ามาขับเคลื่อน

ประการที่สาม–เป็นการเปิดช่องให้สามารถนำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และเศรษฐกิจ

ประการที่สี่–เป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้ทำผิดให้สมเหตุสมผลขึ้น โดยมุ่งเน้นปราบปรามไปที่กลุ่มผู้ค้า-ขบวนการค้ายา

ประการสุดท้ายคือ การมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย เน้นนำวิธีทางสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหาผู้เสพยา โดยใช้กระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู

ประการแรก: รวบรวมข้อกฎหมายให้เป็นระบบและเป็นเอกภาพ

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

แต่เดิม ประเทศไทยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับคดียาเสพติดอยู่มากมาย แต่มีปัญหาคือข้อกฎหมายต่างๆ กลับอยู่กระจัดกระจายไปตามกฎหมาย รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องฉบับต่างๆ เกินกว่า 20 ฉบับ ส่งผลให้เป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจกฎหมาย

กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จึงทำการรวบรวมข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้เป็นระบบและเป็นเอกภาพ อยู่ภายใต้กฎหมายใหม่เพียง 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 พร้อมกับประกาศยกเลิกกฎหมายยาเสพติดเดิมจำนวนทั้งสิ้น 24 ฉบับ การรวมรวมข้อกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นระบบและเป็นเอกภาพนับว่าช่วยให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเจอปัญหาการมีบทบัญญัติที่มีข้อความขัดแย้งกันน้อยลง ทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติจริงมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายลำดับรองของบรรดากฎหมายที่ถูกยกเลิกไปภายใต้ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่ออกมา ดังนั้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านกฎหมายนี้ จึงยังจำเป็นต้องดูกฎหมายลำดับรองฉบับต่างๆ ที่มีอยู่เดิม เปรียบเทียบควบคู่ไปกับกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ด้วย

ประการที่สอง: มีคณะกรรมการที่ดูแลขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อย่างเป็นระบบ

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้จัดโครงสร้างการบริหารจัดการในเรื่องยาเสพติด ให้อยู่ในรูปคณะกรรมการ 4 คณะ ได้แก่

  1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกหลักที่ดูแลด้านนโยบาย
  2. คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการควบคุมยาเสพติด
  3. คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการบำบัดดูแลผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด
  4. คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและยึดทรัพย์สิน

การใช้ระบบคณะกรรมการเข้ามาขับเคลื่อนช่วยให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในพิจารณาหรือดำเนินแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดได้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด การลงโทษผู้กระทำผิด การตรวจสอบและยึดทรัพย์สินผู้กระทำผิด รวมไปถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยา

ประการที่สาม: เปิดช่องนำยาเสพติดไปใช้ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และเศรษฐกิจ

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เปิดทางให้สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองยาเสพติด เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ ในปริมาณที่ไม่เกินจำเป็น โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น การนำยาเสพติดไปใช้ในการรักษาโรคหรือปฐมพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากเป็นยาเสพติดบางประเภท การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครอง จำเป็นต้องได้รับอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย หรือการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประมวลกฎหมายยังให้อำนาจคณะกรรมการในการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดให้เขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์

2. ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด

3. เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด

ประการที่สี่: ปรับเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้ทำผิดให้สมเหตุสมผลขึ้น มุ่งเน้นปราบปรามผู้ค้า-ขบวนการค้ายา

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหานักโทษล้นเรือนจำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 คือนักโทษที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด การที่ไทยมีนักโทษคดียาเสพติดล้นนับเป็นตัวสะท้อนประการหนึ่งว่า เรามีแนวทางการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดที่เป็นปัญหา โดยปัญหาสำคัญคือ การไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มผู้กระทำผิดร้ายแรงกับไม่ร้ายแรงออกจากกัน เช่น ไม่สามารถแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า รวมถึงการมีบทสันนิษฐานที่เด็ดขาดเกินไป จนทำให้การลงโทษผู้กระทำผิดมีลักษณะแบบเหมารวม กวาดทุกคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งหมด แม้จะมีขนาดความร้ายแรงของการกระทำผิดที่แตกต่างกัน

กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จึงได้รับการออกแบบมาให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาในส่วนนี้ อย่างการปรับบทสันนิษฐานความผิด ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีบทสันนิษฐานที่เด็ดขาดมาก โดยสันนิษฐานว่าผู้มียาเสพติดในครอบครองคือการมีไว้เพื่อจำหน่ายในทุกกรณี ต่อมามีการแก้ไขในปี 2560 ให้ใช้ปริมาณยาเสพติดในการครอบครองเป็นเกณฑ์ชี้วัด โดยหากครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ ก็จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังได้ กฎหมายยาเสพติดฉบับล่าสุดจึงปรับเปลี่ยนจากการชี้วัดด้วยปริมาณ เป็นการพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ครอบครองแทน โดยเพิ่มบทสันนิษฐานการมีไว้ครอบครองเพื่อเสพเข้ามา หรืออีกความหมายหนึ่ง ผู้ครอบครองยาจะต้องถูกพิสูจน์ว่าการมียาไว้ในครอบครองเป็นไปเพื่อเสพหรือจำหน่ายกันแน่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าได้มากขึ้น

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

ประเด็นต่อมาที่นับว่าสำคัญมากก็คือการกำหนดโทษ ซึ่งแต่เดิมมักกำหนดโทษที่อาจรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยไม่ได้มีการแยกระหว่างลักษณะความผิดทั่วไปกับความผิดร้ายแรงนัก กฎหมายยาเสพติดใหม่จึงมีการปรับการกำหนดโทษให้มีความสมเหตุสมผลกับลักษณะความผิดมากขึ้น โดยมีการปรับลดโทษของความผิดที่ไม่ได้ร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งปรับจากกฎหมายที่ให้จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี / ปรับตั้งแต่ 10,000-60,000 บาท / ทั้งจำทั้งปรับ เป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี / ปรับไม่เกิน 20,000 บาท / ทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังเปิดทางให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษของผู้ทำผิดให้เหมาะสมกับการกระทำได้มากขึ้น ทั้งยังเปิดช่องให้ผู้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาโทษใหม่ได้ และที่สำคัญคือการเพิ่มการลงโทษด้วยทางเลือกอื่นแทนการจำคุก สำหรับผู้ต้องหาที่มีระดับความผิดไม่ร้ายแรง เช่น อาจใช้การคุมประพฤติแทน รวมทั้งอาจเปิดทางให้ผู้ต้องหาเลือกเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู (มีการอธิบายรายละเอียดส่วนนี้ในหัวข้อต่อไป)

เห็นได้ว่ากฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ช่วยปรับลดโทษสำหรับผู้ทำความผิดลักษณะไม่ร้ายแรง อย่างการเป็นผู้เสพหรือผู้ครอบครอง ให้ได้รับโทษที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ไม่ต้องรับโทษรุนแรงเกินกว่าสมควร ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ทำความผิดที่เป็นระดับผู้ค้ายาเสพติดหรือพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด กฎหมายยาเสพติดใหม่นี้มีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อเน้นปราบปรามไปที่ต้นน้ำของปัญหายาเสพติด อย่างประเด็นการกำหนดโทษขั้นต่ำ หากเป็นผู้ทำความผิดไม่ร้ายแรง กฎหมายฉบับใหม่นี้มีการปรับเปลี่ยนให้ไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำอีก แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้ค้าหรือขบวนการค้าขา กฎหมายยังมีการกำหนดโทษขั้นต่ำ

