การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ วัย 37 ปี ต้อง "เว้นวรรคการเมือง" นาน 10 ปีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "เอกฉันท์" ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในเวลาที่เหลืออยู่เพียง 17 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 โดยถือเป็นพรรคการเมืองแห่งที่ 3 ของฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกสั่งยุบ เป็นผลให้เขตเลือกตั้ง 100 เขต ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. ในนามของพรรคเพื่อไทย และ ทษช. เลย ขณะที่คณะกรรมการบริหารพรรคก็ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

เมื่อเวลา 15.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายนุรักษ์ มาประณีต เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรค ทษช. โดยใช้เวลา 35 นาที กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ ทษช. นำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เมื่อ 8 ก.พ.

ศาลรัฐธรรมนูญได้แบ่งประเด็นพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น แล้วมีมติ ดังนี้

- มติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2)

- มติ 6 ต่อ 3 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด ตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง แต่กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า "เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง" เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบอบการปกครอง อีกทั้งพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของ กก.บห. ที่น้อมรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทันทีที่ทราบ เห็นว่า ทษช. ยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรมนูญ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เสียงฝ่ายข้างมาก 6 เสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. มีกำหนดเวลา 10 ปี ส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. มีกำหนดเวลาตลอดชีพ

- มติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง กก.บห. และผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ห้ามจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็น กก.บห. พรรคอื่น หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ภายในกำหนด 10 ปี

  • ย้อนคำตัดสินศาล รธน. ยุบ 2 พรรคทักษิณ ก่อนตัดสิน ทษช. 7 มี.ค.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ อ่านปรากฏการณ์ "แผ่นดินไหวการเมือง" ถึง "รัฐประหารปราสาททราย"
  • ย้อนรอย "ไทยรักษาชาติ" จาก "ปรากฏการณ์ 8 กุมภาฯ" สู่ "จุดจบ ?"

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นแรก โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เน้นย้ำหลักการ "สถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง" พร้อมยกบรรทัดฐานในอดีตและข้อกฎหมายขึ้นมาประกอบการพิจารณา ดังนี้

หนึ่ง อ้างถึงพระราชหัตถเลขาในหลวง ร. 7 มาอธิบายสาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทย กล่าวคือ พระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะพึงถูกติเตียน ไม่ควรแก่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ อีกเหตุหนึ่ง "จะนำมาซึ่งความขมขื่นในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน" เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย

หลักการพื้นฐานดังกล่าวถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันในการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นฉันทามติของสภาผู้แทนฯ ได้ให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูงควรดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง "โดยเฉพาะการไม่เข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับราษฎรที่เป็นหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเกาะติดข่าวคดียุบพรรคที่เกิดขึ้นในเวลา 17 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง

สอง อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณี กกต. ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต่อมา กกต. เห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างไม่อยู่ในข่ายหรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ มีหมวดพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรอง "สถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์" กอปรกับที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระองค์มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์... หลักการนี้สอดคล้องกับหลักการที่ถือว่า "พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง" อันเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยในระบบบรัฐสภาซึ่งนานาอารยประเทศที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมีความแตกต่างจากระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรงในการใช้อำนาจทางการเมือง ดังปรากฏในระบอบราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ หรือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศ

  • เลือกตั้ง 2562 : คำศัพท์น่ารู้ก่อนเข้าคูหา
  • เลือกตั้ง 2562 : เปิดนโยบายสำคัญ 10 พรรคการเมืองหลัก

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, REUTERS

คำบรรยายภาพ,

ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ แสดงเอกสารของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ในฐานะบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562

ดังนั้นการกระทำของ ทษช. ในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมื่องอื่น ๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย แปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการณ์เดียวกับที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมือง

"สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ย่อมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย" นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง

สาม อ้างถึงรัฐธรรมนญฉบับปี 2560 ที่มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขรู้รักสามัคคีปรองดองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมของไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้รับรองบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนอย่างกว้างขวาง... อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่บั่นทอนรัฐธรรมนูญ หรือทำลายคติรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เสื่อมโทรมไป

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ถือได้ว่าการปราศรัยใหญ่ของ ทษช. เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. เป็นการปราศรัยใหญ่ในกรุงเทพฯ ครั้งแรกและครั้งเดียวของพรรค

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทษช. บนเวทีปราศรัยใหญ่พรรคไทยรักษาชาติในกรุงเทพฯ ที่ลานคนเมือง กทม. เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

