20 นาท เเรก ม สมาธ ในการเร ยนมากส ด

สมาธิกับการเรียนรู้ ถือเป็นสองสิ่งที่ต้องมาคู่กันเสมอ เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่เรียน หากเริ่มว่อกแว่ก ก็สามารถควบคุมตนเองและดึงความสนใจกลับมาสู่บทเรียนได้

โดยเฉพาะในช่วงการเปิดเรียน On-site หลังจากเผชิญวิกฤติโรคระบาด เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนอีกครั้ง การหยุดเรียนในโรงเรียนเป็นเวลานาน ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่า ไม่อยากเรียนแล้ว เกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย เมื่อกลับเข้าห้องเรียนจึงมักขาดสมาธิได้ง่าย

Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่วมหาวิธีช่วยลูกกู้วิกฤติเรียนรู้ถดถอย ด้วยการเพิ่มสมาธิ เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทำไมลูกถึงไม่มีสมาธิ

สาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ขาดสมาธินั้น มีหลายประการซึ่งต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ขาดสมาธิ เพราะไม่ได้ฝึกระเบียบวินัย ที่บ้านปล่อยให้ทำอะไรตามใจ เมื่อไปโรงเรียนที่ต้องทำตามกฎจึงไม่ชอบ และบังคับตัวเองให้ทำตามกฎได้ยาก หรือเด็กยุคใหม่ที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์มากเกินไป ก็อาจทำให้มีอาการขาดสมาธิได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การขาดสมาธิ ก็อาจมีสาเหตุมาจากการเรียนรู้ถดถอยได้เช่นกัน เพราะเมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลานาน เมื่อกลับเข้าห้องเรียนเด็กมักสูญเสียความอยากรู้อยากเห็น ขาดแรงจูงใจในการเรียน ไม่ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ยิ่งหากว่าในช่วงที่ผ่านมาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ทั้งเรียนออนไลน์ หรือใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิง ก็ยิ่งอาจส่งผลต่อการขาดสมาธิเมื่อกลับสู่รั้วโรงเรียน

เราอาจจำแนกปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดสมาธิของเด็กๆ ได้ดังนี้

  • ปัจจัยด้านร่างกาย เช่น ไม่สบาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นโรคสมาธิสั้น ฯลฯ
  • ปัจจัยด้านสิ่งเร้าภายนอก เช่น โทรศัพท์มือถือ สภาพแวดล้อม เสียงรบกวน ฯลฯ
  • ปัจจัยด้านสิ่งเร้าภายใน เช่น ความกังวล ความคิดฟุ้งซ่าน ฝันกลางวัน
  • ปัจจัยด้านความสามารถ เช่น บทเรียนที่ยากเกินไป คำสั่งที่ซับซ้อนเข้าใจยาก
  • การขาดแรงบันดาลใจหรือความกระตือรือร้น

สมาธิหายไป ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่าการขาดสมาธิในห้องเรียน ย่อมทำให้เด็กๆ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจคำสั่งการบ้านต่างๆ บางคนอาจขอให้ครูช่วยอธิบายซ้ำ หรือต้องคอยถามเพื่อนเมื่อหมดคาบเรียน ซึ่งทำให้เสียเวลา เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไป

บางคนที่ไม่มีสมาธิในห้องเรียน และไม่ได้ติดตามถามครูหรือถามเพื่อนว่าเรียนอะไรไปบ้าง ก็อาจเรียนไม่ทันเพื่อน ส่งผลต่อการสอบและคะแนนที่ลดลง

การขาดสมาธิเมื่อต้องทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากว่อกแว่กบ่อย ก็ยิ่งทำให้เสียเวลา แทนที่งานจะเสร็จภายใน 1-2 ชั่วโมง ก็อาจยืดเวลาเป็น 3-4 ชั่วโมง ซึ่งยิ่งใช้เวลาทำงานมากเท่าไร ก็อาจหมายถึงการที่ลูกต้องเข้านอนดึกขึ้น และการนอนไม่พอ ก็ยิ่งทำให้อาการขาดสมาธิแย่ลง

มีการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่า วัยรุ่นที่ใช้ Facebook เป็นเวลานาน จะใช้เวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบน้อยลง และส่งผลให้เกรดเฉลี่ยรวมลดลงด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า การส่งข้อความขณะอยู่ในห้องเรียน มีความเกี่ยวข้องกับเกรดที่ลดลงของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

เพิ่มสมาธิกู้การเรียนรู้ให้ลูกวัยเรียน

1. ดูแลร่างกายให้พร้อม สมองปลอดโปร่ง

  • ปรับตารางเวลาทำการบ้าน เช่น หากเคยทำการบ้านช่วงหัวค่ำ ลองเลื่อนมาทำเร็วขึ้นในช่วงบ่าย แล้วสังเกตดูว่าเวลาที่เลื่อนขึ้นมาช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้นและทำงานได้นานขึ้นหรือไม่
  • ออกกำลังกายก่อนเริ่มอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ทำรายงาน ว่ากันว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิก 15-20 นาที จะช่วยกระตุ้น EF ทำให้ไม่ว่อกแว่ก มีสมาธิทำงานได้นานขึ้น
  • ดื่มน้ำมากๆ มีการศึกษาที่พบว่าภาวะขาดน้ำอาจส่งผลต่อการมีสมาธิจดจ่อ
  • ยืนบ้างก็ได้ หากรู้สึกอึดอัดที่ต้องนั่งอ่านหนังสือเฉยๆ ลองเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นยืนหรือเดิน นักเรียนบางคนค้นพบว่าตนเองมีสมาธิได้นานขึ้นเมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกาย
  • พัก หลังจากทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ 1 งาน หรือประมาณ 30-60 นาที ควรให้เวลาตัวเองพัก ลุกขึ้นไปดื่มน้ำ สูดอากาศ พูดคุยกับเพื่อนๆ สัก 15 นาที เพื่อ reset ตัวเองให้พร้อมทำงานหรืออ่านหนังสือต่อไป