กฎหมายยาเสพติดใหม่ยังมีแนวทางการลงโทษกลุ่มผู้ค้าหรือขบวนการค้ายาเสพติดที่ชัดเจนและสมเหตุสมผลขึ้น เช่น ในประเด็นการยึดทรัพย์จากการค้ายา แต่เดิมเจ้าหน้าที่สามารถยึดทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ว่าได้มาจากการค้ายาเท่านั้น ซึ่งนับว่ามีความบกพร่อง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ค้าคนหนึ่งได้ทรัพย์สินจากการค้ายาในมูลค่าทั้งหมด 10 ล้านบาท แต่ในขณะที่ถูกจับกุม กลับมีทรัพย์สินเหลืออยู่เพียง 6 ล้านบาท ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถยึดทรัพย์ได้เพียง 6 ล้านบาทเท่านั้น กฎหมายใหม่จึงปรับเปลี่ยนให้ทำการยึดทรัพย์ในมูลค่าเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่ผู้ทำผิดได้มาจากการค้ายาจริง ซึ่งสามารถยึดทรัพย์สินอื่นที่ไม่ได้มาจากการค้ายาโดยตรงเพิ่มเข้าได้เพื่อให้ครบตามมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำงานโดยสุจริต ทรัพย์สินมรดก หรือสินสมรส อย่างในกรณีตามที่ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จะสามารถยึดทรัพย์สินอื่นที่ไม่ได้มาจากการค้ายาเสพติดโดยตรงเพิ่มเติมได้อีก 4 ล้านบาท เพื่อให้ครบ 10 ล้านบาท นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังมีการกำหนดแนวทางการตีประเมินมูลค่าทรัพย์สินในการยึดทรัพย์ที่ชัดเจน

นอกจากประเด็นการยึดทรัพย์ผู้ค้ายา กฎหมายใหม่ยังมีการกำหนดโทษอื่นๆ สำหรับผู้ทำผิดกลุ่มนี้เพิ่มเติม อย่างเช่น โทษของการรับจ้างเปิดบัญชีให้กับผู้ค้ายา ซึ่งกำหนดบทลงโทษชัดเจนไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดโทษเรื่องนี้ชัดเจน และอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือการทำลายของกลาง ซึ่งกฎหมายใหม่กำหนดให้สามารถทำลายของกลางได้ทันทีหลังจับกุม เพียงแค่มีผลตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นยาเสพติดจริง ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ต้องทำลายของกลางหลังคดีสิ้นสุดหรือสิ้นอายุความเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ต้องเก็บรักษาของกลางไว้นานเป็นสิบๆ ปี

ประการที่ห้า: มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย เน้นแก้ปัญหาด้วยการบำบัด

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

อีกประเด็นที่จัดว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งในการแก้ปัญหายาเสพติดของกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ คือการใช้แนวคิด ‘มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ มากกว่าเป็นอาชญากร ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการใช้แล้วในต่างประเทศ เช่น ประเทศโปรตุเกส กระบวนการแก้ไขปัญหาเสพติดของกฎหมายฉบับใหม่นี้จึงเน้นไปที่การใช้กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ในสัดส่วนที่มากกว่าการลงโทษทางอาญา โดยหากผู้กระทำผิดเป็นผู้เสพยา กฎหมายกำหนดแนวทางให้ศาลพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้ผู้เสพเลิกเสพด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

นอกจากการเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยคำสั่งศาล ผู้กระทำผิดยังสามารถเลือกสมัครใจเข้าสู่กระบวนการได้ด้วยตัวเองจนเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยผู้ทำผิดจะไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้ผู้ทำผิดนั้นจะไม่มีประวัติอาชญากร ซึ่งจะช่วยให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การบำบัดรักษาจะไม่มีการนำโทษทางอาญาอย่างการกักขังมาใช้ร่วมด้วย แต่ใช้มาตรการอื่นแทน เช่น การรายงานตัว การจำกัดการเดินทาง และการใช้ชุมชนเข้ามาร่วมสอดส่องดูแล ซึ่งทำให้ผู้ทำผิดยังคงดำเนินชีวิตตามปกติได้ในขณะที่เข้ารับการบำบัดรักษา โดยมีเพียงแค่บางเวลาที่ผู้ทำผิดต้องรับการนัดหมายเข้าพบบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