แม้ ทษช. จะมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใด ๆ ของพรรคการเมืองย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า "การกระทำนั้นจะไม่ใช่การอาศัยสิทธิเสรีภาพที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง" และต้องระมัดระวังมิให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองย่อมสูญเสียไป เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์และสถาบันให้ดำรงอยู่เหนือการเมืองได้

"ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่อยู่ในฐานะเป็นศูนย์ของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย กลับต้องเสื่อมโทรม หยุดลง หรือถึงกับสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่"

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ได้เป็น กก.บห. พรรค แต่เขาและน้องอีก 2 คนต้อง "แพ้ฟาล์ว" เพราะถูกตัดสิทธิลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้

ภายใต้คำร้องขอให้ยุบพรรคตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 92 นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำจำกัดความคำต่าง ๆ ไว้ดังนี้

  • พรรคการเมือง เป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบปกครอง และความผาสุกของประเทศ ในฐานที่ต้องกำหนดตัวบุคคลไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
  • กรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นเสมือนมันสมองและระบบจิตใจ เพราะเป็นผู้ดุลพินิจ "จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบไม่ได้"
  • ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่หรือมีอยู่ต่อไปอีก
  • ปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ไม่จำเป็นถึงขนาดต้องตั้งตนเป็นศัตรูเป็นฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดขวางสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชำรุดทรุดโทรมอ่อนแอลง

สี่ อ้างถึง พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจนในเรื่อง "เจตนา" เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นเสียก่อนไม่ เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันการเสียหายแก่สถาบันหลักของประเทศ เป็นนโยบาย "ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้กองไฟเล็ก โหมไหม้ จนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้"

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับมอบหมายให้อ่านคำวินิจฉัยกลาง

ห้า อ้างถึง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กรณีหมิ่นประมาท มาเทียบเคียงกับกรณี "อาจเป็นปฏิปักษ์" ซึ่งศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้มั่นคงว่าการพิจารณาถ้อยคำใส่ความจนถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องพิจารณาความรับรู้ในถ้อยคำของวิญญูชนทั่วไปเป็นเกณฑ์ และข้อความใดทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดาพูดให้คนอื่นฟัง ไม่เกี่ยวกับเจตนา ผลของการใส่ความผู้อื่นทำให้เสียชื่อเสียง ดูหมิ่นหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยเองได้ ไม่ต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน

เมื่อการกระทำของ ทษช. มีหลักฐานชัดเจนโดยรู้สำนึก กก.บห.ทษช. ย่อมทราบดีว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในในหลวง ร. 9 และพระเชษฐภคีนีในในหลวง ร. 10 แม้ทรงกราบถวายบังคมลาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้ว แต่ยังทรงเป็นสมาชิกราชจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่คนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่าสามารถทำให้ "สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล มุ่งหวังให้เกิดผลทางการเมืองโดยไม่คำนึงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และธำรงความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เบื้องต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ให้เกิดความชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม เข้าข่ายลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคสอง (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรค" นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แถลงคำวินิจฉัยกลาง

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

มติศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค 282 คน ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง

คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช. ที่มี ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยศาลอย่างพร้อมเพรียง

เขากล่าวภายหลังรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า "ผมและคณะกรรมการบริหารพรรครู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง" และย้ำว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา ขอบคุณผู้สมัครและประชาชนที่เดินเคียงข้างกันมาตลอด 4 เดือน

"แม้ว่า กก.บห. ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ผมเชื่อว่าในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม ในฐานะคนไทยผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณมาก ๆ สำหรับกำลังใจ เราคงได้พบกันใหม่เมื่อมีโอกาส" ร.ท. ปรีชาพล กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ด้านมวลชนผู้สนับสนุนพรรค และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าประชาชนอยากเลือกตั้งราว 30 คน ซึ่งมาติดตามการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่หลังรับทราบคำสั่งยุบพรรค ทั้งนี้นายอนุรักษ์ เจตตวนิชย์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และนางวรรณา บุตรคาน ชาว อ.หนองหาน จ. อุดรธานี กล่าวกับบีบีซีไทยตรงกันว่า เมื่อ ทษช. ถูกยุบ ก็จะเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่เรียกว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" เพราะให้โอกาสรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มามากเกินไปแล้ว

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ผู้สนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ภายหลังทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค

ผลที่ตามมาทางกฎหมาย :