2. กำจัดสิ่งรบกวนภายนอก

  • ปิดเสียงหรือปิดเครื่องใช้อิเล็คทรอนิคส์ทุกชนิด ปิดการแจ้งเตือนทุกอย่าง ขณะเรียน อ่านหนังสือ หรือทำการบ้าน
  • เปลี่ยนสถานที่ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ เช่น หากภายในบ้านมีเสียงรบกวนมากเกินไป อาจเลือกทำการบ้านให้เสร็จที่ห้องสมุดของโรงเรียนก่อนกลับบ้าน เลือกสถานที่ที่รู้สึกผ่อนคลาย สงบ และไม่ต้องพะวงกับสภาพแวดล้อมก็จะช่วยให้มีสมาธินานขึ้น
  • สำหรับบางคนการอ่านหนังสือ ทำการบ้านในสถานที่เงียบเกินไป ก็อาจทำให้ว่อกแว่กง่าย ในกรณีนี้ลองเลือกเปิดเสียง Ambient Sound เพื่อให้ห้องไม่เงียบเกินไป หรือเปิดเพลงบรรเลงคลอขณะทำงาน

3. กำจัดสิ่งรบกวนภายใน

  • หากสมองมักคิดไปร้อยแปดพันเรื่องทุกครั้งที่เริ่มทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ลองใช้เวลา 2-3 นาทีก่อนเริ่มทำงาน เขียนความคิดเหล่านั้นออกมา เพื่อจะได้จัดการกับสิ่งเหล่านั้นหลังจากทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว
  • มีสมุดโน๊ต หรือแอปพลิเคชันสำหรับจดไอเดียต่างๆ ไว้ใกล้ตัว สำหรับคนที่ชอบมีไอเดีย(ที่ไม่เกี่ยวกับงานที่กำลังทำ) เกิดขึ้น จะได้จดไอเดียนั้นไว้ก่อน และเตือนตัวเองให้กลับมาโฟกัสอยู่กับสิ่งที่กำลังทำให้ลุล่วง
  • หากมีเรื่องกังวลใจที่หยุดคิดไม่ได้ ลองให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะคิดเรื่องเหล่า นั้นต่อในเวลาที่กำหนดไว้ เช่น หากกังวลเรื่องทำสร้อยข้อมือที่แม่ให้ยืมหาย แต่มีรายงานที่ต้องทำให้เสร็จก่อนเที่ยง อาจตั้งการแจ้งเตือนไว้ในโทรศัพท์ว่า 13.30 นจะกลับมาคิดเรื่องสร้อยข้อมือที่หายไปต่อ วิธีนี้จะช่วยให้สมองปล่อยวางเรื่องดังกล่าวเพราะรู้ว่าจะได้กลับมาจัดการในภายหลัง

4. สร้างแรงบันดาลใจ

  • ให้คำชม และรางวัล ในขั้นนี้พ่อแม่ช่วยลูกๆ ได้เต็มที่ เช่น เมื่อเห็นลูกมีสมาธิอ่านหนังสือได้นาน ทำการบ้านโดยไม่ว่อกแว่ก อาจกล่าวคำชมเพื่อให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ใส่ใจและเห็นความพยายาม สำหรับโครงงานที่ต้องใช้เวลา และความพยายาม อาจชวนลูกตั้งเป้าหมายว่าทำสำเร็จแล้วอยากได้รางวัลอะไร อาจเป็นการพาไปกินอาหารร้านที่ลูกชอบ หรือ พาไปเที่ยวพักผ่อน เพื่อให้ลูกมีแรงใจ
  • ชวนลูกตั้งเป้าหมายเล็กๆ และให้รางวัลตัวเอง บางครั้งการให้รางวัลตัวเอง ก็ช่วยชุบชูจิตใจให้ทำงานสำเร็จได้ เช่น หากลูกต้องอ่านหนังสือสอบ ชวนให้เขาตั้งเป้าหมายว่าอ่านจบ 2 บท สามารถพักดูซีรีส์ที่ชอบได้ 2 ชั่วโมง การให้รางวัลตัวเอง ด้วยสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นอนเล่นโทรศัพท์ 1 ชั่วโมง หรือ ไปสระผมที่ร้านเพื่อผ่อนคลาย จะช่วยรีชาร์ตให้มีพลังทำงานจนสำเร็จลุล่วงได้

สุดท้ายแล้วพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า การมีสมาธิจดจ่อของแต่ละคนไม่เท่ากัน ควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ เพราะอาจยิ่งสร้างความกดดันให้กับลูก สิ่งที่ควรทำคือหมั่นสังเกตว่าเวลาไหน สถานที่ใด ที่ลูกมีสมาธิ ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ อย่าให้ลูกต้องพยายามเพียงลำพัง ขณะที่พ่อแม่เปิดโทรทัศน์เสียงดังลั่นบ้าน หรือพ่อแม่ก้มหน้าดูโทรศัพท์ตลอดเวลาขณะที่ลูกอ่านหนังสือ เพราะแม้สมาธิจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่หากเด็กๆ มีทีมสนับสนุนที่ดี ก็จะช่วยให้พวกเขาสร้างสมาธิเพื่อกู้การเรียนรู้ถดถอยได้สำเร็จ