กฎหมายยาเสพติดใหม่ยังกำหนดแนวปฏิบัติของกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพอย่างชัดเจน มีศูนย์คัดกรองที่ทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงของการติดยาและภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพ รวมทั้งมีกระบวนการส่งต่อผู้เสพไปเข้ารับการบำบัดรักษายังสถานพยาบาลยาเสพติดและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และเมื่อกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูเสร็จสิ้นแล้ว ยังมีมาตรการติดตามผู้ผ่านการบำบัดอยู่เป็นระยะอีกด้วย

กฎหมายยาเสพติดใหม่มีประโยชน์ แต่ก็มีความท้าทาย

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

โดยสรุป กฎหมายยาเสพติดใหม่มีเนื้อหาที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในการปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติดในสังคมไทยอยู่หลายประการ ได้แก่

ประการแรก–เป็นการรวบรวมข้อกฎหมายที่เดิมเคยอยู่กระจัดกระจาย ให้เป็นระบบระเบียบเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถทำความเข้าใจข้อกฎหมายง่ายขึ้น และยังลดความสับสนในการนำไปปฏิบัติจริง

ประการที่สอง–การเอื้อต่อการบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชน ในการเข้ามาปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ชัดเจน สามารถดูแลขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ

ประการที่สาม–การทำให้ยาเสพติดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การศึกษาวิจัย วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ไม่ได้มองยาเสพติดในด้านให้โทษอย่างเดียวอีกต่อไป

ประการที่สี่–การทำให้ผู้ทำผิดได้รับโทษที่สมเหตุสมผลกับลักษณะการกระทำมากขึ้น มีกลไกแบ่งแยกผู้ทำผิดร้ายแรงกับไม่ร้ายแรงอย่างชัดเจน ผู้ทำผิดที่ไม่ร้ายแรง เช่น ผู้เสพยาหรือผู้ครอบครองยาในปริมาณน้อย จะได้รับโทษที่ไม่เกินกว่าเหตุอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ประการที่ห้า–การช่วยให้ผู้ทำผิดที่เป็นผู้เสพหรือผู้ครอบครองยาปริมาณน้อยมีโอกาสได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ด้วยแนวคิดการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยมากกว่าเป็นอาชญากร ทำให้ผู้ทำผิดมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้ง่ายขึ้น ทั้งยังอาจช่วยลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ทำผิด

ประการที่หก–ถือเป็นผลพวงที่ตามมาจากประโยชน์ประการที่สี่และห้า นั่นคือการช่วยลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ เพราะผู้ทำผิดแม้จะไม่ได้มีความผิดที่ร้ายแรง จะไม่ถูกลงโทษรุนแรงแบบเหมารวมไปกับผู้ทำผิดร้ายแรง ทั้งยังมีการเปิดให้ใช้ทางเลือกอื่นแทนการคุมขัง เช่น การคุมประพฤติ และการเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งผู้ทำผิดสามารถสมัครใจเลือกเข้าสู่กระบวนการด้วยตัวเอง หรือจะเข้าสู่กระบวนการตามคำสั่งศาลก็ได้ นอกจากนี้การมีกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูที่เป็นระบบ ยังอาจช่วยให้ผู้ทำผิดลดโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำ สามารถหลุดพ้นจากวังวนของการถูกลงโทษทางอาญา กลับคืนสู่สังคมได้ตามปกติมากขึ้น

ประการสุดท้าย–การมุ่งปราบปรามไปที่กลุ่มผู้ค้าและขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปราบไปที่ต้นน้ำของปัญหายาเสพติดในสังคม โดยการใช้โทษหนัก และมีแนวทางการลงโทษที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้

ถึงแม้กฎหมายยาเสพติดใหม่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์หลายประการ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตบางประการ รวมทั้งมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าไม่น้อย