  • คณะกรรมการบริหารพรรค 13 คน (ไม่นับนายรุ่งเรือง พิทยศิริ ที่ขอลาออกจาก กก.บห. เมื่อ 4 ก.พ.) ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทันทีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แม้อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยตีความไว้ว่าเป็นการ "ตัดสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิต" (ม. 98(5) ของ รธน.) แต่มติเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสิทธิเพียง 10 ปี
  • คณะกรรมการบริหารพรรค 13 คน ห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคใหม่ภายใน 10 ปี (ม. 94 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง)
  • ผู้สมัคร ส.ส. ของ ทษช. 282 คน ต้อง "แพ้ฟาล์ว" ทันที เพราะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากสังกัดพรรคการเมืองไม่ถึง 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ม. 97(3) ของ รธน.) ทั้งนี้แบ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 174 คน (เดิมส่ง 175 คน แต่มี 1 คน ที่ กกต. ไม่ประกาศ คุณสมบัติ) และบัญชีรายชื่อ 108 แต่สามารถไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้
  • ห้ามใช้ชื่อ ชื่อย่อ โลโก้พรรคที่ถูกยุบอีกต่อไป (ม. 94 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง)
  • พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาประกาศยุบ ทษช. ซึ่งผลของการยุบพรรคทำให้มีผู้สมัครหลายร้อยคนต้องถูกเพิกสิทธิลงเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ กกต. จะต้องส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อถอนสิทธิผู้สมัครดังกล่าว เพื่อนำคำสั่งศาลไปให้ ผอ. ประจำเขตเลือกตั้งถอนชื่อบุคคลนั้น ออกจากการเป็นผู้สมัคร รวมถึงติดคำสั่งเพื่อประชาสัมพันธ์ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง แจ้งประชาชนให้ทราบด้วย

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ผลที่ตามมาทางการเมือง :

บีบีซีไทยวิเคราะห์ว่า คำสั่งยุบพรรคที่ออกมาในเวลาไม่ถึง 17 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ซึ่งคิดค้นขึ้นออกมาเพื่อหนีจาก "กับดักรัฐธรรมนูญ" โดยนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) บางส่วนได้ "แตกตัว-แตกทัพ" ย้ายไปสังกัด ทษช. และเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งแบบพันธมิตร โดย พท. ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต 250 คน บัญชีรายชื่อ 97 คน ส่วน ทษช. ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต 175 คน (ยึดตัวเลขก่อน กกต. ประกาศรับรองคุณสมบัติ) และบัญชีรายชื่อ 108 คน

ว่ากันว่าตามแผนการเดิม พท. ต้องหิ้ว ส.ส. เขตเข้าสภาผู้แทนฯให้มากที่สุด ส่วน ทษช. คอยเก็บ "คะแนนเสียงตกน้ำ" ของผู้สมัคร ส.ส. เขตไปนับรวมเป็นคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อเสียงของ ทษช. หายไปส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างมิอาจปฏิเสธ สรุปได้ ดังนี้

  • มีอย่างน้อย 100 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง ที่จะไม่มีผู้สมัคร ส.ส. ในนาม "พรรคทักษิณ" เลย ไม่ว่าจะเป็น พท. หรือ ทษช. (เดิม พท. สับหลีกให้ ทษช.)
  • ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครจาก "พรรคทักษิณ" คะแนนเสียงมีแนวโน้มไหลไปอยู่ที่พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" พรรคอื่น ๆ อาทิ พรรค พรรคอนาคตใหม่, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ
  • คะแนนเสียงที่ไปเพิ่มให้ "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" ไม่ได้การันตีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเป็นฐานเสียงที่อยู่ในตะกร้าเดิม
  • ใน "พื้นที่ทับซ้อน" 75 เขต ที่ พท. กับ ทษช. เคยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งคู่ ประชาชนผู้นิยมใน "พรรคทักษิณ" อาจสับสนน้อยลงและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

เปิดรายชื่อ 13 กก.บห. ชุดถูกห้ามเล่นการเมือง 10 ปี

  • หัวหน้าพรรค : ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช
  • รองหัวหน้าพรรค : นายฤภพ ชินวัตร น.ส. สุณีย์ เหลืองวิจิตร นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ นพ. พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล
  • เลขาธิการพรรค : นายมิตติ ติยะไพรัช
  • รองเลขาธิการพรรค : นายต้น ณ ระนอง นายวิม รุ่งวัฒนจินดา นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์
  • กรรมการบริหารพรรค : จุลพงศ์ โนนศรีชัย
  • โฆษกพรรค : นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ
  • เหรัญญิกพรรค : นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์
  • นายทะเบียนสมาชิกพรรค : น.ส. ชยิกา วงศ์นภาจันทร์

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

การเล อกต งล วงหน าในว นท 17 ม นาคม 2562

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง

ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562