ประการแรก–ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายนี้ แม้กฎหมายหลักว่าด้วยยาเสพติดหลายฉบับจะถูกยกเลิกไป แต่กฎหมายลูกของกฎหมายเหล่านั้นยังคงบังคับใช้อยู่ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกฉบับใหม่ออกมา ทำให้ยังต้องมีการเปิดกฎหมายลูกเหล่านั้นเทียบเคียงข้อกฎหมายในฉบับหลักอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในช่วงแรก รวมทั้งอาจมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในบางประเด็น เช่น ประเด็นการปลูกกัญชา ซึ่งเกิดความสับสนว่าตกลงแล้วสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ประการที่สอง–การที่กฎหมายเปิดทางให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินการกระทำของผู้ทำผิดได้กว้างขึ้น แม้ด้านหนึ่งจะเป็นข้อดีที่เอื้อให้ผู้ทำผิดได้รับบทลงโทษที่สมควรแก่สัดส่วนการทำผิดมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องจับตาว่าจะเกิดปัญหาในมาตรฐานการตัดสินหรือไม่

ประการที่สาม–มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางท่านว่า ข้อกฎหมายบางข้ออาจยังมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าสมควรอยู่ เช่น การระบุให้ผู้ที่พยายามกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดสำเร็จ

ประการที่สี่–การที่กฎหมายยาเสพติดใหม่ปรับบทลงโทษในหลายข้อให้เบาลง เท่ากับว่ากฎหมายใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายเดิม ตามหลักแล้วผู้ทำผิดที่ยังคงรับโทษตามกฎหมายเดิมจะสามารถร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายที่ออกมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามต่อไปว่าพนักงานอัยการจะจัดการเรื่องนี้หรือไม่ และผู้ทำผิดจะมีความรู้ทางกฎหมายตรงนี้แล้วออกมาใช้สิทธิของตัวเองกันหรือไม่

ประการที่ห้า–กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ทำผิดในคดียาเสพติด ต้องอาศัยทรัพยากรไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการสาธารณสุข และกระบวนการทางชุมชน จึงต้องจับตาว่าจะมีทรัพยากรที่นำมาใช้ส่วนนี้เพียงพอหรือไม่ อีกทั้งยังมีข้อสังเกตด้วยว่าการใช้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัด จะเห็นผลได้จริงหรือไม่ เพราะทัศนคติและการเปิดรับของคนในชุมชนก็ถือเป็นส่วนสำคัญ หากไม่เปิดรับ กระบวนการบำบัดในส่วนที่เกี่ยวกับกับชุมชนก็คงเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติ

ประการสุดท้าย–แม้ตัวบทกฎหมายจะปรับเปลี่ยนหลักคิดในการมองประเด็นยาเสพติดหลายอย่าง เช่น การมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และการแบ่งแยกผู้ทำผิดไม่ร้ายแรงออกจากผู้ทำผิดร้ายแรง แต่เพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติใช้กฎหมายนี้ก็ต้องสอดคล้องกัน จึงต้องจับตากันต่อไปว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านกฎหมายนี้ การนำกฎหมายไปปฏิบัติจริงจะเกิดปัญหาในเรื่องทัศนคติและความเข้าใจของผู้นำไปใช้หรือไม่ และที่สำคัญ หากกฎหมายไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา กฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ก็ไม่อาจจะนำไปสู่ประโยชน์ได้เต็มที่ แม้เนื้อหากฎหมายจะดีขนาดไหนก็ตาม


อ้างอิง

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.๒๕๖๔

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0001.PDF

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๔

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/073/T_0081.PDF

สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการหัวข้อ “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่?”

https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-new-narcotic-drugs-act/


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

TIJ พ.ร.บ.ยาเสพติด ยาเสพติด วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา แกะห่อยาเสพติด กฎหมายยาเสพติด

การปฏ บ ต ตนตามกฎหมายยาเสพต ดให โทษ ม ประโยชน อย างไร

อดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทยและญี่ปุ่น จบป.ตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาฯ จบป.โทด้านเอเชียศึกษาจากม.เทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์ ชอบเปิดโลกกว้างให้ตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ ดูหนัง และท่องเที่ยว และรักที่จะถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คน